SHARE

คัดลอกแล้ว

ขบวนรถยนต์ของ นายพลกาเซม โซเลมานี (Qasem Soleimani) นายทหารคนสำคัญของอิหร่าน ขณะกำลังเดินทางออกจากสนามบินในกรุงแบกแดด เมืองหลวงของอิรัก ส่งผลให้นายพลโซเลมานีเสียชีวิตทันที

นี่ไม่ใช่การโจมตีทางการทหารธรรมดาๆ เพราะเป้าหมายในครั้งนี้ คือนายพลผู้ทรงอิทธิพลที่สุด และถือเป็นผู้ที่มีอำนาจสูงสุดอันดับ 2 ของอิหร่าน เป็นรองแค่ อาลี คาเมเนอี (Ali Khamenei) ผู้นำสูงสุดเท่านี้


การโจมตีที่ทำให้โลกต้องตกตะลึงครั้งนี้มีที่มาอย่างไร อิหร่านและพันธมิตรในตะวันออกกลางจะตอบโต้สหรัฐฯ แบบไหน ความขัดแย้งครั้งนี้จะนำไปสู่สงครามเต็มรูปแบบระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่านหรือไม่ รวมถึงคำถามที่หลายคนสงสัย ว่าเหตุการณ์ครั้งนี้จะเป็นชนวนไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 ได้หรือไม่ ทีมข่าวเวิร์คพอยท์มีคำตอบให้ใน 28 ข้อ

1. นายพลกาเซม โซเลมานี ถือเป็นนายทหารคนสำคัญที่สุดของอิหร่าน ในวันที่เสียชีวิต เขาอายุ 62 ปี และเป็นผู้บัญชาการของหน่วยรบพิเศษคุดส์ (Quds Force) ที่ปฏิบัติการอยู่ทั่วตะวันออกกลาง เขาคือผู้ชักใยความเคลื่อนไหวหลายอย่างที่เกิดขึ้นในตะวันออกกลาง ทั้งสงครามกลางเมืองในซีเรีย การขึ้นมาของกลุ่มติดอาวุธในอิรัก รวมถึงมีบทบาทอย่างสูงในสงครามต่อต้านกลุ่มก่อการร้าย ISIS ทั่วตะวันออกกลาง

2. ด้วยบทบาทที่หลากหลายและทรงอิทธิพลของเขาในตะวันออกกลาง ทำให้อดีตเจ้าหน้าที่ CIA ของสหรัฐฯ อย่าง John Maguire เคยให้สัมภาษณ์ไว้ตั้งแต่ปี 2013 ว่า นายพลโซเลมานี “เป็นบุคคลที่ทรงอิทธิพลที่สุดในตะวันออกกลาง” นอกจากนี้ ในอิหร่าน เขายังถูกมองว่าเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดอันดับ 2 รองจาก อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดเท่านั้น อีกทั้งยังได้รับการยกย่องว่าเป็นรัฐมนตรีการต่างประเทศตัวจริงของอิหร่านในเรื่องความสงบและสงคราม

3. แต่ย้อนกลับไปในวัยเด็ก โซเลมานีไม่ได้มีชีวิตที่สุขสบาย เขาเกิดในครอบครัวที่ยากจน และไม่ได้รับการศึกษาทางการที่สูงนัก ในวัย 13 ปี เขาต้องทำงานหนักเพื่อจ่ายคืนหนี้ ที่ผู้เป็นพ่อสร้างไว้และไม่สามารถจ่ายคืนเองได้

4. แต่ชีวิตของเขาก็พบจุดเปลี่ยน เมื่อเกิดสงครามระหว่าง อิหร่าน-อิรัก ขึ้นในทศวรรษ 1980 โซเลมานีเข้าร่วมสงครามในฐานะพลทหารธรรมดา แต่ความสามารถด้านกลยุทธ์และการทหาร ทำให้ภารกิจที่เขาได้รับมอบหมายในสงครามครั้งนั้นพบแต่ความสำเร็จ เมื่อบวกกับความโด่ดเด่นด้านความเป็นผู้นำ ทำให้เมื่อสงครามจบในอีก 8 ปีต่อมา โซเลมานีกลายเป็นหนึ่งในฮีโร่สงครามสำหรับชาวอิหร่าน และเป็นหนึ่งในนายทหารอายุน้อยที่โด่ดเด่นที่สุดคนหนึ่

