SHARE

คัดลอกแล้ว

การรับตำแหน่งของผู้นำสหรัฐฯ มีเรื่องหนึ่งที่แตกต่างไปจากผู้นำประเทศอื่น คือสหรัฐฯ มีการกำหนดวันสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีไว้ตายตัวเลยว่า ต้องเป็นวันที่ 20 มกราคม ของปีที่ประธานาธิบดีคนก่อนหมดวาระ ทำไมถึงต้องเป็นวันนี้ เราพาไปทำความเข้าใจเรื่องนี้ สรุปจบใน 20 ข้อ

1) ก่อนจะอธิบายเรื่องการกำหนดวันสาบานตนของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต้องท้าวความไปถึงวันเลือกตั้ง ซึ่งสหรัฐฯ ก็มีการกำหนดวันไว้ชัดเจนว่า การเลือกตั้งจะจัดขึ้นในวันอังคาร หลังวันจันทร์แรกของเดือนพฤศจิกายน อย่างการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ก็ถูกจัดขึ้นเมื่อวันอังคารที่ 5 พฤศจิกายน 2024

โดยการจัดเลือกตั้งในวันอังคารหลังวันจันทร์แรกของเดือนพฤศจิกายน เป็นประเพณีปฏิบัติที่สืบทอดมาตั้งแต่ปี 1845 นับจนถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 180 ปีแล้ว

2) ก่อนที่สหรัฐฯ จะกำหนดให้จัดเลือกตั้งในวันเดียวกันทั่วประเทศ แต่ละรัฐจะกำหนดวันเลือกตั้งกันเอง โดยมีเงื่อนไขแค่ว่า ต้องอยู่ในระยะเวลา 34 วันก่อนจะถึงวันที่คณะผู้แทนเลือกตั้งจะมาประชุมกันในวันพุธแรกของเดือนธันวาคม

3) เท่ากับช่วงเวลาที่จะจัดการเลือกตั้งในยุคนั้นจะอยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายนซึ่งถูกมองว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดเพราะตอนนั้นสหรัฐฯยังคงเป็นสังคมเกษตรกรรมประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพเป็นเกษตรกรซึ่งเดือนพฤศจิกายนเป็นเดือนที่ไม่ตรงกับทั้งฤดูเพาะปลูกและฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตจึงเป็นช่วงเวลาดีที่สุดที่จะให้ประชาชนออกมาเลือกตั้งโดยไม่กระทบกับการประกอบอาชีพอีกทั้งเดือนนี้ยังเป็นเดือนที่ยังไม่เข้าสู่ฤดูหนาวเต็มที่อากาศจึงยังไม่หนาวจัดไม่เป็นอุปสรรคต่อการเดินทางไปเลือกตั้ง

4) แต่ปัญหาอยู่ที่ การให้แต่ละรัฐกำหนดวันเลือกตั้งกันเอง เริ่มถูกทักท้วงว่าอาจไม่เหมาะสม เพราะทำให้มีปัญหาตามมาเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสื่อสาร การขนส่งบัตรลงคะแนน การนับคะแนน และการประกาศผลการเลือกตั้ง เนื่องจากรัฐที่จัดเลือกตั้งก่อน บางทีก็ประกาศผลคะแนนออกมาก่อน ทำให้มีผลต่อการลงคะแนนในรัฐที่จัดเลือกตั้งทีหลัง

5) เลยทำให้สภาคองเกรสต้องมาคุยกันว่าควรกำหนดให้จัดวันเลือกตั้งพร้อมกันทั่วประเทศวันเดียวไปเลย จนสรุปได้ว่าการเลือกตั้งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีจะจัดในวันอังคารของเดือนพฤศจิกายน

6) เหตุผลที่ต้องเป็นวันอังคาร ก็เพราะวันอาทิตย์ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ เนื่องจากเป็นวันที่ชาวคริสเตียนจะต้องไปโบสถ์ และในยุคนั้นการคมนาคมก็ยังไม่สะดวกสบายเท่าตอนนี้ จะออกจากบ้านไปเลือกตั้งแต่ละที ชาวบ้านบางคนอาจต้องใช้เวลา 1-2 วันในการเดินทาง

