SHARE

คัดลอกแล้ว

หากให้พูดชื่อคนไทยในโลกของแอนิเมชั่น ชื่อของ ฝน วีรสุนทร คงจะเป็นชื่อแรก ๆ ที่ขึ้นมาในหัวอย่างไม่ต้องสงสัย ในฐานะผู้ที่อยู่เบื้องหลังภาพยนตร์แอนิเมชั่นของดิสนีย์หลายเรื่องและรับหน้าที่เป็น Head of Story ของ Raya and the Last Dragon หลายคนอาจจะจำได้จากบทสัมภาษณ์ก่อน ๆ ว่าเธอผันตัวเองจากการเป็นนักศึกษาแพทย์ไปสู่การเรียนทำแอนิเมชั่น และคุณฝนก็เผยว่าถ้าหากให้เลือกว่ามีตัวละครตัวไหนที่เธอเคยวาดที่ความใกล้เคียงกับชีวิตของเธอเองก็คงจะเป็น จูดี้ ฮอปส์ กระต่ายน้อยจากแอนิเมชั่นเรื่อง Zootopia

“เรารู้สึกว่าเข้าใจเขา ว่าเขาอยากจะออกจากบ้าน ตอนนั้นที่ทำเวอร์ชั่นแรก ๆ เขาอยู่ในเมืองที่มีแต่กระต่าย อยู่กับครอบครัวใหญ่ เนื้อเรื่องเวอร์ชั่นแรก ๆ มีเรื่องครอบครัวของฮอปส์เยอะมาก เราอินมากเรารู้สึกว่า โอ้ เราเข้าใจเธอ ไปตามความฝันนะกระต่ายน้อย (หัวเราะ)”

RAYA AND THE LAST DRAGON – (Pictured) Fawn Veerasunthorn. Photo by Mat Fretschel/Disney. ©2022 Disney. All Rights Reserved.

และกระต่ายน้อยตัวนั้นก็เดินทางจากครอบครัวใหญ่ที่ประเทศไทยมาศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกาซึ่งคุณฝนก็เล่าชีวิตหลังจากเรียนจบ ก่อนที่จะทำงานที่ดิสนีย์ให้เราฟังด้วยรอยยิ้ม

คือพี่มาเรียนปริญญาตรีที่นี่ ในสาขา time-based media study ซึ่งสาขานี้ก็จะไปทำงานด้าน วิดีโอด้าน interactive หรือไปทำด้านอนิเมชั่น ได้ ก็ตอนจบมารู้สึกว่าพอร์ตโฟลิโอเรายังไม่ดี สมัครไปทุกที่ก็ไม่ได้ แต่สุดท้ายได้งานที่เป็น interactive design ที่โอไฮโอเป็นงานแรก

เราเป็นคนต่างชาติการที่จะได้วีซ่าทำงานครั้งแรก สิ่งสำคัญคือจะต้องมีคนจ้างมีคนสปอนเซอร์วีซ่า ถึงจะอยู่ทำงานที่นี่ได้ ตอนนั้นก็คือไม่เลือกงานมาก ถึงจะไม่ได้เป็นความฝันสูงสุดก็ไม่เป็นไร ก็จะบอกน้อง ๆ ทุกคนที่จะมาทำงานด้านนี้ว่าอย่าเลือกมาก ไม่เป็นไร ถึงจะไม่ได้ไปทำพิกซาร์ ตั้งแต่ตอนเรียนจบไม่เป็นไร  (หัวเราะ) ถ้าเกิดว่าได้ก้าวขาเข้าไปแล้วหนึ่งก้าว มันสำคัญที่ว่าเราได้เริ่มทำงานในวงการ ถึงจะไม่ได้ตำแหน่งที่อยากได้จริง ๆ ก็ไม่เป็นไร เราเริ่มที่ไหนก็ได้

