Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

ราคาบิตคอยน์ที่โดนทุบแล้วทุบอีกในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา จนลดฮวบลงไปแตะระดับต่ำสุดที่กว่า 30,000 ดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากกระแสข่าวต่างๆ ที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ไม่ว่าจะเป็นกรณีของอีลอน มัสก์ ทวีตประกาศยกเลิกการใช้บิตคอยน์ซื้อเทสลา รวมถึงข่าวประเทศจีนแบนธุรกรรมคริปโทเคอร์เรนซี่

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์หลายคนประเมินว่า แม้ข่าวสารจะมีผลกระทบ แต่ราคาบิตคอยน์ที่ร่วงลงในช่วงนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะนี่เป็นช่วงเวลาครบ 1 ปีหลังจากปรากฏการณ์ ‘บิตคอยน์ ฮาล์ฟวิ่ง’ (Bitcoin Halving) ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาบิตคอยน์จะร่วงลงมาหลังจากขึ้นไปแตะระดับสูงสุด

แล้วจริงๆ บิตคอยน์ ฮาล์ฟวิ่ง คืออะไร? ลองมาทำความเข้าใจกัน

ทำความเข้าใจการขุด

ก่อนจะไปถึงเรื่องบิตคอยน์ ฮาล์ฟวิ่ง อาจต้องทำความเข้าใจถึงการขุดบิตคอยน์กันก่อน

อย่างที่หลายคนทราบดีว่า บิตคอยน์ถูกสร้างขึ้นมาให้มีระบบการทำธุรกรรมแบบไร้ศูนย์กลาง โดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนในการบันทึกธุรกรรม

จุดเด่นของเทคโนโลยีบล็อกเชน คือ เป็นระบบที่เก็บข้อมูลไว้บนเครื่องคอมพิวเตอร์ในเครือข่ายนับล้านเครื่องทั่วโลก ซึ่งข้อมูลเหล่านั้นจะเป็นข้อมูลธุรกรรมชุดเดียวกันทั้งหมด และมีการตรวจสอบข้อมูลให้ตรงกันอยู่เสมอ จึงทำให้การปลอมแปลงข้อมูลทำได้ยากมาก

ทีนี้ถ้าเกิดว่ามีข้อมูลหรือธุรกรรมชุดใหม่ที่ต้องบันทึกลงไปในระบบ จะทำอย่างไรให้เครือข่ายเห็นตรงกันว่าข้อมูลธุรกรรมนั้นถูกต้อง?

คำตอบก็คือ บล็อกเชนของบิตคอยน์ใช้ระบบที่เรียกว่า Proof-of-Work ซึ่งเป็นการที่เครื่องคอมพิวเตอร์ในเครือข่ายต้องแข่งกันเดาตัวเลขเพื่อแก้ไขสมการทางคณิตศาสตร์ เพื่อแลกกับสิทธิ์ในการรับรองธุรกรรมและเพิ่มข้อมูลชุดใหม่ หรือที่เรียกว่าการเพิ่มบล็อกใหม่เข้าไปในระบบบล็อกเชน และกระบวนการนี้เองที่เรียกว่า ‘การขุด’ ทำให้เรียกคอมพิวเตอร์ที่เข้ามาแข่งกันเดาตัวเลขว่านักขุด

โดยนักขุดที่สามารถเดาตัวเลขและแก้สมการได้เป็นคนแรก จะได้รับรางวัลเป็น ‘เหรียญบิตคอยน์ใหม่’ นั่นเอง

แล้วบิตคอยน์ ฮาล์ฟวิ่งคืออะไร

นอกจากบิตคอยน์จะถูกสร้างขึ้นมาในจำนวนจำกัด คือ 21 ล้านเหรียญแล้ว ‘ซาโตชิ นากาโมโต’ ผู้สร้างบิตคอยน์ ยังสร้างระบบที่ทำให้ไม่สามารถสร้างบิตคอยน์ได้เร็วเกินไป เพราะจะทำให้เกิดภาวะบิตคอยน์เฟ้อได้

วิธีการของซาโตชิคือการฝังคำสั่งไว้ในเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งกำหนดว่า “ทุกๆ ครั้งที่พบบล็อกใหม่จำนวน 210,000 บล็อก ให้ระบบลดจำนวนรางวัลลงครึ่งหนึ่ง”

