ในทางการตลาดแล้ว “April Fool’s Day” หรือ “วันเมษาหน้าโง่” นับเป็นอีกเทศกาลหนึ่ง ที่แต่ละแบรนด์นิยมออกแคมเปญหลอกๆ มาเพื่อสร้างความบันเทิง และอาจกลายเป็นกระแสไวรัลได้หากทำอย่างถูกวิธี
ปกติแล้ว สื่อต่างๆ เองก็มักจะไหวตัวทัน ว่าแคมเปญที่ออกมาในช่วงใกล้ๆ วันที่ 1 เมษายน ของทุกปี อาจเป็นเพียงการเล่นสนุกของทีมการตลาดก็เป็นได้
แต่ในกรณีล่าสุดของ Volkswagen แบรนด์รถยนต์ชื่อดังสัญชาติเยอรมนี กลับทำให้สื่อชื่อดังจำนวนมากรายงานแคมเปญ April Fool’s ของพวกเขาราวกับว่าเป็นข่าวที่เกิดขึ้นจริง
We know, 66 is an unusual age to change your name, but we’ve always been young at heart. Introducing Voltswagen. Similar to Volkswagen, but with a renewed focus on electric driving. Starting with our all-new, all-electric SUV the ID.4 – available today. #Voltswagen #ID4 pic.twitter.com/pKQKlZDCQ7
— Volkswagen (@VW) March 30, 2021
เหตุการณ์นี้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม 2564 ที่ทาง Volkswagen ทวีตวิดีโอสั้น ระบุว่าพวกเขาได้เปลี่ยนชื่อเป็น ‘Voltswagen’ โดยมีจุดประสงค์เพื่อโฟกัสไปที่รถยนต์พลังงานไฟฟ้า เริ่มจากรถ SUV รุ่น ID.4
ก่อนหน้านั้น ข้อมูลดังกล่าวได้หลุดออกมาส่วนหนึ่งแล้ว ซึ่งทางสื่อหลายสำนักได้ทำการติดต่อไปยัง Volkswagen ทั้งจากแหล่งข่าวของพวกเขาเอง รวมถึงช่องทางติดต่ออย่างเป็นทางการ เพื่อขอคำยืนยันว่าข่าวที่ออกมาเป็นเรื่องจริงหรือไม่ เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจว่าพวกเขาควรจะรายงานไปในทิศทางใด
แต่แทนที่ Volkswagen จะออกมายอมรับสารภาพตามความจริงว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นเพียงการล้อเล่นสำหรับเทศกาล April Fool’s เท่านั้น พวกเขากลับตัดสินใจที่จะเล่นตามน้ำ ด้วยการยืนยันว่า จะใช้ชื่อ Voltswagen of America ในสหรัฐฯ โดยเริ่มต้นในเดือนพ.ค.นี้ และจะมีการใส่ตัวอักษร Voltswagen บนรถยนต์ไฟฟ้าทุกรุ่น ส่วนรถที่ใช้เครื่องยนต์พลังงานสันดาป จะมีโลโก้ VW เพียงอย่างเดียว
สำนักข่าว AP ได้รับคำยืนยันจากโฆษกของ Volkswagen สหรัฐฯ ว่าเรื่องนี้เป็นข่าวจริง เช่นเดียวกับทาง USA Today ที่เจาะจงถามไปว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องล้อเล่นหรือไม่? คำตอบที่ได้รับคือ “ไม่”
หลังจากที่สื่อถูกหลอกให้เชื่อว่าเป็นข่าวจริงแล้ว จึงพร้อมใจกันรายงานว่า Volkswagen จะเปลี่ยนชื่อที่ใช้สำหรับผลิตภัณฑ์รถยนต์ไฟฟ้าในสหรัฐฯ เป็น Voltswagen โดยเปลี่ยนคำว่า โฟล์ค (Volk) ซึ่งเป็นชื่อดั้งเดิมของแบรนด์ มาจากภาษาเยอรมนีที่แปลว่า ผู้คน มาเป็นคำว่า โวลต์ (Volt) ที่เป็นหน่วยทางไฟฟ้าแทน
ข่าวที่ออกมาส่งผลให้ราคาซื้อขายหุ้นของ Volkswagen ปรับตัวขึ้นเกือบ 5% และได้รับการพูดถึงบนหน้าสื่อและโลกออนไลน์เป็นวงกว้าง
อย่างไรก็ตาม อยู่ดีๆ กลับมีรายงานอ้างอิงแหล่งข่าวจาก Volkswagen สหรัฐฯ ออกมาว่า ข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง ทางบริษัทไม่ได้มีแผนในการเปลี่ยนชื่อแต่อย่างใด
เมื่อมีรายงานนี้ออกมา ทำให้ผู้คนเริ่มสับสนว่า เรื่องจริงเป็นอย่างไรกันแน่? รวมถึงสื่อที่ตีพิมพ์ข่าวการเปลี่ยนชื่อไปแล้ว ก็พยายามติดต่อกลับไปยัง Volkswagen อีกรอบ
ถึงตอนนี้ Volkswagen ออกมายอมรับว่า ข่าวที่ออกไปไม่เป็นความจริง บริษัทได้แถลงออกไปเพื่อความบันเทิง และต้องการโปรโมทรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่เท่านั้น

The VW Logo is pictured at the headquarters of German car maker Volkswagen in Wolfsburg on October 26, 2020. (Photo by Ronny Hartmann / AFP)
การที่บริษัทยักษ์ใหญ่ออกมาทำแคมเปญ April Fool’s นับเป็นเรื่องปกติ แต่การที่ออกมาโกหกซึ่งหน้าขณะที่สื่อพยายามแสวงหาความจริง นับเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก
โดยเฉพาะกับกลุ่ม Volkswagen ที่เคยมีคดีอื้อฉาว Dieselgate หลังจากพวกเขาโกงผลการทดสอบมลพิษ ด้วยการใช้ซอฟต์แวร์ลดการปล่อยมลพิษในขณะที่รถเข้าสู่กระบวนการทดสอบ จนต้องเสียค่าปรับมหาศาลเป็นจำนวน 3 หมื่นล้านยูโร หรือราว 1.1 ล้านล้านบาท มาแล้ว
ล่าสุด สื่อหลายสำนักที่โดนหลอก ก็ออกมาแสดงความไม่พอใจถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากพวกเขาทำหน้าที่ตามมาตรฐานที่ควรจะเป็นแล้ว แต่กลับถูกโกหก และมองว่าการโกหกแบบนี้ไม่ใช่เรื่องตลก แต่เป็นการหลอกลวง ทำให้พวกเขารายงานข่าวออกไปเสมือนว่าเป็นข่าวจริง ซึ่งอาจส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของสื่อเองด้วย
“ตอนนี้เรารู้แล้วว่า การรีแบรนด์เป็นเพียงเรื่องโกหก จากบริษัทซึ่งกลายเป็นที่รู้จักดีในเรื่องของการโกหก” The Verge สื่อด้านเทคโนโลยีทิ้งท้ายไว้ในรายงานข่าวของพวกเขา
โดยปกติแล้ว การล้อเล่นเพื่อสร้างความสนุกสนานและไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อใคร เป็นเรื่องที่ทุกคนยอมรับได้
แต่การล้อเล่นแบบผิดวิธีและไม่รู้จักกาลเทศะ อาจส่งผลให้โดนตำหนิได้ ดังเช่นกรณีนี้