วชิรพยาบาล ชูนวัตกรรม เตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อแบบแรงดันลบ พร้อมรับมือ COVID-19
สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 (COVID-19) ซึ่งจัดเป็นโรคติดต่ออันตรายลำดับที่ 14 ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา ปัจจุบันสถานการณ์ดังกล่าวได้มีการแพร่ระบาดไปในประเทศต่างๆ ทั่วโลกมากกว่า 100 ประเทศ ส่งผลให้มีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก
เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา (วันที่ 17 มีนาคม 2563) มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของกรุงเทพมหานคร มีส่วนงานหลักในการจัดการเรียนการสอนทั้งหมด 5 ส่วนงาน ได้แก่ คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาลเป็นส่วนงานหลักในการจัดการศึกษา วิจัย และให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข คณะพยาบาลศาสตร์เกื้อการุณย์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสุขภาพ วิทยาลัยพัฒนามหานคร และวิทยาลัยพัฒนาชุมชนเมือง ได้จัดงานแถลงข่าว “นวัตกรรมด้านความปลอดภัย เพื่อรับมือ COVID-19” ขึ้น ณ ลานอเนกประสงค์ อาคารเพชรรัตน์ ชั้น 6 คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
โดยทางมหาวิทยาลัยได้รับมอบหมายจาก พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ ศาสตราจารย์สุรพล นิติไกรพจน์ นายกสภามหาวิทยาลัย ให้จัดมาตรการรับมือการสถานการณ์ดังกล่าว รวมไปถึงการศึกษาพัฒนาแนวทางในการดูแลรักษาผู้ป่วย และการป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ COVID-19 โดยเฉพาะในบุคลากรที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ในโรงพยาบาลวชิรพยาบาล ตลอดระยะเวลาประมาณ 3 เดือน หลังจากที่มีการระบาดในสาธารณรัฐประชาชนจีน
ทั้งนี้ ทีมงานของอาจารย์และบุคลากรของคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ได้ร่วมมือกับอาจารย์ในส่วนงานอื่นๆ ช่วยกันศึกษาพัฒนาคิดค้นนวัตกรรมหรือสิ่งประดิษฐ์แบบง่ายๆ หลายสิ่งที่สามารถนำมาใช้ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และประชาชน นอกจากนี้ยังช่วยบรรเทาสถานการณ์การขาดแคลนเวชภัณฑ์ทางการแพทย์บางชนิด ได้แก่
- ห้องตรวจรักษาผู้ป่วยติดเชื้อแบบแรงดันลบ (medical negative pressure room)
- เตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อแบบแรงดันลบวชิรพยาบาล (Vajira negative pressure transfer)
- ห้องตรวจคัดกรองและเก็บสารคัดหลั่งจากผู้ป่วยติดเชื้อแบบแรงดันลบ (medical negative pressure chamber)
- หน้ากากพลาสติกสำหรับป้องกันสารคัดหลั่งกระเด็นใส่บริเวณใบหน้า (Vajira face shield)
- หน้ากากอนามัยแบบผ้าชนิดพิเศษที่มีช่องตรงกลาง และวิธีการถนอมหน้ากากอนามัยทางการแพทย์
- การผลิตแอลกอฮอล์ล้างมือด้วยวิธีการง่าย ๆ ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก
สำหรับนวัตกรรมหรือสิ่งประดิษฐ์ดังกล่าว สามารถจัดทำขึ้นมาได้โดยง่าย ในส่วนของห้องตรวจหรือเตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อแบบแรงดันลบ ได้รับความอนุเคราะห์จากกองวิศวกรรมการแพทย์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ในการให้คำแนะนำและประเมินประสิทธิภาพ และสามารถนำมาใช้งานได้อย่างปลอดภัย