ทุก ๆ ปีจะเป็นคนรวบรวมพอร์ตโฟลิโอของตัวเอง ถึงจะไม่ได้สมัครงานก็เถอะ คืออยากจะรู้ว่าในแต่ละปี งานขอบเรามีความเติบโตอย่างไรบ้าง มันเหมือนว่าเราจะได้รู้ว่าจะพัฒนาตัวเองทางด้านไหนบ้าง พอทำพอร์ตโฟลิโอทุก ๆ ปีเสร็จก็จะสมัครงานไปด้วย ถึงแม้จะยังมีงานทำอยู่

คุณฝนเผยว่าเธอย้ายงานเกือบทุกปีในช่วงแรกของการทำงานซึ่งเป็นปรกติของวงการแอนิเมชั่น ถึงแม้มันจะจากสักนิดสำหรับชาวต่างชาติเพราะต้องทำเอกสารใหม่สำหรับย้ายงานทุกครั้ง แต่การเปลี่ยนงานนั้นไม่ใช่เรื่องยากนักเพราะด้วยความที่คนในวงการรู้จักกันทำให้มีคนจะชักชวนไปร่วมงานด้วยอยู่เสมอ ทำให้เธอได้เปลี่ยนบริษัท เปลี่ยนตำแหน่ง และค่อย ๆ ก้าวเข้าใกล้ความฝันของตัวเองไปเรื่อย ๆ

ก็ย้ายงานมาเรื่อย ๆ จากตอนแรกที่ทำ interactive design ก็เริ่มทำคาแรคเตอร์แอนิเมชั่นที่นิวยอร์ก ตอนนั้นก็ได้เจอเพื่อน ได้เจอวงการที่เปิดกว้างมากขึ้น มีตำแหน่งหลายหลาย ตอนเรียนอยู่ก็นึกว่าทุกคนจะต้องไปทำงานเป็นแอนิเมเตอร์อย่างเดียวซึ่งก็คือไม่ใช่ ในวงการแอนิเมชั่นมีตั้งหลายแผนก มีทั้ง สตอรี่ แอนิเมชั่น เลย์เอาท์ ไลท์ติ้ง อีดิติง ตอนนั้นก็ไปทำงานที่นิวยอร์กไปทำเป็นแอนิเมเตอร์ ซึ่งก็ทำให้ได้ย้ายจากที่นิวยอร์กมาที่ แคลิฟอร์เนียมาเป็นในตำแหน่งแอนิเมเตอร์เหมือนเดิมในตอนหลัง แล้วก็ได้เลื่อนขั้นเป็นผู้กำกับทางแอนิเมชั่น เป็นคาแรคเตอร์อนิเมชั่นไดเรกเตอร์ พอมาอยู่ แอลเอก็รู้สึกว่า วงการอนิเมชั่น ที่ ลอสแองเจลิสมันกว้างที่สุดเท่าที่เคยเห็นมาแล้ว ตอนอยู่โอไฮโอนี่คือเล็กนิดเดียว พอไปอยู่นิวยอร์กก็เพิ่มมาอีกนิดนึง มี Blue Sky มี Commercial House พอมาอยู่ที่นี่ บ้านนี่ก็อยู่ใกล้ ๆ  Cartoon Network, Nickelodeon, Disney, Warner Brothers ก็คืออยู่ท่ามกลางวงการแอนิเมชั่น

เราได้ทำสตอรี่บอร์ดอย่างจริงจังที่ลอสแองเจลิส คือเปลี่ยนจากการเป็นแอนิเมเตอร์มาเป็นสตอรี่บอร์ดอาร์ตติส ตอนนั้นทำทีวีโชว์ พอจบโชว์ พอบจบซีซั่นหนึ่งก็หางานใหม่ ย้ายโชว์ไปเรื่อย ๆ ซึ่งระหว่างนั้นเนี่ยบ้านก็อยู่ใกล้ดิสนีย์มาก (หัวเราะ) ขับรถก็มองเห็นตึกที่เป็นรูป sorcerer hat (หมวกพ่อมด)  ซึ่งถ้าไม่ได้ทำงานที่ดิสนีย์ก็คงเสียใจนิดนึง แต่ก็รู้สึกว่ามันคงจะยาก(หัวเราะ) แต่อย่างที่บอกตอนนั้นก็คือทำพอร์ตโฟลิโอให้ตัวเองในทุก ๆ ปี เพราะรู้สึกว่าชอบ พอสิ้นปีก็รู้สึกว่าได้เรียนรู้อะไรใหม่ ๆ นะ ปีหน้าอยากจะโฟกัสเรื่องนี้ แล้วเราก็สมัครสามครั้งกว่าจะได้มาทำที่ ดิสนีย์

