SHARE

คัดลอกแล้ว

วันนี้วัคซีนไฟเซอร์ 1.5 ล้านโดสได้เดินทางมาถึงประเทศไทย ผ่านการบริจาคของสหรัฐอเมริกา ท่ามกลางการจับตามองถึงการจัดสรรให้ไปถึงมือของคนที่ควรได้รับจริงๆ workpointTODAY ได้สัมภาษณ์พิเศษกับไมเคิล ฮีธ อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย 

ภาพโดยสถานทูตสหรัฐประจำประเทศไทย

คำถาม: สวัสดีครับ คุณไมเคิล ฮีธ ขอต้อนรับสู่ WorkpointTODAY นะครับ ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณอย่างมากสำหรับดีลไฟเซอร์ที่มาถึงไทยเมื่อเช้านี้ ช่วยเล่าเกี่ยวกับเส้นทางหน่อยได้ไหมครับว่าปิดดีลนี้ได้อย่างไร?

ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้น ตอนที่ประธานาธิบดีไบเดนประกาศความตั้งใจที่จะบริจาควัคซีน บางส่วนจากคลังที่เรามีอยู่ ตอนนั้นท่านประธานาธิบดีกล่าวว่าจะบริจาควัคซีน 80 ล้านโดสให้แก่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกภายในเดือนมิถุนายน ซึ่งจากทั้งหมด 80 ล้านโดส จะมอบให้ประเทศในทวีปเอเชีย 23 ล้านโดส

การบริจาคส่วนใหญ่จะผ่านโครงการ COVAX แต่ประเทศไทยไม่ได้เข้าร่วมโครงการนี้ ทำให้ต้องหาทางบริจาควัคซีนโดยไม่ผ่านโคแวกซ์ จึงเกิดเป็นดีลพิเศษขึ้น เพื่อประเทศไทยโดยเฉพาะ เราทำงานกันอย่างหนักเพื่อดีลนี้

ตลอดช่วงการระบาดที่ผ่านมา เราเฝ้ามองและติดตามสถิติอยู่ตลอดว่าสถานการณ์ในไทยเป็นยังไงบ้าง ร้ายแรงแค่ไหน ซึ่งตอนนี้ประทศไทยติดอันดับท็อป 10 ของประเทศที่มีการติดเชื้อโควิดสูงสุดทั่วโลก คิดต่อจำนวนประชากร สถานการณ์มันตึงเครียดมาก ด้วยเหตุนี้ เรารู้สึกว่า เราต้องการวัคซีนที่มีประสิทธิภาพจำนวนหนึ่งเพื่อมาบริจาคให้แก่เพื่อนของเราในประเทศไทย

ไม่กี่อาทิตย์ก่อน เราได้รับยอดโดสที่จะบริจาคให้และเราพึงพอใจอย่างมาก แต่แน่นอน จำนวนยอดผู้ติดเชื้อในไทยพุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง เราเลยคิดจะขอเพิ่มอีก 1 ล้านโดส และเราก็ทำสำเร็จ ประเด็นนี้ถูกยกขึ้นมาพูดครั้งแรกในระหว่างการหารือออนไลน์ โดย แทมมี ดักเวิร์ธ วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ อย่างที่เธอออกมาพูดเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา

1.5 ล้านโดสมาถึงที่สนามบินเมื่อเช้านี้ ผมไม่ได้อยู่ที่สนามบินเพราะวัคซีนมาถึงไทยตอนตี 4 ผมไม่ใช่พวกตื่นเช้ามาก เลยไม่สามารถตื่นเร็วขนาดนั้นได้จริงๆ แต่เราส่งเจ้าหน้าที่ของเราไป พวกเขาถ่ายวิดีโอตอนที่วัคซีนมาถึงไว้ เราแค่ เรามีความสุขมาก คือเราดำเนินการเรื่องนี้กันมานานและในที่สุด วัคซีนก็มาถึงแล้ว 

ย้ำอีกครั้ง นี่เป็นเพียงล็อตแรกเท่านั้น เราจะได้ 1 ล้านโดสอีกล็อตนึง และหวังว่าจะได้เพิ่มขึ้นอีก เราจะประสานงานเรื่องนี้ต่อไปเพราะจำนวนวัคซีนนั้นเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ความต้องการวัคซีนทั่วโลกก็เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เราพยายามอย่างมากที่จะจัดส่งวัคซีนไปยังประเทศที่ต้องการมากที่สุด ซึ่งเห็นได้ชัดว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศนั้นๆ ที่ต้องการวัคซีนเหล่านี้ ดังนั้น วันนี้พวกเราเลยมีความสุขมากจริงๆ

ไมเคิล ฮีธ อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ให้สัมภาษณ์กับนภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ บรรณาธิการบริหาร workpointTODAY

เช็คอีกทีนะครับ 1.5 ล้านโดสมาถึงไทยเมื่อเช้านี้ และเมื่อวาน ส.ว. ดักเวิร์ธ ก็ออกมาเผยว่าจะมีมาอีก 1 ล้านโดสเร็วๆ นี้ ถูกไหมครับ?

