Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

ปัญหาใหญ่ของผู้หญิงอย่างหนึ่งคือ มีอาการคันบริเวณช่องคลอด จะเกาก็อาย แต่จะทำอย่างไรให้มันหายคันดีล่ะ

ก่อนจะแก้อาการคัน มาดูสาเหตุกันก่อน ซึ่งอาจเกิดจากปัญหาสุขภาพ และพฤติกรรมการใช้ชีวิต ดังต่อไปนี้

 

ปัญหาสุขภาพ

วัยทอง ผู้หญิงที่เข้าสู่วัยทองหรือวัยหมดประจำเดือนจะมีระดับของฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจนลดลง ทำให้เมือกที่เคลือบช่องคลอดบางลง ส่งผลให้ช่องคลอดแห้ง จนอาจทำให้เกิดอาการคันและระคายเคืองได้

โรคผิวหนัง โรคผิวหนังบางชนิดอาจทำให้ผิวบริเวณจุดซ่อนเร้นเกิดอาการคันและแดง เช่น โรคผิวหนังอักเสบที่มักเกิดกับผู้ป่วยโรคภูมิแพ้หรือโรคหืด โดยอาจมีผื่นแดงคันหรือตกสะเก็ด และอาการอาจลุกลามไปยังช่องคลอด หรือโรคสะเก็ดเงินที่มักทำให้ผิวหนังตกสะเก็ด มีอาการคันหรือแดงบริเวณหนังศีรษะและตามข้อพับต่างๆ เป็นต้น

ภาวะช่องคลอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย เป็นภาวะที่เกิดจากความไม่สมดุลกันของแบคทีเรียชนิดที่ดีและไม่ดีซึ่งอยู่ภายในช่องคลอด โดยอาการที่พบได้บ่อย คือ คันบริเวณช่องคลอด ตกขาวมีกลิ่นเหม็น อาจมีลักษณะบาง เป็นสีขาว เทาขุ่น หรือเป็นฟอง

การติดเชื้อรา เป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้หญิง โดยเกิดจากการเพิ่มจำนวนของเชื้อราในช่องคลอดที่มากกว่าปกติ ส่งผลให้เกิดอาการคัน รู้สึกแสบร้อน และอาจมีตกขาวลักษณะเป็นก้อนไหลออกมาจากช่องคลอด ซึ่งอาจเกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะเป็นเวลานาน เพราะยาดังกล่าวจะทำลายแบคทีเรียชนิดที่ดีที่ช่วยควบคุมจำนวนของเชื้อราในช่องคลอด

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกันอาจเสี่ยงเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ เช่น การติดเชื้อทริโคโมแนส (Trichomoniasis) หนองในแท้ หนองในเทียม หูด หรือเริมที่อวัยวะเพศ เป็นต้น ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการคันช่องคลอด และมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ตกขาวมีสีเหลืองหรือสีเขียว รู้สึกปวดแสบขณะปัสสาวะ เป็นต้น

มะเร็งปากช่องคลอด อาการคันช่องคลอดอาจเป็นสัญญาณของมะเร็งปากช่องคลอดได้ ซึ่งบางรายอาจไม่ปรากฏอาการใดๆ เลย แต่โดยทั่วไปแล้วผู้ป่วยโรคมะเร็งปากช่องคลอดอาจมีอาการคันช่องคลอด มีเลือดออก และรู้สึกเจ็บบริเวณปากช่องคลอด อย่างไรก็ตาม หากตรวจพบตั้งแต่เนิ่นๆ ขณะที่มะเร็งยังไม่ลุกลาม ก็อาจรักษาให้หายขาดได้

 

พฤติกรรมการใช้ชีวิต

การโกนขนบริเวณจุดซ่อนเร้น การกำจัดขนด้วยวิธีการโกนบริเวณจุดซ่อนเร้นอาจทำให้รู้สึกคันเมื่อขนเริ่มงอกใหม่อีกครั้ง โดยงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ศึกษาปัญหาจากการกำจัดขนบริเวณอวัยวะเพศพบว่า ผู้หญิงประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ รู้สึกคันอย่างรุนแรงหลังจากการโกนขนออก ทั้งนี้ อาจใช้วิธีกำจัดขนด้วยการเล็มหรือแวกซ์ขนแทน เพื่อป้องกันอาการคันบริเวณช่องคลอด