ขณะที่การสร้างบล็อกแต่ละบล็อกจะใช้เวลา 10 นาที นั่นเท่ากับว่า การพบบล็อกใหม่จำนวน 210,000 บล็อก จะใช้เวลา 2,100,000 นาที หรือเป็นเวลาประมาณ 4 ปี

และการที่รางวัลจากการขุดลดลงครึ่งหนึ่งทุกๆ 4 ปี เรียกว่าปรากฏการณ์ ‘บิตคอยน์ ฮาล์ฟวิ่ง’ หรือเป็นการสร้างสมดุลขึ้นในระบบเพื่อป้องกันปัญหาบิตคอยน์เฟ้อในอนาคต

ในช่วงแรกที่มีการขุดบิตคอยน์ หรือในปี 2009 นักขุดที่แก้สมการสำเร็จเป็นคนแรกจะได้รับรางวัลอยู่ที่ 50 บิตคอยน์/บล็อก

กระทั่งเกิดฮาล์ฟวิ่งครั้งแรกคือในปี 2012 รางวัลที่ได้จากการขุดลดลงเหลือ 25 บิตคอยน์/บล็อก

ถัดมาคือครั้งที่ 2 ในปี 2016 รางวัลลดลงเหลือ 12.5 บิตคอยน์/บล็อก

และครั้งล่าสุดคือวันที่ 11 พ.ค. 2020 รางวัลลดลงเหลือ 6.25 บิตคอยน์/บล็อก

ส่วนครั้งถัดไปคาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้นในอีก 3 ปีข้างหน้า หรือในปี 2024 ซึ่งรางวัลจะลดลงเหลือ 3.125 บิตคอยน์/บล็อก

และหากคำนวณดูแล้ว บิตคอยน์ทั้งหมด 21 ล้านเหรียญ จะถูกขุดออกมาจนครบในปี 2140 นั่นเอง

วัฏจักรที่สมดุล

นักขุดที่หวังสร้างรายได้และขุดบิตคอยน์เป็นอาชีพ อาจมองว่าฮาล์ฟวิ่งนั้นสร้างผลร้ายต่อนักขุด เพราะพวกเขาได้รางวัลต่อบล็อกน้อยลง

แต่ในความจริงแล้วไม่ได้เป็นแบบนั้น เพราะการเกิดบิตคอยน์ใหม่ยังถูกควบคุมด้วยระบบอีกหนึ่งระบบที่เรียกว่า Difficulty หรือการใช้ความยากง่ายของการขุดมาควบคุมการเกิดบิตคอยน์ รวมถึงควบคุมดีมานด์และซัพพลายในตลาดด้วย

กล่าวคือ เมื่อบิตคอยน์ราคาสูง ทำให้บิตคอยน์เป็นที่ต้องการจนดึงนักขุดเข้ามาในตลาดมากขึ้น การแข่งขันที่รุนแรงและแรงขุดที่มหาศาล ทำให้นักขุดอาจสามารถสร้างบล็อกในเวลาที่น้อยกว่า 10 นาทีได้ แต่เพื่อให้ระบบสมดุล ระบบก็จะยิ่งสร้างโจทย์ให้ยากขึ้นโดยอัตโนมัติ

พอเจอโจทย์ที่ยากขึ้น นักขุดแต่ละรายก็ต้องยิ่งใช้ทรัพยากรที่สูงขึ้น ทำให้บางรายที่ใช้ทรัพยากรที่ไม่ดีพอ หรือมองว่าไม่คุ้มทุนต้องออกจากตลาดไป

และเมื่อนักขุดเริ่มน้อยลง ระบบก็จะลดความยากลงด้วย เพื่อดึงดูดใจนักขุดที่ยังอยู่ในตลาดให้แก้โจทย์ได้ง่ายขึ้น พอโจทย์ง่ายขึ้น นักขุดก็จะแห่กันเข้ามาใหม่ วนแบบนี้เป็นวัฏจักร

ฮาล์ฟวิ่งส่งผลอย่างไรต่อราคาบิตคอยน์?

