SHARE

คัดลอกแล้ว

หลังจากที่ประธานาธิบดี ‘โจ ไบเดน’ แห่งสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศลงนาม Executive Order หรือคำสั่งที่ออกโดยประธานาธิบดีถึงหน่วยงานรัฐบาลโดยไม่ต้องผ่านการรับรองจากสภาคองเกรส ไปเมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2564

โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อป้องกันการผูกขาดตลาดจากบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

ซึ่งคำสั่งครั้งนี้รวมถึงการดำเนินการ และมาตรการจากหน่วยงานรัฐทั้งหมด 72 ข้อ ที่จะนำมาใช้ในการแก้ปัญหาจากการกระทำของบริษัทขนาดใหญ่ ที่สร้างความได้เปรียบจนเกิดการแข่งขันที่ไม่ยุติธรรมกับธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก

โดยมีใจความสำคัญ ดังนี้

1.การเข้าซื้อกิจการขนาดเล็กในบริษัทขนาดใหญ่ จะต้องถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวดมากขึ้น

2.Federal Trade Commission (FTC) หรือ คณะกรรมธิการการค้าสหรัฐฯ ต้องออกกฎหมายใหม่ สำหรับการเก็บข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งาน

3.สร้างการแข่งขันอย่างยุติธรรมบนตลาดอินเทอร์เน็ต

4.ส่งเสริมให้มีการแข่งขันด้านสุขภาพ การท่องเที่ยว และการเกษตร

ในพิธีการลงนามคำสั่ง ณ ทำเนียบขาว ส่วนหนึ่งของสุนทรพจน์ที่ไบเดนกล่าวก่อนลงนาม มีใจความว่า “ทุนนิยมที่ไม่มีการแข่งขันนั้นไม่ใช่ทุนนิยม มันคือการกอบโกยผลประโยชน์”

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าไม่ใช่แค่ดินแดนแห่งเสรีภาพอย่างอเมริกาเท่านั้นที่เริ่มปฏิวัติการผูกขาดธุรกิจอย่างจริงจัง

เพราะหากหันมามองอีกฟากของมหาอำนาจฝั่งตะวันออกอย่างประเทศจีน ก็กำลังออกกฎสำหรับกำกับควบคุมบริษัทเทคโนโลยีภายในประเทศ

เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับตลาด ไม่ให้แพลตฟอร์มจากบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่มีสิทธิ์ในการกำหนดช่องทางการขายของผู้ค้าเพียงรายเดียวเท่านั้น

โดยจีนใช้เวลาในการร่างกฎเกณฑ์ใหม่และอนุมัติเพียงแค่ 3 เดือนเท่านั้น แม้จะมีแนวทางเศรษฐกิจแบบระบบทุนนิยมโดยรัฐ ต่างจากสหรัฐอเมริกาก็ตาม

การที่ภาครัฐเริ่มเข้ามามีบทบาท สกัดกั้นการดำเนินงานของบริษัทใหญ่เพื่อให้ธุรกิจเล็กๆ ลืมตาอ้าปากได้ ยิ่งทำให้น่าคิดว่า สำนวนที่ว่า ‘ปลาใหญ่กินปลาเล็ก’ ที่กล่าวตั้งแต่โบราณกาล อาจจะใช้ไม่ได้อีกต่อไปบนโลกปัจจุบันนั่นเอง

[ทุนใหญ่มะกันไล่ฮุบรายเล็ก]

ทั้งนี้ ถือเป็นวัฏจักรในโลกทุนนิยมที่อุตสาหกรรมทุกภาคส่วนต่างสร้างสรรค์วิธีการผลิต เพื่อแก้ปัญหาให้คนในสังคม

ซึ่งรัฐบาลของแต่ละประเทศล้วนมีบทบาทในการแทรกแซงและจัดระเบียบต่างกันไป ตามกรอบและนโยบายทางสังคม โดยมีจุดประสงค์ให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรี

แต่ท้ายสุดเมื่อสังคมพัฒนาตามกาลเวลา ภาคธุรกิจกลับใช้ช่องโหว่ของระบบนี้ตัดคู่แข่งทางการค้าด้วยทรัพยากรที่ดีกว่า ซึ่งทำให้ขาดการแข่งขันเมื่อผู้เล่นในตลาดมีจำกัด กินส่วนแบ่งทางการตลาดในสัดส่วนที่มากกว่า รวมถึงมีอำนาจต่อรองมากขึ้น กำหนดราคาได้ตามอำเภอใจ เมื่อเทียบกับธุรกิจรายย่อย

มากไปกว่านั้น สิ่งที่เห็นมากขึ้นในปัจจุบัน คือการที่บริษัทใหญ่ๆ ขยายการเติบโตให้ธุรกิจด้วยตัวเองด้วยการ ‘ซื้อกิจการ’ หรือเทคโอเวอร์บริษัทเล็กๆ อย่าง ‘สตาร์ทอัพ’ ที่สร้างนวัตกรรมจนเกิดเป็นกระแสในสังคม มาอยู่บนอ้อมอก

ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นไปเพื่อต่อยอดไปสู่ช่องทางธุรกิจในรูปแบบใหม่บนแพลตฟอร์มของตัวเอง

ตัวอย่างเช่น ในปี 2555 เฟซบุ๊กได้ทำการเข้าซื้อแอปพลิเคชั่นแชร์รูปภาพอย่างอินสตาแกรมมาด้วยตัวเลขมูลค่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

ไม่ใช่เพียงแค่นั้น การซื้อกิจการของเฟซบุ๊กยังรวมไปถึงแอปแชตอย่าง WhatsApp ในราคา 16,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และ Oculus ผู้ให้บริการ Virtual Reality (VR) อีก 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อขยายบริษัทให้เป็นผู้ให้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอย่างครบวงจร

ประเด็นคือ หากมองในมุมของเฟซบุ๊ก นี่เป็นการขยายอาณาจักรธุรกิจให้ยิ่งใหญ่ไพศาลออกไปเรื่อยๆ

แต่หากมองในมุมผู้บริโภค กลับกลายเป็นว่าผู้บริโภคมีตัวเลือกในตลาดน้อยลง เพราะหันไปทางไหน แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียหลักๆ ที่ใช้ ก็มีเจ้าของเป็นรายเดียวกัน

มากไปกว่านั้นคือ เมื่อโซเชียลมีเดียเหล่านี้กลายเป็นพื้นที่ที่คนมาใช้เวลาอยู่เยอะ หลายธุรกิจเองก็ต้อง ‘จำใจ’ ใช้เงินใส่ลงไปในโซเชียลมีเดีย เพื่อให้เรื่องราวของบริษัทตัวเอง ไปอยู่ในสายตาของผู้บริโภคมากขึ้น

เท่ากับว่ายิ่งเฟซบุ๊กมีแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีช่องทางให้เงินเข้ากระเป๋าแบบไม่แบ่งใครได้มากขึ้นนั่นเอง

ทั้งนี้ แม้ว่าคณะกรรมธิการการค้าสหรัฐฯ จะร่วมกับอัยการของรัฐต่างๆ กว่า 46 รัฐ และ 2 เขตพิเศษทั่วประเทศ เพื่อฟ้องเฟซบุ๊กในข้อหาการผูกขาดการตลาดโซเชียลมีเดีย

แต่สุดท้ายเฟซบุ๊กก็ออกมาตอบโต้ โดยระบุว่าบริษัทได้รับการอนุมัติเข้าซื้อกิจการ และซื้อกิจการเหล่านั้นมาพัฒนาต่อ การที่ FTC มาเอาผิดกับพวกเขา คือการกระทำอย่างไม่เป็นธรรม

นอกจากการเข้าซื้อกิจการแล้ว อีกหนึ่งรูปแบบของการผูกขาดทางการค้า คือการที่ทุนใหญ่หันมาผลิตสินค้าแบรนด์ตัวเอง เพื่อแข่งกับผู้ประกอบการรายเล็กที่ทำสินค้านั้นออกมาก่อนอยู่แล้ว

อย่างเช่น ‘แอมะซอน’ เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซที่ใหญ่สุดในโลก ที่รายงานจากวอลสตรีทเจอร์นัลระบุว่า ในปี 2563 แอมะซอนได้นำข้อมูลสินค้า รวมถึงยอดขายของร้านค้าภายในเว็บไซต์มาประมวลผล ก่อนผลิตสินค้าแข่งกับร้านค้าเหล่านั้นภายใต้แบรนด์ของตัวเอง

สองตัวอย่างที่ได้กล่าวมา เป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันอันไม่เป็นธรรมบนโลกทุนนิยม เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้ไบเดนลงนามในคำสั่งดังกล่าว

เพื่อปฏิรูปการแข่งขันทางการค้าให้มีความเท่าเทียมกันทั้งธุรกิจรายเล็กและธุรกิจขนาดใหญ่ โดยมีผู้บริโภคมีสิทธิเลือกอย่างเสรี แม้ว่าคำสั่งยังไม่ถูกบังคับใช้ในทันที และต้องใช้เวลาดำเนินการให้เป็นรูปธรรมก่อนใช้งานจริง

[จีนต่อต้านผูกขาดการค้า]

ข้ามมาที่อีกฟากหนึ่งของโลก ในประเทศมหาอำนาจทางธุรกิจฝั่งตะวันออกอย่างจีนเอง ก็ได้นำกฎระเบียบต่อต้านการผูกขาดตลาดมาใช้เป็นรูปธรรมเรียบร้อยแล้ว

โดยผ่านวิธีการปรับเงินจากบริษัทอาลีบาบา มูลค่า 2,750 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 4% จากรายได้ทั้งหมดของปี 2562 พร้อมสั่งให้บริษัทดำเนินการแก้ไขข้อกล่าวหาอย่างละเอียดถี่ถ้วน