การใช้สารเคมี สารเคมีในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดอาจทำให้ช่องคลอดเกิดการระคายเคือง จนส่งผลให้คันบริเวณช่องคลอดได้ เช่น สบู่ ครีมอาบน้ำ ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจุดซ่อนเร้น หรือกระดาษชำระ เป็นต้น

ความเครียด แม้ว่าจะเป็นสาเหตุที่พบได้ไม่บ่อย แต่ภาวะเครียดอาจทำให้เกิดอาการคันหรือระคายเคืองบริเวณช่องคลอดได้เช่นกัน เนื่องจากความเครียดอาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้เกิดการติดเชื้อและอาการคันได้ง่ายขึ้น

การทำกิจกรรรมต่างๆ กิจกรรมบางอย่างก็อาจทำให้เกิดอาการคันช่องคลอดได้ เช่น ปั่นจักรยาน ขี่ม้า หรือสวมใส่เสื้อผ้าหรือชุดชั้นในที่รัดเกินไป เป็นต้น

บรรเทาอาการคันช่องคลอดด้วยตัวเองอย่างไร ?

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตและดูแลสุขอนามัยของตนให้ดี อาจช่วยป้องกันและบรรเทาอาการคันช่องคลอดได้ ดังนี้

  1. เปลี่ยนเสื้อผ้าที่เปียกหลังว่ายน้ำหรือออกกำลังกายทันที
  2. เปลี่ยนชุดชั้นในทุกวัน และไม่ใส่เสื้อผ้าที่คับแน่นเกินไป
  3. เช็ดทำความสะอาดหลังถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะ จากด้านหน้าไปหลังเท่านั้น
  4. หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ จนกว่าอาการคันช่องคลอดจะดีขึ้น
  5. หลีกเลี่ยงการใช้ผ้าอนามัย กระดาษชำระ สบู่ ครีมบำรุงผิว หรือโฟมอาบน้ำที่มีส่วนผสมของน้ำหอม
  6. หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อทำความสะอาดจุดซ่อนเร้น เช่น สเปรย์ หรืออุปกรณ์สวนล้างช่องคลอด เป็นต้น
  7. ห้ามเกาผิวหนังบริเวณจุดซ่อนเร้น เพราะอาจทำให้การระคายเคืองรุนแรงขึ้นได้
  8. หากมีประจำเดือน ควรเปลี่ยนผ้าอนามัยทุก 4-5 ชั่วโมง

 

อาการแบบใดที่ควรไปพบแพทย์ ?

แม้ว่าอาการคันช่องคลอดจะเป็นอาการที่ไม่รุนแรง แต่หากมีอาการต่อไปนี้เกิดขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

  • มีแผลบริเวณช่องคลอด
  • มีปัญหาในการปัสสาวะ
  • มีตกขาวลักษณะผิดปกติออกมาจากช่องคลอด
  • มีอาการบวมหรือแดงบริเวณจุดซ่อนเร้น
  • รู้สึกเจ็บหรือคัดตึงบริเวณจุดซ่อนเร้น
  • รู้สึกไม่สบายตัวขณะมีเพศสัมพันธ์

 

โรคเชื้อราในช่องคลอด

และหนึ่งในสาเหตุหลักที่มักทำให้เกิดอาการคันบริเวณช่องคลอด หรือคันในช่องคลอด ก็คือ การเป็น โรคเชื้อราในช่องคลอด (Vaginal Candidiasis) ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อราภายในช่องคลอดหรือบริเวณปากช่องคลอด ทำให้เกิดการระคายเคืองและอาการคันอย่างรุนแรง

 

