Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

“ขอให้ปล่อยตัวต้าร์มาเถอะ ไม่ว่าในสภาพไหน ขอให้เขาปลอดภัย หรือถ้าเป็นศพก็ขอให้ยืนยันมาว่าเขาเสียชีวิตแล้ว ไม่งั้นเราและครอบครัวจะไม่สามารถจะใช้ชีวิตต่อได้ ไม่รู้ว่าจะต้องตามหาถึงวันไหน ผู้ลี้ภัยที่หายไป 8 รายก่อนหน้านี้ก็เห็นศพแค่ 2 ราย ที่เหลือไม่ทราบชะตากรรม ถ้าวันเฉลิมมีชีวิตอยู่ก็ปล่อยออกมา ถ้าตายก็ขอให้บอกว่าเขาเสียชีวิตแล้ว”

เสียงของพี่สาวตาร์-วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ในงาน “หนึ่งเดือนกับการแสวงหาความจริง #saveวันเฉลิม” วันที่ 4 กรกฎาคม 2563 ที่สวนครูองุ่น ซอยทองหล่อ จัดขึ้นเพื่อย้ำเตือนว่าเป็นเวลาครบรอบ 1 เดือนแล้ว นับตั้งแต่วันที่เขาหายไปอย่างไร้วี่แวว หลังถูกลักพาตัวกลางกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา

หนึ่งเดือนที่ผ่านมาสิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาววันเฉลิมไม่ได้อยู่นิ่งเฉย มีการยื่นเอกสารทั้งทางไทยและกัมพูชา

ส่วนของประเทศไทยอัยการสูงสุดให้ความเห็นว่าต้องรอให้ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษก่อน ทำให้วันที่ 25 มิ.ย.เธอไปยังดีเอสไอเพื่อยื่นเรื่อง ขณะนี้อยู่ระหว่างรอการพิจารณาว่าจะรับคดีไหมเป็นเวลา 15 วัน สิตานันยอมรับว่าถ้าดีเอสไอไม่รับเป็นคดีพิเศษ เธอก็อาจไปต่อได้ยาก หนทางที่จะตามหาน้องชายก็จะริบหรี่ลงไป

วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์หายไปจากกลางกรุงพนมเปญวันที่ 4 มิถุนายน 2563 พี่สาวเล่าว่าวันเฉลิมเป็นคนไม่มีพิษมีภัยและไม่มีปัญหาเรื่องธุรกิจกับใคร

ส่วนของกัมพูชาวมีการแต่งตั้งทนายไปแจ้งความกับทางการกัมพูชาแล้ว ที่ล่าช้าเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เธอไม่สามารถเดินทางไปได้เอง ครั้นจะมองหาทนายในกัมพูชาเพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนก็ทำได้ยากเนื่องจากพอทราบว่าเรื่องที่จะให้ดำเนินการเป็นเรื่องของวันเฉลิมก็พากันปฏิเสธ กว่าจะได้ทนายก็เข้าสัปดาห์ที่ 4 ของการหายไป

“เราพยายามทุกทางเพื่อตามหาน้อง อยากได้คำตอบว่าเกิดอะไรขึ้น ใครทำอะไรกับวันเฉลิม … ตอนนี้ผ่านมา 30 วันแล้ว ความหวังริบหรี่มาก แต่ภาวนาขอให้เขามีชีวิตรอด” เธอกล่าว “ไม่ว่าสภาพไหนเราอยากได้เขากลับมาอย่างปลอดภัย เราอยากได้คำยืนยัน ถ้าเขาเสียชีวิตเราก็อยากรู้ เราอยากเอาเขากลับมาทำพิธีทางศาสนา ไม่ว่าอยู่ที่ไหนเราก็อยากพาเขากลับบ้าน”