5. 10 ปีต่อมา ในปี 1998 โซเลมานีได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการของหน่วยรบพิเศษคุดส์ (Quds Force) ซึ่งถือเป็นหน่วยหนึ่งของ กองกำลังป้องกันการปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน (Islamic Revolutionary Guard Corps: IRGC) ที่ปัจจุบันมีกองกำลังอยู่กว่า 150,000 คน ทั้งกองกำลังทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ

หน่วยรบพิเศษคุดส์มีหน้าที่สำคัญ ในการขยายอิทธิพลของอิหร่านไปทั่วตะวันออกกลาง โดยปฏิบัติการของหน่วยรบพิเศษคุดส์ มีตั้งแต่การจัดหาอาวุธให้พันธมิตรและสร้างเครือข่ายกองกำลังติดอาวุธที่ภักดีต่ออิหร่าน, ช่วยเหลือกองกำลังมุสลิมชีอะห์และชาวเคิร์ดต่อสู้กับซัดดัม ฮุสเซน ในอิรัก, เป็นผู้วางกลยุทธ์ให้ บาชาร์ อัล-อัสซาด (Bashar al-Assad) ในสงครามกลางเมืองซีเรีย จนสามารถยึดพื้นที่คืนจากกลุ่มกบฏได้, รวมถึงในเลบานอนและปาเลสไตน์ ที่หน่วยรบพิเศษคุดส์เข้าไปช่วยเหลือและจัดหาอาวุธให้ทั้งกลุ่มเฮซบอลเลาะห์ (Hezbollah) ในเลบาบอน และกลุ่มฮามาส (Hamas) ในปาเลสไตน์

จะเห็นได้ว่าภายใต้การนำของนายพลโซเลมานี หน่วยรบพิเศษคุดส์ของอิหร่านได้เข้าไปมีบทบาทอย่างสูงในการเมืองและความขัดแย้งของหลายประเทศในตะวันออกกลาง รวมถึงได้สร้างและสนับสนุนเครือข่ายกองกำลังติดอาวุธที่เป็นพันธมิตรกับอิหร่านขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน อิรัก ซีเรีย และเลบานอน

6. แต่สิ่งที่ทำให้สหรัฐฯ ไม่พอใจนายพลโซเลมานีมากที่สุด คือการที่เขามีส่วนทำให้ทหารอเมริกันในตะวันออกกลางเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก โดยหลังจากที่สหรัฐฯ บุกอิรักในปี 2003 นายพลโซเลมานีได้สั่งการให้กองกำลังติดอาวุธในอิรักที่เป็นพันธมิตรกับอิหร่าน โจมตีฐานที่มั่นและกองกำลังทหารอเมริกันในอิรัก รวมถึงเป็นผู้จัดหาระเบิดที่สามารถฉีกทะลุเกราะรถถังของสหรัฐฯ ให้กับกองกำลังในอิรักด้วย เป็นเหตุให้ทหารอเมริกันเสียชีวิตไปหลายร้อยนาย

นอกจากนั้นแล้ว กลุ่มติดอาวุธหลายกลุ่มที่หน่วยรบพิเศษคุดส์เข้าไปให้การสนับสนุน ยังถูกสหรัฐฯ จัดให้เป็น “กลุ่มก่อการร้าย” ด้วย ทั้งกลุ่มเฮซบอลเลาะห์ในเลบานอน และกลุ่มฮามาส

7. จนในที่สุด ในเดือน เม.ย. ปี 2019 ที่ผ่านมานี้เอง กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ได้ประกาศให้ กองกำลังป้องกันการปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน (Islamic Revolutionary Guard Corps: IRGC) ซึ่งเป็นหน่วยงานแม่ของหน่วยรบพิเศษคุดส์ เป็น “กลุ่มก่อการร้าย” อย่างเป็นทางการ