อาการของโรคเชื้อราในช่องคลอด

โรคเชื้อราในช่องคลอดส่วนใหญ่ส่งผลให้เกิดอาการได้ตั้งแต่เล็กน้อยถึงปานกลาง แต่บางคนอาจไม่แสดงอาการผิดปกติใดๆ แม้เกิดการติดเชื้อ ซึ่งอาการที่พบได้บ่อย เช่น

  • เกิดอาการคันอย่างรุนแรงและระคายเคืองที่ปากช่องคลอด หรือภายในช่องคลอด
  • มีอาการแสบร้อน โดยเฉพาะในขณะมีเพศสัมพันธ์หรือการปัสสาวะ
  • ตกขาวผิดปกติ อาจมีลักษณะสีขาวข้นคล้ายนมบูด เป็นน้ำใส หรือขาวข้นจับตัวเป็นก้อน
  • บริเวณปากช่องคลอดมีอาการบวม แดง
  • เกิดผื่นแดงทั้งภายในและภายนอกช่องคลอด อาจเกิดการกระจายไปทั่วบริเวณหัวหน่าว อวัยวะเพศ หรือต้นขา

ผู้ป่วยจะมีอาการเหล่านี้ได้ตั้งแต่ไม่กี่ชั่วโมงไปจนถึงเป็นสัปดาห์ หรืออาจนานเป็นเดือนในบางราย แต่พบได้ค่อนข้างน้อย นอกจากนี้ยังพบว่าบางรายอาจมีอาการของโรคกลับเป็นซ้ำในช่วงก่อนมีประจำเดือน และอาจเป็นมากขึ้นหลังจากการมีเพศสัมพันธ์

อย่างไรก็ตาม ควรรีบพบแพทย์ หากเป็นการติดเชื้อราในช่องคลอดเป็นครั้งแรก อาการที่เป็นอยู่ไม่ดีขึ้นหลังใช้ยารักษา หรือมีอาการผิดปกติอื่นๆ ร่วมด้วย โดยอาการอาจรุนแรงมากขึ้นหากไม่รีบรักษา ซึ่งสังเกตได้จากบริเวณที่เกิดการติดเชื้อมีอาการบวม แดง และคันอย่างรุนแรงมากขึ้น จนทำให้เกิดรอยแตกเป็นแผล มีอาการเจ็บหรือปวด ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดการติดเชื้อราในช่องคลอดบ่อยมากกว่าปกติ หรือมากกว่า 4 ครั้งต่อปี

 

สาเหตุของโรคเชื้อราในช่องคลอด

โรคเชื้อราในช่องคลอดเกิดจากการเพิ่มจำนวนเชื้อรามากกว่าปกติภายในช่องคลอด จนทำให้สภาพภายในช่องคลอดเสียสมดุล โดยปกติเชื้อราเหล่านี้มักอาศัยอยู่ตามช่องปาก อวัยวะเพศ ระบบทางเดินอาหาร หรือบนผิวหนังของคนเราในปริมาณน้อยและไม่ก่อให้เกิดโรค แต่เมื่อเชื้อราเหล่านี้มีปริมาณมากขึ้นจึงพัฒนาให้เกิดการติดเชื้อขึ้นได้ เชื้อราที่ทำให้เกิดการติดเชื้ออาจเกิดได้จากหลายสายพันธุ์ แต่สายพันธุ์ที่พบว่าเป็นสาเหตุของการติดเชื้อในช่องคลอดได้มากที่สุดมีชื่อว่า แคนดิดา อัลบิแคนส์ (Candida Albicans) ซึ่งเป็นเชื้อราในกลุ่ม แคนดิดา (Candida) ส่วนเชื้อราสายพันธุ์อื่นที่พบได้ไม่บ่อยอาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงได้มากขึ้น และต้องอาศัยการรักษาที่ซับซ้อนมากขึ้น

 

