แจงยิบทำไมรองอัยการสูงสุดลงนามไม่สั่งฟ้องคดี บอส อยู่วิทยา แต่อัยการสูงสุดไม่รู้เรื่อง เพราะระบบร้องทุกข์ออกแบบให้จบแค่รอง เพื่อยังให้ตำรวจเห็นแย้งได้ แต่หากรองอัยการสูงสุด บกพร่องถอยคดีกลับไม่ได้ ยกเว้นมีหลักฐานใหม่
วันที่ 1 ส.ค. 2563 ศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานเสวนาโต๊ะกลม “คดี(กระทิงแดง)ชนตำรวจ : นักกฎหมายเห็น สังคมรู้สึก คำถามที่กระบวนการยุติธรรมต้องตอบ”
นายอรรถพล ใหญ่สว่าง ประธานคณะกรรมการอัยการและอดีตอัยการสูงสุด อธิบายระบบของอัยการว่า ก่อนปี 2540 มีการสั่งคดีและร้องขอความเป็นธรรมไปที่อัยการสูงสุดและมีอัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้อง จนเป็นที่ครหาว่าไม่มีการคานและดุลอำนาจ ภายหลังมีการพิจารณาแล้วจึงกำหนดว่า การสั่งไม่ฟ้องควรลดลงมาแค่รองอัยการสูงสุด แล้วจึงส่งกลับไปให้ทางตำรวจ
ขณะที่การร้องขอความเป็นธรรมได้มีการออกระเบียบให้ต้องเสนอไปที่อธิบดีอัยการสำนักงานนั้น เช่น กรณีของนายวรยุทธ เสนอไปที่ สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ โดยแม้จะมีความเห็นสั่งฟ้องแล้วระหว่างนั้นยังร้องขอความเป็นธรรมได้ คดี นายวรยุทธ ก็มีการร้องขอความเป็นธรรมาตลอด ซึ่งตามระเบียบถ้ามีการเปลี่ยนคำสั่ง เช่น จากคำสั่งฟ้องแล้วเปลี่ยนเป็นไม่ฟ้อง ระดับอธิบดีทำไม่ได้ ต้องเป็นระดับที่สูงกว่า คือ รองอัยการสูงสุด ที่อัยการสูงสุดมอบหมายเนื้องานให้
รองอัยการสูงสุดที่รับผิดชอบคดีการร้องขอความเป็นธรรมจึงเป็นผู้สั่งคดี แต่ไม่ได้สั่งได้ทันที ต้องผ่านสำนักงานคดีกิจการอัยการสูงสุดเป็นผู้กลั่นกรอง พนักงานอัยการจะตรวจพิจารณาว่าคำร้องขอความเป็นธรรมมีพยานหลักฐานอย่างไร ถ้าเห็นว่าซ้ำเดิมๆ ไม่น่าพิจารณา จะเรียกว่ายุติการร้องขอความเป็นธรรม
พนักงานอัยการพิจารณาแล้วจะเสนอไปยังอัยการพิเศษฝ่ายในคดีร้องขอความเป็นธรรม แล้วเสนอไปที่รองอธิบดีสำนักงานคดีกิจการอัยการสูงสุด เมื่อพิจารณาแล้วจะเสนอไปยัง อธิบดีสำนักงานคดีกิจการอัยการสูงสุด และไปจบที่รองอัยการสูงสุด ซึ่งเป็นหลักที่ไม่ต้องรายงานไปยังอัยการสูงสุด โดยไม่มีการแบ่งแยกว่าคดีใหญ่หรือเล็ก
เมื่อรองอัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้องต้องส่งกลับไปที่ผู้ที่เกี่ยวข้อง ถ้าเหตุใน กทม. คือส่งไปให้ ผบ.ตร., รอง ผบ.ตร. หรือ ผช.ผบ.ตร พิจารณา ซึ่งทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติเอง ก็จะมีกองคดีที่จะต้องมีการพิจารณาก่อนส่งไปให้ ผบ.
นายอรรถพล กล่าวต่อว่า ถามว่าระเบียบที่ใช้นี้ เกิดความเสียหายไหม ถ้าจะเปรียบกฎหมายก็ดี ระเบียบสำนักงานอัยกการสูงสุดก็ดี เปรียบเสมือนตราชูหรือตาชั่ง ตนคิดว่าระเบียบนี้ใช้ได้อยู่ และกล้ายืนยันว่ากฎหมายเมืองไทยดีที่สุดในโลก ระบบควรจะยังเป็นแบบเดิม แต่ต้องมองในแง่บุคคล ถ้าบุคคลทำไม่ถูกต้องตราชูก็เอียงได้
ดังนั้น ถามว่า รองอัยการสูงสุดมีอำนาจหรือไม่ ทำตามระเบียบหรือไม่ มีดุลพินิจชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ มีดุลพินิจโดยละเอียดรอบคอบหรือไม่ ถ้าทำโดยชอบก็ไม่ผิด แต่ถ้าไม่ชอบคณะกรรมการอัยการก็มีอำนาจลงโทษได้
สำหรับเรื่องคดี ความรู้สึกมีได้ แต่การพิจารณาสั่งคดี จะขึ้นอยู่กับพยาน คือ พยานบุคคล พยานวัตถุ และพยานเอกสาร ในคดีอาญาเดิมยอมรับพยานบุคคล แต่ต้องเป็นประจักษ์พยาน จนกระทั่งมีเรื่องนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะถือจะเป็นพยานสำคัญที่สุด อย่างไรก็ตาม ถ้านิติวิทยาศาสตร์ขัดแย้งกันจะไปดูพยานบุคคล
เรื่องคดีของนายวรยุทธ ตนยังไม่ขอลงรายละเอียดขอให้รอผลของคณะกรรมการที่อัยการสูงสุดตั้งขึ้น ซึ่งคาดว่าจะทราบผลในวันจันทร์
นายอรรถพล กล่าวด้วยว่า แม้เกิดความบกพร่องของการสั่งคดี แต่ถ้าเป็นการสั่งคดีถูกต้องตามระบบและขั้นตอนแล้ว ต้องใช้พยานหลักฐานใหม่เท่านั้นในการพิจารณาคดีใหม่ได้