โดยให้เหตุผลกว่า IRGC ทำให้ทหารอเมริกันในอิรักเสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 603 คนนับตั้งแต่ปี 2003 อีกทั้งยังมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการวางแผนก่อการร้ายต่างๆ ทั่วตะวันออกกลางซึ่งเป็นเหตุให้พลเมืองสหรัฐฯ ต้องเสียชีวิต นอกจากนั้น ยังระบุด้วยว่า IRGC ได้เคยวางแผนการก่อการร้ายที่จะสังหารทูตของซาอุดิอาระเบียประจำสหรัฐฯ บนแผ่นดินของสหรัฐฯ เอง เพียงแต่ว่าแผนการดังกล่าวถูกสกัดกั้นไว้ได้ก่อน

นั่นเท่ากับว่านับตั้งแต่เดือน เม.ย. ปี 2019 เป็นต้นมา ในสายตาของสหรัฐฯ แล้ว หน่วยรบพิเศษคุดส์ของอิหร่าน ที่มีนายพลโซเลมานีเป็นผู้นำ มีสถานะไม่ต่างอะไรจากกลุ่มก่อการร้ายอื่นๆ อย่าง อัลกออิดะห์ เฮซบอลเลาะห์ และ ISIS

8. อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่าน ที่นำมาสู่การสังหารนายพลโซเลมานีในครั้งนี้ ได้ไม่เพิ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อหนึ่งปีก่อนเมื่อสหรัฐฯ ประกาศให้ IRGC เป็นองค์กรก่อการร้าย ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเมื่ออิหร่านมีส่วนในการตายของทหารอเมริกันในอิรักในปี 2003 แต่เป็นความขัดแย้งที่มีรากยาวนานเกือบ 70 ปี นับตั้งแต่สหรัฐฯ เข้าไปมีส่วนในการวางแผนรัฐประหารนายกฯ ของอิหร่านในทศวรรษ 1950

9. ย้อนกลับไปในปี 1953 ในขณะนั้นอิหร่านมีนายกรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งที่ชื่อ โมฮัมหมัด มอสซาเดก (Mohammad Mossaddegh) นายกฯ ของอิหร่านคนนี้ต้องการที่จะยึดสิทธิการผลิตน้ำมันในอิหร่านให้กลับมาเป็นของรัฐ ทำให้อังกฤษซึ่งในขณะนั้นควบคุมกิจการน้ำมันส่วนใหญ่ในอิหร่านไม่พอใจ และร่วมวางแผนกับสหรัฐฯ ในการรัฐประหารกำจัดนายมอสซาเดกออกจากรัฐบาล และแต่งตั้งพระเจ้าชาห์ หรือ โมฮัมหมัด เรซา ชาห์ (Mohammad Reza Shah) ขึ้นบริหารประเทศแทน

10. พระเจ้าชาห์ปกครองอิหร่านอยู่นานกว่า 25 ปี แต่ในที่สุดเสียงสนับสนุนของเขาจากประชาชนและชนชั้นนำด้วยกันก็เสื่อมถอยลงจากปัญหาหลายอย่าง จนในปี 1979 เกิดการประท้วงครั้งใหญ่ขึ้นในอิหร่านเพื่อขับไล่พระเจ้าชาห์ โดยในครั้งนั้นชาวอิหร่านกว่า 2 ล้านคนออกมาประท้วงบนท้องถนน ในที่สุดพระเจ้าชาห์ต้องลงจากตำแหน่ง และทำให้ อยาตอลเลาะห์ โคไมนี (Ayatollah Khomeini) ขึ้นมาเป็นผู้นำสูงสุดของอิหร่านแทน

และนับจากนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศระหว่าง สหรัฐฯ และอิหร่าน ก็มีแต่แย่ลง ท่ามกลางความรู้สึกของชาวอิหร่านในขณะนั้น ที่รู้สึกไม่พอใจและต่อต้านชาวอเมริกันอย่างสูง