ใช่ครับ ถูกต้อง

 แล้วเป็นไปได้ไหมครับที่จะมีมาอีกหลังจากนี้?

ผมก็ไม่ทราบแน่ชัด แต่อย่างที่บอก จำนวนวัคซีนที่ผลิตมีมากขึ้นเรื่อยๆ เราก็จะคอยแสวงหาดีลบริจาคเพิ่มเติม นอกจากนี้ ก็ยังพยายามร่วมมือกับนานาประเทศเพื่อเพิ่มฐานการผลิตเช่นกัน อย่างกลุ่มประเทศ สหรัฐฯ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น หรืออินเดียก็มีข้อตกลงที่จะประสานงานการผลิตเช่นกัน

ตอนนี้ทั่วโลกประสบกับภาวะขาดแคลนวัคซีน หลายประเทศเผชิญกับการติดเชื้อโควิด-19 โดยเฉพาะสายพันธุ์ใหม่อย่างเดลต้าที่แข็งแกร่งมากขึ้น วัคซีนก็ยิ่งขาดแคลน ดังนั้น เราคงต้องฝ่าฝันช่วงสัปดาห์ที่ยากลำบากเหล่านี้ไปอีกสักพักนึง แต่ผมคิดว่า จนถึงปลายปีนี้ สถานการณ์การจัดสรรวัคซีนน่าจะค่อยๆ ดีขึ้น อย่างที่เราเห็นรัฐบาลไทยออกมาประกาศการจัดซื้อจัดหาวัคซีนไฟเซอร์ 20 ล้านโดส ผมคิดว่ารัฐบาลไทยน่าจะกำลังเจรจากับบริษัทอื่นด้วย อย่างโมเดอร์นาและจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน คงต้องรอดูว่าจะมีวัคซีนเข้ามาเพิ่มขึ้นอีกมากแค่ไหนในอนาคต อย่างไรก็ตาม เรายังคงเดินหน้ามองหาโอกาสที่จะบริจาควัคซีนอยู่เรื่อยๆ เมื่อไหร่ก็ตามที่เราสามารถทำได้

สำหรับคนไทยหลายๆ คน เรารู้สึกว่าประเทศไทยนำเข้าไฟเซอร์ช้ามาก คุณผ่านประสบการณ์นี้มาแล้ว คุณมองเรื่องนี้ว่าอย่างไร?

อย่างที่ผมบอก เราต้องบริจาคนอกเหนือไปจากโครงการ COVAX เราจึงต้องทำข้อตกลงพิเศษขึ้นเพื่อไทยโดยเฉพาะ เมื่อไหร่ก็ตามที่มีการบริจาค บริษัทที่ทำการบริจาค บริษัทที่ผลิตวัคซีน หรือเราในฐานะรัฐบาลที่บริจาค จะต้องมีการทำข้อตกลง ที่เรียกว่า Distribution Service Agreement ซึ่งมีข้อมูลเฉพาะและรายละเอียดเชิงกฎหมายเยอะมาก บริษัทต้องปกป้องตัวเองจากความรับผิดชอบต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น ในขณะที่รัฐบาลก็ต้องปกป้องตัวเองเช่นกัน บางครั้งก็ต้องเปลี่ยนกฎและข้อระเบียบต่างๆ เพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงที่จะทำสัญญากัน 

ผมไม่ใช่นักกฎหมาย และผมก็ไม่ใช่หมอด้วย ผมจึงพยายามหลีกเลี่ยงอะไรก็ตามที่เกี่ยวโยงกับคำแนะนำทางการแพทย์ หลีกเลี่ยงอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมาย เพราะผมไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างในข้อตกลงนี้ ผมรู้แค่ว่ามันซับซ้อนมาก รัฐบาลทั้ง 2 ประเทศทำงานอย่างหนักเพื่อหาทางออก พิจารณารายละเอียดก่อนที่จะทำข้อตกลง อย่างไรก็ตาม เรามีความสุขมากที่วัคซีนมาถึงแล้วจริงๆ และเราคิดว่านี่จะเป็นการกระตุ้นระบบสาธารณสุขไทยครั้งใหญ่ครับ

