SHARE

คัดลอกแล้ว

เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยตกลงไปกว่า 108 จุด ถือเป็นสถิติการร่วงลงมากที่สุดใน 1 วันในรอบกว่า 14 ปี มิหนำซ้ำหุ้นระดับ blue chip อย่าง ปตท. (PTT) ก็ทำสถิติติดลบในวันเดียวกว่า 25% หรือเทียบได้กับมูลค่าตลาดที่หายไปกว่า 2.7 แสนล้านบาท

เหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นมีสาเหตุหลักมาจาก “สงครามราคาน้ำมัน” ระหว่างรัสเซียและซาอุดิอาระเบีย ผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดอันดับ 2 และ 3 ของโลก

เกิดอะไรขึ้นกับตลาดน้ำมันโลก ทำไมซาอุฯ และรัสเซียต้องทำสงครามราคาน้ำมันกัน และความปั่นป่วนที่เกิดขึ้นส่งผลสะเทือนไปไกลมากน้อยแค่ไหน ทีมข่าว Workpoint News สรุปมาให้ฟังใน 16 ข้อ

1. จะเข้าใจสงครามราคาน้ำมันที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ได้ ต้องเริ่มจากการเข้าใจลักษณะอย่างหนึ่งของน้ำมันก่อนว่า น้ำมันนั้นมีลักษณะเป็นสินค้าที่ทดแทนกันได้ (substitute goods) หมายความว่าไม่ว่าจะซื้อน้ำมันมาจากไหน ก็ใช้แทนกันได้ทั้งนั้น เพราะเป็นน้ำมันเหมือนกัน

ตลาดน้ำมันทั่วโลกก็เป็นเช่นนี้ คือโรงกลั่นน้ำมันจะซื้อน้ำมันดิบจากที่ไหนในโลกมากลั่นก็ได้ จะซื้อจากตะวันออกกลาง จากรัสเซีย จากสหรัฐฯ จากประเทศไหนๆ หรือจะขุดน้ำมันดิบในประเทศมากลั่นเองก็ได้ทั้งนั้น เพราะสุดท้ายแล้วก็เป็นน้ำมันดิบที่ใช้ได้ไม่ต่างกัน

เมื่อสินค้ามีลักษณะเหมือนกันแบบนี้ ปัจจัยเดียวที่จะตัดสินว่าจะเอาน้ำมันดิบจากที่ไหนมากลั่น จึงดูกันที่ “ราคา” เพียงอย่างเดียว ถ้าที่ไหนขายน้ำมันดิบในราคาถูกที่สุด ก็จะซื้อจากที่นั่น

2. ปัญหาของตลาดน้ำมันดิบโลกระลอกล่าสุด เริ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2020 เนื่องจากการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ที่ทำให้ความต้องการ (demand) น้ำมันดิบในตลาดโลกลดลงอย่างฮวบฮาบ

โดยเฉพาะจีนที่ถือเป็นผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของโลก ที่ผ่านมาจีนบริโภคนั้นมันคิดเป็นสัดส่วนกว่า 14% ของน้ำมันที่ผลิตได้ทั่วโลก แต่วิกฤติ covid-19 ที่เกิดขึ้นทำให้มีการคาดการณ์กันว่า demand น้ำมันดิบจากประเทศจีนจะลดลงถึง 35% ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2020 เทียบกับปีก่อน

ความต้องการน้ำมันที่ลดลงนี้ ทำให้นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาถึงวันศุกร์ที่แล้ว (6 มี.ค.) ราคาน้ำมันดิบโลกร่วงลงถึง 32.48% แล้ว จาก 67.05 ดอลลาร์/บาร์เรล เหลือเพียง 45.27 ดอลลาร์/บาร์เรล (ราคา Brent crude oil)

3. เมื่อราคาน้ำมันดิบโลกตกต่ำเช่นนี้ กลุ่ม OPEC+ ซึ่งเป็นที่รวมตัวกันของประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกจึงอยู่เฉยไม่ได้ และได้นัดประชุมกันเมื่อวันศุกร์ที่ 6 มี.ค. ที่ผ่านมา เพื่อพยายามจะหาทางออกจากวิกฤติราคาน้ำมันตกต่ำครั้งนี