ทั้งหมดนี้รวมไปถึงนวัตกรรมหรือสิ่งประดิษฐ์อื่นๆ ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาโดยทีมอาจารย์และบุคลากรของมหาวิทยาลัยอีกหลายอย่าง จะสามารถนำมาใช้เป็นทางเลือกในการตรวจรักษาผู้ป่วย และช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ COVID 19 ในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ภายใต้บริบทของสถานการณ์การระบาดของเชื้อ COVID 19 ที่ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ทั่วโลก โดยเฉพาะอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล ทั้งนี้ เรื่องการคัดกรองและการรักษา ทางโรงพยาบาลวชิรพยาบาล คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ได้ดำเนินการตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด
คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล หนึ่งในส่วนงานหลักของมหาวิทยาลัย ได้ตระหนักถึงการป้องกันและเตรียมความพร้อม โดยได้จัดมาตรการเฝ้าระวัง และแนวทางคัดกรองตามนโยบายของกรมควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด เพื่อรับมือกับสถานการณ์และเพื่อความปลอดภัยสำหรับผู้เข้ารับบริการที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาล ตลอดจนบุคลากรและนักศึกษาของคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาลฯ ให้มีความปลอดภัยสูงสุด
ตั้งแต่การป้องกันและคัดกรอง เพื่อให้ผู้รับบริการและบุคลากรได้ผ่านการคัดกรองจากเจ้าหน้าที่ในบริเวณที่จัดไว้ สำหรับเป็นพื้นที่คัดกรองก่อนเข้าอาคาร ซึ่งได้จัดเครื่องเทอร์โมสแกน (Thermoscan) พร้อมเจ้าหน้าที่เพื่อคัดกรองซักประวัติ ณ บริเวณประตูเข้า-ออกแต่ละอาคาร รวม 5 จุด บริการเจลล้างมือแอลกอฮอล์ในแต่ละจุดภายในอาคาร เปิดให้บริการคลินิกไข้หวัด (ARI Clinic) แยกการตรวจรักษาผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง รวมทั้งการเตรียมความพร้อม หากเกิดกรณีตรวจพบผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 หรือเชื้อโรคอันตรายต่างๆ
และที่สำคัญได้พัฒนานวัตกรรมด้านความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพสูง แต่ใช้ต้นทุนต่ำ เพื่อเตรียมความพร้อมขั้นสูงสุด ด้วยการจัดทำเตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อแบบแรงดันลบวชิรพยาบาล (vajira negative pressure transfer) ซึ่งได้มีการปรับปรุงรถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยปกติให้เหมาะสม สำหรับการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่มีอาการติดเชื้อ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนของเชื้อขณะเคลื่อนย้ายผู้ป่วย
โดยรถเคลื่อนย้ายดังกล่าว มีการควบคุมแรงดันอากาศให้เป็นลบ หรือ Negative Pressure โดยดูดอากาศบริเวณที่นอนของผู้ป่วยผ่านกรองเชื้อโรคระดับ HEPA filter แล้วปล่อยอากาศออกสู่ภายนอก เพื่อป้องกันอันตรายต่อผู้เคลื่อนย้ายและบุคคลภายนอก ส่วนห้องตรวจรักษาผู้ป่วยติดเชื้อแบบแรงดันลบ (medical negative pressure room) เป็นห้องที่มีการปรับปรุงจากวัสดุที่มีของคณะแพทย์ ให้เป็นห้องที่มีแรงดันที่ติดลบมากกว่า 2.5 pka เพื่อให้เหมาะสำหรับตรวจผู้ป่วยที่มีอาการติดเชื้อ ป้องกันเชื้อแพร่กระจายสู่ภายนอก โดยอากาศที่ไหลออกจากห้องจะผ่านกรองเชื้อโรค ระดับ HEPA Filter ทำให้อากาศที่ปล่อยออกมาปลอดภัย ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ COVID-19 เพิ่มความปลอดภัยให้บุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง
จากการพัฒนานวัตกรรมดังกล่าวข้างต้น นอกจากจะใช้ต้นทุนต่ำแล้ว ยังช่วยประหยัดงบประมาณของหน่วยงานที่ถูกกว่าการจัดหาจากต่างประเทศ แต่มีประสิทธิภาพสูงไม่แพ้กัน รวมทั้งหน่วยงานอื่นสามารถนำไปใช้เป็นต้นแบบเพื่อดูแลผู้ป่วยต่อไป
โดยทางมหาวิทยาลัยได้ตั้งปณิธานว่า ในฐานะที่เป็นมหาวิทยาลัยแห่งเมือง เป็นสถาบันแพทยศาสตร์แห่งกรุงเทพมหานคร จะมุ่งมั่นพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรม เพื่อดูแลรักษาประชาชนในเขตเมืองและทั่วประเทศ ให้ได้รับความปลอดภัยสูงสุด และที่สำคัญบุคลากรทางการแพทย์ต้องปลอดภัยด้วยเช่นกัน