Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

ในขณะที่ไทยกำลังเผชิญการระบาดรอบใหม่ ที่นับเป็นระลอกที่ 3 ทำให้ประเด็นเรื่อง “วัคซีนเสรี” ถูกนำกลับมาพูดถึงอีกครั้ง แม้ว่าไทยจะเริ่มกระจายฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเป้าหมายไปแล้วบางส่วน โดยมองว่าการนำเข้าวัคซีนหากทำได้อย่างเสรีโดยเอกชนจะทำให้ไทยได้รับวัคซีนเร็วขึ้น และกระจายการฉีดได้มากขึ้น ขณะเดียวกันรัฐบาลเองก็ออกมาชี้แจงว่าไม่ได้ปิดกั้นเอกชนนำเข้า และมีเอกชนมาขอขึ้นทะเบียนอย่างต่อเนื่อง แต่เป็นเพราอะไรที่ทำให้วัคซีนที่เอกชนต้องการจะนำเข้ายังไม่ถึงไทย มีอุปสรรคตรงไหน workpointTODAY รวบรวมข้อเท็จจริงและความเห็นมาให้อ่านกัน

ไทยขึ้นทะเบียนวัคซีนไปแล้วกี่ตัว

วัคซีนโควิด-19 ที่องค์การอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข ขึ้นทะเบียนให้นำเข้ามาฉีดในไทยได้แล้ว มีทั้งหมด 3 บริษัท คือ

  1. วัคซีนแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) นำเข้าโดย บริษัท เอสตร้าเซนเกา (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 61 ล้านโดส มาถึงไทยแล้ว 2 ล็อต เมื่อ 24 ก.พ. จำนวน 317,000 โดส และวันที่ 20 มี.ค. อีก 800,000 โดส
  2. วัคซีนโคโรนาแวค ของ บ.ซิโนแวค (Sinovac) นำเข้าโดย องค์การเภสัชกรรม เนื่องจากไม่มีบริษัทตัวแทนในไทย โดยมีจำนวนที่ตกลงไว้ 2 ล้านโดส ซึ่งมาถึงไทยแล้ว 1 ล้านโดส จะมาเพิ่มในเดือน เม.ย. นี้อีก 1 ล้านโดส
  3. วัคซีน จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน นำเข้าโดย บริษัท แจนเซ่น-ซีแลก จำกัด เพิ่งขึ้นทะเบียนอนุญาตเมื่อปลายเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา แต่ยังไม่มีการระบุจำนวนวัคซีนที่จะได้รับ

วัคซีนที่มาถึงไทยรัฐบาลจัดสรรให้ฉีด 5 กลุ่มเป้าหมายก่อน คือ 1. บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทั้งภาครัฐและเอกชน รวม อสม. 2. เจ้าหน้าที่ด่านหน้า เช่น ทหาร ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง 3. ประชาชนที่มีโรคประจำตัว 4.ประชาชนสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และ 5. ประชาชนในพื้นที่ระบาด เช่น สมุทรสาคร บางแค ทองหล่อ

โดยข้อมูลการฉีดวัคซีนล่าสุด ณ วันที่ 7 เม.ย. 64 ฉีดไปแล้วทั้งหมด 391,752 โดส แบ่งเป็น เข็มที่ 1 จำนวน 336,808 ราย และ เข็มที่ 2 จำนวน 54,944 ราย

เอกชนนำเข้าเองได้หรือไม่

การกลับมาระบาดอีกครั้งของโควิด-19 ที่เกิดในสถานบันเทิง ทำให้เกิดข้อคำถามว่าวัคซีนมาแล้วเริ่มฉีดไปแล้ว ทำไมถึงยังมีการแพร่ระบาดเกิดขึ้น แต่หากดูข้อมูลผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับการฉีดวัคซีนจากรัฐบาล จึงเกิดข้อเสนอเรื่อง #วัคซีนเสรี ที่ให้เอกชนสามารถนำเข้าวัคซีนเอง โดยให้นำเข้าวัคซีนที่ผ่านการยอมรับในระดับนานาชาติ เพื่อให้ประชาชนที่พอมีกำลังจ่ายได้รับวัคซีนอย่างรวดเร็วและทั่วถึง

