ผศ.ดร.วลัยพร รัตนเศรษฐ คณบดีคณะรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า โลกได้ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาไปไกล มีองค์ความรู้ใหม่ ๆ เข้ามาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิต และการเรียนรู้ของผู้คน ดังนั้นการเตรียมคนให้พร้อมสำหรับโลกอนาคตจึงเป็นหัวใจสำคัญของการจัดการเรียนการสอนของคณะฯ ซึ่งสอดรับกับวิสัยทัศน์ของ DPU ที่ประกาศเปิด Metaverse Campus บนแพลตฟอร์ม The Sandbox เพื่อให้นักศึกษาได้ทดลองใช้ภายในปีการศึกษา 2565
“Web3 Technology เป็นเรื่องใหม่ที่มาคู่กับ Metaverse ซึ่งมีบทบาทสำคัญอย่างแน่นอนในอนาคต ทุกวันนี้ภาคธุรกิจทั่วโลกได้ปรับตัวนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้กับธุรกิจกันแล้ว สำหรับ DPU นักศึกษาทุกคนของเรา รวมถึงนักศึกษาในคณะฯ ได้เริ่มทำความเข้าใจ เรียนรู้ และสร้างความคุ้นเคยกับโลกใหม่ใบนี้กันแล้ว ซึ่งเป็นประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ ที่จะกลายเป็นทักษะสำคัญติดตัวนักศึกษาที่เรียนจบออกไป มีความพร้อมและมีโอกาสมากกว่าคนอื่นในโลกของการทำงานและการใช้ชีวิต” ผศ.ดร.วลัยพร กล่าว
ด้านกระบวนการพัฒนานักศึกษาและสร้างผู้นำรุ่นใหม่ในระดับคณะฯ ผศ.ดร.วลัยพร กล่าวว่า มุ่งเน้นออกแบบการเรียนการสอนในแนวทางที่แตกต่าง ด้วย “ความรู้+ทักษะโลกอนาคต” เพื่อสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงองค์การภาครัฐ ภาคเอกชน และท้องถิ่นในยุคดิจิทัล
“ความรู้+โซเชียล และแล็ปสังคม+ทักษะโลกอนาคต” ที่กล่าวถึงนั้นเป็นการเตรียมผู้เรียนให้มีความรู้เท่าทันเทคโนโลยีและการใช้ชีวิตทั้งในโลกเสมือนและโลกจริง โดยที่ให้ผู้เรียนได้เชื่อมโยงหลักคิดทางรัฐประศาสนศาสตร์ ความคิดสร้างสรรค์ในการจัดการปัญหาที่ปรับเปลี่ยนไปตามบริบทของสังคม
“วิชาการพัฒนาเมือง เป็นอีกหนึ่งการเรียนที่สามารถออกแบบได้ทั้งในโลกเสมือน และการลงพื้นที่จริง ที่ผ่านมานักศึกษาต้องลงพื้นที่ สำรวจ ความพร้อมต่าง ๆ เพื่อการนำไปใช้ประโยชน์ในชุมชน ออกแบบความต้องการการแก้ไขปัญหาชุมชนเมืองซึ่งในกระบวนการสร้างห้องปฏิบัติการทางสังคม (Social Lab) นี้ต้องใช้เวลาและทรัพยากร ดังนั้นการนำ Metaverse Campus เข้ามาใช้ในการออกแบบและพัฒนาเมืองจะทำให้สามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ และก้าวข้ามข้อจำกัดต่าง ๆ ไปได้ ในระยะเวลาการทำงานที่รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ เป็นรูปแบบการการเรียนการสอนในโลกเสมือนที่ควบคู่กับโลกความเป็นจริง ทั้งนี้ภาครัฐควรคิดล่วงหน้าการบริการสาธารณะในโลกเสมือนควรทำอย่างไร กติกาต่างๆจะกำหนดอย่างไร เราก็จะได้เรียนรู้ไปพร้อมกันด้วย” ผศ.ดร.วลัยพร กล่าว
จากการเตรียมความพร้อมให้กับนักศึกษาดังกล่าว จะทำให้บัณฑิตรัฐประศาสนศาสตร์ของเรามีทักษะเพิ่มและโอกาสเพิ่มเติมจากการประกอบอาชีพที่ได้ในหลากหลายเส้นทางอยู่แล้ว ได้แก่ การเข้ารับราชการในหน่วยงานภาครัฐ กระทรวง กรม ส่วนท้องถิ่น เช่น เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร การทำงานในรัฐวิสาหกิจ เช่น การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค ธนาคารออมสิน ฯลฯ รวมทั้งประกอบธุรกิจส่วนตัว ซึ่งที่ผ่านมา ทางคณะฯ ผลิตบุคลากรจบการศึกษาปีละ 130-150 คนต่อปี โดยในจำนวนนี้มีสถิติการได้งานทำสูงถึง 98% ส่วนอีก 2% เป็นการศึกษาต่อ และอื่น ๆ เมื่อเราสามารถเพิ่มทักษะด้านดิจิทัลให้กับบัณฑิต โอกาสในการเข้าทำงานที่มีช่องทางของทักษะเช่นนี้ย่อมมีมากขึ้นอย่างแน่นอน
ในโลกอนาคตที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว กระบวนการผลิตคนให้มีความสามารถ โดยผสานทั้ง “ห้องเรียน-เมต้าเวิร์ส-ห้องปฏิบัติการทางสังคม (Social Lab)” จะช่วยให้ทุกคนเท่าทันเทคโนโลยีควบคู่กับพัฒนาทักษะการใช้ชีวิตทั้งในโลกเสมือนและโลกแห่งความเป็นจริง ที่พร้อมก้าวสู่การเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงให้กับองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และท้องถิ่นในยุคดิจิทัล