ทำให้ทั้งวันอาทิตย์และวันจันทร์ถูกเว้นไว้เพื่อให้คนได้มีเวลาพักผ่อนหลังไปโบสถ์และมีเวลาออกเดินทางกันในวันจันทร์ส่วนวันพุธที่ไม่ถูกเลือกก็เป็นเพราะว่าปกติแล้ววันพุธจะเป็นวันที่เกษตรกรนำผลผลิตออกมาซื้อขายแลกเปลี่ยนกันเลยเลี่ยงวันนี้เพื่อไม่ให้เป็นการรบกวนวิถีชีวิตของชาวบ้านในชนบทเช่นเดียวกับวันพฤหัสวันศุกร์และวันเสาร์ที่ถูกมองว่าไม่เหมาะที่จะจัดการเลือกตั้งเหมือนกัน

7) กลายเป็นว่าเหลือวันอังคารวันเดียวที่เหมาะสมที่สุด แต่ก็ยังมีอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ต้องกำหนดให้เป็นวันอังคารหลังวันจันทร์แรกของเดือนพฤศจิกายน เพราะวันที่ 1 พฤศจิกายน เป็นวัน All Saints’ Day หรือวันสมโภชน์นักบุญทั้งหลาย ซึ่งเป็นวันสำคัญของศาสนาคริสต์ เพื่อเลี่ยงไม่ให้วันเลือกตั้งอาจมีโอกาสไปตรงกับวันนี้ จึงมีการกำหนดให้เป็นวันอังคารหลังจันทร์แรกไปเลย

8 ) พอกำหนดวันเลือกตั้งได้แล้วกระบวนการหลังเลือกตั้งยังมีเรื่องที่ต้องดำเนินการอีกหลายเรื่องรวมถึงการที่ประธานาธิบดีคนใหม่จะต้องเตรียมว่าใครจะมาดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีและวางแผนนโยบายต่างๆสำหรับการบริหารประเทศ

เรื่องเหล่านี้ต้องใช้เวลาในการเตรียมการก่อนจะถึงวันสำคัญที่สุดซึ่งก็คือวันสาบานตนซึ่งเป็นวันที่ประธานาธิบดีคนใหม่จะรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ

9) ความหมายนัยยะของการทำพิธีสาบานตนก็คือเป็นแสดงออกทางสัญลักษณะว่ามีการเปลี่ยนผ่านอำนาจโดยสงบและราบรื่นและเป็นโอกาสสำคัญที่ประธานาธิบดีคนใหม่จะได้แสดงวิสัยทัศน์ต่อประชาชน

ทั้งยังเป็นการเตือนสติให้ผู้นำสหรัฐฯ พึงระลึกระลึกอยู่เสมอว่าจะต้องปฏิบัติตนตามคำกล่าวปฏิญาณที่ว่าจะพยายามอย่างสุดความสามารถเพื่อปกปักรักษา คุ้มครอง และปกป้องรัฐธรรมนูญสหรัฐฯพิธีนี้ถือว่าเป็นพิธีสำคัญมากที่ปฏิบัติสืบเนื่องกันมาตั้งแต่อดีต 

10) ก่อนปี 1932 วันสาบานตนของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ถูกกำหนดไว้ให้เป็นวันที่ 4 มีนาคม ของปีหลังการจัดเลือกตั้ง แต่ต่อมาเริ่มมีความคิดว่าการเว้นระยะจากวันเลือกตั้งจนถึงวันที่ประธานาธิบดีคนใหม่รับตำแหน่งนานถึง 4 เดือน เป็นการทิ้งเวลาไว้นานเกินไป ทำให้ประธานาธิบดีคนใหม่ ไม่สามารถเข้ามาแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของประเทศได้

11) ในอดีตเคยมีปรากฏว่ามีความวุ่นวายเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดี อย่างปี 1860 ที่เกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า ‘Secession Winter’ หลังจากอับราฮัมลินคอล์นชนะเลือกตั้งตอนนั้นในสหรัฐฯกำลังมีความแตกแยกอย่างรุนแรงเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องการค้าทาสจนรัฐทางใต้ประกาศแยกตัวออกมาตั้งเป็นสมาพันธ์รัฐอเมริกา