4. สำหรับกลุ่ม OPEC+ นั้น เป็นการรวมตัวกันของผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลก 20 ประเทศ แบ่งเป็นกลุ่มประเทศที่อยู่ในกลุ่ม OPEC เดิม 10 ประเทศ และกลุ่มประเทศที่อยู่นอก OPEC (non-OPEC) อีก 10 ประเทศ โดยกลุ่ม OPEC เดิม มีซาอุดิอาระเบียเป็นผู้นำของกลุ่มอยู่กลายๆ ส่วนกลุ่ม non-OPEC มีรัสเซียเป็นหัวหอกสำคัญ

สมาชิกทั้ง 20 ประเทศในกลุ่ม OPEC+ นี้ รวมกันผลิตน้ำมันดิบได้เกือบครึ่งหนึ่งของที่ผลิตได้ทั่วโลก โดยสามารถผลิตน้ำมันดิบได้กว่า 43 ล้านบาร์เรล/วัน จากกำลังการผลิตน้ำมันดิบทั่วโลกที่วันละ 99 ล้านบาร์เรล

5. กลุ่ม OPEC+ เริ่มร่วมตัวกันมาตั้งแต่ปี 2016 โดยมีจุดประสงค์เพื่อร่วมมือกันยกระดับราคาน้ำมันโลกให้สูงขึ้น ทั้งนี้กลยุทธ์การเพิ่มราคาน้ำมันของกลุ่ม OPEC+ นั้นไม่ต่างจากกลุ่ม OPEC เดิม กล่าวคือพยายามจำกัดและลดการผลิตน้ำมันดิบให้น้อยลง ผ่านการตกลงร่วมกันว่าแต่ละประเทศจะผลิตน้ำมันไม่เกินเท่าไหร่ เมื่ออุปทาน (supply) ของน้ำมันลดลง ราคาน้ำมันย่อมสูงขึ้นเป็นไปตามหลักอุปสงค์-อุปทาน

6. สำหรับกลุ่ม OPEC+ นั้น ที่ผ่านมาได้มีการตกลงกันว่าทั้ง 20 ประเทศสมาชิกจะร่วมกันลดการผลิตลง 1.7 ล้านบาร์เรล/วัน โดยแต่ละประกาศรับโควต้าส่วนที่ต้องลดการผลิตลงไปไม่เท่ากัน เช่น ซาอุดิอาระเบียให้สัญญาว่าจะลดการผลิตลงวันละ 489,000 บาร์เรล/วัน รัสเซียสัญญาว่าจะลดการผลิตลง 300,000 บาร์เรล/วัน เป็นต้น

แต่ก็ใช่ว่าทุกประเทศจะลดการผลิตลงได้จริงตามสัญญา เช่น อิรักที่ตกลงกันไว้ว่าจะลดการผลิตน้ำมันดิบลงวันละ 191,000 บาร์เรล แต่ลดได้จริงเพียง 152,000 บาร์เรล หรือรัสเซียที่ลดการผลิตลงได้เพียง 234,000 บาร์เรล/วัน

แต่กระนั้นก็มีบางประเทศในกลุ่ม ที่สามารถลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบได้มากกว่าที่ตั้งโควต้าไว้ เช่น ซาอุฯ ที่ลดการผลิตน้ำมันดิบลงถึง 900,000 บาร์เรล/วัน จากเป้าที่สัญญาไว้แค่ 489,000 บาร์เรล ทำให้โดยรวมแล้ว ที่ผ่านมาทั้งกลุ่ม OPEC+ สามารถลดการผลิตน้ำมันดิบลงได้ถึง 2 ล้านบาร์เรล/วัน จากที่ตั้งเป้าไว้ 1.7 ล้านบาร์เรล/วัน

