Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

สถานการณ์ปัญหาฝุ่น PM2.5 เริ่มกลับมาอีกครั้ง และขณะนี้ใกล้จะถึงวันประกาศยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ พรรคการเมือง เริ่มมีการพูดถึงนโยบายแก้ปัญหา PM2.5 บ้างแล้ว

สำนักข่าว TODAY พาไปดูนโยบายการจัดการปัญหาฝุ่น PM 2.5 ของแต่ละพรรค ซึ่งบางพรรคมีการประกาศนโยบายและเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์อย่างเป็นทางการแล้ว ขณะที่บางพรรคมีการพูดถึงปัญหาและนโยบายนี้ ระหว่างการลงพื้นที่พบประชาชน

  • พรรคก้าวไกล

วันนี้ (24 ก.พ. 66) นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงเปิดนโยบาย “สิ่งแวดล้อมไทยก้าวหน้า” ซึ่งเป็นชุดนโยบายที่ 7 จากทั้งหมด 9 ชุดนโยบาย

นายพิธา กล่าวว่า ปัญหาโลกร้อนเป็นภัยความมั่นคงของยุคปัจจุบัน นี่คือศัตรูตัวจริงของรัฐบาล ไม่ใช่ความมั่นคงทางทหารแบบเดิมอีกต่อไป ดังนั้น พรรคก้าวไกลต้องการประกาศศึกกับภาวะโลกร้อน

โดยมีนโยบายที่ชัดเจน ทั้งในเชิง ‘รับ’ เพื่อรับมือผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้วและมีแนวโน้มจะรุนแรงมากขึ้นจากสภาพอากาศที่แปรปรวน และในเชิง ‘รุก’ ที่รุกไปที่ต้นตอของปัญหา เพื่อลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้จริง ควบคู่กับสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับการรักษาสิ่งแวดล้อม

สำหรับนโยบาย แก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 เช่น

นโยบายด้านการเกษตร = ป้องกันการเผา เปลี่ยนก๊าซเรือนกระจกเป็นรายได้:

– กำจัดการเผาภายใน 3 ปี งบปรับตัวตำบลละ 3 ล้านบาท 1,000 ตำบล

– เปลี่ยนการเผาเป็นเงินในกระเป๋าเกษตรกร งบอุดหนุนปลูกข้าว “เปียกสลับแห้ง” แทนการเผา สร้างอุตสาหกรรมแปรรูปฟางข้าว-ซังข้าวโพดแทนการเผา

นโยบายด้านการขนส่ง = ปรับปรุงการขนส่งให้สะอาดที่สุด:

– รถเมล์ไฟฟ้าทุกจังหวัด ภายใน 7 ปี

– “วันขนส่งฟรี” รณรงค์ลดใช้รถยนต์ส่วนตัว

– เปลี่ยนรถไฟดีเซลเก่าเป็นไฟฟ้า

– ตรวจสภาพรถยนต์ฟรี! ปีละครั้ง

– ควบคุมปริมาณรถบรรทุกในเขตเมือง

ซึ่งก่อนหน้านี้พรรคก้าวไกล เผยแพร่ นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมเป็นสื่ออิเล็กทรอนิกส์  ผลิตวันที่ 24 มกราคม 2566 โดยมี 5 นโยบายหลักในการจัดการปัญหาฝุ่น PM2.5

1. ส่งเสริมขนส่งสาธารณะ อุดหนุนรถเมล์ไฟฟ้าทุกจังหวัด เพื่อให้ประชาชนใช้รถยนต์ขนส่งสันดาปลดลง และใช้รถเมล์ไฟฟ้า (EV Bus) ให้ได้มากที่สุด

2. เพิ่มพื้นที่สีเขียวทั่วเมืองผ่านการจัดสรรงบประมาณให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเพิ่มพื้นที่ปลอดภัยให้กลุ่มเปราะบาง

3. ลดการเผาในพื้นที่การเกษตร สนับสนุนงบตำบลละ 3 ล้านบาทในพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้ชุมชนจัดการปัญหาให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในพื้นที่