ชีวิตเปลือยเปล่าไร้รัฐของผู้ลี้ภัยไทยในอาเซียน

สิตานัน ยอมรับว่าก่อนหน้านี้เธอไม่เคยรู้ว่าที่ผ่านมามีผู้ลี้ภัยกี่รายที่ถูกอุ้มหาย เมื่อเกิดเหตุกับวันเฉลิมเธอจึงย้อนกลับไปดูกรณีของผู้ลี้ภัยการเมือง 8 คนที่สูญหายและสะเทือนใจว่ามีครอบครัวผู้ลี้ภัยคนอื่นๆ ที่เผชิญชะตากรรมเช่นเธอ ขณะที่ยังมีผู้ลี้ภัยในประเทศเพื่อนบ้านอีกมากที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับ UNHCR เพราะติดปัญหาเรื่องข้อกฎหมาย เธอไม่อยากให้ชีวิตของวันเฉลิมสูญเปล่า จึงอยากช่วยเรียกร้องสิทธิให้ผู้ลี้ภัยคนอื่นๆ และอยากให้คดีของคนสูญหายรายอื่นได้รับความยุติธรรมเช่นกัน

ข้าง ๆ สิตานันท์ในวันนั้นคือ วสุ วรรลยางกูร ลูกชายวัฒน์ วรรลยางกูร ผู้ลี้ภัยไทยที่ปัจจุบันพักอยู่ในประเทศฝรั่งเศส ก่อนหน้านี้วัฒน์พำนักอยู่ที่ลาวก่อนจะพบว่าสถานการณ์ไม่ปลอดภัยพอสำหรับเขาอีกต่อไป จงตัดสินใจเดินทางต่อไปยังประเทศที่ 3 ที่ปลอดภัยกว่า

วสุ วรรลยางกูร ลูกชายวัฒน์ วรรลยางกูร ผู้ลี้ภัยไทยในฝรั่งเศส

วสุเล่าว่าสาเหตุที่ผู้ลี้ภัยมักเดินทางไปยังประเทศเพื่อนบ้านเพราะสะดวกและปลอดภัย ส่วนใหญ่มักอยู่ที่นั่นจนกว่าจะได้สถานะผู้ลี้ภัยเพื่อเดินทางไปยังประเทศที่ 3 “สำหรับผู้ลี้ภัย เมื่อจำเป็นต้องออกจากประเทศเขาจะเลือกไปที่ไหนก็ได้ที่สะดวกและปลอดภัย จึงเดินทางไปประเทศเพื่อนบ้าน จากนั้นการขอสถานะผู้ลี้ภัยก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ทำให้ต้องอยู่อย่างยากลำบาก”

การอยู่อย่างไม่มีสถานะในช่วงแรกนับว่าอันตรายอย่างยิ่ง เนื่องจากหากเกิดภยันตรายใดก็ไม่มีรัฐใดรับคุ้มครองความเป็นมนุษย์ของคนหนึ่งคนเลย

“เมื่อมีเหตุการณ์ไม่ปลอดภัยถึงชีวิตก็ยากที่จะติดตามและหาคนรับผิดชอบ เช่นที่มีผู้ลี้ภัยถูกอุ้มหายในกรณีสุรชัย แซ่ด่าน กับภูชนะและกาสะลองที่พบศพในแม่น้ำโขงเป็นหลักฐานยืนยันว่ามีการอุ้มหายและฆาตกรรมผู้ลี้ภัย ทำให้เราตระหนักว่าถ้าอยู่ประเทศเพื่อนบ้านที่มีสถานะล่องหนไม่มีการรับรองอาจเจอชะตากรรมเช่นนั้น ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านก็ไม่สามารถให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยได้มากนักเพราะจะกระทบต่อการเมืองระหว่างประเทศ” วสุกล่าว

สิตานันท์เผยว่าเธอก็พูดกับน้องชายบ่อยครั้งว่าไม่อยากให้อยู่ในประเทศเพื่อนบ้านแล้ว อยากให้เร่งหาประเทศที่ 3 เพื่อความปลอดภัย

