SHARE

คัดลอกแล้ว
มนุษยธรรมเป็นสิ่งดี การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์เป็นเรื่องควรทำ แต่ถ้าต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเสี่ยงให้ไวรัสอาจระบาดเข้าประเทศ วิธีในการช่วยเหลืออาจต้องเปลี่ยนไป

นี่คือบทสรุปเรื่องราว เรือ MS Westerdam (เวสเตอร์ดัม) ที่ต้องสงสัยว่าอาจมีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่าอยู่บนเรือ และขอเทียบท่าขึ้นที่ประเทศไทย แต่สุดท้ายทางการไทยปฏิเสธ และปล่อยให้เรือไปขึ้นเทียบท่าแทนที่ประเทศอื่น

Workpoint News จะอธิบายที่มาที่ไปทั้งหมด ให้ครบ จบ และเข้าใจใน 24 ข้อ

1) บริษัทเรือสำราญชื่อฮอลแลนด์อเมริกาไลน์ เป็นบริษัทเรือสัญชาติอเมริกัน ก่อตั้งเมื่อปี 1873 (147 ปีที่แล้ว) มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ซีแอตเติ้ล ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยบริษัทนี้มีเรือทั้งหมด 14 ลำ

1 ใน 14 ลำดังกล่าวมีชื่อว่า MS Westerdam ถือเป็นเรือรุ่นใหม่ สร้างเสร็จเมื่อปี 2004 สามารถจุผู้โดยสารได้สูงสุด 2,362 คน ภายในเรือมีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย มีถึง 8 ภัตตาคาร รวมถึงมีบาร์ดนตรีสด, คาสิโน, สปา, ละครเวที ฯลฯ

2) เรือ MS Westerdam มีโปรแกรมล่องเรือทั่วเอเชีย โดยลักษณะการเที่ยวคือในเรือสำราญจะมีกิจกรรมให้ทำมากมาย ผู้โดยสารจะเที่ยวบนเรือก็ได้ หรือเวลาเรือแล่นไปเทียบท่าในท่าเรือของเมืองต่างๆ ผู้โดยสารก็สามารถลงไปเที่ยวได้ ตามเวลาที่กำหนด จากนั้นพอถึงเวลาก็กลับมาขึ้นเรือ แล้วเรือสำราญก็จะแล่นไปยังท่าเรือต่อไป

3) โดยบริษัทฮอลแลนด์อเมริกาไลน์ ขายทริปของ MS Westerdam 2 รูปแบบด้วยกัน

ทริปที่ 1 เริ่ม 16 มกราคม สิ้นสุด 15 กุมภาพันธ์ เที่ยว 30 วันเต็ม
ทริปที่ 2 เริ่ม 1 กุมภาพันธ์ สิ้นสุด 15 กุมภาพันธ์ เที่ยว 14 วันเต็ม

โดยทริปที่ 1 มีโปรแกรมดังนี้

16 มกราคม – สิงคโปร์
18 มกราคม – เกาะสมุย (ไทย)
19 มกราคม – แหลมฉบัง (ไทย)
21 มกราคม – สีหนุวิลล์ (กัมพูชา)
23 มกราคม – โฮจิมินห์ (เวียดนาม)
24 มกราคม – นาตรัง (เวียดนาม)
26 มกราคม – ดานัง (เวียดนาม)
29 มกราคม – ฮาลองเบย์ (เวียดนาม)
31 มกราคม – ฮ่องกง

หลังจากที่เรือแล่นถึงฮ่องกงแล้ว กลุ่มคนที่เที่ยว 30 วันเต็มก็จะยังอยู่เที่ยวต่อ นอกจากนั้นกลุ่มคนที่เที่ยวทริปที่สั้นกว่า (14 วัน) ก็จะเริ่มต้นขึ้นเรือเที่ยวในวันนี้ ซึ่งคนที่เที่ยวทั้งแบบ 30 วัน และแบบ 14 วัน จะมีปลายทางที่เดียวกัน คือโยโกฮาม่า วันที่ 15 กุมภาพันธ์