คำถาม คือ เป็นไปได้หรือไม่ที่เอกชนจะซื้อวัคซีนเอง โดยไม่ต้องผ่านรัฐ โดย นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตอบคำถามนี้ไว้ว่า “ไม่ได้” พร้อมกับชี้แจงเหตุผลว่า

“วัคซีนโควิดในปัจจุบัน ทั่วโลกจะขึ้นทะเบียนแบบใช้ในภาวะฉุกเฉิน EUA (Emergency Use Authorization) เกือบทั้งหมด ดังนั้น การใช้ในแต่ละประเทศ รัฐบาลของแต่ละประเทศจะต้องรับผิดชอบเอง บริษัทผู้ผลิตจึงจะไม่เจรจากับภาคเอกชนและไม่เข้ามารับผิดชอบร่วมด้วยในกรณีที่เกิดมีอาการแทรกซ้อนหรืออาการไม่พึงประสงค์ ผู้ผลิตส่วนใหญ่จึงต้องการติดต่อกับภาครัฐเท่านั้น หรือหากภาคเอกชนจะติดต่อกับบริษัทผู้ผลิต จะต้องได้รับการรับรอง ร้องขอ หรือสั่งจองจากภาครัฐ หรือตัวแทนภาครัฐเท่านั้น” นพ.ยง ระบุ

ขณะที่ นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ออกมาชี้แจงเช่นกันว่า ไม่ปิดกั้นเอกชนนำเข้า แต่ อย. เชิญชวน ทั้งเอกชน โรงพยาบาลเอกชน มาร่วมเป็นผู้นำเข้า โดยเอกชนรายนั้นจะต้องผ่านการขึ้นทะเบียนรับรองเป็นผู้นำเข้าวัคซีนก่อน ซึ่งปัจจุบันได้ขึ้นทะเบียนไปแล้ว 3 บริษัทข้างต้น (วัคซีน จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน นพ.ไพศาล ระบุว่า ยังไม่มีของ) จากเอกชนทั้งหมดที่เข้ามาติดต่อ 14 ราย

“ขณะนี้มีหนึ่งรายที่เป็นวัคซีนของบริษัทบารัท ไบโอเทค บริษัทของอินเดีย โดย บริษัทไบโอเจเนเทค ที่รอเอกสารการทดลองในระยะที่ 3 ส่วนอีก 10 ราย มีทั้ง วัคซีนโมเดิร์นนา นำเข้าโดยบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา วัคซีนซิโนฟาร์ม วัคซีนสปุตนิกวี ที่มาติดต่อแต่ยังไม่นำเอกสารมายื่นขึ้นทะเบียน” นพ.ไพศาล กล่าว

เอกชนอยากนำเข้าวัคซีน ต้องทำอย่างไร

โดยก่อนหน้านี้กระทรวงสาธารณสุขมีการประชุมกับเอกชนไปแล้วอย่างน้อย 2 ครั้ง ทั้งกลุ่มโรงพยาบาลเอกชน สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้าไทย และบริษัทผู้ผลิตวัคซีน โดยอธิบายถึงขั้นตอนในการขึ้นทะเบียนเป็นผู้รับอนุญาตนำเข้า จากความตั้งใจของรัฐบาลว่าอยากให้มีวัคซีนเข้ามาใช้ในประเทศเยอะๆ พร้อมระบุขั้นตอนการขึ้นทะเบียน ดังนี้

  1. บริษัทที่นำเข้าจะต้องเป็นผู้ได้รับอนุญาตนำเข้าก่อน เช่น มีที่ตั้งบริษัทชัดเจน มีสถานที่เก็บ มีเภสัชกรประจำ
  2. การขึ้นทะเบียนวัคซีน ซึ่ง อย.จะดูใน 3 ส่วนใหญ่ ได้แก่ ความปลอดภัย คุณภาพ ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล

นพ.ไพศาล ระบุว่าหากมีเอกสารตามขั้นตอนทั้งหมดนี้ ใช้เวลาค่อนข้างเร็วประมาณ 30 วัน นับตั้งแต่การยื่นเอกสาร และเมื่อเอกชนสามารถนำเข้าได้ เอกชนสามารถให้บริการฉีดได้เช่นเดียวกัน ซึ่งตอนนี้การขึ้นทะเบียนยังเป็นการใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพราะฉะนั้นการจะไปฉีดต้องมีการควบคุม ต้องลงทะเบียนผู้รับบริการ ติดตาม เรื่องความปลอดภัย ผลข้างเคียง แผนจัดการความเสี่ยงของวัคซีน ตอนนี้ความต้องการวัคซีน มีมากกว่าปริมาณที่ผลิตได้ เป็นสิ่งที่เราต้องช่วยกัน