การวาดแอนิเมชั่นที่เป็นโชว์กับภาพยนตร์มีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง

การวาดแอนิเมชั่นสำหรับทีวี ตอนนึงจะยาวประมาณ 11 นาที ซึ่งเราก็จะจัดการกับสตอรี่ที่สั้นกว่า ส่วนหนัง 90 นาที แล้ว 90 นาที เมื่อเทียบกับทีวีแล้ว เรามีเวลาทำงานมากกว่าอีก คือมีเวลาทำ 3 ปี เป็นอย่างน้อยต่อหนังหนึ่งเรื่อง กว่าที่จะมาเป็นหนังเรื่องหนึ่งที่ทุกคนดู ยกตัวอย่างเช่นฉากหนึ่งใน Moana ที่เป็นเป็น village song ที่เล่าเรื่องตั้งแต่โมอานาตัวเล็ก ๆ จนโตเป็นสาวก็ทำอยู่ประมาณ 9 เดือน ในตอนนั้น เริ่มท้อง (หัวเราะ) แล้วพอเสร็จส่งเข้าโปรดัคชั่นส์แล้วขอลาคลอดพอดี เคยนับไว้อยู่เหมือนกันว่าส่งไปเกือบร้อยเวอร์ชั่น มันเป็นการดำเนินการที่ต่างกัน ทีวีทำประมาณสองอาทิตย์ สองรอบก็เสร็จแล้ว

จากความพยายามหลายครั้งกว่าจะได้มาเริ่มงานเป็น Story Artist ของ Frozen คุณฝนเล่าว่าเธอยังจำความรู้สึกแรกของการวาดสตอรี่บอร์ดแรกที่ดิสนีย์ได้

ตอนนั้นรู้สึกกดดัน รู้สึกเครียด (หัวเราะ) เพราะทุกคนรู้จักกันมาก่อนแล้ว เราทำงานกับคนที่อยู่ที่ดิสนีย์มาแล้ว 20 ปี หรืออย่างคนที่เด็ก ๆ เขาก็บอกว่าทำงานมาแล้ว 10 ปี แล้วเราก็เพิ่งเริ่ม ถึงจะทำมาหลายที่ แต่ก็รู้สึกว่าไม่เคยอยู่ที่ไหนเกินปีนึง ฉะนั้นคนที่นี่เขาก็ทำงานกันมานาน เขาก็รู้จักกันมาหมดแล้ว

พอเราได้สคริปต์มาเราก็ไปวาดที่โต๊ะ แล้วต้องเอามาเสนองาน ซึ่งภาษาอังกฤษก็เป็นภาษาที่สองของเรา(หัวเราะ) เราก็รู้สึกไม่มั่นใจว่าเวลา pitch งานจะต้องทำเสียง ต้องแสดงรึเปล่านะ ไม่เข้าใจว่าจะต้องทำอย่างไร (หัวเราะ) จะแสดงเป็นเอลซ่าจะทำยังไงดีหรือต้องแสดงเป็นอันนา โชคดีที่ถ้าเกิดเป็นเพลงเขาจะมีแทร็กให้ ถ้าต้องร้องคงจะเป็นเรื่อง (หัวเราะ)  คือแรก ๆ เราก็ยังไม่รู้ว่าความสามารถเราอยู่ในจุดไหนเทียบกับทุกคน คงเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนจะรู้สึกว่าเราคงจะอยู่จุดที่ตำ่ที่สุดของกลุ่มศิลปินที่นี่