ภาพโดยสถานทูตสหรัฐประจำประเทศไทย

มาดูกันดีกว่าว่าวันนี้เรามีอะไรอยู่บ้าง วันนี้เป็นเช้าที่ดีนะครับ เราได้รับวัคซีน 1.5 ล้านโดสที่เดินทางมาถึงกรุงเทพฯ อย่างปลอดภัย แต่จะมีการจัดสรรอย่างไร ใครจะได้รับวัคซีนก่อน เราได้เห็นแผนการจัดสรรแล้ว แต่ผมคิดว่าประชาชนก็ยังคงเคลือบแคลงใจ เพราะเมื่อพูดถึงภาครัฐฯ​ไทย ประชาชนต่างก็สงสัยว่าวัคซีนจะไปถึงมือของผู้ที่ควรได้รับจริงๆ หรือเปล่า?

รัฐบาลไทย เจ้าหน้าที่รัฐหลายคนก็ออกมาแถลงว่าจะจัดสรรให้กลุ่มที่เสี่ยงสูงสุดก่อน ซึ่งผมเห็นด้วยอย่างยิ่งกับพวกเขานะครับ กลุ่มเสี่ยงอย่างบุคลากรทางการแพทย์ที่อยู่หน้าด่าน ที่ต้องรักษาผู้ป่วยโรคโควิดทุกวัน กลุ่มหมอ พยาบาล อาสาสมัคร รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุที่ระบบภูมิคุ้มกันอาจต่ำ และกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง พวกเขาก็เป็นกลุ่มเสี่ยงเช่นกัน ผมคิดว่านี่คือกลุ่มที่ทำให้แผนกไอซียู เตียงในโรงพยาบาลทั่วเมืองเต็ม

ดังนั้น ตอนที่รัฐบาลประกาศว่าจะจัดสรรวัคซีนให้กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และกลุ่มผู้สูงอายุเป็นอันดับแรก และอาจจัดสรรให้กลุ่มเด็กด้วย เพื่อที่พวกเขาจะได้กลับไปเรียนที่โรงเรียนได้ เหล่านี้เป็นกลุ่มที่รัฐบาลประเทศอื่นๆ จัดสรรให้ก่อน เป็นกลุ่มที่รัฐบาลสหรัฐฯ จัดสรรให้เป็นอันดับแรกในปีที่ผ่านมา ผมจึงเห็นด้วยและสนับสนุนประกาศของทางรัฐบาล 

ส่วนเรื่องการทำงานจริงๆ จะเป็นอย่างไร คุณคือคนที่ต้องจับตาดูต่อไป และนี่เป็นประโยชน์อย่างหนึ่งของการมีสื่อเสรี อย่างที่เห็นกันในสหรัฐฯ

รัฐบาลคุณมีหน้าที่ความรับผิดชอบที่จะต้องดำเนินการฉีดวัคซีนในประเทศ รัฐบาลประเทศอื่นไม่ได้อยู่ในจุดที่จะสามารถมาบอกได้ว่าคุณต้องทำอะไร 

นี่คือการบริจาคของเราให้แก่คุณ ประชาชนของคุณ และประเทศของคุณ แต่มันเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของรัฐบาลไทยที่จะบริหารจัดการวัคซีนนี้ เราเชื่อใจคุณและประชาชนจะคอยเฝ้าสังเกต ถ้าคุณเจอข้อมูลอะไรที่ดูไม่ชอบธรรม ผมมั่นใจว่าคุณจะยกประเด็นนั้นขึ้นมาพูดในที่สาธารณะ และผมหวังว่าผู้คนจะรับฟัง

ภาพโดยสถานทูตสหรัฐประจำประเทศไทย

เราจะทำให้ดีที่สุด ท่ามกลางอุปสรรคต่างๆ ที่กำลังเผชิญในไทยตอนนี้ ช่วยเล่าเกี่ยวกับกระบวนการเพิ่มเติมหน่วยได้ไหมครับ หลายๆ คนคาดหวัง หรือบางคนก็สงสัยว่าจะเป็นไปได้ไหมที่สหรัฐฯ จะมาตรวจสอบมอนิเตอร์อีกรอบว่าวัคซีนจะไปถึงมือของคนที่ต้องการไฟเซอร์จริงๆ?

