ที่ประชุมรัฐสภา ยังลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีไม่ได้ ส.ส. และ ส.ว. ลุกขึ้นอภิปรายคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ส่วนใหญ่อภิปรายถึง “พล.อ.ประยุทธ์”
วันที่ 5 มิ.ย. การประชุมรัฐสภา เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ที่เริ่มต้นการประชุมมาตั้งแต่เวลา 11.00 น. ภายหลังสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ ถอนญัตติที่ให้ผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีแสดงวิสัยทัศน์ ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ไม่ต้องแสดงวิสัยทัศน์ในที่ประชุมรัฐสภา การประชุมได้เข้าสู่การอภิปรายคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของ ผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี
โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) สับเปลี่ยนลุกขึ้นอภิปราย สลับกับการประท้วง โดยเฉพาะเมื่อ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ และ นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. อภิปรายสนับสนุนเพื่อสมาชิกเลือก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ขณะที่ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ ส.ส.พรรคเพื่อไทย อภิปรายถึงความไม่เหมาะสม ในประเด็นที่มองคุณสมบัติของ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ
เวลา 15.56 น. นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.พรรคพลังธรรมใหม่ เสนอขอให้ปิดอภิปราย เพื่อดำเนินการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ขณะที่ นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ประท้วงและบอกว่า การอภิปรายอย่างน้อยต้อง 10 ชั่วโมง ในที่สุด นายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้ขอให้ นพ.ระวี ถอนญัตติดังกล่าว และเปิดให้สมาชิกอภิปรายกันต่ออีกอย่างน้อย 2 ชั่วโมง โดย นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมต่อไป