7. และแม้ว่ากลุ่ม OPEC+ จะสามารถลดอุปทานน้ำมันดิบในตลาดโลกลงได้ตามเป้า แต่วิกฤต covid-19 ก็ทำให้ความต้องการน้ำมันดิบทั่วโลกลดลงอย่างฮวบฮาบอย่างที่กล่าวถึงไปแล้วในข้อ 2. และเฉพาะในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ ราคาน้ำมันดิบโลกก็ร่วงลงไปแล้วกว่า 30%

8. ในการประชุมกลุ่ม OPEC+ เมื่อวันศุกร์ที่ 6 มี.ค. ที่ผ่านมานั้น ซาอุดิอาระเบียได้เสนอว่า หากราคาน้ำมันดิบยังคงตกต่ำเช่นนี้ต่อไป พวกเราทั้งกลุ่มก็คงจะตายกันหมดแน่ๆ ดังนั้นซาอุฯ จึงได้เสนอให้กลุ่ม OPEC+ ลดการผลิตน้ำมันดิบลงอีกวันละ 1.5 ล้านบาร์เรล/วัน โดยกลุ่ม 10 ประเทศ OPEC เดิมจะลดการผลิตลง 1 ล้านบาร์เรล/วัน และกลุ่ม non-OPEC ให้ลดการผลิตลงให้ได้รวมกันวันละ 5 แสนบาร์เรล

9. อย่างไรก็ตาม การเจรจาครั้งนี้กลับไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากรัสเซียที่เป็นสมาชิกที่สำคัญที่สุดในกลุ่ม non-OPEC ปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าวของซาอุฯ โดยให้เหตุผลว่าไม่อยากทำให้ราคาน้ำมันสูงกว่านี้ เพราะจะเป็นการช่วยเหลือและสนับสนุนให้อุตสาหกรรมการผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน หรือที่เรียกว่า shale oil ของสหรัฐฯ ได้ประโยชน์และเติบโตขึ้นอี

10. ทั้งนี้ต้องบอกด้วยว่า ปัจจุบันสหรัฐฯ ถือเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในโลก โดยสามารถผลิตได้กว่า 18% ของการผลิตน้ำมันดิบทั่วโลก และที่ผ่านมาก็ปฏิเสธได้ยากว่าการที่สหรัฐฯ สามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านการผลิตน้ำมันดิบของโลกได้ ส่วนหนึ่งเกิดจากเทคโนโลยีการสกัดน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดานที่เรียกว่า shale oil นี้ด้วย

แต่การผลิตน้ำมันดิบด้วยวิธีนี้ก็มีจุดอ่อน เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตสูงกว่าการขุดเจาะน้ำมันแบบทั่วไปมาก นายเอียน เนียโบเออร์ (Ian Neiboer) จากบริษัทที่ปรึกษา Enverus ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Aljazeera ไว้ว่าบริษัทที่ประกอบธุรกิจ shale oil ในสหรัฐฯ นั้น หากจะอยู่ได้แบบไม่ขาดทุน ราคาน้ำมันดิบโลกจะต้องไม่ต่ำกว่า 40 ดอลลาร์/บาร์เรล ถ้าราคาน้ำมันดิบโลกลงไปแตะระดับ 30 กว่าดอลลาร์เมื่อไหร่ บริษัท shale oil เหล่านี้จะอยู่ไม่ได้และอาจต้องล้มละลายไป

ดังนั้นแล้ว นี่จึงอาจเป็นหนึ่งในเหตุผลของรัสเซียว่าทำไมจึงไม่อยากร่วมมือกับกลุ่ม OPEC+ ในการลดปริมาณการผลิตในขณะนี้ เนื่องจากอาจเห็นโอกาสในการตัดขาบริษัท shale oil ของสหรัฐฯ เหล่านี้ ที่เข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดน้ำมันดิบในปีหลังๆ ออกไปให้ได้อย่างถาวร

11. อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจไม่ให้ความร่วมมือในครั้งนี้ของรัสเซียก็ทำให้ซาอุฯ ไม่ปลื้มนัก ไม่กี่ชั่วโมงหลังการเจรจาล้มเหลว Aramco บริษัทน้ำมันแห่งชาติของซาอุฯ ก็ประกาศลดราคาน้ำมันดิบที่จะขายให้ลูกค้าจากทุกภูมิภาคลง 6-8 ดอลลาร์/บาร์เรล

และอย่างที่ได้อธิบายไว้ตั้งแต่ตอนต้น ว่าน้ำมันดิบนั้นเป็นสินค้าที่ทดแทนกันได้ เมื่อมีผู้ผลิตเจ้าหนึ่งเจ้าใด (โดยเฉพาะเจ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง Aramco) ลดราคาลงเช่นนี้ โรงกลั่นจากทั่วภูมิภาคก็หันไปสั่งน้ำมันจากซาอุฯ กันหมด จนในที่สุดกลไกตลาดก็จะทำให้ผู้ผลิตน้ำมันดิบรายอื่นๆ ต้องลดราคาขายน้ำมันดิบลงตามซาอุฯ ไปด้วย

การเดินเกมลดราคาน้ำมันดิบครั้งนี้ของซาอุฯ ทำให้เมื่อสิ้นสุดวันเสาร์ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบ Brent ร่วงลงอีก 24.1% จาก 45.27 ดอลลาร์/บาร์เรลเมื่อวันศุกร์ที่ 6 มี.ค. เหลือเพียง 34.36 ดอลลาร์/บาร์เรลเมื่อสิ้นสุดการซื้อขายในวันเสาร์ที่ 7 มี.ค.

12. ทั้งนี้ต้องบอกไว้ด้วยว่า การที่ซาอุฯ สามารถเล่นเกมดัมพ์ราคาน้ำมันดิบโลกเช่นนี้ได้ เป็นเพราะซาอุฯ มี 2 ปัจจัยที่ประเทศอื่นไม่มี คือ 1. ต้นทุนการผลิตน้ำมันของซาอุฯ นั้นต่ำมากๆ เฉพาะต้นทุนการผลิตน้ำมันดิบ (ไม่รวมต้นทุนค่าขนส่งและค่าใช้จ่ายอื่นๆ) ของ Aramco นั้น อยู่ที่เพียง 2.8 ดอลลาร์/บาร์เรลเท่านั้น ถือว่าต่ำที่สุดในโลก

และ 2. ประเทศซาอุดิอาระเบียยังมีศักยภาพในการผลิตน้ำมันดิบเหลือ โดยก่อนที่จะประกาศลดราคาน้ำมันดิบนี้ ซาอุฯ ผลิตน้ำมันดิบอยู่วันละ 9.7 ล้านบาร์เรล/วัน ในขณะที่ศักยภาพการผลิตจริงๆ มีสูงถึง 12.5 ล้านบาร์เรล/วัน นั่นหมายความว่าหากซาอุฯ ลดราคาน้ำมันแล้วมีลูกค้าแห่มาซื้อเพิ่มเยอะจริงๆ ซาอุฯ ก็สามารถเพิ่มกำลังการผลิตมาตอบสนองผู้ซื้อเหล่านั้นได

ด้วยคุณสมบัติ 2 ข้อดังกล่าว จึงทำให้การประกาศลดราคาน้ำมันดิบของซาอุฯ ได้ผล และทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกนั้นลดลงได้จริง

13. หลายคนอ่านมาถึงตรงนี้แล้วอาจจะงง ว่าซาอุฯ ต้องการจะทำให้ราคาน้ำมันดิบโลกสูงขึ้นไม่ใช่หรือ ทำไมสุดท้ายจึงใช้วิธีลดราคาน้ำมันดิบแบบนี้ ก็ต้องบอกว่านี่เป็นเพียงกลยุทธ์ระยะสั้นของซาอุฯ เท่านั้น โดยมีจุดประสงค์เพื่อต้องการให้รัสเซียกลับมาเจรจาร่วมมือกับกลุ่ม OPEC+ อีกครั้ง โดยซาอุฯ รู้ว่าราคาน้ำมันโลกที่ถูกลงแบบนี้ จะกระทบกับรายได้จากการขายน้ำมันของรัสเซียอย่างมหาศาล อีกทั้งยังทำให้รัสเซียเสียลูกค้าบางส่วนที่อยู่ในทวีปยุโรปด้วย