1 กุมภาพันธ์ – ฮ่องกง
3 กุมภาพันธ์ – มะนิลา (ฟิลิปปินส์)
5 กุมภาพันธ์ – เกาสง (ไต้หวัน)
6 กุมภาพันธ์ – กีลัง (ไต้หวัน)
8 กุมภาพันธ์ – เกาะอิชาซากิ (ญี่ปุ่น)
9 กุมภาพันธ์ – โอกินาว่า (ญี่ปุ่น)
11 กุมภาพันธ์ – นางาซากิ (ญี่ปุ่น)
12 กุมภาพันธ์ – ปูซาน (เกาหลีใต้)
13 กุมภาพันธ์ – ซาเซโบ (ญี่ปุ่น)
15 กุมภาพันธ์ – โยโกฮาม่า (ญี่ปุ่น)

วันที่รับผู้โดยสารทริปที่ 2 มารวมกับทริปที่ 1 บนเรือมีผู้โดยสารทั้งหมด 1,455 คน และลูกเรือ 802 คน รวมเป็น 2,257 คน

4) ในขณะที่เรือ MS Westerdam เริ่มออกจากท่าที่ฮ่องกง ในวันเดียวกันนั้นเอง 1 กุมภาพันธ์ มีชายชาวฮ่องกงรายหนึ่ง เพิ่งลงจากเรือสำราญชื่อ Diamond Princess และมีอาการไข้รุนแรง ปรากฏว่าพอไปตรวจที่โรงพยาบาลเขาถูกวินิจฉัยว่าติดเชื้อไวรัสโคโรน่า นั่นทำให้มีการวิเคราะห์ว่า คนที่อยู่ในเรือ ก็มีโอกาสติดเชื้อเหมือนกับชายฮ่องกงรายดังกล่าวได้เหมือนกัน ทำให้เรือ Diamond Princess ที่จอดอยู่ที่อ่าวในเมืองโยโกฮาม่าของญี่ปุ่น ต้องโดนกักบริเวณ เป็นเวลา 14 วัน เพื่อตรวจสอบว่ามีใครที่ติดเชื้อ และใครที่ไม่ติดเชื้อบ้าง

5) ข่าวเรื่องเรือ Diamond Princess กระจายออกไป ทำให้เมื่อเรือ MS Westerdam แล่นถึงจุดหมายแรกคือ มะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ จึงถูกปฏิเสธไม่ให้เทียบท่า เนื่องจากทางฟิลิปปินส์กังวลใจว่า เรือ Westerdam เพิ่งไปรับคนที่ฮ่องกงมาร่วมทริปเป็นจำนวนมาก ซึ่งก็มีสิทธิที่ผู้โดยสารจะไปติดเชื้อไวรัสโคโรน่า แล้วมาแพร่เชื้อกันในเรือ คล้ายๆกับกรณีของ Diamond Princess และทางฟิลิปปินส์ก็ไม่พร้อมจะเสี่ยง

6) ดังนั้น Westerdam จึงต้องแล่นเรือ ไปที่เป้าหมายต่อไปคือไต้หวัน แต่ทั้งท่าเรือเกาสง และ ท่าเรือกีลัง ก็ปฏิเสธไม่รับให้เทียบท่าด้วยเหตุผลเดียวกับฟิลิปปินส์ จากนั้นตามโปรแกรมเรือต้องไปลงที่ท่าในประเทศญี่ปุ่น แต่รัฐบาลญี่ปุ่นก็ไม่รับอีกเพราะยังมีเคส Diamond Princess อยู่เลย ญี่ปุ่นไม่พร้อมที่จะมาตรวจเช็กอาการของคนอีกเกือบสองพันคนในเรืออีกลำ

7) MS Westerdam ขอไปขึ้นท่าที่เกาะกวม ในทะเลแปซิฟิก ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ ก็ขอร้องให้เกาะกวมรับผู้โดยสารขึ้นบนเกาะ เนื่องจากมีประชาชนสหรัฐฯ อยู่บนเรือถึง 662 คน แต่ผู้นำของกวมไม่อนุญาตให้เทียบท่า เนื่องจากว่าถ้ามีคนติดเชื้อหลุดเข้ามาจริงๆ กวมจะมีปัญหาใหญ่แน่ และการต้องกักกันผู้ติดเชื้อถึง 14 วัน ทางประเทศเล็กๆอย่างกวม ก็รู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่ยากลำบากมาก นั่นทำให้ MS Westerdam โดนปฏิเสธเทียบท่าเป็นประเทศที่ 4 ไม่มีใครอยากเสี่ยงทั้งนั้นในเรื่องนี้