เราไม่มีอำนาจที่จะทำแบบนั้น นี่ไม่ใช่ประเทศของเรา เราเป็นเหมือนแขกในประเทศไทย ฉะนั้น คุณไม่ให้ของขวัญใครสักคนและบอกพวกเขาว่ามันใช้ยังไง นี่คือการบริจาคจากเรามอบให้แก่ประเทศของคุณ เราต้องเชื่อมั่นในรัฐบาลและดำเนินการตามหน้าที่ เราจะติดตามแผนการกระจายวัคซีนและดูว่าจะเป็นไปอย่างไร ซึ่งอาจนำมาพิจารณาเป็นปัจจัยหนึ่งสำหรับการบริจาคในอนาคต ถ้าจัดสรรไปได้ด้วยดี ทุกคนพึงพอใจกับผลลัพธ์ที่ออกมา นั่นอาจจะเป็นหนึ่งปัจจัยที่นำไปสู่การบริจาควัคซีนอีกในอนาคต

จากที่พูดก่อนหน้านี้ เหมือนว่าคุณก็ติดตามตัวเลขยอดผู้ติดเชื้อในไทยเพื่อเอาไปปรับคำนวณกับจำนวนโดสที่จะบริจาคเช่นกัน ถูกต้องไหมครับ?

นั่นเป็นปัจจัยหนึ่งที่เราใช้ เราพิจารณาปัจจัยหลายๆ อย่างแตกต่างกันไป เราดูว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดรุนแรงแค่ไหนในแต่ละประเทศ อัตราการเสียชีวิตเท่าไหร่ รวมถึงความสามารถของประเทศนั้นๆ ในการรับมือกับยอดผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ระบบสาธารณสุขมีประสิทธิภาพมากแค่ไหน ยกตัวอย่างเช่น ประเทศแอฟริกา แอฟริกามียอดผู้ติดเชื้อต่ำ แต่ในขณะเดียวกัน ระบบสาธารณสุขก็มีความสามารถไม่สูงนักที่จะรับมือกับสถานการณ์ เราจะพิจารณาปัจจัยเหล่านี้ เพื่อตัดสินใจว่าเราจะส่งมอบวัคซีนไปที่ไหน ประเทศใดที่ต้องการมากที่สุด

ขณะนี้สหรัฐฯ เองก็มีความกังวลเกี่ยวกับสายพันธุ์เดลต้า ประเด็นนี้จะส่งผลกระทบต่อแผนการบริจาควัคซีนให้ประเทศอื่นๆ หรือไม่?

ผมไม่คิดว่าจะมีผลกระทบอะไรนะ เพราะอย่างที่บอก กำลังการผลิตเราเพิ่มขึ้นสูงมากตอนนี้ เราเริ่มเห็นว่าเรามีวัคซีนในมือเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น ผมคิดว่าจะมีวัคซีนเพียงพอสำหรับคนของเราเอง ในขณะเดียวกัน ก็เพิ่มการบริจาคให้ประเทศอื่นๆ ด้วย งานของเราในตอนนี้คือการทำให้ชาวอเมริกันมั่นใจที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีน ตอนนี้เปอร์เซ็นต์การฉีดวัคซีนในสหรัฐฯ ผมคิดว่าน่าจะประมาณ 50% 

ฉะนั้น เรายังต้องเชิญชวนให้ประชาชนของเราอีกจำนวนหนึ่งมาเข้ารับวัคซีนเมื่อมีวัคซีนให้บริการ จากตัวเลขที่เห็นจากบริษัทที่ผลิตวัคซีน ผมค่อนข้างมั่นใจว่าจากศักยภาพการผลิตที่มีอยู่ตอนนี้เราจะมีวัคซีนเพียงพอต่อประชากรที่เหลือและความต้องการของบางประเทศทั่วโลกด้วยครับ

ขอบคุณมากครับ ประเทศไทยพลาดวัคซีนจากโครงการ COVAX รอบแรกไปแล้ว ตอนนี้ คุณยังสนับสนุนให้ไทยเข้าร่วมโครงการอีกหรือไม่?

