SHARE

คัดลอกแล้ว

หลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ แบงก์ชาติ ประกาศนโยบายสำคัญคือการเปิดทางให้จัดตั้ง ‘ธนาคารพาณิชย์ที่ดำเนินธุรกิจบนช่องทางดิจิทัล’ (Virtual Bank) ได้

โดยจุดประสงค์หลักคือเพื่อให้ผู้เล่นรายเก่าและรายใหม่ มีการแข่งขันกันพัฒนานวัตกรรมและบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ๆ ที่จะตอบโจทย์ผู้คนได้มากขึ้น

แต่ที่หลายคนสงสัยก็คือ Virtual Bank ที่ว่าคืออะไร? แตกต่างจากธนาคารแบบเดิมอย่างไรบ้าง? และในเมื่อทุกวันนี้สังคมไร้เงินสดก็สะดวกสบายอยู่แล้ว ทำไมต้องมีธนาคารเสมือนอีก?

TODAY Bizview สรุปมาให้ทุกคนได้อ่านกัน

[ ธนาคารไร้สาขา ]

Virtual Bank แปลตรงๆ ก็คือธนาคารเสมือนจริง แต่ที่หลายคนนิยมใช้กันมากกว่าก็คือ ‘ธนาคารไร้สาขา’ เนื่องจาก Virtual Bank เป็นธนาคารพาณิชย์ที่ไม่มีสาขาในโลกจริง และให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลตลอดทั้งกระบวนการในการให้บริการนั่นเอง

โดยส่วนใหญ่มีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นลูกค้ารายย่อยหรือบุคคลทั่วไป และ SMEs

อธิบายภาพให้ชัดมากกว่าเดิม Virtual Bank จะมีลักษณะสำคัญๆ ดังนี้

-ไม่มีจุดให้บริการที่มีสถานที่ตั้งทางกายภาพ คือ ไม่มีสาขา หรือแม้แต่ตู้ ATM แต่มีที่ตั้งของสำนักงานบริษัทได้

-การให้บริการต่างๆ ทำผ่านช่องทางดิจิทัลหมด ไม่ว่าจะเป็น การเปิดบัญชีใหม่, ฝากเงิน, โอนเงิน, ชำระเงิน, การให้สินเชื่อ, ลงทุน รวมไปถึงการติดต่อสอบถาม หรือแม้แต่ร้องเรียน ก็ติดต่อผ่านช่องทางดิจิทัลที่ธนาคารกำหนด

แต่จุดสำคัญที่ทำให้ Virtual Bank แตกต่างจากธนาคารพาณิชย์แบบเดิมอย่างชัดเจน ก็คือเรื่องระบบคอมพิวเตอร์หลักที่ใช้บริหารจัดการธนาคาร หรือ Core banking system

เพราะ Core banking system ของธนาคารดั้งเดิมส่วนใหญ่ถูกพัฒนาจากเทคโนโลยีเก่าที่ขาดความยืดหยุ่นในการดำเนินงาน ไปเชื่อมกับระบบอื่นลำบาก และมีข้อจำกัดในเรื่องกฎเกณฑ์กำกับดูแล

และแม้ว่าแทบทุกธนาคารจะปรับปรุงระบบใหม่แล้ว แต่บริการทางดิจิทัลต่างๆ ที่เราใช้จากธนาคาร ไม่ว่าจะเป็น Internet Banking และ Mobile Banking แต่ก็ยังใช้ Core banking system เดิม ควบคู่ไปกับสาขาของธนาคาร หรือแม้พัฒนาระบบขึ้นใหม่แต่ก็ยังใช้โครงสร้างพื้นฐานเดิมอื่นๆ อยู่

ส่วน Virtual Bank ที่พัฒนาขึ้นมาบนระบบดิจิทัลอยู่แล้ว ระบบจึงเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มีความยืดหยุ่นสูงกว่า เชื่อมต่อกับระบบอื่นได้ง่ายกว่า ทำให้พัฒนาบริการทางการเงินใหม่ๆ ได้มากกว่านั่นเอง

[ นานาสารพัดข้อดี ]

