นักวิเคราะห์ฯ เปิดโฉมหน้า 3 กลุ่มทุน 5 บริษัทดังในตลาดหุ้น ผู้ท้าชิงใบอนุญาต ‘ธนาคารไร้สาขา’ (Virtual Bank)
‘ธนเดช รังษีธนานนท์’ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน) หรือ Pi เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังกำหนดใบอนุญาตธนารคารไร้สาขา (Virtual Bank: VB) ใช้สูตร 6+9+12 ระยะเวลารวม 27 เดือน พร้อมดำเนินการนับจาก 4 มี.ค. 2567
- 6 = ผู้ขอสามารถยื่นคำขออนุญาตผ่านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ภายใน 6 เดือน นับตั้งแต่ 20 มี.ค.- 19 ก.ย. 2567
- 9 = ธปท.และกระทรวงการคลังพิจารณาคำขอตั้ง VB ภายใน 9 เดือน นับแต่วันสิ้นสุดเวลาการยื่นคำขอ
- 12 = หากใครได้รับใบอนุญาต ผู้ขอต้องเตรียมพร้อมและเริ่มดำเนินธุรกิจภายใน 1 ปี
ทั้งนี้ ไม่กำหนดจำนวนใบอนุญาต (เดิมกำหนดให้ใบอนุญาต 3 ราย) โดยที่ VB ต้องตั้งสำนักงานใหญ่ในไทย มีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท (ระยะแรก) และไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท (ระยะปกติ)
ธนาคาร VB มุ่งเน้นกลุ่มลูกค้า (1) ผู้ไม่มีรายได้ประจำ และธุรกิจขนากลาง-ขนาดย่อม (SME) (2) กลุ่มที่ไม่ได้รับบริการการเงินเพียงพอ (3) กลุ่มที่เข้าไม่ถึงบริการการเงิน และ (4) กลุ่มเข้าไม่ถึงสินเชื่อและกลุ่มหนี้นอกระบบ
[ มุมมองการลงทุน: ตอนนี้มี 3 กลุ่มสนใจขอใบอนุญาต VB ]
- กลุ่ม 1: KTB + AIS + GULF
- กลุ่ม 2: SCB + Kakao Bank (เกาหลีใต้)
- กลุ่ม 3: JMART group + Partner
‘เราคาดว่า เมื่อมีรายละเอียดที่ชัดเจน อาจมีกลุ่มธุรกิจแสดงความสนใจเพิ่มเติม ภายใต้กลยุทธ Consortium ที่มีกลุ่มธุรกิจมากกว่า 1 กลุ่มร่วมมือกันด้วยจุดแข็งหลัก 3 ด้าน คือ เงินทุนสูง + เชี่ยวชาญการเงิน + ฐานข้อมูลดิจิทัลแกร่ง’
เบื้องต้นการวิเคราะห์เชิงพื้นฐานยังยาก เพราะต้องรอดูความชัดเจนว่า ใครจัดตั้งธุรกิจ และใครจะเป็นผู้เล่นใหม่ในเกม VB แต่ VB ต้องแยกตัวออกจากกลุ่มธุรกิจดั้งเดิม แม้ว่าผู้ถือหุ้นอาจประกอบธุรกิจธนาคารในปัจจุบัน
แต่ที่แน่ๆ เมื่อมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามา การแข่งขันต้องสูงขึ้น เช่น ตลาดเงินฝากและสินเชื่อ แต่เชื่อว่า ธปท.คงจะจำกัดจำนวนผู้เล่นรายใหม่เพื่อดูผลกระทบเชิงระบบว่าจะตอบโจทย์ปัญหา (Pain Point) ของคนไทย และผลบวก/ลบอย่างไรต่อระบบการเงินของไทย
ดังนั้น ผลกระทบเชิงพื้นฐานต่อบริษัทที่เกี่ยวข้องอาจใช้เวลา 2-3 ปี กว่าจะทราบ แต่ระหว่างทางคงจะมีกระแสการเก็งกำไรได้ และทางฝ่ายวิจัยจะอัปเดตข่าวสารเพิ่มเติม