Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

ท่ามกลางการระบาดอย่างรุนแรงของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 ทั่วโลก แต่สิ่งที่แต่ละประเทศพอทำได้ในขณะนี้คือการบังคับใช้มาตรการต่างๆ ที่เข้มงวด เพื่อรับมือและชะลอการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสเท่านั้น ขณะที่หลายหน่วยงานและบริษัทผู้ผลิตยาและวัคซีนทั่วโลกกำลังเร่งพํฒนาวัคซีน ที่เชื่อว่าเป็นหนทางเดียวในการรักษาโรคนี้ได้ แต่คำถามคือ วัคซีนจะสามารถนำมาใช้จริงได้เมื่อใด?

สมาพันธ์นวัตกรรมการเตรียมพร้อมการระบาด หรือ เซปิ (Coalition for Epidemic Preparedness Innovations) สามารถระบุวัคซีนโควิด-19 ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาได้ถึง 115 ตัว โดยนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ จนถึงวันที่ 8 เมษายนที่ผ่านมา มีวัคซีน 78 ตัวที่ได้รับการยืนยันว่ามีประสิทธิภาพในการรักษา และอีก 37 ตัวที่ยังไม่ได้รับการยืนยัน

 

 

ด้านองค์การอนามัยโลก หรือ WHO เปิดเผยว่า ขณะนี้ มีการพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่อยู่ทั่วโลกถึง 70 ตัว โดยมีวัคซีนที่ถูกนำไปทดสอบกับมนุษย์แล้ว 3 ตัว ได้แก่วัคซีนที่ผลิตโดย

1. บริษัท แคนชิโน ไบโอโลจิกส์ และสถาบันไบโอเทคโนโลยีปักกิ่ง

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แคนชิโน ไบโอโลจิคัล ซึ่งตั้งอยู่ในฮ่องกง กล่าวว่า กำลังนำวัคซีนเชื้ออีโบลาเข้าสู่การทดลองในระยะที่ 2 หลังข้อมูลความปลอดภัยเบื้องต้นแสดงให้เห็นการรักษาที่มีประสิทธิผลต่อโควิด-19 โดยแคนชิโนจะร่วมพัฒนาวัคซีนกับสถาบันไบโอเทคโนโลยีปักกิ่ง และสถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหารของจีน

2. บริษัท โมเดอร์น่า และ สถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ NIAID

วัคซีนที่พัฒนาโดยใช้ mRNA ของโมเดอร์นา ถือเป็นหนึ่งในวัคซีนต่อต้านโควิด-19 ที่ได้รับการจับตามากที่สุด วัคซีนชนิดนี้ผ่านการทดสอบทางคลีนิคในสหรัฐฯ แล้ว โดยได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากเซปิ เทคโนโลยีที่คล้ายคลึงกันนี้ยังถูกนำไปใช้เพื่อพัฒนาวัคซีนสำหรับโรคติดเชื้อชนิดอื่นๆ

3. อิโนวิโอ

บริษัทผู้ผลิตวัคซีนจากสหรัฐฯ กล่าวว่า บริษัทได้นำอาสาสมัคร 40 คน เข้าร่วมการทดลองทางคลีนิค เพื่อทดสอบวัคซีนต่อต้านโควิด-19 ซึ่งให้ผลการตอบสนองภูมิคุ้มกันที่น่าพอใจ

นอกจากนั้น ซาราห์ กิลเบิร์ต ศาสตราจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนวิทยา จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ของอังกฤษ ซึ่งเป็นผู้นำทีมวิจัยและพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 แสดงความเชื่อมั่นว่าจะสามารถเริ่มทดลองวัคซีนในมนุษย์ได้ภายใน 2 สัปดาห์ ซึ่งหากขั้นตอนต่างๆดำเนินไปอย่างราบรื่น คาดว่าวัคซีนจะสำเร็จ พร้อมใช้งานได้ภายในเดือนกันยายนนี้ ทั้งนี้ ทีมพัฒนาวัคซีนของออกซ์ฟอร์ดมีความมั่นใจถึง 80% ว่าวัคซีนที่พัฒนาขึ้นจะใช้ได้ผล