“ช่วงสองปีหลังมานี้จะพูดกับน้องเสมอว่าถ้าไม่ลี้ภัยไปยุโรปก็อยู่ทำธุรกิจที่กัมพูชา ทำมาหากินไม่ต้องไปยุ่งกับใคร การที่วันเฉลิมต้องไปอยู่กัมพูชาทำให้ชีวิตเขาเสียโอกาส ทั้งที่เขาสามารถทำอะไรได้เยอะ เขาเอาชีวิตตัวเองไปแลกกับความยุติธรรมและประชาธิปไตย เราบอกเขาเสมอ แต่ไม่คิดว่าจะมีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น”

ผู้ลี้ภัยไทยในประเทศเพื่อนบ้านพบว่าสถานการณ์ของพวกเขาอันตรายมากขึ้นหลังการเสียชีวิตของสุรชัย แซ่ด่าน กับภูชนะและกาสะลองในปี 2560 ปีต่อมาสยาม ธีรวุฒิและอีกหลาย ๆ คนก็หายตัวไปอีก

“การลี้ภัยอยู่ประเทศในอาเซียนไม่มีที่ไหนปลอดภัย การนอนฝันร้ายไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับผู้ลี้ภัยเมื่อเราไม่รู้ว่าจะมีชีวิตอยู่ได้ถึงวันไหน ถ้ามีช่องทางให้ผู้ลี้ภัยได้รับการรับรองและได้สถานะจะช่วยให้ความรู้สึกไม่ปลอดภัยของเขาบรรเทาลงไปได้บ้าง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ยังกระทบถึงครอบครัวของผู้ลี้ภัย ทั้งความอึดอัดกังวลถึงความปลอดภัยของคนที่เรารัก และการตื่นมาเจอข่าวว่าคนที่เรารักไม่อยู่แล้ว”

จาก วัฒน์ วรรลยางกูร ถึง วันเฉลิม

วัฒน์ วรรลยางกูรเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ลี้ภัยไทยที่เร่งหาประเทศที่ 3 ได้สำเร็จ ขณะนี้เขาอาศัยอยู่ในประเทศฝรั่งเศส แต่ความฝันของผู้ลี้ภัยทุกคนคือการกลับบ้านเกิดเมืองนอน

“พ่อผมยังโชคดีที่เดินทางไปประเทศที่สามแล้ว แต่ที่ไหนก็ไม่เหมือนบ้านเรา ความไกลบ้านทำให้เรากังวล หวาดกลัว ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะได้กลับมาบ้านอีก ขณะที่ครอบครัวของผู้ลี้ภัยที่ยังอยู่ในประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นบ้านของเรา แต่มีสักวันไหมที่ประเทศนี้ให้ความเป็นบ้านแก่เราได้จริงๆ”

วสุ เล่าว่าเมื่อวัฒน์รู้ว่าวันเฉลิมหายไปก็ห่วงใยมาก หนึ่งสัปดาห์ก่อนการหายตัวไปวัฒน์ยังแนะนำให้วันเฉลิมย้ายไปประเทศที่ 3 เพราะกังวลในสถานการณ์และมีความเป็นห่วงเป็นใยกัน โดยก่อนหน้านี้วัฒน์เองก็ไม่คิดว่าวันเฉลิมจะตกเป็นเป้าเพราะเป็นคนอายุไม่มากที่เคลื่อนไหวอย่างสันติวิธี ไม่ใช้ความรุนแรง แต่วัฒน์มองว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสร้างความหวาดกลัวให้คนรุ่นใหม่ในประเทศนี้ เมื่อใครบางคนหายไปด้วยอำนาจที่มองไม่เห็น