เรารู้สึกว่าเราโตมาในความหลากหลายของคอนเทนท์ เพราะเราเป็นคนไทย เราเลยอ่านแต่การ์ตูนทั้งการ์ตูนฝรั่ง การ์ตูนญี่ปุ่น ดูหนังแบบจากทั่วโลก รู้สึกว่า sensibility ที่เรามีมันมีความเป็นดิสนีย์

“ความเป็นดิสนีย์มันไม่ได้เป็นความเจาะจงสำหรับคนที่เกิดและโตที่นี่โดยเฉพาะ มันมีอะไรที่เราอ่านการ์ตูนญี่ปุ่นมาแล้วใช้ได้ เพราะรู้สึกความรู้สึกของมิตรภาพ ความรู้สึกกลัว เป็นความรู้สึกที่เป็นสากล ความรู้สึกที่แบบว่าเอลซ่าเก็บความลับไว้บอกใครไม่ได้ เราก็เข้าใจความรู้สึกนี้นี่หว่า ไม่จำเป็นที่จะต้องเกิดมาพูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาพ่อภาษาแม่”

หลังจากนั้นพอมีการนำเสนองาน ทุกคนก็จะให้ความเห็น ซึ่งแรก ๆ เราก็จะไม่ค่อยกล้าให้ความเห็น แต่ก็ฟังแล้วรู้สึกว่าความเห็นที่เขาโอเคก็เหมือนความเห็นที่เรามี ก็เราเลยค่อย ๆ สร้างความมั่นใจจากจุดนั้น ว่าเราเข้าใจตัวละคร เข้าใจว่าทำยังไงให้เนื้อเรื่องมันดูสนุก ทำยังไงให้มันดูดราม่า เพราะถ้าเกิดชอบอ่านนิยายหรือชอบดูละครมันก็จะเป็นความรู้สึกเดียวกัน

เวลาเขียนสตอรี่บอร์ดต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง

เราเริ่มจากกระดาษเปล่า แล้วเราก็เริ่มวาด thumbnail เป็นช่อง ๆ ก็คือต้องดูว่าถ้าเซ็ตนี้เขาไม่มีดีไซน์มา เราก็ต้องดีไซน์เอง ตัวละครไม่ต้องวาดให้เป๊ะ ๆ ก็ได้ มันไม่จำเป็นเพราะเราลองเอาเนื้อเรื่องมาดูว่าคนดูที่เป็นเพื่อนร่วมงานเราคิดอย่างไรกับสิ่งนี้ คือก็ดูมุมกล้องดูแอคติ้ง ดูไทม์มิ่งของซีนแล้วก็หลาย ๆ อย่าง

แต่ก็จะคอยบอกน้อง ๆ ที่จะมาทำด้านนี้ว่าเราโฟกัสแค่สองอย่างคือ clarity (ความชัดเจน) กับ entertainment (ความบันเทิง) คือถ้าเกิดมันเคลียร์ ก็ไม่ต้องมาอธิบาย มันต้องอ่านได้เลยว่า เจ๊นี่มาถึงจุดนี้แล้ว เขากำลังรู้สึกเศร้าหรือกำลังรู้สึกตื่นเต้นว่ากำลังจะเข้าไปบอกอะไรซักอย่างกับน้องสาวเขา คือมันเป็นอะไรที่ต้องสื่อสารผ่านรูปวาดได้ในจุดนี้ โดยไม่ต้องไปยืนบอกเขาว่ารูปนี้คือรูปอะไร ควรจะรู้สึกยังไง

จากวันนั้นจนได้เป็น Head of Story ของ Raya and the Last Dragon ด้วยตำแหน่งที่ใหญ่ขึ้นมีอะไรที่คุณฝนเรียนรู้หรือมีประสบการณ์ที่จำได้ดีจากการทำงานครั้งนี้บ้างคะ

จุดเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดคือเราเปลี่ยนจากการ ทำงานกับตัวเองอยู่แค่คนเดียว ไปสู่การที่ดูว่าทีมเราทุกคนทำงาน ทุกคนทำแล้วประสบความสำเร็จไหม อาร์ตติสทุกคนรู้สึกว่าเขาชอบซีนที่เขาทำไหม มีจิตใจมุ่งมั่นกับมันรึเปล่า แทนที่จะเป็นห่วงตัวเองเรารู้สึกเป็นห่วงทีมอยากจะช่วยเหลือทีมงานของเรา

อีกอย่างที่เป็นจุดสำคัญ คือเราโตมาในสังคมที่ถ้าเกิดว่าเราไม่เห็นด้วยกับคนที่เป็นผู้ใหญ่กว่า ส่วนใหญ่เราจะไม่กล้าพูด รู้สึกว่าต้องนอบน้อม เถียงญาติไม่ได้อะไรประมาณนี้ แต่พอมาอยู่ที่นี่ ในตำแหน่งนี้มีอะไรเราก็ต้องพูด เราไม่ได้ปกป้องแค่ตัวเอง แต่เราปกป้องทีมงานของเรา คือมันไม่ใช่แค่การให้ความคิดเห็น แต่มันขยายความไปถึงการที่เรากล้าที่จะพูดเพื่อคนที่ไม่กล้าที่จะพูด เพราะคนที่ตำแหน่งน้อยกว่าเขาจะบอกว่าความเห็นของเรามันไม่จำเป็นไม่สำคัญหรอก เราก็จะบอกว่าไม่เป็นไร เราพูดให้ เพราะมันสำคัญ ขอบคุณเขาที่กล้ามาบอก แล้วการทำหนังที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมที่ไม่เป็นที่รู้จักสำหรับคนทั่วไป ความเห็นด้านนี้ยิ่งสำคัญมาก แล้วมันเป็นอะไรที่พูดยาก

ถ้าอย่างนั้นเวลาสร้างงานที่มีความใกล้ตัวอย่างเช่น รายาที่เอาวัฒนธรรมไทยและอาเซียนมาสร้างงานใหม่มีความกดดันอะไรบ้างไหมคะ

กดดันสิ (หัวเราะ) เพราะเราก็เป็นแค่คนไทยคนหนึ่ง เราไม่สามารถไปเป็นผู้แทน ไม่ใช่อย่างนางงามที่เป็นผู้แทนประเทศในการประกวด คือบางอย่างเราก็ต้องบอกว่าเราไม่รู้ แต่ก็ไม่เป็นไรเพราะเรามีกลุ่มคนที่จะสามารถเป็นผู้ช่วยได้ ซึ่งตรงนั้นก็ให้ความมั่นใจจุดหนึ่ง แต่สิ่งที่ชอบคือบางอย่างมันก็มาจากประสบการณ์ส่วนตัว อย่างทำอาหาร หรือความสัมพันธ์กับพ่อซึ่งเรารู้สึกว่าเรามีความเข้าใจ ถึงจะมีคนบอกว่าพ่อคนอาเชียไม่มีขี้เล่นแบบนี้หรอก ก็ไม่เป็นไรเพราะพ่อเราขี้เล่น เราก็มีความอุ่นใจทางด้านนี้ที่จะตัดสินใจโดยที่ไม่ต้องมาคิด โดยที่ไม่ต้องมาตั้งโพลว่าทุกคนคิดยังไง ในซีน ๆ หนึ่ง แต่ก็มีความเป็นห่วงว่าถ้าเกิดออกมาแล้วคนไทยดูแล้วแบบ…ไทยไหมเนี่ย? แต่อย่างน้อย คูมันตรา ก็เป็นเมืองในจินตนาการ ไม่ได้เป็นเมืองที่เจาะจงสำหรับประเทศใด ประเทศหนึ่ง

