SHARE

คัดลอกแล้ว

หนึ่งในสงครามการค้าครั้งที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์กำลังปะทุอยู่ในขณะนี้ระหว่างจีนและสหรัฐฯ มูลค่าของสินค้าที่ทั้งคู่ตั้งกำแพงภาษีใส่กันมีมูลค่ารวมกว่า 360,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 11 ล้านล้านบาท และแม้สงครามการค้าครั้งนี้จะยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลาย แต่ก็ดูเหมือนว่าทางฝั่งจีนกำลังจะไพ่หมดมือ และแทบไม่เหลืออะไรไว้ให้ต่อรองกับสหรัฐฯ ได้อย่างมีประสิทธิผลอีก

1. จะเข้าใจเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนได้ ต้องย้อนไปเมื่อปี 2017 ซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ ได้ทำรายงานการสืบสวนออกมาชิ้นหนึ่งตามคำสั่งของประธาธิบดีทรัมป์ โดยพยายามจะตอบคำถามว่า จีนมีการใช้กฎทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมเพื่อขโมยทรัพย์สินทางปัญญาและเทคโนโลยีของสหรัฐฯ หรือไม่

โดยผลการสืบสวนของทางฝั่งสหรัฐฯ สรุปออกมาว่า วิถีทางการค้าที่ทางจีนใช้นั้นไม่เป็นธรรม ส่งผลให้ทรัพย์สินทางปัญญาและเทคโนโลยีของสหรัฐฯ รั่วไหลไปยังบริษัทจีน เช่นกฎที่จำกัดการถือหุ้นของชาวต่างชาติในจีน ซึ่งบังคับให้บริษัทต่างชาติที่จะเข้าไปลงทุนในจีนจะต้องอยู่ในรูปบริษัทร่วมทุน หรือ Joint-venture กับบริษัทสัญชาติจีน ซึ่งทำให้สุดท้ายเทคโนโลยีของบริษัทจากสหรัฐฯ ตกไปอยู่ในมือบริษัทจีนอย่างไม่เป็นธรรม

2. เพื่อตอบโต้วิถีทางการค้าที่ทางสหรัฐฯ มองว่าไม่เป็นธรรมดังกล่าว สหรัฐฯ จึงเริ่มการตอบโต้เพื่อลงโทษจีน โดยขึ้นภาษีศุลกากร 25% จากสินค้านำเข้าจากจีนระลอกแรกเป็นมูลค่า 34,000 ล้านดอลลาร์ เป้าหมายของการขึ้นภาษีครั้งนี้ก็คือ เมื่อสหรัฐฯ ขึ้นภาษีสินค้าที่นำเข้ามาจากจีนแล้ว สินค้าจากจีนที่โดนภาษีนี้ก็จะราคาแพงขึ้นสำหรับผู้บริโภคในสหรัฐฯ คนสหรัฐฯ ก็จะซื้อสินค้าเหล่านี้จากจีนน้อยลง การขึ้นภาษีระลอกแรกนี้เกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคม 61

3. แต่จีนก็ไม่ได้อยู่เฉยๆ เพราะในช่วงเวลาเดียวกัน จีนก็ได้ประกาศขึ้นกำแพงภาษีตอบโต้ทางสหรัฐฯ เช่นกัน โดยจีนประกาศเก็บภาษีศุลกากร 25% จากสินค้าที่นำเข้าจากสหรัฐฯ เป็นมูลค่า 34,000 ล้านดอลลาร์ เท่ากับที่สหรัฐฯ ตั้งภาษีกับสินค้าจีน

4. แต่กำแพงภาษีดังกล่าวที่ทั้งจีนและสหรัฐฯ ตั้งใส่กันนั้น ยังมีนัยอื่นแฝงอยู่ด้วย เพราะกำแพงภาษีที่ทางสหรัฐฯ ตั้งระลอกแรกนี้ ส่วนหนึ่งเน้นไปที่สินค้าเทคโนโลยี เช่น สินค้าเกี่ยวกับเครื่องบิน รถยนต์ และหุ่นยนต์ ซึ่งมองกันว่าเป็นการขัดขาโครงการ “Made in China 2025” ที่จีนตั้งใจไว้ว่าจะพัฒนาอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของตัวเองจนพึ่งตนเองได้ในปี 2025