หากลองสังเกตการปรากฏการณ์บิตคอยน์ ฮาล์ฟวิ่ง ในแต่ละครั้ง จะพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงราคาบิตคอยน์ในลักษณะคล้ายกันอยู่บ้าง คือ

ฮาล์ฟวิ่งครั้งที่ 1 ในปี 2012 ราคาบิตคอยน์ค่อยๆ ปรับตัวขึ้นจาก 12.2 ดอลลาร์ ไปทำนิวไฮที่ 1,242 ดอลลาร์ในปี 2013 หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 10,000% แต่หลังจากนั้นราว 1 ปี ราคาก็ลดลงมาอยู่ที่ราว 200 ดอลลาร์ หรือลดลงมากว่า 80%

ฮาล์ฟวิ่งครั้งที่ 2 ในปี 2016 ราคาบิตคอยน์ค่อยๆ ปรับขึ้นจาก 652 ดอลลาร์ ไปทำนิวไฮที่ 20,000 ดอลลาร์ในกลางปี 2017 หรือเพิ่มขึ้นราวๆ 3,000% ก่อนจะร่วงลงมาอยู่ที่ราคาราว 3,000 ดอลลาร์ หรือลดลงประมาณ 80%

และฮาล์ฟวิ่งครั้งที่ 3 หรือครั้งนี้ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2020 ราคาบิตคอยน์ค่อยๆ ขยับขึ้นจากประมาณ 3,000 ดอลลาร์ ขึ้นไปทำนิวไฮที่เหนือระดับ 63,000 ดอลลาร์ในช่วงเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา หรือเพิ่มขึ้นราว 1,900% ก่อนจะปรับลดลงมาที่ระดับ 40,000 ดอลลาร์ในปัจจุบัน

จะเห็นได้ว่า เมื่อเกิดปรากฏการณ์ฮาล์ฟวิ่ง ราคาบิตคอยน์จะมีการเติบโตอย่างเป็นวัฏจักร คือ พุ่งขึ้นในช่วงปีแรก, ร่วงลงในปีถัดมา, เริ่มนิ่งติดดอย และเติบโตจนทำนิวไฮอีกรอบ

และหากสังเกตดีๆ จะพบว่า ในช่วงที่ราคาร่วงลงหลังจากพุ่งขึ้นไปทำนิวไฮแต่ละครั้ง ไม่มีครั้งไหนที่ราคาร่วงลงไปจนต่ำกว่าระดับราคาก่อนเข้าฮาล์ฟวิ่งเลย ทำให้นักลงทุนหลายคนใช้โอกาสช่วงราคาร่วง ช้อนซื้อบิตคอยน์ไว้ทำกำไรในฮาล์ฟวิ่งครั้งถัดไป

การเปลี่ยนแปลงของราคาบิตคอยน์ในปรากฏการณ์ฮาล์ฟวิ่ง ยังสัมพันธ์กับกฎดีมานด์และซัพพลายด้วย

กล่าวคือ เมื่อเกิดฮาล์ฟวิ่ง มีเหรียญเกิดใหม่น้อยลง แต่จำนวนคนสนใจบิตคอยน์เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาพุ่งสูงขึ้นอย่างแรง

และเมื่อราคาพุ่งขึ้นไป นักลงทุนบางรายที่ตุนบิตคอยน์ไว้ก็จะเทขายเพื่อนำเงินออกมา จนส่งผลให้ราคาร่วง ซึ่งเมื่อราคาลดลง นักลงทุนที่เคยออกจากตลาดไปก็กลับมาสนใจบิตคอยน์ใหม่และเข้าสู่ตลาดอีกครั้งนั่นเอง

สำหรับครั้งนี้ที่ราคาร่วงลงแรง แม้จะยังตอบได้ไม่ชัดว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์ฮาล์ฟวิ่งหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ คือ กระแสข่าวลบต่างๆ เข้ามามีผลกับราคาบิตคอยน์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

และแม้คนในวงการคริปโทฯ หลายคนจะเชื่อว่า ความสนใจจากนักลงทุนรายย่อยที่ยังมีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงข่าวการเข้ามาลงทุนของผู้เล่นรายใหญ่ๆ จะสร้างความเชื่อมั่นและช่วยพยุงราคาบิตคอยน์ให้ไม่ต่ำลึกไปกว่านี้ แต่ท้ายที่สุด ขึ้นชื่อว่าการลงทุน ผู้สนใจก็ควรต้องศึกษาให้รอบคอบ และคำนึงถึงความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุนทุกครั้งอยู่ดี…

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า