ถ้าจะถามว่าแล้ว Virtual Bank มีข้อดีอย่างไร ลองมาดู

ในมุมของธนาคาร หลักๆ เลยคือ ‘ต้นทุนถูกลง’ เพราะเมื่อไม่ต้องมีสาขา ธนาคารก็ไม่ต้องลงทุนไปกับการทำสาขา ปรับปรุงสถานที่ จ่ายค่าที่แพงๆ เพื่อให้ได้ทำเลดีๆ ไม่ต้องใช้เงินไปกับค่าบุคลากรด้วย

และเมื่อต้นทุนลดลงไปมาก มีสาขาเป็นหน้าจอสมาร์ทโฟน ทำให้ลดค่าธรรมเนียมการให้บริการลงไปได้มากเช่นกัน และผลประโยชน์ก็กลับมาอยู่ที่ลูกค้านั่นเอง

นอกจากนี้ เมื่อใช้ระบบคอมพิวเตอร์แบบใหม่ ไฮเทคล้ำสมัย อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่น้อยลง ก็ทำให้ธนาคารเสมือนจริงสามารถพัฒนาบริการใหม่ๆ ที่มาตอบความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น

ขณะที่ในมุมผู้บริโภค คือได้รับบริการที่สะดวกมากขึ้น

ยกตัวอย่าง การเปิดบัญชีใหม่ของธนาคารดั้งเดิมชื่อดังในอังกฤษ ที่สำหรับชาวต่างชาติแล้ว ต้องไปที่สาขาก่อนเพื่อจองคิว หลังจากนั้นก็กลับมาเตรียมเอกสารมากมายเพื่อไปเปิดบัญชีในวันที่นัดหมาย

และแม้พนักงานจะใช้แท็บเล็ตในการเปิดบัญชี, สมัคร Internet Banking และทำบัตรเดบิตให้ ก็ยังใช้เวลาถึง 45 นาที นอกจากนี้ลูกค้าก็ยังต้องรอถึง 7 วันกว่าจะได้รับบัตรเดบิตและรหัส PIN ส่งมาให้ที่บ้าน

ส่วนการเปิดบัญชีกับธนาคารไร้สาขาชื่อดังในอังกฤษอย่าง Monzo และ Starling ทำได้ง่ายๆ เพียงแค่ดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นมา อัปโหลดรูปถ่ายเอกสาร ยืนยันตัวเองง่ายๆ ผ่านคลิปวิดีโอ ก็เปิดบัญชีได้ในเวลาไม่ถึง 10 นาที และใช้เวลาเพียง 2 วันก็ได้บัตรเดบิตพร้อมใช้งานส่งมาให้ที่บ้าน

ข้อดีอื่นๆ ของ Virtual Bank ในแง่ภาพรวมของธุรกิจธนาคาร คือแน่นอนว่าทำให้ผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาในตลาดมากขึ้น ผู้เล่นรายเดิมก็มีแนวทางที่ยืดหยุ่นมากขึ้น คือทำ Virtual Bank ของตัวเองออกมาได้ เกิดการแข่งขันกันพัฒนาโปรดักต์ให้ตอบโจทย์ผู้บริโภค มีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมา ทั้งเงินฝากและสินเชื่อ

[ ประเทศไหนใช้แล้วบ้าง ]

นอกจากอังกฤษดังที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว Virtual Bank นั้นเริ่มใช้แล้วในหลายประเทศทั่วโลก ทั้งยังเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย ลองมาดูตัวอย่าง

-เยอรมนี ต้นกำเนิดธนาคารเสมือนแห่งแรกของโลกคือ N26 จุดเด่นคือเปิดบัญชีที่ใช้เวลาเพียง 5 นาที มีผลิตภัณฑ์เป็นบัญชีเงินฝากกระแสรายวันและบัตรเครดิตที่ใช้จ่ายได้ทั่วโลกผ่าน MasterCard โดยไม่คิดค่าธรรมเนียม

-ญี่ปุ่น มีมากมายหลายเจ้า ทั้ง Seven Bank, Sony Bank, Rakuten Bank, Aeon Bank โดยลูกค้าถอนเงินผ่านร้านสะดวกซื้อ เช่น 7-Eleven ได้ด้วย