ในบรรดาผลตอบรับจากรายามีข้อความไหนที่รู้สึกว่าประทับใจมากเป็นพิเศษไหมคะ

ที่ดีที่สุดคือจากลูกสาวหนึ่งคนอายุ 5 ขวบ วันหนึ่งที่เดิน ๆ กันอยู่เขาก็บอกว่าเขาหน้าตาเหมือนรายา ผมดำ ตาดำ เราก็เห้ย! คือลูกสาวเขาจะชอบเอลซ่า ชอบเจ้าหญิง แล้วเขาก็ชอบรายาเพราะรู้สึกว่าเหมือนเขา พอเขามาเมืองไทย เขาบอกว่าเมืองไทยก็คือรายานี่เอง เราก็แบบ ไม่ใช่รายาได้แรงบันดาลใจมาจากเมืองไทย ก็หวังว่าคนดูที่อยู่เมืองไทย อาจจะได้จุดนี้กลับไปว่า ได้เห็นวัฒนธรรมของเรามีความสำคัญในเวทีระดับโลก อันนี้คือความหวังลึก ๆ ของในตอนทำ พี่อยากให้คนเห็นตัวเองในนั้น

จากการคลุกคลีอยู่กับแอนิเมชั่นตั้งแต่ยังเป็นผู้ชมจนมาเป็นผู้สร้าง ในมุมมองของคุณฝนวงการนี้มีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

คนที่ทำงานที่ดิสนีย์ ก็มีกลุ่มคนอายุน้อย ๆ เข้ามาทำงานเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แล้วคนกลุ่มนี้ก็จะชอบอนิเมะเหมือนกัน เราก็แบบ เห้ย อ่านอันนี้ดัวยหรอ แล้วก็ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงใน sensibility อีกอย่าง แทนที่จะเป็นการโฟกัสกับอะไรที่… ถ้าเกิดโตมากับการ์ตูนฝรั่ง หลาย ๆ อย่างจะเป็นแอคชั่น เป็นเรื่องราวใหญ่ ๆ แต่ถ้าเกิดโตมากับคอนเทนท์ของทางตะวันออกมันจะโฟกัสกับกลุ่มเพื่อน ชีวิตประจำวัน มีเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เอามาทำเป็นความน่าสนใจได้ ซึ่งอันนี้ก็เป็นอะไรที่เราคิดว่าเป็นอะไรที่น่าตื่นเต้นที่เริ่มเห็นในดิสนีย์

ทั่วโลกมีกระแสเรื่องเรียกร้องคอนเทนต์ ที่มีความหลากหลาย (diversity) และ มีความถูกต้องทางการเมือง (political correctness) มากขึ้น ประเด็นเหล่านี้สร้างข้อจำกัดหรือในอีกทางเป็นแรงบันดาลใจให้กับกับการสร้างงานไหมคะ

ส่วนตัวแล้วคิดว่ามันเป็นเรื่องน่าตื่นเต้น เพราะว่าเรามาจากวัฒนธรรมที่แตกต่างจากคนที่นี่ เราก็มีมุมมองของเรา ซึ่งเราก็เข้าใจว่าทุก ๆ คนที่มาจากหลายวัฒนธรรมก็มีมุมมองของเขาเอง และพอมาอยู่ในห้องเดียวกันแล้ว มันมีความเป็น dynamic มากกว่าอะไรที่เคยมีมาก่อน ซึ่งการเล่าเรื่องที่มีความหลากหลายมันก็มากับความรับผิดชอบในจุดหนึ่ง