ทำไมไทยได้วัคซีนล่าช้า

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง ประเด็นที่ทุกฝ่ายต้องเข้าใจคือความต้องการวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากทุกประเทศทั่วโลก สูงกว่าความสามารถในการผลิตของผู้ผลิตทุกราย ตลาดเป็นของผู้ขายไม่ใช่ผู้ซื้อ และผู้ผลิตทุกรายซึ่งผลิตวัคซีนด้วยมาตรฐานสากล ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก (WHO) กำลังผลิตเพื่อส่งให้ประเทศที่ทำการสั่งซื้อไว้แล้วเป็นหลัก โดยข้อมูลกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พบว่าจนถึงวันที่ 5 เม.ย. ทั่วโลกมียอดจองวัคซีนโควิด-19 สูงถึง 9,600 ล้านโดส หลายประเทศมีคำสั่งซื้อสูงกว่าจำนวนประชากร 2-3 เท่า ขณะที่ยอดวัคซีนที่มีการฉีดแล้วอยู่ที่ 658 ล้านโดส หมายความว่าผู้ผลิตยังต้องผลิตตามยอดคำสั่งซื้อของรัฐบาลประเทศต่างๆ จำนวนมาก

หนึ่งในตัวแทนบริษัทเอกชนรายหนึ่ง ที่กำลังพยายามเจราจาในการนำเข้าวัคซีนโควิด-19 กับบริษัทผู้ผลิตแห่งหนึ่งมาตั้งแต่ปลายปี 2563 เปิดเผยกับ workpointTODAY ว่า ข้อติดขัดในนำเข้าวัคซีนของเอกชน ไม่ใช่เฉพาะเรื่องหลักเกณฑ์ที่ว่าข้อผิดพลาดจากการฉีดวัคซีนเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลแล้ว ยังมาจากบริษัทผู้ผลิตวัคซีนทั่วโลก ที่ต้องการขายวัคซีนให้กับรัฐบาลเป็นหลัก เพราะเหตุผลเรื่องความเชื่อมั่นและความปลอดภัย เนื่องจากการใช้วัคซีนโควิด-19 เป็นการใช้ในภาวะฉุกเฉิน รัฐจะเป็นหลักประกันที่ดีกว่าเอกชน นั่นทำให้การเข้าไปเจรจากับผู้ผลิตบริษัทจะต้องมีหนังสือรับรองในการจะเป็นผู้จัดซื้อวัคซีน ออกโดยกรมควบคุมโรค แต่อย่างไรก็ตาม เอกสารดังกล่าว รัฐไม่สามารถระบุชื่อบริษัทได้ ทำให้ยังต้องรอขั้นตอนการตรวจสอบจากบริษัทผู้ผลิตพิจารณาอีกครั้ง

นอกจากนี้ยังระบุอีกว่า หลังผ่านขั้นตอนการขออนุญาตนำเข้าจาก อย.แล้ว วัคซีนที่นำเข้ารัฐจะเป็นผู้นำไปบริหารจัดการเอง หรือ สามารถนำไปขายให้กับโรงพยาบาลเอกชนได้ ซึ่งเป็นนโยบายที่ต้องรอความชัดเจนจากภาครัฐหลังจากนี้

ซึ่งความต้องการที่จะขายให้รัฐก่อนของบริษัทผู้ผลิต ก็มาจากนโยบายของรัฐบาลทั่วโลกจะเป็นการกระจายฉีดให้กับกลุ่มเสี่ยงที่มีความจำเป็น เหมือนกับที่ไทยกำลังทำอยู่ ประกอบกับกำลังการผลิตวัคซีนที่น้อยกว่าความต้องการของประชากรทั่วโลก ก็ส่งผลให้เราได้รับวัคซีนช้ากว่าประเทศอื่นที่รัฐทำการเจรจาซื้อสำเร็จไปก่อนหน้า ทั้งหมดนี้น่าจะพอตอบคำถามได้ว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่เอกชนจพนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ได้อย่างเสรีหรือไม่

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า