การเพิ่มจำนวนเชื้อราอย่างรวดเร็วมาจากหลายสาเหตุ ดังนี้

  • การใช้ยาปฏิชีวนะเป็นเวลานาน ซึ่งจะไปลดปริมาณแบคทีเรีย แลคโตบาซิลลัส และทำให้ค่าความเป็นกรดด่างภายในช่องคลอดเสียสมดุล
  • การตั้งครรภ์
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมอาการของโรคได้
  • สภาวะของร่างกายที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง เช่น การติดเชื้อเอชไอวี (HIV)
  • เป็นโรคทางผิวหนังอื่นๆ นำมาก่อน เช่น โรคสะเก็ดเงินโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังอื่นๆ
  • การรับประทานยาบางประเภท
  • มีภาวะโรคอ้วน
  • การรักษาด้วยวิธีฮอร์โมนบำบัด หรือการรับประทานยาคุมกำเนิดในปริมาณสูง ซึ่งจะไปเพิ่มระดับของฮอร์โมนเอสโตรเจน
  • การสวนล้างช่องคลอด หรือการใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัยบริเวณช่องคลอดบ่อยๆ อาจทำให้เสียสมดุลภายในช่องคลอด

การเกิดการติดเชื้อราในช่องคลอดเป็นปัญหาที่พบมากในผู้หญิง โดยผู้หญิงทุก 3 ใน 4 คน เคยเป็นโรคเชื้อราในช่องคลอดอย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิต นอกจากนี้ การติดเชื้อราในช่องคลอดอาจเกิดขึ้นได้ในช่วงก่อนการมีประจำเดือน หรือบางรายอาจเกิดขึ้นหลังการมีเพศสัมพันธ์ แต่ตัวโรคยังไม่จัดว่าเป็นโรคติดติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เพราะไม่ก่อให้เกิดการติดเชื้อไปสู่ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ด้วย รวมไปถึงผู้หญิงที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ก็อาจมีโอกาสในการพัฒนาโรคให้เกิดขึ้นได้เช่นกัน

 

การวินิจฉัยโรคเชื้อราในช่องคลอด

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคเชื้อราในช่องคลอดได้ตามขั้นตอนดังนี้

  • สอบถามข้อมูลและประวัติทางการแพทย์ในขั้นแรกจะมีการสอบถามข้อมูลทางการแพทย์ของผู้ป่วย อาการผิดปกติที่พบ ลักษณะของตกขาว เคยมีประวัติเกิดการติดเชื้อราหรือมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มาก่อนหรือไม่
  • การตรวจภายในแพทย์จะตรวจดูลักษณะภายนอกของอวัยวะเพศและบริเวณรอบๆ เพื่อหาความผิดปกติที่บ่งบอกว่าเกิดการติดเชื้อ ซึ่งบางรายสามารถตรวจพบความผิดปกติได้ตั้งแต่การสังเกตดูลักษณะภายนอก แต่ในบางรายแพทย์อาจจะต้องตรวจหาความผิดปกติจากภายในช่องคลอดอีกครั้ง ด้วยการสอดอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เรียกว่าปากเป็ดเข้าไปภายในช่องคลอด เพื่อเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งหรือตกขาวออกมาตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม
  • การตรวจตัวอย่างสารคัดหลั่งมักจะใช้ในกรณีตรวจวินิจฉัยผู้ที่เกิดการติดเชื้อบ่อยๆ หรืออาการของโรคไม่ดีขึ้น โดยแพทย์จะนำตัวอย่างที่เก็บได้ภายในช่องคลอดออกมาตรวจหาประเภทเชื้อราที่ทำให้เกิดอาการของโรค ซึ่งจะช่วยให้แพทย์หาวิธีการรักษาผู้ป่วยที่มีการกลับมาของโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

การรักษาโรคเชื้อราในช่องคลอด

โรคเชื้อราในช่องคลอด สามารถรักษาได้โดยการใช้ยาต้านเชื้อรา (Antifungal Drug) เป็นหลัก โดยรูปแบบของยาอาจจะมีทั้งแบบครีม ขี้ผึ้ง ยาเหน็บ หรือยารับประทาน เช่น ยาโคลไตรมาโซล (Clotrimazole) ยาไมโคโนโซล (Miconazole) ยาไทโอโคนาโซล (Tioconazole) ยาบูโตโคนาโซล (Butoconazole) ยาฟลูโคนาโซล (Fluconazole) หรือยากรดบอริก (Boric acid) ซึ่งการเลือกใช้ยาควรต้องมีการพิจารณาระดับความรุนแรงของโรคและประเภทของเชื้อราที่ทำให้เกิดความผิดปกติขึ้นด้วย ส่วนระยะเวลาในการใช้ยาจะแตกต่างกันไปตามความแรงของยาและการตอบสนองของผู้ป่วยต่อการรักษา