ด้านไฟเซอร์ บริษัทผู้ผลิตยารายใหญ่ของสหรัฐฯ ทุ่มงบประมาณให้กับบริษัท ไบโอเอ็นเทค บริษัทผู้ผลิตวัคซีน ไปกับการพัฒนาวัค mRNA ถึง 185 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คาดว่าวัคซีนตัวนี้จะสามารถนำไปทดสอบกับมนุษย์ภายในเดือนนี้ และคาดว่าจะสามารถออกสู่ตลาดได้ภายในปลายปีนี้

นอกจากนั้น ยังมีอีกหลายประเทศที่กำลังเร่งพัฒนาวัคซีน เช่น สิงคโปร์ ที่ประกาศความร่วมมือกับบริษัท “อาร์คทูรัส เธราพิวติกส์” (Arcturus Therapeutics) จากสหรัฐฯ เพื่อพัฒนาวัคซีนสำหรับสิงคโปร์ โดยคาดว่าการทดสอบทางคลีนิคในระยะแรก จะเสร็จสมบูรณ์ภายในสิ้นปีนี้หรือต้นปีหน้า

นอกจากนั้น เมื่อวันที่ 14 เม.ย. ที่ผ่านมา หน่วยงานป้องกันและควบคุมเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่แห่งคณะรัฐมนตรีจีน เปิดเผยว่า จีนได้อนุมัติวัคซีนโควิด-19 จำนวน 2 รายการ โดยวัคซีนทั้ง 2 ตัวเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย ซึ่งพัฒนาโดยสถาบันยาชีววัตถุอู่ฮั่น (Wuhan Institute of Biological Products) และบริษัท ซิโนวัค รีเสิร์ช แอนด์ เดเวลอปเมนต์ จำกัด (Sinovac Research and Development) ในกรุงปักกิ่ง โดยปัจจุบันได้เริ่มการทดลองทางคลินิกแล้ว

วัคซีนดังกล่าวได้นำจุลชีพก่อโรคที่ตายแล้วมาใช้กระตุ้นภูมิต้านทาน โดยมีกระบวนการผลิตที่สมบูรณ์ มาตรฐานคุณภาพ และขอบเขตการป้องกันที่กว้างขวาง ทั้งนี้ วัคซีนทั้ง 2 ตัวสามารถนำไปใช้ในการฉีดวัคซีนปริมาณมาก รวมถึงสามารถตรวจสอบความปลอดภัยและประสิทธิภาพด้วยมาตรฐานต่างๆ ที่ได้รับการยอมรับระดับนานาชาติ

อย่างไรก็ตาม เบื้องหลังความเร็วในการพัฒนาและวิจัยวัคซีนต่อสู้โควิด-19 โดยส่วนใหญ่เกิดจากความพยายามของจีนในการจัดเรียงสารพันธุกรรมของไวรัส “ซาร์-โควี-2” (Sars-CoV-2) ซึ่งเป็นไวรัสก่อโรคโควิด-19 และแบ่งปันข้อมูลตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม ทำให้นักวิจัยทั่วโลกสามารถเพาะตัวอย่างไวรัสและศึกษาการทำงานของมัน แม้เชื้อโควิด-19 เพิ่งถูกตรวจพบครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว

อีกปัจจัยคือ ความรู้จากความพยายามผลิตวัคซีนเพื่อต่อสู้กับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์อื่นๆ ที่เคยระบาดในโลกก่อนหน้านี้เช่นซาร์ส ที่ระบาดในจีนช่วงปี 1992-1994 และเชื้อเมอร์ส (Mers) ซึ่งระบาดในซาอุดีอาระเบียในปี 2012 โดยการวิจัยวัคซีนสำหรับทั้ง 2 กรณีถูกพับไปเพราะการระบาดถูกควบคุมได้ก่อนจะวิจัยสำเร็จ และหลายบริษัท เช่น “โนวาแว็กซ์” (Novavax) กำลังนำตัวอย่างวัคซีนเหล่านั้นมาปรับเพื่อใช้กับ ซาร์-โควี-2 และพร้อมทดลองวัคซีนหลายตัวกับมนุษย์ในช่วงฤดูใบไม้ผลินี้

ความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีนสำหรับโควิด-19 ถือว่าค่อนข้างเร็ว โดยอุตสาหกรรมผลิตยารักษาโรคหวังว่าจะสามารถย่นระยะเวลาเวลาให้นำวัคซีนออกมาขายในตลาดให้ได้ภายในปี 2021 จากปกติที่อาจต้องใช้เวลายาวนาน 10-15 ปี และอิโนวิโอก็เพิ่งจะทดลองวัคซีนกับมนุษย์ไปเมื่อสัปดาห์ก่อน

โดยปกติแล้ว วัคซีนที่พัฒนาขึ้นในห้องปฏิบัติการจะต้องนำไปทดลองกับสัตว์ก่อน หากปลอดภัยและเชื่อว่ามีประสิทธิภาพดี แล้วจึงนำไปทดลองกับมนุษย์ ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ และในแต่ละระยะก็จะใช้เวลานานขึ้นเรื่อยๆ

ในระยะแรก จะทดลองวัคซีนกับคนกลุ่มเล็กๆ ที่มีร่างกายแข็งแรงดี เพื่อสังเกตว่าวัคซีนนี้ปลอดภัยหรือไม่ และมีผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง ส่วนอีก 2 ระยะจะเป็นการทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีน และในช่วงที่มีการระบาดเช่นนี้ วัคซีนเหล่านี้จะถูกนำไปใช้ในพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ซึ่งในช่วงนี้เอง จะมีการเพิ่มความสามารถในการผลิตวัคซีนที่อาจผ่านการทดสอบแล้ว เพื่อให้โรงงานสามารถผลิตวัคซีนออกมาจำนวนมากทันทีที่หน่วยงานกำกับดูแลยาออกใบอนุญาตให้จำหน่ายได้

 

 

แม้ที่ผ่านมา จะมีการคาดการณ์ว่าการคิดค้นวัคซีนจะต้องใช้เวลาประมาณ 12-18 เดือน แต่โรคระบาดทำให้จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงขั้นตอนของการพัฒนาและทดลองวัคซีนเกือบทั้งหมด โดยมาเรียน เวนต์เวิร์ธ ประธานและซีอีโอของ “วิทยาศาสตร์การจัดการเพื่อสุขภาพ” องค์กรไม่แสวงหากำไรในสหรัฐฯ กล่าวว่า การคาดการณ์เวลาที่จะพัฒนาวัคซีนได้ขึ้นอยู่กับการนิยาม “การมีวัคซีน” หากหมายถึงมีวัคซีนที่ใช้กันอย่างกว้างขวาง เพื่อให้ทุกคนสามารถใช้ชีวิตต่อไปได้ อาจเป็นภายใน 12-18 เดือน

อย่างไรก็ตาม หากหมายถึงวัคซีนที่อยู่ในช่วงการทดลอง และน่าจะปลอดภัยและมีประสิทธิภาพพอจะนำมาใช้อย่างจำกัด เช่น ใช้กับกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เช่น บุคคลากรทางการแพทย์ ก็อาจใช้เวลาอีกเพียงไม่กี่สัปดาห์หรือไม่กี่เดือนเท่านั้น ภายใต้การใช้กฎเกณฑ์พิเศษของหน่วยงานกำกับดูแลยาและ WHO ที่ออกมาตั้งแต่ช่วงที่มีการแพร่ระบาดของอีโบลาในแอฟริกา

วัคซีนทุกชนิดมีหลักการทำงานพื้นฐานเหมือนกันหมด คือการนำเสนอไวรัสบางส่วนหรือทั้งหมดให้ระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ได้รู้จัก ตามปกติจะใช้วิธีฉีดในปริมาณน้อยเพื่อกระตุ้นระบบให้ผลิตสารภูมิต้านทาน หรือ แอนติบอดี้ต่อไวรัสนั้นๆ ซึ่งแอนติบอดี้ก็เปรียบเหมือนความทรงจำภูมิคุ้มกัน ที่เมื่อถูกกระตุ้นแล้วครั้งหนึ่ง ก็จะสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างรวดเร็วหากได้รับไวรัสตัวเดิม

อย่างไรก็ตาม วัคซีนจะมีประสิทธิภาพน้อยลงในกลุ่มคนชราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะอายุที่มากขึ้นทำให้ระบบภูมิคุ้มกันเสื่อมถอยตามไปด้วย ส่งผลให้ตอบสนองต่อการกระตุ้นสร้างภูมิคุ้มกันได้ไม่ดีนัก

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า