8 ) แถลงการณ์จากบริษัทฮอลแลนด์อเมริกาไลน์ ระบุว่า มั่นใจว่าผู้โดยสารทั้งหมดไม่มีอาการติดเชื้อไวรัส เพราะทางเรือสำราญจะตรวจเช็กก่อนว่า ผู้โดยสารได้เข้าออกจีนแผ่นดินใหญ่ในช่วง 14 วันที่ผ่านมาหรือไม่ ถ้าใครเข้าออกมาใน 14 วันก็จะไม่รับขึ้นเรือ นอกจากนั้นยังมีการตรวจอุณหภูมิร่างกาย และเช็กอาการเบื้องต้นอย่างละเอียดก่อนรับลง ดังนั้นผู้โดยสารบนเรือ จึงไม่มีความน่ากังวลว่าจะติดเชื้อแต่อย่างใด

9) 10 กุมภาพันธ์ เรือ MS Westerdam เตรียมเทียบท่าที่แหลมฉบัง ประเทศไทย และพร้อมเคลื่อนย้ายผู้โดยสารและลูกเรือทั้งหมดเกือบ 2,000 คน ต่อมายังกรุงเทพฯ เพื่อให้แต่ละคนแยกย้ายกลับประเทศของตัวเอง โดยบริษัทฮอลแลนด์อเมริกาไลน์ ได้แถลงในเว็บไซต์ว่า จะเข้าเทียบท่าที่ไทยอย่างไม่มีปัญหา พร้อมทั้งจะคืนเงิน 100% ให้ลูกค้า และให้ส่วนลดพิเศษสำหรับการจองทริปต่อไปในอนาคต

11) ในวันเดียวกัน ทีโดรส อัดฮานอม ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้โทรศัพท์หานายอนุทิน ชาญวีรกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อยืนยันว่าคนบนเรือสบายดี ไม่มีใครติดเชื้อไวรัสโคโรน่า และขอให้ประเทศไทยรับคนทั้งหมดบนเรือขึ้นมาบนฝั่ง เพื่อให้แต่ละคนได้หาทางกลับบ้านเกิดของตัวเองต่อไป

12) นอกจากนั้นสมาคมวิชาชีพเรือสำราญ ก็ได้ออกแถลงการณ์กดดันให้รัฐบาลรับผู้โดยสารขึ้นที่แหลมฉบัง โดยเน้นย้ำว่าบนเรือมีลูกเรือคนไทยถึง 19 คน และควรช่วยออกมาโดยเร่งด่วน

“ทางสมาคมวิชาชีพเรือสำราญ ขอเรียกร้องให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ยื่นมือให้ความช่วยเหลือผู้โดยสารและลูกเรือทั้งหมด โดยยึดหลักมนุษยธรรม” แถลงการณ์ระบุ

13) ในตอนนี้ประเทศไทยอยู่ในสภาวะสับสนว่าเกิดอะไรกันแน่ เพราะถ้ารับเรือ MS Westerdam เข้ามา จะแน่ใจได้อย่างไรว่าบนเรือ ปลอดผู้ติดเชื้อจริงๆอย่างที่บริษัทกล่าวอ้าง กรณีของ Diamond Princess มีผู้ติดเชื้อเกือบ 100 รายแล้ว และถ้าเรือ Westerdam เทียบท่าได้ แล้วผู้โดยสารได้นั่งรถเข้ามายังกรุงเทพ ก็มีโอกาสที่เชื้อจะกระจายมาสู่กรุงเทพใช่หรือไม่

และถ้าหากไทยรับเข้ามา แล้วอยากป้องกัน ก็จำเป็นต้องทำเป็น Quarantine Zone ศูนย์กักกันเพื่อดูว่ามีคนติดเชื้อหลุดรอดมาหรือไม่ ซึ่งก็ต้องใช้ทรัพยากรมหาศาล ในการหาบุคลากรทางการแพทย์เพื่อตรวจเช็กอาการคน 2,000 คน และยังไม่นับอาหาร เครื่องดื่ม และความช่วยเหลืออีกจำนวนมาก ที่ไทยต้องมอบให้เรือ MS Westerdam ถ้ารับเข้ามาจริงๆ