11. หลังจากพระเจ้าชาห์ถูกขับออกจากตำแหน่งในปี 1979 เขาได้เดินทางไปรักษาโรคมะเร็งที่สหรัฐฯ ในขณะที่ทางการอิหร่านได้ขอให้สหรัฐฯ ส่งตัวพระเจ้าชาห์กลับประเทศ เพื่อขึ้นศาลจากข้อครหาเกี่ยวกับอาชญากรรมที่เขาทำในช่วงครองอำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ตำรวจลับในปฏิบัติการปิดปากผู้เห็นต่าง แต่ทางการสหรัฐฯ ปฏิเสธไม่ส่งตัวพระเจ้าชาห์กลับไปให้อิหร่าน

12. ความไม่พอใจของชาวอิหร่านที่มีอยู่เป็นทุนเดิมต่อสหรัฐฯ ที่มองว่าเป็นทั้งผู้อยู่เบื้องหลังการรัฐประหารในอิหร่านในทศวรรษ 1950 รวมถึงความพยายามของสหรัฐฯ ที่พยายามบั่นทอนกองกำลังปฏิวัติอิหร่านในการขับไล่พระเจ้าชาห์ ทำให้ในเดือน พ.ย. 1979 นักศึกษาหัวรุ่นแรงกลุ่มหนึ่งได้บุกเข้าไปในสถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงเตหะราน เมืองหลวงของอิหร่าน และจับตัวประกันชาวอเมริกันจำนวน 52 คน ไว้นาน 444 วัน

เหตุการณ์ดังกล่าวนี้รู้จักกันในชื่อ “วิกฤติตัวประกันอิหร่าน” (Iran hostage crisis) และยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่าน ยิ่งแย่ลง หลังเหตุการณ์ดังกล่าว สหรัฐฯ ได้เริ่มมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่ออิหร่านเป็นครั้งแรก

13. ความสัมพันธ์ของสหรัฐฯ และอิหร่าน ยิ่งแย่ลงไปอีกในปี 1988 เมื่อเรือรบของสหรัฐฯ ยิงเครื่องบินโดยสารพลเรือนของอิหร่านแอร์ตกบริเวณช่องแคบฮอร์มุซ (Strait of Hormuz) เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 290 คน โดยส่วนใหญ่เป็นผู้แสวงบุญที่จะเดินทางไปยังนครเมกกะ สถานที่ศักดิ์สิทธิของชาวมุสลิม โดยสหรัฐฯ ระบุแต่เพียงว่าเป็นความผิดพลาด คิดว่าเครื่องบินลำดังกล่าวคือเครื่องบินรบ อีกทั้งยังไม่เคยขอโทษต่อเหตุการณ์ดังกล่าว

14. ในยุคประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ของสหรัฐฯ ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศดำดิ่งถึงจุดต่ำสุด เมื่อในปี 2002 ประธานาธิบดีบุชประณามว่าอิหร่านเป็นหนึ่งในประเทศ “แกนแห่งความชั่วร้าย” (Axe of evil) ร่วมกับอิรักและเกาหลีเหนือ โดยสาเหตุหลักมาจากการที่อิหร่านเดินหน้าพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์อย่างเต็มตัว

15. จนในที่สุดในปี 2006 อิหร่านถูกนานาชาติคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจอย่างหนัก หลังจากที่ยังไม่หยุดโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์และการสะสมแร่ยูเรเนียมที่ใช้ในหัวรบนิวเคลียร์ การคว่ำบาตรระลอกนี้ทำให้เงินลงทุนจากต่างชาติที่ลงไปสู่อิหร่านหยุดชะงัก การส่งออกน้ำมันของอิหร่านออกไปขายในหลายประเทศถูกตัดขาด รวมถึงเงินฝากและเงินลงทุนที่อิหร่านมีในหลายประเทศ ก็ถูกอายัดไว้ชั่วคราวด้วย เรียกได้ว่าการคว่ำบาตรระลอกนี้ทำให้เศรษฐกิจของอิหร่านเสียหายอย่างหนัก

16. อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านและสหรัฐฯ เริ่มดีขึ้นในยุคประธานาธิบดีโอบามา โดยในปี 2013 โอมาบาได้คุยทางโทรศัพท์กับ ฮัสซาน รูฮานี (Hassan Rouhani) ประธาธิบดีของอิหร่าน โดยถือเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปี ที่ทั้งสองประเทศพูดคุยกันอย่างเป็นทางการ