ประธานาธิบดีที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในเวลานั้น คือ เจมส์ บูแคนัน ซึ่งมีแนวคิดเข้าข้างรัฐทางใต้อยู่แล้ว จึงวางตัวเพิกเฉยต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ในขณะที่ลินคอล์น ที่เพิ่งจะได้รับเลือกตั้งมา ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ เนื่องจากยังไม่ได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ จนเรื่องบานปลายกลายเป็นสงครามกลางเมือง กว่าจะเคลียร์จบหลังจากที่ลินคอล์น เข้ามารับตำแหน่ง ก็มีผู้เสียชีวิตไปแล้วมากกว่า 750,000 คนถือเป็นสงครามกลางเมืองที่ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ

12) จนมาถึงการเลือกตั้งในปี 1932 ซึ่งอยู่ในช่วงที่สหรัฐฯ และทั่วโลกกำลังเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ปีนั้น แฟรงคลิน โรสเวลต์ เป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง แต่เขาต้องรอเวลาถึง 4 เดือนจึงจะเข้ามาแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้

13) เลยทำให้มีการหารือกันใหม่ในสภาคองเกรส จนนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ 20 กำหนดให้เลื่อนวันสาบานตนของประธานาธิบดีคนใหม่ขึ้นมาเป็นวันที่ 20 มกราคมแทนและกลายมาเป็นประเพณีปฏิบัติมาจนถึงวันนี้

โดย แฟรงคลิน โรสเวลต์ เป็นประธานาธิบดีคนเดียวในสหรัฐฯ ที่เข้าพิธีสาบานตนทั้งในวันที่ 4 มีนาคม และ 20 มกราคม หลังจากที่เขาชนะเลือกตั้งสมัยที่ 2

14) การสาบานตนของประธานาธิบดีคนใหม่ จะจัดขึ้นในช่วงเที่ยงของวันที่ 20 มกราคม เนื่องจากมีการกำหนดไว้ใน บทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ 20 มาตรา 1 ว่าวาระดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะสิ้นสุดลงในตอนเที่ยงตรงของวันที่ 20 มกราคมหมายความว่าประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีคนใหม่จะต้องเข้ามารับตำแหน่งต่อทันทีในวันและเวลานั้นเพื่อให้ไม่เกิดสุญญากาศในการบริหารประเทศ

15) ซึ่งถ้าปีไหน วันที่ 20 มกราคม ตรงกับวันอาทิตย์ ประธานาธิบดีคนใหม่ก็จะต้องทำพิธีเข้ารับตำแหน่งเป็นการส่วนตัวภายใน ก่อนจะจัดพิธีสาบานตนต่อสาธารณชนในวันที่ 21 มกราคม โดยตั้งแต่ปี 1933 เป็นต้นมามีประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพียงแค่ 3 คนที่จัดพิธีสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีในวันที่ 21 มกราคม คือ ไวต์ ไอเซนฮาวร์, โรนัลด์ เรแกน และบารัค โอบามา

16) อย่างไรก็ตาม กรณีของโอบามา ไม่ใช่เป็นเพราะวันที่ 20 มกราคมตรงกับวันอาทิตย์แต่ว่าในวันที่ทำพิธีสาบานตนจริงๆขณะดำเนินการในขั้นตอนสำคัญที่สุดคือว่าที่ประธานาธิบดีต้องวางมือลงบนคำคัมภีร์ไบเบิลและกล่าวคำสาบานตนโดยมีประธานาศาลฎีกาเป็นคนกล่าวนำปรากฎว่าประธานาศาลฎีกาจอห์นโรเบิร์ตซึ่งเป็นผู้ทำพิธีในวันนั้นนำกล่าวคำสาบานตนตกไปหนึ่งคำแม้จะมีการแก้ไขในพิธีเสร็จสิ้นไปเรียบร้อยแล้ว