14) กัปตันเรือ Westerdam แจ้งกับผู้โดยสารว่า กำลังแล่นเรือไปที่ประเทศไทย และตอนนี้ WHO ได้ประสานเรื่องเอาไว้หมดแล้ว ผู้โดยสารรายหนึ่งทวีตข้อความว่า “อีก 2-3 ชั่วโมงข้างหน้าจะเป็นเวลาชี้ชะตา ว่าพวกเราจะได้ขึ้นฝั่งและกลับบ้านหรือไม่”

15) บรรยากาศบนเรือ Westerdam แม้จะลงจากเรือเข้าประเทศไหนๆไม่ได้ แต่บนเรือยังคงมีกิจกรรมให้ทำต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น มีแสดงมายากล , แสดงคอนเสิร์ตเพลงแจ๊ซซ์, ตอนประกาศรางวัลออสการ์มีกิจกรรมเปิดทีวีร่วมลุ้นผลไปด้วยกัน, กิจกรรมพับผ้าขนหนูเป็นรูปสัตว์, มีละครเวที ,มีกิจกรรมโยคะข้างสระน้ำ ส่วนร้านอาหารยังเปิดตามปกติ รวมถึงมีอินเตอร์เน็ตไวไฟให้ใช้การได้ ไม่ได้ตัดขาดจากโลกภายนอก ตอนนี้ทุกคนรอความชัดเจนว่าจะได้ลงจากเรือที่ไหน เพื่อขึ้นเครื่องกลับบ้าน

16) แต่คนที่กังวลใจก็มีเช่นกัน สตีเฟ่น แฮนเซ่น หนึ่งในผู้โดยสารที่เดินทางมากับภรรยา ส่งอีเมล์มาหาสื่อมวลชนว่า “ถ้าเราไม่ได้จอดเรือเร็วๆนี้ เราจะเหลืออาหารน้อยลง รวมถึงเชื้อเพลิง และยารักษาโรคก็จะใกล้หมดลงเช่นกัน รัฐบาลของพวกเราต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อแก้ไขปัญหาให้ได้ บรรดาลูกเรือ และบริษัทฮอลแลนด์อเมริกาไลน์ ก็ทำเท่าที่พวกเขาทำได้ แต่นี่นอกจากจะเป็นประเด็นเรื่องสาธารณสุขแล้ว ก็ต้องใช้พลังทางการเมืองเข้าช่วยด้วย”

17) หลังจากมีข่าวว่าประเทศไทยจะเปิดท่าเรือรับ Westerdam ทำให้มีผู้โดยสารจำนวนหนึ่งจองตั๋วเครื่องบินล่วงหน้าไว้แล้ว โดยเตรียมจะบินออกจากสุวรรณภูมิกลับบ้านเกิด โดยไม่คิดว่าทางไทยจะต้องทำการกักกันผู้มีโอกาสติดเชื้อโรคแต่อย่างใด

18) ถึงตรงนี้ ประชาชนไทยเริ่มตั้งคำถามว่าทำไมในเมื่อชาติอื่นปฏิเสธมาตลอดทาง แล้วทำไมประชาคมโลกต้องกดดันให้ไทยรับผู้โดยสารจากเรือ Westerdam ด้วย และประเด็นนี้มีการพูดถึงกันในโลกออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสุดท้าย วันที่ 11 กุมภาพันธ์ เวลา 00.30 น. นายอนุทิน ชาญวีรกุล จึงได้โพสต์ในเฟซบุ๊กของตัวเองด้วยประโยคสั้นๆว่า “สั่งการแล้วไม่อนุญาตให้เทียบท่า”

19) นายอนุทินขยายความอย่างชัดเจนผ่านการสัมภาษณ์ว่า “ทางการไทยพิจารณาทุกอย่างบนหลักมนุษยธรรม แต่ต้องคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยของชีวิตประชาชนด้วย เรายังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับสถานการณ์ภายในเรือ มีแต่การบอกว่าเรือลำนี้ไม่มีผู้ติดเชื้อ ทุกคนปลอดภัย แม้กระทั่ง ผอ.องค์การอนามัยโลกก็ออกมายืนยัน แต่เราจะไว้ใจได้หรือไม่ เพราะ ผอ.ของ WHO ก็ไม่ได้อยู่ในเรือลำนั้น และที่สำคัญในเรือไม่มีอุปกรณ์แล็ปเพื่อการตรวจเชื้อด้วย”