17. ต่อมาในปี 2015 อิหร่านได้ทำ “ข้อตกลงนิวเคลียร์” กับประเทศมหาอำนาจ 6 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย จีน และเยอรมนี โดยอิหร่านจะยอมลดปริมาณการถือครองแร่ยูเรเนียมความบริสุทธิ์ต่ำลง 98% ทำลายสต็อคแร่ยูเรเนียมความเข้มข้นปานกลางที่มีอยู่ทั้งหมด และในช่วงเวลา 15 ปีข้างหน้า อิหร่านจะสกัดแต่ยูเรเนียมที่มีความบริสุทธิ์ไม่เกิน 3.67% ซึ่งสามารถนำไปใช้ในโรงไฟฟ้าได้เท่านั้น (การผลิตหัวรบนิวเคลียร์ ต้องใช้ยูเรเนียมที่มีความบริสุทธิ์ 90% ขึ้นไป)

โดยแลกกับการที่ 6 ประเทศมหาอำนาจ รวมถึงสหภาพยุโรป ยกเลิกการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่ออิหร่าน หลังจากข้อตกลงนิวเคลียร์ดังกล่าวเริ่มบังคับใช้ในเดือน ม.ค. 2016 อิหร่านสามารถเข้าถึงทรัพย์สินในต่างประเทศมูลค่ากว่า 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ถูกอายัดไว้ก่อนนี้ได้ รวมถึงสามารถขายน้ำมันในตลาดต่างประเทศ และใช้ระบบการเงินโลกในการค้าขายได้อีกครั้ง

เรียกได้ว่า เป็นดีลที่ วิน-วิน สำหรับทั้งอิหร่านที่ต้องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ และประชาคมโลกที่ต้องการเห็นอิหร่านระงับการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์

18. แต่ข้อตกลงนิวเคลียร์ดังกล่าวนี้ก็อยู่ได้ไม่นาน เมื่อในเดือน พ.ค. 2018 ประธานาธิบดีทรัมป์ของสหรัฐฯ ได้ประกาศถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์ดังกล่าว โดยบอกว่า นี่เป็นดีลแย่ๆ ที่อิหร่านได้ประโยชน์อยู่ฝ่ายเดียว เป็นข้อตกลงที่ไม่ควรมีการเซ็นกันแต่ต้น อีกทั้งยังเป็นข้อตกลงที่ไม่มีทางนำความสุขสงบมาได้เลย

นับแต่นั้นความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่าน ก็มีแต่ดิ่งเหวลง และการที่สหรัฐฯ ประกาศให้ กองกำลังป้องกันการปฏิวัติอิสลามของอิหร่าน (Islamic Revolutionary Guard Corps: IRGC) เป็นองค์กรก่อการร้ายช่วงกลางปี 2019 ก็เหมือนเป็นอีกหนึ่งเชื้อเพลิง ที่พร้อมจะโหมให้ไฟความขัดแย้งระหว่าง 2 ประเทศลุกโชนขึ้นได้อีก

19. ความระหองระแหงระหว่างอิหร่านและสหรัฐฯ ในยุคประธานาธบดีทรัมป์ มาถึงจุดแตกหักจากเหตุการณ์เมื่อปลายเดือน ธ.ค. 2019 โดยในวันศุกร์ที่ 27 ธ.ค. ฐานทัพสหรัฐฯ ใกล้เมือง Kirkuk ประเทศอิรัก ถูกโจมตีด้วยจรวดขีปนาวุธกว่า 30 ลูก เป็นเหตุให้พลเมืองสหรัฐฯ 1 คน ที่ทำงานในฐานทัพดังกล่าวเสียชีวิต

โดยการโจมตีในครั้งนี้ สหรัฐฯ สรุปว่าเป็นฝีมือของกลุ่มคาตาอิบ ฮิซบอลเลาะห์ (Kataib Hezballah) กองกำลังติดอาวุธในอิรักที่หน่วยรบพิเศษคุดส์ของอิหร่านให้การสนับสนุน