 

ผู้ป่วยที่มีอาการของโรคไม่รุนแรงสามารถซื้อยาต้านเชื้อราที่ขายทั่วไป ควบคู่กับการดูแลตนเองได้จากที่บ้าน โดย

  • ผู้ป่วยที่ใช้ยารักษาเชื้อราทาช่องคลอดในช่วงที่มีประจำเดือน ควรเลือกใช้ผ้าอนามัยแบบแผ่นแทนการใช้ผ้าอนามัยแบบสอด
  • หลีกเลี่ยงการใช้สบู่หรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดบริเวณช่องคลอดเป็นประจำ แต่ควรใช้น้ำสะอาดทำความสะอาดแทน
  • ไม่ควรสวนล้างช่องคลอด เพราะอาจส่งผลให้อาการติดเชื้อแย่ลง
  • หากมีความรู้สึกเจ็บในขณะมีเพศสัมพันธ์ ควรใช้ผลิตภัณฑ์เจลหล่อลื่นที่มีน้ำเป็นองค์ประกอบหลักในขณะมีเพศสัมพันธ์ เพื่อช่วยลดการระคายเคือง
  • หากบริเวณอวัยวะเพศมีอาการบวมและเจ็บ ไม่ควรเกาหรือถูแรงๆ แต่อาจนั่งแช่น้ำอุ่น เพื่อช่วยบรรเทาอาการ หรืออาจใช้ผ้าชุบน้ำเย็นประคบบริเวณที่มีอาการ

ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่รักษาด้วยการซื้อยามาใช้เองควรปรึกษาเภสัชกรทุกครั้ง ก่อนการใช้ยาควรศึกษาวิธีอย่างละเอียดและควรใช้ยาติดต่อกันอย่างต่อเนื่องจนครบปริมาณที่แนะนำ ไม่ควรหยุดใช้ยาอย่างกะทันหัน แม้ว่ามีอาการดีขึ้น รวมไปถึงควรระมัดระวังการใช้ยาบางประเภทที่ยังไม่ได้รับการยืนยันทางการแพทย์อย่างชัดเจนว่ามีฤทธิ์ในการต่อต้านเชื้อรา เช่น การทาน้ำมันทีทรี (Tea Tree Oil) บริเวณช่องคลอด หรือการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากกระเทียม เนื่องจากอาจส่งผลให้อาการติดเชื้อแย่ลงได้

แต่ในกรณีที่อาการมีความรุนแรงมากขึ้น จนทำให้เกิดอาการปวดบริเวณอุ้งเชิงกราน ผู้ป่วยอยู่ในช่วงตั้งครรภ์ เป็นอาการติดเชื้อครั้งแรก เกิดอาการแพ้ อาการของโรคไม่ดีขึ้น หรือมีความกังวลว่าอาการที่เกิดขึ้นอาจมีสาเหตุมาจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ควรเข้าปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการตรวจยืนยันผล และรักษาด้วยวิธีที่ถูกต้อง ซึ่งอาจต้องมีการใช้ยารักษาในปริมาณที่สูงขึ้น และรักษานานต่อเนื่องตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อช่วยป้องกันการกลับมาของโรค อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อที่เกิดขึ้นใหม่อีกครั้งภายในระยะเวลา 2 เดือน หลังอาการหายขาด อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกจากโรคอื่นได้

 