ซึ่งหมายความว่า ถ้าเกิดจะทำเกี่ยวกับ Moana ไม่ใช่ว่าจะคิดอะไรแล้วก็ให้โมอานาทำตัวเหมือนกับเด็กที่เกิดที่ LA ได้ ซึ่งบางคนอาจจะเห็นเป็นข้อจำกัดแต่สำหรับพี่ พี่มองว่ามันเป็นเรื่องดี เป็นเรื่องที่ เราสามารถดูเป็นแรงบันดาลใจได้ ว่าถ้าตัวละครนี้มีความเจาะจงงานก็จะลงลึกไปเลย เพราะการทำงานเป็นนักเล่าเรื่องเราดูความเจาะจงเป็นพิเศษว่าคนนี้เป็นคนที่เติมโตมาแบบนี้ เหมือนอย่าง Turning Red ที่ตัวละครแม่เป็นคนที่มีความเฉะพาะเจาะจงอยู่ถึงจุดหนึ่ง ซึ่งเราโตมาในสังคมของชาวตะวันออกเราจะเข้าใจ และมันก็จะมากับกล่องเครื่องมือซึ่งสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนที่วาดรูปได้

เราเป็นคนชอบความเจาะจง ซึ่งแต่ละพล็อตที่ทำมา ถ้าเป็นอะไรที่เจาะจงไปที่เมือง อย่างคูมันตราที่เป็นวัฒนธรรมที่สร้างขึ้น ซึ่งจริง ๆ แล้วมันง่ายกว่าที่จะไปบอกว่าคูมันตราคือประเทศนี้นะ แต่เราไม่ทำ เราอยากจะทำอะไรที่แฟนตาซี มีพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับน้ำ นับถือมังกรในแง่ที่เป็นผู้ปกป้อง คือเรามีการสร้างเนื้อเรื่องของตัวเอง ทุกคนที่มาทำเรื่องนี้ก็จะได้บรีฟว่านี่คือเมืองคูมันตรา นี่คือไกด์บุ๊คว่าถ้าจะมาคูมันตราคือนี่อาหารการกิน มีอยู่จุดหนึ่งที่เราบอกว่ามีเวลาห้าเวลาต่อวันต่อหนึ่งวัน แต่เขาก็บอกกันว่ามันเยอะเกินไป (หัวเราะ)

ใครที่เล่นเกม Dungeons and Dragons นี่ทำอาชีพนี้ดี เพราะได้สร้างเมืองขึ้นมาจากศูนย์ ในเมืองเป็นยังไงบ้าง ผู้คนอยู่กันยังไง ใส่เสื้อผ้าอะไร ผ้าป่าน ผ้าฝ้าย ผ้าไหม สำหรับคูมันตราเป็นเขตร้อนชื้นก็เขาจะมีทรัพยากรยังไงบ้าง คือเราต้องเริ่มสร้างทุกอย่างใหม่ทั้งหมด

งานประกาศรางวัลอะคาเดมี่อวอร์ดส์ที่ผ่านมา Raya and the Last Dragon ได้เข้าชิงด้วย ความรู้สึกของคุณฝนเมื่อรู้ข่าวว่ารายาได้ชิงออสการ์ กับความรู้สึกของการที่ในตอนนั้น Frozen ต่างกันอย่างไร

ตอนทำ Frozen ที่เป็น Feature film เรื่องแรกที่ทำ ก็รู้สึกว่าเราไปมีส่วนร่วมเล็ก ๆ ไม่ได้มีส่วนร่วมใหญ่มากแต่ก็ตื่นเต้นกับบริษัทกับสตูดิโอ ตอนรายาเข้าชิงนี่เราแบบ เยส! สิ่งที่เราทำมาตั้ง 3-4 ปี กินนอนอยู่กับมันมานาน มีคนมีสนใจรู้จักแล้วก็ได้รับการตอบรับที่ดี ก็รู้สึกภูมิใจ ตอนได้ไปออสการ์ก็เลยคิดว่าจะใส่ชุดไทยไปงาน คือก็คุยกับคนเขียน ซึ่งเขาก็บอกว่าได้มีโอกาสไปเดินเวลาระดับโลกเอาวัฒนธรรมเรามาแสดงดีกว่า เราก็ว่าทำไมเราถึงไม่คิดถึงจุดนี้มาก่อน ปกติซื้อชุดราตรีธรรมดา แต่ครั้งนี้เราจะชุดประจำชาติเป็นชุดไทยประยุกต์ โชคดีว่ามีร้านที่ LA ที่ทำทางด้านนี้ก็ให้เขาเลือกให้ ถ้าครั้งหน้ามีงานใหญ่อีกก็คิดว่าจะไปร่วมมือกับร้านที่เมืองไทยดีกว่า (หัวเราะ)