“พ่อเชื่อว่าเหตุการณ์แบบนี้จะทำให้คนกล้าออกมาพูดถึงสิทธิที่จะอยู่ประเทศนี้อย่างภาคภูมิใจ อยากให้เปลี่ยนจากความหวาดกลัวเป็นความกล้าที่จะออกมาพูดว่าไม่ควรมีใครถูกกระทำเช่นนี้จากสิ่งที่เขาพูดและทำ กำลังใจที่ทุกคนจะมอบให้ผู้ลี้ภัยและครอบครัวของผู้ลี้ภัยได้ดีที่สุดคือการช่วยกันตามหาว่าวันเฉลิมอยู่ที่ไหนและใครเป็นคนทำให้หายไป เรื่องที่เกิดขึ้นกับวันเฉลิมไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เกิดขึ้นกับใครก็ได้ที่มีความเห็นต่างจากคนที่ทำให้เกิดเรื่องแบบนี้ เราต้องออกมาตั้งคำถาม ทำให้ความจริงปรากฏ อย่างน้อยวันที่เราพบความจริงจะคลายปมในใจให้เราหายใจออกในประเทศนี้ได้บ้าง” วสุกล่าว

“ขอบคุณ” แถลงการณ์จากครอบครัว หลังเวลาผ่านไปครบ 1 เดือน

วันเดียวกันครอบครัววันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 2 แก่ผู้สื่อข่าว เนื้อหาแถลงการณ์ส่วนแรกเป็นการขอบคุณภาคส่วนต่าง ๆ ที่มีส่วนร่วมในการผลักดันประเด็นวันเฉลิม ตั้งแต่ “รัฐบาลไทย” และ “สํานักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ ” ไปจนถึง “สื่อสังคมออนไลน์”

“เนื่องในโอกาสครบรอบหนึ่งเดือนการหายตัวไปของวันเฉลิม ในนามของครอบครัวนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ เราขอแสดงความขอบคุณต่อรัฐบาลไทย คณะกรรมาธิการ การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร สำนักงานอัยการสูงสุด กรมสอบสวนคดีพิเศษ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ได้ช่วยดำเนินการทางกฎหมายและตามหานายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์พวกเราขอขอบคุณพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยที่ได้ออกแถลงการณ์ รวมถึงการนำเสนอเรื่องดังกล่าวในที่ประชุมรัฐสภาไทยพวกเราขอแสดงความขอบคุณอย่างสูงต่อรัฐสภายุโรป ที่ได้แสดงความเป็นห่วงเป็นใยต่อชะตากรรมของนายวันเฉลิม โดยออกแถลงการณ์เพื่อให้ไทยและกัมพูชาดำเนินการสอบสวนกรณีนี้อย่างจริงจังพวกเราขอแสดงความขอบคุณอย่างสูงต่อสํานักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (OHCHR) คณะกรรมาธิการ Enforced Disappearances (CED) องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์องค์กร FORSEA สมาชิกรัฐสภาอาเซียน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล รวมไปถึงศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่ได้ดำเนินการทางกฎหมายทุกด้านและช่วยเหลือในการตามหานายวันเฉลิมพวกเราขอแสดงความขอบคุณต่อสื่อสารมวลชนทุกแขนงที่ให้ความเมตตาช่วยกันสื่อสารและนำเสนอข้อมูล ทำให้เรื่องราวของนายวันเฉลิมได้ถูกเผยแพร่ต่อสาธารณะด้วยข้อเท็จจริง ท้ายที่สุดครอบครัวของเรา ขอขอบคุณเพื่อนวันเฉลิมทุกคน นิสิต นักศึกษา ประชาชนที่ร่วมกันออกมาเรียกร้อง รวมไปถึงทุกท่านที่แสดงความเป็นห่วงเป็นใยผ่านช่องทางต่างๆ รวมทั้งบนสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งเราเอ่ยนามได้ไม่หมด”