4. ตรวจวัดสภาพอากาศ-เตือนภัยให้เร็ว ครอบคลุม ตามมาตรฐานสากล ด้วยการเพิ่มงบประมาณเพื่อจัดหาเทคโนโลยีการตรวจวัดค่าฝุ่นในอากาศที่ได้มาตรฐานตามข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลก และพัฒนาระบบเตือนภัยเมื่อฝุ่นในอากาศเกินค่ามาตรฐานให้ทั่วถึงทุกพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนได้ระวังและป้องกันสุขภาพตนเอง

5. ทำงานเชิงรุกในเวทีโลก โดยเฉพาะเวทีอาเซียน เร่งเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านที่มีการเผาในที่โล่ง

  • พรรคภูมิใจไทย

ในวันที่ 11 ม.ค. 66 นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ แกนนำทีม “ภูมิใจไทย ภูมิใจกรุงเทพฯ” พรรคภูมิใจไทย เปิดนโยบายดูแลคนกรุงเทพฯ ทุกวัน ทุกเวลา และครอบคลุมทุกวัย เพื่อให้คนกรุงเทพฯ ภูมิใจ ด้วยนโยบาย 24 ชั่วโมง 7 วัน หรือ “ภูมิใจกรุงเทพฯ 24/7” เพื่อแก้ไขปัญหาให้คนกรุงเทพฯ ตอกย้ำแนวทาง “ภูมิใจไทย พูดแล้วทำ”

โดยในส่วนของนโยบาย แก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 อยู่ในหัวข้อ “ให้คุณภาพชีวิตที่ดี” ซึ่งนายพุทธิพงษ์ ระบุว่า ประชาชนกรุงเทพฯ มีปัญหาภาวะฝุ่น PM 2.5 มาอย่างต่อเนื่อง เป็นปัญหาที่ต้องใช้เวลาและความร่วมมือในการแก้ไขแต่เราสามารถเริ่มได้วันนี้ด้วย

– รถเมล์ไฟฟ้า/เรือไฟฟ้า ที่ทางภูมิใจไทยจะทำให้ครอบคลุมทั้งกรุงเทพฯ

– ติดโซลาร์ รูฟ ฟรี ลดโลกร้อนทุกครัวเรือน

– วินมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าคันละ 6,000 บาท วินไรเดอร์ ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ ทางภูมิใจไทยจะมีนโยบายเพื่อให้ผู้ขับขี่ทุกคนสามารถเปลี่ยนมาใช้รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าในราคาที่เอื้อมถึง

  • พรรคเพื่อไทย

เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2566 พรรคเพื่อไทย จัดเสวนา “วิกฤตฝุ่น PM 2.5 เพื่อไทยมีทางแก้ไข” โดยมี นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย, นพ.ญาณกิตติ์ ห่วงทรัพย์ ผู้ซึ่งประสงค์สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทย, นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย และนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองพรรคเพื่อไทย

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า “วิกฤตฝุ่น PM 2.5 เพื่อไทยมีทางแก้ไข” พรรคเพื่อไทยมีแนวคิดที่จะผลักดันเป็นนโยบายพรรคเพื่อไทยแก้วิกฤต PM 2.5 ใน 6 ด้านได้แก่

1. ห้ามเผาป่า เผาไร่จริงจัง

2. เจรจากับประเทศเพื่อนบ้านและเอกชนไทย ห้ามเผาไร่จริงจัง

3. เปลี่ยนรถเมล์ กทม. หลายพันคันเป็นรถไฟฟ้าโดยเร็วที่สุด

4. เข้มรถปล่อยควัน โรงงานปล่อยมลพิษ ไซต์งานก่อสร้าง

5. ทำไทยเป็นศูนย์ผลิตรถไฟฟ้า ดันราคาลง คนใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น

6. ผลักดันกฎหมายอากาศสะอาด

ล่าสุดวันนี้ นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินมาตรฐานเป็นปัญหาเรื้อรังในช่วง 4-5 ปี ล่าสุดพบว่าจังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองหลักที่มีมลพิษติดอันดับที่ 6 ของโลก และถูกจัดอันดับต่อเนื่องหลายวัน กระทบต่อการหายใจของประชาชน