ผมคิดว่าการเข้าร่วมโคแวกซ์ไม่มีผลเสียอะไร อย่างไรก็ตาม มีคำถามว่าจะได้ประโยชน์แค่ไหนจากการเข้าร่วม COVAX เพราะประเทศที่เข้าร่วมก่อนหน้าก็สั่งจองวัคซีนกันไปหมดแล้ว นอกจากนี้ ก็ไม่ค่อยแน่ชัดว่าการเข้าร่วมโคแวกซ์ตอนนี้จะเกิดผลประโยชน์ในระยะสั้นไหม 

แต่ผมคิดว่า จากที่ได้ยินมา ในระยะยาว เช่น ถ้าสถานการณ์การระบาดลากยาวไปถึงปี 2022 ถึงตอนนั้นคงมีวัคซีนเพียงพอ ซึ่งไทยอาจจะได้ประโยชน์จากตรงนั้นก็ได้ อย่างไรก็ตาม เราหวังว่าการระบาดจะไม่ลากยาวจนถึงปี 2022 เราหวังว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ภายในปีนี้ เพื่อเริ่มฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่ที่ผมได้ยินมาอีกเรื่องก็คือ ราคาวัคซีนกำลังลดลงเช่นกัน ฉะนั้น ไทยก็สามารถเจรจาเปิดดีลกับบริษัทต่างๆ ที่อาจยื่นข้อเสนอที่ดีกว่า COVAX ย้ำอีกครั้ง ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ แต่ผมคิดว่าตอนนี้มีหลายช่องทางมากที่จะจัดซื้อจัดหาวัคซีนจากบริษัทโดยตรง

มีคำถามเรื่องคนได้รับวัคซีนเหลื่อมล้ำกันด้วย ระหว่างคนที่ได้วัคซีนกับคนที่ไม่ได้ คนพูดถึงคนที่ได้ฉีดวัคซีนกับคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนในทุกวันนี้ คุณมองว่าอย่างไร คุณคิดว่ามันจะทำให้เท่าเทียมกันได้มากขึ้นไหมในส่วนของการกระจายวัคซีนออกไปทั่วโลก

ผมก็หวังว่าจะเป็นแบบนั้น ประธานาธิบดีพูดหลายรอบมากว่าไม่มีใครปลอดภัยจนกว่าทุกคนจะปลอดภัย ทุกคนในโลกมีโอกาสที่จะติดเชื้อและแพร่กระจายเชื้อให้คนอื่นได้ และหลังโลกเชื่อมต่อกันหมดผ่านโลกาภิวัฒน์ เราอยู่ในโลกของการเดินทางข้ามโลก การทำธุรกิจระดับนานาชาติ คนบินไปบินมาข้ามประเทศต่าง ๆ ถ้าบางประเทศยังมีไวรัสแล้วคนไปทำธุรกิจในประเทศนั้น จากนั้นบินไปประเทศอื่นต่อก็จะเป็นความเสี่ยงที่เชื้อจะแพร่กระจาย ก็เลยเป็นความจำเป็นที่เราจะต้องแจกจ่ายวัคซีนไปทุกที่ ผมก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะเดินทางไปทุกที่ได้

ตอนนี้ท่านทูตก็นำวัคซีนเข้ามาและตอนนี้ก็ถึงไทยแล้ว ท่านอยากพูดอะไรกับคนไทยไหม

สิ่งที่ผมอยากจะพูดก็คือเราผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากมากัน มีโรคระบาดในประเทศของผมด้วย ผู้คนเสียชีวิตไปมากกว่าห้าแสนราย โดยเฉพาะในปีที่แล้วซึ่งประเทศไทยทำได้ดีมาก ๆ ในช่วงนั้น

ในเรื่องของการจัดการโควิด-19ผมอยู่ประเทศไทยมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2019 ผมยังไม่ได้ออกจากประเทศนี้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่ผมก็มีญาติ เพื่อนฝูงที่อยู่ในสหรัฐอเมริกาที่ผมเป็นห่วง ผมเป็นห่วงแม่ที่อายุ 80 กว่าแล้ว ผมก็อยากจะทำทุกทางให้มั่นใจว่าคนรอบตัวจะได้รับวัคซีน ซึ่งเขาก็ต้องรอนานพอสมควรกว่าจะได้ฉีดวัคซีน มันเป็นเรื่องที่ทำให้กังวลมาก

ทำให้ผมกลัว แล้วตอนนี้ไวรัสก็คาดการณ์ไม่ได้เลย โดยเฉพาะเมื่อมีสายพันธ์อื่น ๆ ออกมา 

ตอนนี้ก็เห็นได้ว่าประเทศไทยกำลังเผชิญสถานการณ์เดียวกับที่เราเจอเมื่อปีที่แล้ว พอผมนึกถึงความกังวล ความกลัวที่ผมรู้สึกในปีที่ผ่านมา ผมก็มั่นใจว่าทุกคนในตอนนี้ก็คงจะรู้สึกเหมือนกัน น่าสลดใจมากที่ต้องเห็นเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตสูงขึ้น แต่ผมก็ดีใจเหมือนกันที่