ขณะที่ประเด็นว่ามีคนไทยอยู่ในเรือ นายอนุทินกล่าวว่า “ถ้าทางเรือร้องขอมาว่ามีผู้ป่วยคนไทย หรือต่างชาติบนเรือ และให้เราส่งทีมแพทย์พยาบาลเข้าไปรักษา เราก็จะพิจารณาให้ความช่วยเหลือ เช่นเดียวกับเรื่องน้ำ อาหาร และยารักษาโรค ถ้ามีไม่เพียงพอและมีการขอมา เราก็พร้อมให้ความช่วยเหลือเช่นกัน”

20) สอดคล้องกับที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาลว่า “มีคนจำนวนมากกว่า 2,000 คนบนเรือเราต้องระมัดระวังการแพร่กระจายไประยะที่ 3 ซึ่งวันนี้เราอยู่ในระยะที่ 2 ยังควบคุมได้ หรือดูแลผู้ที่มาจากต่างประเทศได้ แต่อย่างไรก็ตามรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ จะประชุมและให้ทางกระทรวงสาธารณสุขชี้แจงมาตรการเตรียมการขั้นต้นไม่ให้นำไปสู่การแพร่ระบาด ก็อย่าเพิ่งตื่นตระหนก ถ้าเราทำได้ดีครบถ้วนทุกอย่างก็ไม่มีปัญหา”

21) เพื่อป้องกันไม่ให้เรือ Westerdam เข้ามาในน่านน้ำของไทย กองทัพเรือได้ส่งเรือหลวงภูมิพลอดุลยเดชไปเฝ้าสังเกตการณ์ ในระยะใกล้เคียงเรือสำราญ เพื่อคอยดูสถานการณ์อยู่ห่างๆ

22) เมื่อไทยปฏิเสธ ทำให้เรือลำนี้ โดนท่าเรือ 5 ประเทศปฏิเสธให้เทียบท่าแล้ว และดูเหมือนต้องลอยเคว้งต่อไปกลางทะเล อย่างไรก็ตาม เป็นทางกัมพูชา อนุมัติให้ทำการเทียบท่าได้ หลังไทยปฏิเสธไม่นานนัก โดยในเวลา 7.00 น. ของวันพฤหัสบดีที่ 13 กุมภาพันธ์ จะขึ้นเทียบที่ท่าเรือสีหนุวิลล์ และเมื่อเรือเทียบท่าเรียบร้อยแล้ว จะเข้าสู่กระบวนการกักกันเชื้อโรคต่อไป และถ้าไม่พบเชื้อ ก็จะปล่อยผู้โดยสารและลูกเรือกลับบ้านเป็นลำดับต่อไป

23) แถลงการณ์จากบริษัทฮอลแลนด์อเมริกาไลน์ระบุว่า พอเรือได้เทียบท่าที่สีหนุวิลล์แล้ว หลังตรวจเช็กอาการอีก 2-3 วัน ทางบริษัทจะจัดเที่ยวบินเหมาลำ พาผู้โดยสารเดินทางไปที่เมืองหลวงพนมเปญ เพื่อหาเครื่องบินส่งต่อกลับประเทศต่อไป โดยบริษัทจะรับผิดชอบค่าตั๋วเดินทางให้ผู้โดยสารทุกคน และคืนเงินค่าล่องเรือสำราญให้ครบ 100% เต็ม

24) อย่างไรก็ตาม ในตอนนี้ชาวเน็ตหลายชาติในอาเซียนยังมีความกังวลใจอยู่ ว่าที่กัมพูชาจะมีระบบการกักกันโรคที่ดีแค่ไหน และกัมพูชาก็ไม่ได้มีเที่ยวบินไปทุกประเทศ เท่ากับว่าผู้โดยสารจำนวนหนึ่งอาจจะเข้ามาที่ไทย เวียดนาม มาเลเซีย หรือสิงคโปร์ เพื่อทำการต่อเครื่อง ดังนั้นทางภาครัฐก็จำเป็นต้องเช็กให้ดี ว่าคนที่เข้ามามีเชื้อไวรัสโคโรน่าหรือไม่ ซึ่งต้องตรวจสอบให้เข้มข้นไม่ให้คนติดเชื้อหลุดรอดเข้ามาเผยแพร่เชื้อให้คนอื่นได้

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า