ภาวะแทรกซ้อนของโรคเชื้อราในช่องคลอด

โรคเชื้อราภายในช่องคลอดค่อนข้างพบภาวะแทรกซ้อนได้น้อย โดยทั่วไปมักเกิดการถลอกของผิวหนังจนอาจเป็นแผล เนื่องจากอาการคันและเสี่ยงต่อการเกิดการติดเชื้ออื่นๆ ที่ผิวหนังได้โดยง่าย ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดการติดเชื้อขึ้นใหม่อีกครั้งหลังการรักษา หรือไม่สามารถรักษาโรคให้หายขาด เนื่องจากตัวยาไม่ตอบสนองต่อโรค ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่นตามมา

 

การป้องกันโรคเชื้อราในช่องคลอด

การติดเชื้อราในช่องคลอดอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ในบางกรณีบอกได้ยากว่าเกิดมาจากสาเหตุใด เพราะแต่ละบุคคลก็มีปัจจัยความเสี่ยงที่แตกต่างกันออกไป การป้องกันโรคจึงเป็นการปฏิบัติตามหลักสุขอนามัย เพื่อช่วยลดโอกาสการเกิดของโรคตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • เลือกสวมใส่กระโปรง กางเกง หรือกางเกงชั้นที่ไม่รัดแน่นมากเกินไป รวมไปถึงเลือกเนื้อผ้าจากเส้นใยธรรมชาติที่มีการถ่ายเทของอากาศได้ดี ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดความอับชื้นจนเพิ่มจำนวนเชื้อราขึ้นได้โดยง่าย
  • ไม่ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่มีความอับชื้นเป็นเวลานาน ควรรีบเปลี่ยนชุดออกทันที เช่น ชุดว่ายน้ำ ชุดออกกำลังกาย
  • หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจุดซ่อนเร้น หรือการสวนล้างช่องคลอดบ่อยเกินความจำเป็น
  • ไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่มีความจำเป็น
  • ในช่วงมีประจำเดือนควรมีการเปลี่ยนผ้าอนามัยอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะผ้าอนามัยแบบสอด เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอับชื้นที่เป็นที่อยู่ของเชื้อรามากขึ้น

 

นอกจากคำแนะนำดังกล่าวข้างต้น ภญ.พิชชาภา แก้วกัน เภสัชกรหน่วยเภสัชกรรมคลินิก งานเภสัชกรรม ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ม.มหิดล ยังได้ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ผ่านการให้สัมภาษณ์ทางช่อง RAMA CHANNEL ว่า โรคเชื้อราในช่องคลอด มีสาเหตุหลักๆ เกิดจากเชื้อรา หากเป็นขณะมีประจำเดือน ควรเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อยๆ อย่างน้อยทุก 4-5 ชั่วโมง อย่าเสียดาย บางคนอาจสงสัยว่าตนเป็นคนสะอาดมาก แต่อาจไปแวะตามห้องน้ำที่ไม่สะอาด ก็อาจเกิดการกระเด็น ติดเชื้อมาได้ หรือหากร่างกายอ่อนแอ เชื้อโรคก็จะมีการก่อโรคได้ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย

ภญ.พิชชาภา แก้วกัน

การทานนมเปรี้ยวหรือโยเกิร์ต ช่วยรักษาโรคนี้ได้ไหม

ภญ.พิชชาภา แก้วกัน ให้ความรู้ในเรื่องนี้ว่า ปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาว่าจุลินทรีย์ในนมเปรี้ยวหรือโยเกิร์ตสามารถรักษาโรคเชื้อราในช่องคลอดได้

 

การรักษา

สำหรับการรักษาผู้ที่เป็นโรคเชื้อราในช่องคลอดนั้น ภญ.พิชชาภา แก้วกัน กล่าวว่า ยาที่มีประสิทธิภาพสูงสุดอันดับแรกคือ ตัวยาโคลไตรมาโซล (Clotrimazole) ซึ่งชนิดหรือรูปแบบที่แนะนำมากที่สุดคือ ชนิดเหน็บหรือสอดช่องคลอด หรือแบบทา แต่หากคนไข้ใช้ยาไปแล้วไม่ได้ผล คุณหมออาจจะพิจารณายารับประทาน เช่น ตัวยาฟลูโคนาโซล (Fluconazole) ซึ่งอาจต้องใช้เวลาในการรักษามากขึ้น นานขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ว่าจะรักษาอย่างไรต่อ คนไข้บางรายใช้ยาเหน็บครั้งเดียวก็หาย ในบางรายก็ใช้เวลา 6-7 วัน แล้วแต่ระดับความรุนแรงของอาการ