ได้ทำเรื่องของเจ้าหญิงอาเซียนไปแล้ว ถ้าหากคุณฝนได้ทำแอนิเมชั่นสักเรื่องอยากให้เป็นเกี่ยวกับอะไรคะ

ส่วนตัวแล้วถ้าเกิดมีโอกาสก็อยากทำอะไรที่เกี่ยวกับความเชื่อ สิ่งลึกลับอะไรประมาณนี้ สิ่งที่มองไม่เห็น รู้สึกว่าคนส่วนใหญ่เขาจะไม่ค่อยคิดถึงเรื่องนี้ แบบถ้าเราเดินไปแล้วบอกว่ามีสิ่งที่มองไม่เห็นรอบ ๆ ตัวเรา (หัวเราะ) คนที่นี้คงแบบอะไรวะ

ช่วงนี้ประเทศไทยมีการพูดถึงการใช้ soft power อยู่บ่อย ๆ ในความคิดเห็นของคุณฝน อะไรคือความเป็นไทยที่แข็งแกร่งที่สุดที่จะนำไปใช้เพื่อสร้างภาพลักษณ์ของเราในเวทีโลกได้

พี่คิดว่าสำหรับเราคือการสร้างตัวละครที่ทุกคนสามารถเข้าถึง ตัวละครที่เขาได้ยึดเหนี่ยวได้ ถึงแม้จะมาจากวัฒนธรรมที่เขาไม่รู้จักก็ตาม ทำให้เขารู้สึกว่า นี่ไงเขาพูดถึงเมืองไทย มีวัฒนธรรมแบบนี้ อยู่บ้านมีอาหารการกินเป็นแบบนี้ แต่แทนที่จะเป็นวิดีโอการท่องเที่ยว มันเข้าถึงในแง่ของคาแรกเตอร์ แทนที่จะเป็นแค่ความสวยงาม ให้เป็นอะไรที่เขาเชื่อมต่อได้

แต่พี่ก็ไม่มีคำแนะนำที่จะเปลี่ยนแปลงชาติได้ พี่ก็มองว่ารายาเป็นเหมือนจุดเริ่มต้น ซึ่งไม่ใช่แค่ครั้งเดียวแต่เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนอื่นรู้สึกว่า เรามีความกล้าที่ออกมาเล่าเรื่องที่ได้แรงบันดาลใจมาจากชีวิตของเราค่ะ

มีอะไรจะฝากอะไรถึงเด็กไทยบ้างไหมคะ

พี่ตามคอนเทนท์เมืองไทยอยู่เยอะมาก ละครไทย หนังไทย วัฒนธรรมไทยในตอนนี้ก้าวสู่เวทีโลกให้ความรู้สึกว่าเป็นอะไรที่ mainstream กว่าตอนที่เราโตที่เมืองไทยเยอะเลย เราก็แบบเนี่ยแหละ sensibility นี้คนชอบ

“ตอนที่พี่เด็ก ๆ มีคนบอกว่าอยากมีความสำเร็จต้องมีความอินเตอร์ ต้องไม่ไทยมาก หลังๆ รู้สึกว่าไม่จริง การคงความเป็นตัวเองเอาไว้ทำให้เราโดดเด่นแทนที่เราพยายามจะทำให้กลมกลืนกับวัฒนธรรมของโลก ความเป็นไทยแบบที่เราเติบโตมาในวัฒนธรรมของเราสามารถทำให้เรามีความภูมิใจได้ สามารถเอามาเป็นแรงบันดาลใจของงานเราได้ โดยที่ไม่ต้องคิดว่า คนจะไม่ชอบเพราะคนไม่เข้าใจนะ พี่ว่าไม่จริง”

 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า