มาตรการดังกล่าวทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่า สองประเทศมหาอำนาจโลก ต่างส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรมมากขึ้น เพราะสิ่งเหล่านี้จะส่งผลให้เศรษฐกิจภายในประเทศมีอัตราการเติบโตมากขึ้น การจ้างงานมีอัตราเพิ่มขึ้น

อีกทั้งยังป้องกันไม่ให้ผู้เล่นบางรายกล้าเพิ่มราคา ลดคุณภาพและปริมาณของสินค้า ภายใต้ความคิดที่ผู้บริโภคจำยอมต้องซื้อสินค้าบริการชนิดนั้นโดยไม่มีทางเลือก

คำถามก็คือ จะเกิดอะไรขึ้นบ้างหากคำสั่งในครั้งนี้ของไบเดนถูกบังคับใช้ และจีนเดินหน้ามาตรการนี้เข้มข้นต่อไป?

คำตอบที่เป็นไปได้ คือ

1.อาจเกิดการแยกธุรกิจ ให้แต่ละหน่วยธุรกิจย่อย แยกไปเป็นบริษัทของตัวเอง และไม่สามารถนำข้อมูล ทรัพยากรต่างๆ ใช้งานข้ามแพลตฟอร์มได้

2.เกิดผู้สร้างรายใหม่มากขึ้น เพิ่มโอกาสทางการแข่งขัน ลดทอนอำนาจทางตลาด

3.มีบทลงโทษหากธุรกิจใดฝ่าฝืนคำสั่ง และการควบรวมจะมีเกณฑ์การตรวจสอบมากยิ่งขึ้น

4.ธุรกิจอาจถูกแทรงแซงจากรัฐบาล หากเกิดการเติบโตอย่างผิดปกติ

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา บริษัทขนาดใหญ่เหมือนเป็นผู้กำหนดชะตาของเศรษฐกิจ รวมถึงกลไกอุปสงค์ และอุปทานของแต่ละประเทศ ในแต่ละอุตสาหกรรมที่แตกต่างกันออกไป ทำให้เห็นภาพของนายทุนกอบโกยเป็นวัฏจักรแบบไม่มีสิ้นสุด

ดังนั้น หากมีอำนาจรัฐที่แข็งแรงพอในการกำกับดูแล ก็จะยิ่งช่วยส่งเสริมให้การขับเคลื่อนในภาคธุรกิจเป็นไปเท่าเทียมเป็นธรรม โปร่งใสในการดำเนินการต่างๆ

อย่างเช่น กรณีศึกษาการควบรวมกิจการของ Ekeda และ Kaiser’s Tentelgram ที่มีการเผยแพร่ข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกสู่สาธารณะทุกขั้นตอน เพื่อเป็นการพัฒนาระบบกฎหมายแข่งขันทางการค้า บนความหวังว่าจะเป็นจุดมุ่งหมายที่ดีหากมีการบังคับใช้เกิดขึ้น

ดังนั้น คงต้องจับตาดูการบังคับใช้คำสั่งของไบเดนในครั้งนี้ ว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจอย่างไร และอนาคตการแข่งขันทางการค้าในสหรัฐฯ จะเดินต่อไปในทิศทางใด

แต่ที่แน่ๆ ก็คือ ธุรกิจรายกลางและรายเล็ก ดูเหมือนจะเริ่มเห็นแสงสว่างมากขึ้น

เพราะเมื่อสองประเทศมหาอำนาจของโลกเริ่มขยับตัวเพื่อแก้ปัญหาการผูกขาดทางการค้า ก็อาจทำให้หลายประเทศเริ่มตระหนักถึงปัญหานี้เช่นกัน

และท้ายที่สุดหากทั่วโลกออกมาตรการในลักษณะเดียวกัน ธุรกิจรายเล็กก็คงจะได้ลืมตาอ้าปากในตลาดได้มากกว่าปัจจุบันแน่นอน

บทความชิ้นนี้เขียนขึ้นโดย พงศ์ปณต ตั้งตราชู จากทีม มาแบบเหงาๆ เพราะเราไม่มีใครมาเป็นเพื่อนด้วย ผู้เข้าประกวดการแข่งขันนักข่าวรุ่นใหม่ NEWSGEN by Dtac

อ้างอิง

-https://edition.cnn.com/2021/07/09/politics/biden-big-tech-executive-order/index.html

-https://www.cnbc.com/2021/07/09/biden-to-sign-executive-order-aimed-at-cracking-down-on-big-tech-business-practices.html

-https://www.beartai.com/news/itnews/699029

-https://www.bangkokpost.com/business/2087247/china-crackdown-cuts-big-tech-down-to-size

-https://www.the101.world/merger-control-case-of-germany/

-https://brandinside.asia/ftc-sues-facebook-for-illegal-monopolization/

-https://www.wsj.com/articles/amazon-scooped-up-data-from-its-own-sellers-to-launch-competing-products-11587650015

-https://lawforasean.krisdika.go.th/File/files/1507149078.9b6c8e62da0516f70181975ac96d761f.pdf

-https://thestandard.co/g7-nations-reach-historic-agreement-over-global-corporate-tax/

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า