แถลงการณ์กล่าวว่าความช่วยเหลือที่ถูกหยิบยื่นเข้ามาตลอดหนึ่งเดือนทำให้ครอบครัวรู้ว่า “วันเฉลิมนั้นเป็นที่รักของใครต่อใครหลายๆ คน” และ “เรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของวันเฉลิมเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับทุกคน … การอุ้มหายสร้างความหวาดกลัวให้แก่ทุกคน เหตุการณ์ดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ เมื่อไหร่ก็ได้และที่ใดก็ได้” ซึ่ง “ทางครอบครัวหวังว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับวันเฉลิมจะเป็นการอุ้มหายครั้งสุดท้าย”

ครอบครัวยังกล่าวถึงความคาดหวังที่มีต่อทางการกัมพูชา “เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทางการกัมพูชาจะให้ความร่วมมือด้วยดีในการสอบสวนอย่างจริงจัง เพื่อนำตัวนายวันเฉลิมกลับมาอย่างปลอดภัย และทำความจริงให้ปรากฏ ว่าอะไรคือมูลเหตุของการอุ้มหาย ใครเป็นผู้กระทำ และนำตัวคนผิดมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม”

สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาววันเฉลิม จุดเทียนแห่งความหวังในการครบรอบ 30 วันที่น้องชายหายไป ในงาน “หนึ่งเดือนกับการแสวงหาความจริง #saveวันเฉลิม” จัดโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนสชันแนล ประเทศไทย 4 กรกฎาคม 2563

“อย่างไรก็ดี ทางครอบครัวของเรายังตั้งความหวังว่าผู้ก่อเหตุ รวมถึงผู้สั่งการจะมีความเมตตาต่อวันเฉลิม และปล่อยตัวเขาให้กลับคืนสู่อ้อมอกคนในครอบครัวและคนที่รักเขาทางครอบครัวขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทย องค์กรนานาชาติ และทุกคนทุกฝ่ายร่วมมือร่วมใจดำเนินการตามหาตัววันเฉลิมอย่างไม่ลดละ และทำความจริงให้ปรากฏ พวกเราขอเป็นกำลังใจ และเป็นแนวร่วมให้กับทุกคนทุกฝ่ายที่เรียกร้องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรม และขอให้การเรียกร้องด้านสิทธิมนุษยชนครั้งนี้ที่เกิดขึ้นส่งผลให้เกิดหลักประกันไม่ให้เกิดการอุ้มหายขึ้นอีกขอแสดงความเคารพอย่างสูงสุด”

อ่าน แถลงการณ์ฉบับแรก

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย : กัมพูชามีภาระตามกฎหมายระหว่างประเทศ ต้องสืบสวนด่วน โปร่งใส แต่ผู้กระทำก็ต้องได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม-ไม่ใช้โทษประหาร

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ออกแถลงปฏิบัติการด่วนจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย  เรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีฮุนเซน แห่งประเทศกัมพูชาว่าขอเรียกร้องให้ดำเนินงานตามมาตรการทั้งปวงที่จำเป็น

– ประกันให้มีการสอบสวนอย่างมีประสิทธิภาพ เร่งด่วน รอบด้าน และโปร่งใสต่อข้อกล่าวหาว่ามีการลักพาตัววันเฉลิม และแจ้งให้ครอบครัวของเขาทราบถึงการดำเนินการทั้งหมดเพื่อพิสูจน์ทราบว่าเขาอยู่ที่ไหน 

– ให้นำตัวผู้ต้องสงสัยว่ามีส่วนร่วมในการก่ออาชญากรรมครั้งนี้ เข้าสู่การพิจารณาคดีที่เป็นธรรม โดยศาลพลเรือนแบบปรกติ และไม่ให้ใช้โทษประหารกับพวกเขา

– ให้ปฏิบัติตามข้อกำหนดในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลสูญหาย ซึ่งกัมพูชาเป็นรัฐภาคีในอนุสัญญาฯดังกล่าว และต้องไม่ส่งตัววันเฉลิมกลับระเทศไทย เพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีของท่านที่จะต้องไม่เข้าร่วมในการบังคับส่งกลับบุคคลไปยังสถานที่ที่มีความเสี่ยงว่าจะถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า