แต่เรื่องที่เกิดขึ้นทำให้นักกฎหมายของประธานาธิบดีมีความกังวลขึ้นมาว่าอาจทำให้มีปัญหาตามมาในภายหลังหากมีคนออกมาแย้งว่าการสาบานตนในวันนั้นไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญเลยแนะนำให้โอบามาทำพิธีสาบานตนอีกครั้งในวันรุ่งขึ้น

17) คำถามที่น่าสนใจอีกข้อหนึ่ง คือแล้วถ้าว่าที่ประธานาธิบดีเสียชีวิตก่อนที่จะรับตำแหน่ง หรือมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถรับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคมได้จะทำอย่างไร มีกำหนดไว้ใน มาตรา 3 ของบทบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ 20 ให้ว่าที่รองประธานาธิบดีขึ้นมารับตำแหน่งประธานาธิบดีแทน

แต่หากทั้งว่าที่ประธานาธิบดีประธานาธิบดีและว่าที่รองประธานาธิบดีไม่สามารถรับตำแหน่งได้ทั้งคู่สภาคองเกรสจะมีอำนาจในการเลือกตั้งผู้ที่จะมาเป็นรักษาการประธานาธิบดีเพื่อมารับตำแหน่งผู้นำประเทศต่อจากประธานาธิบดีคนก่อนที่หมดวาระไป

โดยที่ผ่านมาสหรัฐฯยังไม่เคยประสบกับภาวะสุญญากาศทางการเมืองที่ไม่มีผู้นำคนใหม่มารับช่วงต่อในทำเนียบขาวเลยสักครั้ง

18) ตามปกติ พิธีสาบานตนของประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะจัดขึ้นบริเวณบันไดหน้าอาคารรัฐสภา ต่อหน้าประชาชนนับแสนคนที่มาร่วมเป็นสักขีพยาน หลังจากที่ประธานาธิบดีคนใหม่กล่าวคำสาบานตนเรียกร้อยแล้ว จะมีการกล่าวสุนทรพจน์ต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก เพื่อชี้แจงแนวทางบริหารประเทศต่อไปอีก 4 ปี จากนั้นประธานาธิบดีจะเข้าไปในท้องทำงานเพื่อลงนามในคำสั่งประธานาธิบดีชุดแรก

19) สำหรับพิธีสาบานตนของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และ รองประธานาธิบดีเจดี แวนซ์ ที่จะจัดขึ้นในวันจันทร์ที่ 20 มกราคม 2025 มีความพิเศษอยู่เรื่องหนึ่งคือจะ พิธีจะถูกจัดขึ้นภายในอาคารรัฐสภา ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปีที่มีการจัดพิธีสาบานตนของประธานาธิบดีในร่มจากที่ปกติจะจัดบริเวณบันไดหน้าอาคารรัฐสภาเนื่องจากปีนี้มีสภาพอากาศหนาวจัดอยู่ในระดับอันตราย

โดยครั้งล่าสุดที่พิธีสาบานของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ถูกจัดขึ้นภายในอาคารรัฐสภา คือเมื่อปี 1985 เป็นการรับตำแหน่งของอดีตประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ด้วยเหตุผลเดียวกับปีนี้ ก็คือ สหรัฐฯ กำลังเผชิญกับสภาพอากาศหนาวจัด ตอนนั้น อุณหภูมิในเวลากลางวันถึงขั้น -13 องศาเซลเซียส และลมหนาวถึงขั้น -31 องศาเซลเซียสทำให้ขบวนพาเหรดของเฉลิมฉลองของประธานาธิบดีต้องถูกยกเลิกตามไปด้วย

20) แต่ปีนี้ โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศแล้วว่า หลังทำพิธีสาบานตนในอาคารรัฐสภาเสร็จ จะยังคงมีขบวนพาเหรดเฉลิมฉลองของประธานาธิบดี โดยจะย้ายไปจัดที่ สนามกีฬาในร่ม Capital One Arena ซึ่งทรัมป์จะเข้าร่วมในขบวนด้วยตัวเองเพื่อพบปะผู้คนนับแสนคนที่คาดว่าน่าจะมารับชมพิธีพร้อมกันแบบสดๆที่สนามกีฬาแห่งนี้

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า