วัคซีนของเราที่ได้รับการรับรองด้านประสิทธิภาพก็มาถึงเสียที

เราหวังว่าเราจะสามารถทำได้มากกว่านี้เพื่อช่วยไทยกอบกู้สถานการณ์ขึ้นมา โดยส่วนตัวแล้วผมก็เดินทางไปมาก่อนมีล็อกดาวน์ ผมเดินทางไปทั่วประเทศไทยในพื้นที่ที่จำเป็นต้องไป

ผมไปเชียงใหม่มา อย่างที่รู้ ผมเคยประจำการที่เชียงใหม่มาก่อนเป็นเวลา 3 ปี ไม่กี่เดือนมานี้ผมเพิ่งกลับไปมา เชียงใหม่ต่างจากเดิมโดยสิ้นเชิง ทั้งถนนหนทางและธุรกิจปิดตัว มีธุรกิจของคนที่ผมรู้จักดี เขาก็พยายามสู้ให้ไหว ในทางเศรษฐกิจ ทุกคนในประเทศก็พยายามสู้ให้ไหว ดังนั้น สิ่งที่ผมอยากพูดกับคนไทยก็คือใจเราเชื่อมถึงกัน เราผ่านเหตุการณ์ปีที่ผ่านมา เราก็เลยเห็นใจประเทศไทยมากๆ

ประเทศไทยเป็นคู่ทุกข์คู่ยากของเรา เป็นพันธมิตร มีเพื่อนมากมายที่นี่ มีธุรกิจ มีความร่วมมือทางวิชาการ มีสื่อ มีภาครัฐ ภาคเอกชน เราอยากทำทุกอย่างที่ทำได้เพื่อให้คุณออกจากจุดนี้ได้

และทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นมา จะได้กลับไปเป็นประเทศเหมือนอย่างที่เคยเป็นก่อนหน้านี้

ภาพโดยสถานทูตสหรัฐประจำประเทศไทย

แน่นอนท่านไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ แต่ผมขอถามท่านในฐานะพลเมืองอเมริกา อย่างที่คุณบอกว่าคุณมีเพื่อน ครอบครัวในสหรัฐอเมริกา วัคซีนส่งผลอย่างไรบ้างในสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับตอนที่ยังไม่ได้ฉีด?

มันเป็นความรู้สึกเบิกบาน เป็นความสุขเมื่อคุณได้วัคซีน เสรีภาพเมื่อคุณรู้สึกว่าได้รับการป้องกัน แต่ต้องย้ำว่าเมื่อมีสายพันธุ์ใหม่มามันไม่ได้ได้ผลป้องกัน 100% แต่ก็ป้องกันมาก เกือบ 90% โดยเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดอาการหนักและแน่นอนว่าป้องกันไม่ให้เสียชีวิต

คนที่ได้วัคซีนรู้สึกว่าชีวิตเขากำลังกลับมาเป็นปกติบ้างและรู้สึกว่าทำบางอย่างได้ ซึ่งถ้าไม่ได้วัคซีนก็คงทำไม่ได้ ไม่รู้สึกผวาเวลาไปซื้อของที่ร้านชำ บางคนถึงขนาดไปเชียร์กีฬาได้อย่างที่เห็นในฟุตบอลยูโร 80,000 คนอยู่ในสนามแล้วเชียร์ทีมโปรดโดยไม่ใส่หน้ากากอนามัยด้วย

ผมไม่แน่ใจว่ามันจะส่งผลอะไรไหม เราพลาดไปหรือเปล่าเพราะจริง ๆ เราก็ยังต้องนึกถึงเรื่องสายพันธุ์ใหม่ และเมื่อเวลาผ่านไป คนทั้งโลกก็เริ่มเห็นตรงกันว่าเรายังต้องใส่หน้ากากอนามัยถ้าต้องออกไปเจอคนจำนวนมาก ยังคงต้องหลีกเลี่ยงการรวมตัวกันเยอะ ๆ ยังต้องล้างมือดีๆ 

