เวียดนามจะมุ่งพัฒนาผสมพันธุ์วัว สัตว์ปีก และสัตว์น้ำเพื่อทดแทนภาวะขาดแคลนเนื้อหมู ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นภายในปีนี้ เนื่องจากการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร
วันที่ 25 มิ.ย. 2562 สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (24 มิ.ย. 62) เวียดนามนิวส์ หนังสือพิมพ์รายวันท้องถิ่นได้รายงานถ้อยคำของฝุ่ง ดึ๊ก เตี่ยน (Phung Duc Tien) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทเวียดนาม กล่าวว่า การระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ส่งผลให้เกิดความเสียหายรุนแรงต่อภาคปศุสัตว์ของเวียดนาม จึงจะส่งเสริมการผสมพันธุ์วัวเพื่อทำให้แน่ใจว่าจะมีเนื้อสัตว์สำรองสำหรับตลาดในประเทศ
กรมกรมปศุสัตว์เวียดนาม (Department of Livestock Production) ภายใต้การกำกับของกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทระบุว่า ความต้องการเนื้อวัวของชาวเวียดนามอยู่ที่ 3 กิโลกรัมต่อหัวต่อปี ในขณะที่ประเทศอื่นในเอเชียอยู่ที่มากกว่า 5 กิโลกรัม และในประเทศที่พัฒนาแล้วบางประเทศอยู่ที่มากกว่า 9 กิโลกรัม
หนังสือพิมพ์ข่าวเศรษฐกิจออนไลน์ของเวียดนาม รายงานจากถ้อยคำของต๊ง ซวน จิ๊ง (Tong Xuan Chinh) รองผู้อำนวยการกรมปศุสัตว์ว่า ค่าเฉลี่ยความต้องการนมในเอเชียอยู่ที่ 81 กิโลกรัมต่อหัวต่อปี เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 120 กิโลกรัม ส่วนในเวียดนามอยู่ที่ 20 กิโลกรัมเท่านั้น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปการผลิตของภาคอุตสาหกรรมปศุสัตว์ที่เลี้ยงด้วยหญ้า โดยเฉพาะเมื่อเวียดนามกำลังมุ่งหน้าเข้าสู่ห่วงโซ่คุณค่าโลกในภาคธุรกิจการเกษตร
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เรื่องง่ายที่เนื้อวัวภายในประเทศจะแข่งขันกับเนื้อวัวนำเข้า ซึ่งได้รับความนิยมจากลูกค้าชาวเวียดนามจำนวนมาก “เนื้อนำเข้าจากออสเตรเลียและสหรัฐอเมริกามีจำหน่ายทั้งในห้างสรรพสินค้า ร้านค้าปลีก ตลาด ห้องครัวเชิงพาณิชย์ และร้านอาหารส่วนมาก” จิ๊งกล่าว
ทั้งนี้ กระทรวงฯ ระบุว่า ตั้งแต่พบการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรครั้งแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ในจังหวัดฮึงเอียน (Hung Yen) ทางตอนเหนือของเวียดนาม โรคนี้ได้แพร่กระจายไปแล้วใน 57 จังหวัดจากทั้งหมด 63 จังหวัด ทำให้ต้องกำจัดสุกรกว่า 2.5 ล้านตัวทั่วประเทศ หรือคิดเป็นร้อยละ 7.5 ของประชากรสุกรทั้งหมดในเวียดนาม