SHARE

คัดลอกแล้ว

จากประเด็นถกเถียงเรื่องรัฐบาลควรให้เอกชนนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ได้อย่างเสรี ล่าสุดรัฐบาลไฟเขียวเปิดทาง หลังเอกชน และภาครัฐ ร่วมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนได้ข้อสรุปที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่ารัฐจะเปิดทางให้มี “วัคซีนทางเลือก”

workpointTODAY ได้พูดคุยเรื่องนี้กับนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชนและผู้บริหารโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งเห็นตรงกันว่าหากรัฐเปิดทางและอำนวยความสะดวกเต็มที่ จะเป็นประโยชน์กับโรงพยาบาลเอกชนที่จะได้กระจายวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชนที่มีกำลังซื้อและต้องการเลือกวัคซีนให้กับตัวเอง เชื่อจะช่วยเรื่องการแพร่ระบาดของโรคได้

วัคซีนทางเลือก คืออะไร

สถาบันวัคซีนแห่งชาติรายงานว่า การจะทำให้เกิด “ภูมิคุ้มกันหมู่” จะต้องฉีดวัคซีนให้คนไทยประมาณ 40 ล้านคน แต่วัคซีนที่รัฐจัดหามาได้ทั้งของ ซิโนแวค และ แอสตราเซเนกา ขณะนี้มีอยู่ประมาณ 63-70 ล้านโดส ฉีดให้ประชาชนได้ราว 31-35 ล้านคน นั่นหมายความว่า เราจำเป็นจะต้องจัดหาวัคซีนเพิ่มอีก 10 ล้านโดส เพื่อฉีดให้กับอีก 5 ล้านคน ซึ่งนี่เป็นเหตุผลในการสนับสนุน “วัคซีนทางเลือก” ตามที่ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) ออกมาเปิดเผยในการแถลงสถานการณ์ประจำวัน

ศ.ดร.นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทบางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด(มหาชน) ในฐานะ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เปิดเผยกับ workpointTODAY ว่า ตอนนี้ประเทศไทยมีวัคซีนโควิด-19 เพียง 2 ตัว คือ ซิโนแวค และ แอสตราเซเนกา และก่อนนี้รัฐบาลเคยเสนอว่าจะขายวัคซีนแอสตราเซเนกาให้กับโรงพยาบาลเอกชน แต่เห็นว่าไม่เหมาะสม เพราะเป็นวัคซีนที่รัฐจัดหามาเพื่อฉีดให้ฟรี และวัคซีนที่จะนำไปขายควรเป็นตัวอื่น ซึ่งการหารือครั้งนี้ที่ทำให้เกิดวัคซีนทางเลือก หมายถึง เราสามารถจัดหาวัคซีนยี่ห้ออื่นเข้ามาให้เกิดความหลากหลายได้ ประชาชนเองก็จะมีทางเลือกว่าจะจ่ายเงินฉีดวัคซีนยี่ห้อไหน

จัดซื้อผ่านองค์การเภสัชกรรม

นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า ที่ผ่านมาเอกชนพยายามให้เกิดวัคซีนทางเลือกมาตลอด รัฐบาลก็ไม่ได้ปิดกั้น แต่ยังมีข้อติดขัด เนื่องจากวัคซีนโควิด-19 ทั่วโลก ยังอยู่ในขั้นทดลองระยะที่ 3 และยังอยู่ในช่วงระบาด การขายวัคซีนจะเป็นการขายให้รัฐต่อรัฐ ซึ่งการประชุมร่วมครั้งนี้ทำให้เกิดคณะกรรมการแก้ปัญหา เพื่อดูว่ามีข้อติดขัดอย่างไร ทำให้วัคซีนทางเลือกไม่เกิดขึ้น และสิ่งที่ตกผลึกในวันนี้ คือ องค์การเภสัชกรรมจะเป็นผู้จัดซื้อเข้ามา แล้วขายให้กับโรงพยาบาลเอกชน หรือหน่วยงานเอกชน

“แม้ว่าจะมีบริษัทนำเข้าที่คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ไปขึ้นทะเบียนขออนุญาตนำเข้า แต่การซื้อขายกับผู้ผลิตวัคซีนในต่างประเทศจำเป็นต้องมี “Letter of Intent (LOI) หรือ หนังสือแสดงเจตจำนง” ที่ออกให้โดยรัฐ ซึ่งทำได้ยาก เพราะบริษัทผู้ผลิตไม่ต้องการขายให้เอกชน เช่น จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน จะขายให้รัฐแล้วรัฐก็กระจายขายให้โรงพยาบาลเอกชนเอง” ศ.ดร.นพ.เฉลิม กล่าว