ส่วนทางจีนเองก็แสบไม่แพ้กัน เพราะกำแพงภาษี 34,000 ล้านดออลาร์ระลอกแรกนี้ เน้นไปที่สินค้าเกษตร เช่น ถั่วเหลือง ซึ่งปลูกอยู่ในบริเวณตอนกลางของสหรัฐฯ และถือเป็นฐานเสียงสำคัญของประธานาธิบดีทรัมป์ การตั้งกำแพงภาษีครั้งนี้ของจีนจึงทั้งกระทบเกษตรกรสหรัฐฯ และกระทบฐานเสียงของทรัมป์ด้วยในเวลาเดียวกัน

5. หลังจากนั้นในเดือนสิงหาคม 61 ทั้งสหรัฐฯ และจีนก็มีการเพิ่มกำแพงภาษีใส่กันอีก โดยทั้งคู่ขึ้นภาษีศุลกากรของสินค้านำเข้าของกันและกันเป็นมูลค่าฝั่งละ 16,000 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้โดยรวมเมื่อรวมกับการขึ้นภาษีในระลอกแรก ทั้งสองประเทศตั้งกำแพงภาษีนำเข้าใส่กันแล้วเป็นมูลค่าฝั่งละ 50,000 ล้านดอลลาร์

แต่นี่จะเป็นครั้งสุดท้าย ที่ทางฝั่งจีนจะขึ้นภาษีตอบโต้สหรัฐฯ ได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ

6. เพราะต่อมาในเดือนกันยายน ทางสหรัฐฯ ได้ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนเพิ่มอีก 10% ในสินค้าเกือบ 6 พันรายการที่มีมูลค่าสินค้ารวมกันกว่า 200,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนทางจีนนั้น สามารถขึ้นภาษีสินค้าที่นำเข้ามาจากสหรัฐฯ ตอบโต้ได้เป็นมูลค่าเพียง 60,000 ล้านดอลลาร์เท่านั้น

7. จะเข้าใจว่าทำไมจีนจึงตอบโต้สหรัฐฯ ได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยเหมือน 2 ระลอกแรก จะต้องเห็นตัวเลขมูลค่าการนำเข้าและส่งออกระหว่างกันของสองประเทศนี้ก่อน โดยตัวเลขจากปี 2018 พบว่าสหรัฐฯ นำเข้าสินค้าจากจีนเป็นมูลค่า 539,500 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่จีนนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ น้อยกว่าที่เพียง 120,300 ล้านดอลลาร์เท่านั้น พูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ สหรัฐฯ ซื้อของจากจีน มากกว่าที่จีนซื้อของจากสหรัฐฯ หลายเท่าตัว

และทั้ง 3 ระลอกรวมกัน จีนก็ขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ รวมกันเป็นมูลค่ากว่า 110,000 ล้านดอลลาร์แล้ว จากสินค้านำเข้าทั้งหมดมูลค่า 120,300 ล้านดอลลาร์ จีนจึงแทบไม่เหลือสินค้าอะไรที่จะสามารถขึ้นภาษีศุลกากรเพื่อตอบโต้สหรัฐฯ ได้อีก สินค้านำเข้าที่เหลือก็เช่น หนังฮอลลีวู้ด เป็นต้น ซึ่งจีนก็คงไม่ต้องการขึ้นภาษีของพวกนี้

ส่วนสหรัฐฯ เอง จากทั้ง 3 ระลอก สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนไปแล้วเป็นมูลค่ารวม 250,000 ล้านดอลลาร์ แต่เพราะในแต่ละปีสหรัฐฯ นำเข้าสินค้าจากจีนมากกว่าจำนวนดังกล่าวมาก (มากกว่า 500,000 ล้านดอลลาร์) ทำให้ในเดือนพฤษภาคมปีนี้ ทางด้านประธานาธิบดีทรัมป์ของสหรัฐฯ จึงสามารถขู่ทางจีนได้เพิ่ม ว่าอาจเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนอีกกว่า 300,000 ล้านดอลลาร์ที่เหลือ

เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ จึงดูเหมือนว่าทางจีนไพ่หมดมือในสงครามการค้าครั้งนี้แล้ว

8. แต่ก็ใช่ว่าจีนจะไพ่หมดมือจริงๆ เสียทีเดียว เพราะว่าจีนยังมีสินค้าอีกอย่างหนึ่งที่ทางสหรัฐฯ ต้องการอย่างมาก นั่นคือ สินแร่หายาก หรือ rare-earth element ซึ่งจำเป็นต่อการผลิตสินค้าเทคโนโลยีต่างๆ โดยประเมินกันว่าเฉพาะที่จีนที่เดียวมีสินแร่หายากที่ว่านี้อยู่กว่า 1 ใน 3 ของที่มีทั่วโลก

และที่ผ่านมาสหรัฐฯ ก็ต้องพึ่งสินแร่หายากนี้จากจีน โดยในช่วงปี 2014-2017 สหรัฐฯ ต้องนำเข้าสินแร่หายากจากจีนคิดเป็นสัดส่วนกว่า 80% อีกทั้งจีนยังเคยใช้สินแร่หายากนี้ในการงัดข้อทางการเมืองกับประเทศอื่นมาแล้วในอดีต ในปี 2010 ชาวประมงของจีนคนหนึ่งถูกทางการญี่ปุ่นจับตัวฐานรุกล้ำน่านน้ำ ทางจีนจึงหยุดการส่งสินแร่หายากให้ญี่ปุ่น ส่งผลให้ญี่ปุ่นต้องปล่อยชาวประมงจีนคนดังกล่าวทันที

และในวันนี้ ทางรัฐบาลจีนดูเหมือนจะแสดงออกอย่างค่อนข้างชัดเจนว่าอาจจะใช้สินแร่หายากนี้เป็นข้อต่อรองกับสหรัฐฯ โดยประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีนได้เดินทางไปยังโรงงานผลิตสินแร่หายากของจีนที่มณฑลเจียงซี (Jiangxi) ทางตอนใต้ของประเทศ

9. ผลจากสงครามการค้าครั้งนี้ถึงปัจจุบัน สหรัฐฯ ตั้งกำแพงภาษีต่อสินค้านำเข้าจากจีนแล้วเป็นมูลค่ารวม 250,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนจีนสามารถตั้งกำแพงภาษีตอบโต้ได้เป็นมูลค่าเพียง 110,000 ล้านดอลลาร์เท่านั้น

ฉะนั้นแล้ว สถานการณ์ล่าสุดของสงครามการค้าครั้งนี้ จึงดูเหมือนว่าสหรัฐฯ อยู่ในฐานะได้เปรียบ แต่ก็ต้องดูต่อไปว่าทางสหรัฐฯ จะขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่าอีกกว่า 300,000 ล้านดอลลาร์ตามที่ขู่หรือไม่ เพราะมีการประเมินกันว่าหากมีการขึ้นภาษีในส่วนนี้จริง ไม่ใช่แค่จีนที่จะได้รับผลกระทบ แต่ธุรกิจในสหรัฐฯ ก็จะได้รับผลกระทบด้วย โดยประเมินกันว่าจะทำให้บริษัทในสหรัฐฯ โดยรวมกำไรลดลง 6%

ส่วนทางด้านจีนเอง ก็ต้องดูต่อไปว่าจะใช้ไพ่การค้าในมือใบสุดท้ายอย่างสินแร่หายากในการต่อรองกับสหรัฐฯ หรือไม่

10. สำหรับผลกระทบของสงครามการค้าครั้งนี้ ก็จะส่งผลให้สินค้าต่างๆ ในสองประเทศนี้ โดยเฉพาะสินค้าที่อยู่ในลิสต์ที่ถูกขึ้นภาษีศุลกากรจากสงครามการค้าราคาแพงขึ้น แต่สำหรับประเทศไทยที่อยู่วงนอกของความขัดแย้งครั้งนี้ ก็อาจได้ประโยชน์จากการที่สองประเทศนี้หาสินค้าที่ถูกกว่าจากประเทศอย่างไทยไปทดแทน

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า