นี่คือบทเรียนที่เราได้เรียนรู้ที่จะติดตัวเราไปตลอดชีวิต เพราะในอนาคตก็อาจมีการแพร่ระบาดอีกก็ได้ และเราก็ต้องแน่ใจว่าเราพัฒนาสุขอนามัยส่วนตัวให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ แต่ถ้าคุณทำไปตามกฎเกณฑ์และได้ฉีดวัควีนด้วย ก็ไม่แปลกเลยที่จะรู้สึกได้ถึงเสรีภาพ แล้วคุณก็จะรู้สึกปลอดภัยกว่า แล้วก็รู้ว่าไม่ได้เอาเชื้อกลับไปให้คนที่บ้าน หรือรู้ว่าโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก ๆ ถ้าเราฉีดวัคซีน

ขอบคุณมากเลยครับ ผมอยากถามคำถามอีกแค่ 2 คำถาม อย่างแรกคือเรื่องคนสหรัฐฯ ที่อยู่ในไทย พอพวกเขาได้ข่าวเช้าวันนี้แล้วก็คงอยากถามว่าเขาจะได้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์นี้ไหม ท่านตอบเขายังไงครับ?

เหมือนกับที่เราปฏิบัติกับรัฐบาลทั่วโลก เราบริจาควัคซีนโดยไม่มีเงื่อนไข ก็ต้องแล้วแต่รัฐบาลไทยว่าจะจัดสรรยังไง แต่เราเห็นรัฐบาลไทยประกาศแล้วว่าเขาจะเก็บวัคซีน 10% ของวัคซีน 1.5 ล้านโดสให้คนต่างชาติและการที่เขาเลือกทำอย่างนั้นเราก็ต้องขอปรบมือให้ 

ผมสนับสนุนให้พลเมืองทุกคนได้รับการเข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียม เราไม่ต้องการการเลือกที่รักมักที่ชัง แน่นอนว่าก็ไม่ต้องการจะไปแซงคิวประชาชนคนไทยด้วยเพื่อให้ได้ฉีดวัคซีน

เราต้องการให้ทุกคนเข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียม เราไม่ต้องการให้พลเมืองของเราถูกกีดกันออกจากการลงทะเบียนรับวัคซีน เพียงเพราะว่าเขาไม่มีสัญชาติไทย แล้วผมก็เพิ่งรู้ว่าในการสำรวจครั้งล่าสุดของสหรัฐฯ มีพลเมืองคนไทยกว่าสามแสนคนอยู่ในสหรัฐฯ และพลเมืองไทยในสหรัฐฯ ก็ได้รับวัคซีนกันอย่างถ้วนหน้า พร้อม ๆ กับที่พลเมืองสหรัฐได้รับ เพราะเรารู้ว่าต้องฮีดทุกคนที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ สำคัญมากกับการสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรค ยิ่งฉีดวัคซีนคนมากเท่าไหร่ก็ยิ่งปิดโอกาสในการแพร่เชื้อของคนนั้น

ดังนั้น ไม่ควรมีกำแพงด้านสัญชาติเข้ามาตราบใดที่เปิดให้การเข้าถึงเป็นไปอย่างเท่าเทียมเป็นธรรม ผมไม่ได้หมายถึงแค่วัคซีนไฟเซอร์แต่รวมถึงวัคซีนอื่น ๆ ที่เปิดให้ฉีดด้วย ไม่ว่าจะเป็นแอสตร้าเซเนก้า หรือวัคซีนอื่น ๆ ที่เปิดให้ฉีด ก็จะเป็นเรื่องที่น่ายินดีมากหากพลเมืองของเรา

ได้เข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะคนที่อยู่ในกลุ่มเปราะบางในสถานการณ์อย่างนี้

คำถามสุดท้าย ระหว่างวิกฤติเรื่องโควิดนี้ มันยังมีวิกฤติเรื่องเศรษฐกิจด้วยและคนหลายคนในไทยก็มองหาทางย้ายประเทศ และเมื่อดูกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาจะสนับสนุนให้คนไทยไปอยู่ที่สหรัฐอเมริกาไหมครับ

เราก็มีโครงการรับรองผู้ย้ายถิ่น มีโครงการการให้วีซ่า เราก็สนับสนุนให้คนที่แม้จะไม่ได้ย้ายถิ่นแต่ถือวีซ่าให้ไปที่สหรัฐฯ เพื่อท่องเที่ยว เพื่อความสำราญ และนับก็สนับสนุนให้คนหนุ่มสาวคนไทยมากมายไปเรียนที่สหรัฐฯ เพราะเราภูมิใจในระบบการศึกษาเรามาก ไม่ว่าจะเป็นในระดับมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยไอวี่ ลีกส์ หรือมหาวิทยาลัยของรัฐ มีหลักสูตรดีๆ มากมาย หลากหลายวิชา