20. สหรัฐฯ ทำการตอบโต้การโจมตีครั้งนี้ทันที โดยในวันอาทิตย์ที่ 29 ธ.ค. สหรัฐฯ ได้ใช้ขีปนาวุธทำลายฐานที่มั่นของกลุ่มคาตาอิบ ฮิซบอลเลาะห์ 3 แห่งในอิรัก และอีก 2 แห่งในซีเรีย เป็นเหตุให้กองกำลังของกลุ่มก่อการร้ายดังกล่าว 25 คนเสียชีวิต และอีก 51 คนบาดเจ็บ

จากเหตุการณ์นี้ อาบู มาห์ดี อัล-มูฮันดิส (Abu Mahdi al-Muhandis) ผู้นำของกลุ่มคาตาอิบ ฮิซบอลเลาะห์ ได้ประกาศกร้าวว่า “เลือดของผู้พลีชีพครั้งนี้จะไม่สูญเปล่า” และ “เราจะตอบโต้ทหารอเมริกันในอิรักอย่างหนักให้สาสม”

21. การโจมตีฐานที่มั่นของกลุ่มคาตาอิบ ฮิซบอลเลาะห์ ของสหรัฐฯ ครั้งนี้ ทำให้ชาวอิรักจำนวนมากไม่พอใจ และฝูงชนชาวอิรักได้รวมตัวกันบุกเข้าไปในสถานทูตสหรัฐฯ ที่กรุงแบกแดด เมืองหลวงของอิรัก ในวันอังคารที่ 31 ธ.ค. ที่ผ่านมา

ภายหลังเหตุการณ์ ประธานาธบดีทรัมป์ได้ทวีตข้อความว่า อิหร่านจะต้อง “ชดใช้อย่างสาสม” (will pay a very big price) กับสิ่งที่ทำลงไป

ในขณะเดียวกัน อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่านก็ได้ออกมาตอบโต้ว่า สหรัฐฯ “ไม่มีน้ำยาจะทำอะไรได้” (can’t do a damn thing)

22. จนในที่สุด เมื่อวันศุกร์ที่ 3 ม.ค. ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ก็สั่งให้โดรนยิงขีปนาวุธสังหารนายพลกาเซม โซเลมานี ขณะกำลังเดินทางออกจากสนามบินในกรุงแบกแดด เมืองหลวงของอิรัก

โดยนอกจากนายพลโซเลมานีแล้ว ยังมีผู้เสียชีวิตจากการโจมตีครั้งนี้อีก 6 คน โดยหนึ่งในนั้นคือ อาบู มาห์ดี อัล-มูฮันดิส ผู้นำของกลุ่มคาตาอิบ ฮิซบอลเลาะห์

23. ภายหลังเหตุการณ์ อิหร่านได้ออกมาระบุทันทีว่าจะตอบโต้สหรัฐฯ กลับแน่นอน โดยที่ปรึกษาของผู้นำสูงสุดอิหร่านได้ออกมาบอกว่า เป้าหมายที่อิหร่านจะโจมตีกลับ จะเป็นเป้าหมายทางการทหาร

ในขณะเดียวกันก็ได้ประกาศว่า อิหร่านจะไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงนิวเคลียร์ในปี 2015 อีกต่อไป และจะเดินหน้าพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์อย่างเต็มตัว

24. ส่วนทางด้านอิรัก ที่เป็นพันธมิตรกับทั้งสหรัฐฯ และอิหร่าน ล่าสุดรัฐสภาของอิรักได้ผ่านร่างกฎหมายที่จะส่งผลเป็นการขับไล่กองกำลังทหารต่างชาติออกจากประเทศทั้งหมด นั่นหมายความว่าหากกฎหมายนี้บังคับใช้ สหรัฐฯ ก็จำเป็นต้องถอนกองกำลังทั้งหมดในอิรักกว่า 5,200 นายออกจากประเทศ ซึ่งอาจส่งผลให้การต่อสู้กับกลุ่มก่อการร้าย ISIS ในอิรักเป็นไปได้ยากขึ้น และอาจทำให้กลุ่ม ISIS กลับมาแข็งแกร่งอีกครั้งได้

นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า สุดท้ายถ้าอิรักจำเป็นต้องเลือกระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่าน สุดท้ายอิรักก็คงต้องเลือกเป็นพันธมิตรกับอิหร่านมากกว่า เพราะถึงอย่างไรก็เป็นประเทศเพื่อนบ้านที่พรมแดนติดกันและต้องอยู่กันไปอีกนาน ในขณะที่สหรัฐฯ อาจจะถอนตัวหรือหยุดให้การสนับสนุนอิรักเมื่อไหร่ก็ได้

25. สำหรับคนที่สงสัยว่า เหตุการณ์ครั้งนี้จะนำไปสู่สงครามนิวเคลียร์ระหว่าง สหรัฐฯ และอิหร่านไหม ก็ต้องบอกว่าน่าจะเป็นไปได้ยากในตอนนี้ เพราะถึงปัจจุบัน อิหร่านยังไม่สามารถพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ได้สำเร็จ

26. รวมถึงหลายคนก็อาจจะสงสัย ว่านี่จะนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่ 3 หรือไม่ ก็ต้องบอกว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นได้เช่นกัน เนื่องจากมหาอำนาจอย่างรัสเซียและจีน ไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องโดยตรงในความขัดแย้งครั้งนี้ และแม้ว่าจีนจะเพิ่งออกมาประกาศว่าจะเข้าไปมีบทบาทในการรักษาสันติภาพและความมั่นคงในตะวันออกกลาง ก็คงเป็นบทบาทในการช่วยเจรจาและบทบาทในเวทีระหว่างประเทศมากกว่า ไม่น่าจะเข้ามามีบทบาทในทางการทหาร

ดังนั้นโอกาสในการเกิดสงครามโลก จึงแทบไม่มี

27. ส่วนสงครามเต็มรูปแบบระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่าน ก็คงไม่เกิดขึ้นเช่นกัน เนื่องจากอิหร่านย่อมรู้ดีว่าตนเองไม่สามารถต่อสู้กับกำลังทหารของสหรัฐฯ ได้แน่ๆ

สหรัฐฯ มีเครื่องบินรบทุกประเภทรวมกันกว่า 13,000 ลำ ในขณะที่อิหร่านมีแค่ 509 ลำ รถถังของสหรัฐฯ มีทั้งสิ้น 6,287 คัน ในขณะที่อิหร่านมีเพียง 1,634 คัน ส่วนกำลังทางน้ำ เฉพาะเรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐฯ มี 24 ลำ ส่วนอิหร่านไม่มีเลย นี่ยังไม่นับเทคโนโลยีทางการทหารอื่นๆ ที่สหรัฐฯ ล้ำหน้ากว่ามาก รวมถึงมีอาวุธนิวเคลียร์ที่อิหร่านไม่มี

สงครามเต็มรูปแบบระหว่าง 2 ประเทศจึงไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ แต่การโจมตีฐานที่มั่นทางการทหารของสหรัฐฯ เป็นครั้งๆ ไปจากอิหร่านและกองกำลังพันธมิตรคงมีให้เห็น

28. แต่สิ่งที่ต้องไม่ลืมก็คือว่า แม้จะไม่มีประเทศไหนอยากเข้าสู่สงครามเต็มรูปแบบ และโศกนาฏกรรมระดับสงครามโลกก็คงไม่มีใครอยากให้เกิด แต่ความขัดแย้งระดับโลกหลายครั้งก็เกิดจากเหตุน้ำผึ้งหยดเดียว ที่หยดลงไปบนกองความขัดแย้งที่คุกรุ่นจนพร้อมจะระเบิดกลายเป็นสงครามได้ทุกเมื่อ

ซึ่งก็ไม่แน่ว่าความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-อิหร่าน ระลอกนี้ อาจกำลังก่อสร้างกองถ่านที่พร้อมจะระเบิดกลายเป็นเปลวไฟสงครามในอนาคตได้ทุกเมื่อก็ได้

 

สรุปความโดย กฤดิกร เผดิมเกื้อกูลพงศ์

 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า