เมื่อได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ตกต่ำลงเช่นนี้ ซาอุฯ เชื่อว่ารัสเซียจะกลับมาร่วมมือกับตนและกลุ่ม OPEC+ อีกครั้ง

14. การร่วงลงของราคาน้ำมันดิบโลกจากเหตุการณ์ข้างต้นดังกล่าว กระทบโดยตรงมายังตลาดหุ้นไทยเมื่อเปิดทำการในวันจันทร์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มพลังงานที่ได้รับผลกระทบถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็น ปตท. (PTT) ติดลบ 25.33%, พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) ติดลบ 26.63%, ปตท.สผ. (PTTEC) ติดลบ 29.81% เป็นต้น

และส่งผลให้ตลอดทั้งวันจันทร์ ตลาด SET ไทยติดลบกว่า 108.63 จุด หรือลดลงกว่า 7.96% ในวันเดียว ทั้งนี้ เหตุผลหลักส่วนหนึ่งที่ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยตกลงอย่างหนักเช่นนี้ ก็เนื่องมาจากหุ้นกลุ่มพลังงานที่มีสัดส่วนในตลาดหุ้นไทยค่อนข้างมาก โดยหุ้นกลุ่มพลังงานทุกตัวมีมูลค่ารวมกันคิดเป็นกว่า 1 ใน 4 ของทั้งตลาดหุ้น

และเฉพาะ ปตท. (PTT) บริษัทเดียว ก็มีมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านบาทแล้ว (นับมูลค่าช่วงก่อนหุ้นตก) จากตลาดหุ้น SET ทั้งกระดานที่มีมูลค่ารวมกันประมาณ 16 ล้านล้านบาท

15. ในขณะที่ตลาดหุ้นโลก โดยเฉพาะตลาดหุ้นที่สหรัฐฯ ก็ปั่นป่วนจากราคาน้ำมันที่ร่วงลงอย่างหนักนี้เช่นกัน โดยตลาดหุ้นนิวยอร์ก (New York Stock Exchange: NYSE) ต้องหยุดซื้อขายหุ้นชั่วคราว 15 นาที หลังจากตลาดเริ่มเปิดทำการในวันจันทร์ที่ผ่านมาไปได้เพียง 6 นาที หลังจากดัชนี S&P500 ซึ่งเป็นดัชนีที่วัดหุ้นขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ 500 ตัว เกิดดิ่งลงกว่า 7% ในช่วงเช้าวันจันทร์

16. โดยสรุปแล้วตอนนี้ ตลาดน้ำมันโลกกำลังเผชิญกับวิกฤติ 2 ด้าน ด้านหนึ่งคือวิกฤติขาดแคลนอุปสงค์ (demand) ที่เกิดจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกที่ลดลงหรือหยุดชะงักลงจากวิกฤติ covid-19 ในขณะที่อีกด้านหนึ่งก็เกิดวิกฤติด้านอุปทาน (supply) ที่ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกอย่างซาอุฯ และรัสเซียยังไม่สามารถหาข้อตกลงที่เป็นที่ยอมรับร่วมกันได้ และกำลังจะนำไปสู่สงครามราคาน้ำมันโลก

ตราบเท่าที่เศรษฐกิจโลกยังคงผูกโยงอยู่กับน้ำมัน และตราบเท่าที่น้ำมันยังคงเป็นแหลงพลังงานหลักที่มนุษย์ใช้ในการขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก วิกฤติเศรษฐกิจโลกที่มีวิกฤติน้ำมันเป็นจุดเริ่มต้นก็อาจเกิดขึ้นได้เสมอ

เรียบเรียงโดย กฤดิกร เผดิมเกื้อกูลพงศ์

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า