ฉีดวัคซีนทางเลือกต้องทำคู่ประกัน

นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวอีกว่า วัคซีนทางเลือกที่จะจัดหาน่าจะเข้ามาในช่วง 2-3 เดือนหลังจากนี้ แต่วัคซีนที่ขึ้นทะเบียนกับ อย. ภายใต้การประกาศใช้ในภาวะฉุกเฉิน รัฐกังวลเรื่องผลแทรกซ้อน ดังนั้นเมื่อโรงพยาบาลเอกชนซื้อวัคซีนมาฉีด จะมีการทำประกันภัย กรณีที่ฉีดแล้วเกิดอาการข้างเคียง เป็นผื่นแพ้ ท้องเสีย ต้องนอนโรงพยาบาล หรือเสียชีวิตจะมีเบื้อประกันให้ 1 ล้านบาท ซึ่ง สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ออกแบบประกันภัยมาให้แล้ว

เหตุผลที่เอกชนอยากให้มีวัคซีนทางเลือก

ด้าน นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวณิช กรรมการผู้จัดการโรงพยาบาลเมดพาร์ค ตัวแทนผู้บริหารโรงพยาบาลเอกชน ที่เข้าร่วมหารือในวันนี้ กล่าวเสริมถึงเหตุผลที่เอกชนอยากให้มีวัคซีนทางเลือก ว่า ก่อนหน้านี้รัฐบาลมีวัคซีนที่จะให้กับโรงพยาบาลเอกชน คือ เป็นวัคซีนจากแอสตราเซเนกา ที่จะผลิตในไทย โดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งรัฐได้มีการคำนวณแล้วว่าจะเพียงพอ ถ้าไม่มีปัญหาแทรกซ้อน ซึ่งคาดการไว้ว่าจะได้ 5-10 ล้านโดส ต้นเดือน มิ.ย. ซึ่งจะเพียงพอต่อความต้องการ คือสามารถฉีดให้กับประชาชน 60 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากร หรือประมาณ 40 ล้านคน แต่ประเทศอื่นมีวัคซีนมากกว่า 1 ชนิด เราเองก็ไปหาซิโนแวค วัคซีนเชื้อตายจากจีน 2 ล้านโดน ช่วยแก้ขัดในช่วงแรก เพราะแอสตราเซเนกาที่ผลิตในไทยยังไม่ออกมา ประกอบกับข่าวผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาจากหลายประเทศ ทำให้เกิดความกังวลกับประชาชนไม่น้อย

“เอกชนก็เลยอยากมีบทบาทในการสนับสนุนนำวัคซีนทางเลือกมาเพิ่มให้กับประเทศไทย แต่วัคซีนที่เจอทุกตัวยังผ่านการทดลองไม่สมบูรณ์ คือ อยู่ในระยะที่ 3 ทำให้ความปลอดภัยของวัคซีนไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ โรงงานเกิดข้อกังวลเรื่องเกิดผลข้างเคียงแล้วฟ้องร้อง อย่างสหรัฐฯ ก็ออกเป็นกฎหมายว่า ถ้าเกิดผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนห้ามคนไข้ฟ้องแพทย์ โรงพยาบาล ผู้ผลิต เพราะยังถือว่าอยู่ในขั้นทดลอง รวมทั้งยารักษาโควิดด้วย กลับมาที่ไทย คือ ทำให้การซื้อต้องผ่านรัฐ รัฐรับผิดชอบ ถ้าเอกชนซื้อเองก็อาจเกิดการฟ้องร้องเอกชนได้ ตอนนี้รัฐบาลเหมือนมายืนข้างหน้า ไม่ว่าจะฉีดโดยรัฐบาล หรือเอกชน” นพ.พงษ์พัฒน์ กล่าว

นอกจากนี้กระบวนการเจรจาของรัฐบาลในการจัดซื้อมีหลักเกณฑ์เยอะ เช่น ต้องได้วัคซีนตามจำนวนที่ตกลง ต้องมีราคาคงที่ นับเป็นอุปสรรคทำให้วัคซีนบางตัวยังขายกับรัฐบาลไทยไม่สำเร็จ ทั้งที่ผู้ผลิตวัคซีนทุกตัว อยากให้วัคซีนอยู่ในทุกประเทศ ก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เอกชนอยากเข้าไปดำเนินการ แต่เอกชนไม่สามารถแบกรับความรับผิดชอบที่อยากเดิกขึ้นจากผลข้างเคียงวัคซีนได้ กระทั่งวันนี้ที่มีการหารือเกิดเป็นคณะกรรมการ ที่มีทั้งโรงพยาบาลเอกชน องค์การเภสัชกรรม อย. กระทรวงสาธารณสุข และ มีอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธาณสุข คาดว่าจะเกิดเป็นรูปธรรมมากขึ้น เพราะรัฐบาลรับปากว่าจะปรับนโยบายให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ เชื่ออีกไม่นานเราน่าจะได้วัคซีนทางเลือกมาใช้

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า