“เพื่อไทยพร้อมผลักดัน พ.ร.บ.อากาศสะอาด เป็นนโยบายหลักหากได้เป็นรัฐบาล และเราจะส่งเสริมมาตรการต่างๆ เพื่อลดผลกระทบและแก้ไขปัญหาระยะยาว สมัยหน้าหมดเวลาของพล.อ.ประยุทธ์ หยุดการแก้ไขปัญหาแบบไม่สนใจลมหายใจประชาชน แล้วมาเริ่มต้นกันใหม่กับรัฐบาลเพื่อไทยที่สดใสและสะอาดกว่าอย่างแน่นอน” นายจักรพลกล่าว

  • พรรคประชาธิปัตย์

เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2566 ที่ตลาดริมคลองเจริญกรุง 103 นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ประธานคณะทำงานนโยบาย กทม. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงปัญหาปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 ในช่วงนี้ว่า เป็นเรื่องน่าตกใจ และไม่อยากให้ประชาชนถือเป็นเรื่องปกติ เพราะเป็นปัญหาระดับโลก ฝุ่นพิษเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

ประเด็นสำคัญคือต้องเอาความจริงมาพูดกันว่า วิธีแก้ปัญหาแบบเดิมๆ ทำแบบเดิมๆ ไม่มีทางที่จะช่วยได้ จะทำให้ความรุนแรงมากขึ้นทุกวัน

ทั้งนี้ นโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ใน กทม. คือ ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมของคนกรุงเทพฯ ทั้งเรื่องน้ำและเรื่องอากาศ โดยจะผลักดันการออกกฎหมายอากาศสะอาด ซึ่งค้างอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรนานมาก เป็นกฎหมายที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของคน กทม. ได้จริง เพราะจะมีการคุมเข้มรถที่เข้ามาในกรุงเทพฯ รวมถึงเรื่องการก่อสร้างที่ไร้ความรับผิดชอบ

และเมื่อวันที่ 9 ก.พ.​ 2566 นายสุรบถ หลีกภัย ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ หารือปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ว่า จากสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในประเทศไทยช่วงที่ผ่านมา

โดยมองว่าปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ต้องแก้ที่ต้นเหตุ คือ การออกกฎหมาย โดยทราบว่าเคยมีการเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อากาศสะอาด พ.ศ. ….

  • พรรคชาติไทยพัฒนา

นายวราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา เป็นประธานการประชุมใหญ่สามัญ ครั้งที่ 1 / 2566 เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2566 และมีการระบุถึงเป้าหมายของพรรคในการเลือกตั้ง 2566

โดยมีแนวคิด Sustainable Country for all Gens : ประเทศที่ยั่งยืนพร้อมลูกหลานไทย เป็นเป้าหมายของพรรค โดยใช้ กรีน (Green) หรือ สิ่งแวดล้อม เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนประเทศ

นอกจากนี้ นายวราวุธ ยังมีการให้สัมภาษณ์ รายการ “คนในข่าว” ทาง FM100.5 เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2566

ระบุถึงนโยบายการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ว่า ขณะนี้รัฐบาล มีแนวทางเร่งสร้างระบบรถไฟฟ้า ส่งเสริมใช้รถสาธารณะ เพื่อให้ใช้รถส่วนตัวน้อยลง เพราะปัญหาฝุ่น ส่วนใหญ่มาจากการใช้รถ ซึ่งตนเองถ้าได้มีโอกาสทำงานต่อเนื่อง จะผลักดันในเรื่องนี้เช่นกัน

ขณะที่เว็บไซต์ของพรรคมีการประกาศนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ระบุว่าการจะก้าวไปสู่ “ประเทศที่ยั่งยืน เพื่อลูกหลานไทย” มีองค์ประกอบ 9 ภารกิจ ประกอบด้วย

1. เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) : การสร้างเศรษฐกิจสีเขียวเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของประเทศในอนาคต และทำให้ประเทศไทยเป็นที่ยอมรับ และเติบโตพร้อมกับความยั่งยืนของโลก

2. พลังงานสะอาด (Clean Energy) : พัฒนานวัตกรรมพลังงานสะอาด เป็นพลังงานหลักของประเทศ ภายในปี ค.ศ. 2030

3. เมืองสีเขียว (Green City) : การพัฒนาทุกจังหวัดให้น่าอยู่ น่าเที่ยว ประชาชนมีความสุขทั้งกายและใจ และมีสวนสาธารณะที่มีคุณภาพทั่วทั้งประเทศ

 4. สิ่งแวดล้อมสีเขียว (Green Environment) : การพัฒนาให้ประเทศไทยมีสภาพแวดล้อม และสภาพอากาศที่ดี มีป่าไม้ แหล่งน้ำอุดมสมบูรณ์

5. ท่องเที่ยวยั่งยืน (Sustainable Tourism) : พัฒนาประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของโลกด้านการท่องเที่ยวยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการดูแลสภาพแวดล้อม และการท่องเที่ยวที่มีมูลค่าเพิ่ม เช่น การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็นต้น

6. อาหารแห่งอนาคต (Future Food) : พัฒนาประเทศไทย เป็นศูนย์กลางอาหารคุณภาพ และอาหารสุขภาพ ในราคาที่จับต้องได้

7. เกษตรสีเขียว (Green Agriculture) : ยกระดับเกษตรกรด้วยนวัตกรรมสีเขียว พัฒนาผลผลิตที่ดีควบคู่ความยั่งยืนของชุมชนและสภาพแวดล้อม รวมถึงถ่ายทอดภูมิปัญญาผ่านปราชญ์ชุมชน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และลดต้นทุนการเกษตร

 8. สาธารณสุขเชิงป้องกัน (Preventive Public Health) : สนับสนุนให้ประชาชนดูแลสุขภาพร่างกาย และจิตใจให้แข็งแรง ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข รวมถึงมีโปรแกรมรางวัลสำหรับผู้ที่ไม่เจ็บ ไม่ป่วย เพื่อจูงใจให้คนไทยหันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น

9. การเมืองสร้างสรรค์ (Constructive Politics) : ทำการเมืองสร้างสรรค์ ร่วมมือกันทำงาน ตรวจสอบ ถ่วงดุล และไม่ขัดแย้ง เพื่อความก้าวหน้าของประเทศ

  • พรรคชาติพัฒนากล้า

นโยบาย “พันธบัตรป่าไม้” ของพรรคชาติพัฒนากล้าในเฉดสีเขียว ซึ่งเป็น 1 ในยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเฉดสี เพื่อเป็นเครื่องมือใช้ในการส่งเสริมการปลูกป่า แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2566 นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า พร้อมด้วยทีมงาน เดินทางไปยังอำเภอบางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เข้าพบ นายศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และ ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ที่ปรึกษานโยบายทรัพยากรธรรมชาติและการลดก๊าซเรือนกระจก TDRI และ อนุกรรมการพันธบัตรป่าไม้ เพื่อหารือถึงแนวคิดการใช้ “พันธบัตรป่าไม้”

นายกรณ์ กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่เราควรเอาจริงเอาจังกับการเพิ่มพื้นที่ป่า เพราะจะส่งผลโดยตรงในเรื่องของการบริหารจัดการแหล่งน้ำ การลดภาวะโลกร้อน การไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทยตามเป้าหมายที่รัฐบาลประกาศไว้ต่อหลายประเทศทั่วโลก

ซึ่งถ้าเราทำได้ดีก็จะสามารถได้พื้นที่กลับคืนมาจากการบุกรุกและแปลงสภาพป่าดั้งเดิมเป็นไร่ข้าวโพด ที่มีการใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลง และการเผาป่าจนเกิดมลพิษ ฝุ่น ควัน และ PM 2.5 ซึ่งเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า