ผมเจอคนหนุ่มสาวชาวไทยทั่วประเทศ เขาก็ถามผมบ่อยว่าทำยังไงถึงจะมีโอกาสไปเรียนอเมริกา เราสนับสนุนเป็นอย่างยิ่ง ตอนนี้ยากหน่อยเพราะมีโรคระบาด ยากเพราะมีข้อจำกัดด้านกงศุล ทำให้ในแต่ละวันการนัดทำวีซ่า ทำได้ไม่เยอะ และตอนนี้คนก็กังวลที่จะเดินทางในตอนนี้ และเราก็หวังว่าหลังโรคระบาดนี้จบลง การเดินทางจะกลับมาบูมครั้งใหญ่ และเราอยากให้คนไทยไปสหรัฐมากที่สุดเท่าที่ทำได้ ไม่ว่าจะไปลาสเวกัส ไปลอสแองเจลีส ทางชายฝั่งตะวันออก ไม่ว่าจะไปเที่ยวหรือไปทำธุรกิจ หรือไปเรียน เราสนับสนุนทั้งหมดเลย

นั่นก็จะเป็นเป้าหมายแรก ๆ ของผมในปีที่จะมาถึง เพราะทั้งหมดนั่นจัดอยู่ในประเภทหนึ่งของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากโรคระบาด เราต้องการสนับสนุนสิ่งนี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ภาพโดยสถานทูตสหรัฐประจำประเทศไทย

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับสหรัฐฯ ตอนนี้เป็นความสัมพันธ์ของการบริจาค แต่ในเอกสารผมก็ยังชอบคำที่คุณใช้เรียกเรา คือประเทศเพื่อนพ้อง ช่วยเล่าให้ฟังเรื่องนี้จากมุมของคุณได้ไหมครับว่าสหรัฐฯ มองไทยยังไง

การร่วมมือกันในฐานะพันธมิตรเป็นความสัมพันธ์สองทาง เราเรียนรู้จากโรคระบาดครั้งนี้โดยนักวิทยาศาสตร์ เรามีนักวิทยาศาสตร์เยอะมากในกรมควบคุมโรคสหรัฐฯ ในสถาบันวิจัยทางทหาร (AFRIMS) ใน USAID ที่ทำงานร่วมมือกันกับกระทรวงสาธารณสุข (CDC) และผมคิดว่าเราก็ได้เรียนรู้เรื่องไวรัสจากนักวิทยาศาสตร์ของไทยเหมือนกัน เหมือนกับที่เขาเรียนรู้จากเรา

เราทำงานร่วมกันในเรื่องความร่วมมือต่าง ๆ นักวิทยาศาสตร์เรากับงานกับนักวิทยาศาสตร์ไทยในการระบุเคสไวรัสแรกที่เกิดขึ้นในประเทศไทยปีที่แล้ว ซึ่งก็เป็นเคสที่เกิดขึ้นที่แรกนอกประเทศจีนด้วยเหมือนกัน

ผมได้รับการบอกกล่าวว่านักวิทยาศาสตร์ของเราก็เป็นคนระบุเคสที่มีการกลายพันธุ์เกิดขึ้น เราก็รู้ด้วยเหมือนกันว่านักวิทยาศาสตร์ที่จุฬาฯ ก็กำลังร่วมมือกับ ม.เพนซิลเวเนียในการพัฒนาวัคซีน mRNA ของตัวเอง และร่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์ของเราในการทำการทดลองด้านคลีนิก

ดังนั้น ก็เป็นไปได้ที่ไทยจะมีวัคซีนที่พัฒนาขึ้นมาด้วยตัวเอง วัคซีนนี้จะถูกเรียกว่าเป็นปราด้าแห่งวัคซีน ปราด้าต่อไปอาจจะเป็นวัคซีนไทย และเรายินดีที่จะได้เห็นมัน แล้วใครจะไปรู้ในอนาคตเราอาจจะซื้อวัคซีนจากไทยหรือไทยอาจจะบริจาคให้สหรัฐด้วยซ้ำ

ขอบคุณมากเลยครับทางสถานทูตอเมริกา ขอบคุณท่านอุปทูต ไมเคิล ฮีธ ขอบคุณสำหรับเวลา และสำคัญกว่านั้นคือ ขอบคุณสำหรับวัคซีนที่ถึงไทยวันนี้แทนคนไทย

ขอบคุณสำหรับวันนี้ โชคดีครับ ขอให้อดทนและแข็งแรงเข้าไว้ เราจะผ่านมันไปด้วยกัน ขอบคุณครับ

 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า