ส่วนในกรณีคุณแม่ตั้งครรภ์ ตัวยาเหน็บหรือทาโคลไตรมาโซล ยาตัวนี้หลังจากเข้าสู่ร่างกายแล้วจะมีการดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดเพียงเล็กน้อย สรุปคือมีความปลอดภัยสำหรับผู้หญิงตั้งครรภ์ แต่หากคุณแม่ท่านใดไม่มั่นใจก็ปรึกษาแพทย์เพิ่มเติมได้

วิธีใช้ยาเหน็บให้ถูกต้องและปลอดภัย

  1. ล้างมือให้สะอาด
  2. แกะยาออกจากแผง จุ่มยาลงไปในน้ำเล็กน้อย เพื่อให้ยามีความชื้น เวลาสอดเข้าไปในช่องคลอดจะได้ง่ายขึ้น
  3. หากมีอุปกรณ์ช่วยในการสอดยา ให้นำยาใส่ที่หลอดบรรจุ หลังจากนั้นให้นอนหงาย ชันเข่าขึ้น แยกขาออกจากกัน
  4. ค่อยๆ ใส่หลอดบรรจุยาเข้าไปในช่องคลอด หรือใช้นิ้วดันยาให้เข้าไป
  5. หากใช้อุปกรณ์ช่วยสอดยา ให้กดก้านหลอดบรรจุยาจนยาเหน็บเข้าไปในช่องคลอด จากนั้นนำหลอดบรรจุยาออกจากช่องคลอด นอนหงายท่าเดิมประมาณ 5-10 นาที เพื่อความสะดวกอาจใช้ยาในช่วงก่อนนอน

อาการข้างเคียงของยาเหน็บหรือยาสอดเข้าช่องคลอดเพื่อฆ่าเชื้อรา

แต่ละตัวมีข้อบ่งใช้และส่วนประกอบที่แตกต่างกัน ก่อนใช้ยาควรศึกษาข้อมูลจากฉลากอย่างละเอียดก่อน อาการโดยทั่วไปที่อาจเกิดขึ้นได้แก่

  1. อาการคันบริเวณช่องคลอด
  2. อาการตกขาวผิดปกติ
  3. อาจเกิดอาการช่องคลอดแห้ง หรือแสบบริเวณที่ใช้ยาได้ หรืออาจมีอาการแพ้ยาได้ ซึ่งอาการแพ้ยาโดยทั่วไป เช่น มีผื่น หน้าบวม ปากบวม แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก หรือเจ็บปาก เจ็บตา หากมีอาการดังกล่าวให้รีบไปพบแพทย์ทันที

 

วิธีดูแล ป้องกันเชื้อราในช่องคลอด

ปกติในช่องคลอดจะมีแบคทีเรียซึ่งเป็นเชื้อราประจำถิ่นอยู่แล้ว ที่ช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อราเจริญเติบโตได้ แต่ถ้าอยู่ในภาวะที่กรดลดลง เช่น ตั้งครรภ์ หรือมีประจำเดือน ก็อาจทำให้เชื้อราเจริญเติบโตได้ การทำความสะอาดอย่างถูกวิธี เช่น ทำความสะอาดจากช่องคลอดไปที่ทวารหนัก เป็นการป้องกันไม่ให้อุจจาระปนเปื้อนบริเวณช่องคลอด ก็จะช่วยป้องกันได้ รวมทั้งไม่สวนล้างช่องคลอดโดยไม่จำเป็น ไม่รับประทานยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น ไม่ใส่กางเกงที่คับแน่นจนเกินไป ส่วนสามีก็ควรทำความสะอาดอวัยวะเพศก่อนมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้ง ฝ่ายหญิงหากมีตกขาวผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์ทันที

 

(แหล่งข้อมูล: pobpad.com, RAMA CHANNEL)

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า