-ออสเตรเลีย มี Volt Bank ให้บัญชีเงินฝากดอกเบี้ยสูงกว่าธนาคารดั้งเดิม และมีแอปที่ลูกค้าจัดการบัญชีเองได้เพื่อป้องกันไม่ให้ใช้จ่ายมากเกินไป

-ฮ่องกง มีธนาคารเสมือนได้รับอนุญาตให้จัดตั้งแล้วหลายราย เช่น Ant SME Services, Infinium Limited, Insight Fintech HK Limited เป็นต้น

-จีน มี MY Bank ของ Ant Financial (Alibaba Group Holding) เน้นปล่อยสินเชื่อให้ธุรกิจรายย่อยเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น

[ แล้วในไทยตอนนี้เป็นอย่างไร? ]

ในประเทศไทยตอนนี้ แม้จะมีบริการเปิดบัญชีออนไลน์ได้แล้วในหลายธนาคาร แต่ก็พบว่าส่วนใหญ่ยังต้องให้ยืนยันตัวตนผ่านระบบ NDID

หรือบางแห่งให้ไปยืนยันตัวตนที่ตู้ ATM หรือที่สาขาอีกครั้งหนึ่ง จึงจะสามารถเปิดบัญชีและใช้บริการต่างๆ ได้อย่างสมบูรณ์แบบ

ที่คลับคล้ายคลับคลาว่าจะไปในทางธนาคารเสมือนได้ ก็คือแอปพลิเคชั่น Kept จากแบงก์กรุงศรีฯ ซึ่งเป็นแอปฯ ตัวช่วยในการออมเงิน เจาะตลาดไปที่กลุ่มคนรุ่นใหม่

ส่วนที่แบงก์ชาติกำลังสนับสนุนและผลักดัน Virtual Bank นั้น ลักษณะคร่าวๆ ที่กำหนดไว้ คือ มีขอบเขตการดำเนินธุรกิจเหมือนธนาคารดั้งเดิม อยู่ภายใต้การกำกับดูแลเหมือนธนาคารดั้งเดิม

และจดทะเบียนจัดตั้งหรือมีสำนักงานใหญ่ในประเทศไทย เพื่อให้แบงก์ชาติกำกับดูแลการทำธุรกิจในไทยได้

โดยหลังจากแบงก์ชาติปิดรับฟังความคิดเห็น ก็จะออกร่างหลักเกณฑ์การขออนุญาตจัดตั้ง Virtual Bank ภายในครึ่งปีแรกของปี 2565

ท้ายที่สุดคือถ้าเสร็จเมื่อไหร่ เชื่อว่าวงการธนาคารคงมีสีสันมากขึ้น ส่วนผู้บริโภคอย่างเราๆ ก็คงสัดวกขึ้น และมีตัวเลือกการใช้บริการมากขึ้นแน่นอน

อ้างอิง:

https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/DocLib_/Article_13May2021-3.pdf

https://www.bot.or.th/Thai/BOTMagazine/Pages/2565_01theknowledge_1.aspx

https://techsauce.co/news/bank-of-thailand-virtual-bank-fintech-future-of-financial

https://forbesthailand.com/commentaries/insights/virtual-banking-%E0%B8%98%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%99-%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%87%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B9%81.html

https://www.bangkokbank.com/-/media/files/international-banking—chinese-customers/news-and-articles/articles/virtualbanking.pdf?la=en&hash=21D3B0E3A30177A1115485C1A4D62696541DA5EC#:~:text=’%25E0%25B8%2581%25E0%25B8%25B2%25E0%25B8%25A3%25E0%25B8%2598%25E0%25B8%2599%25E0%25B8%25B2%25E0%25B8%2584%25E0%25B8%25B2%25E0%25B8%25A3%25E0%25B9%2580%25E0%25B8%25AA%25E0%25B8%25A1%25E0%25B8%25B7%25E0%25B8%25AD%25E0%25B8%2599%25E0%25B8%2588%25E0%25B8%25A3%25E0%25B8%25B4%25E0%25B8%2587’%2520%25E0%25B8%2584%25E0%25B8%25B7%25E0%25B8%25AD,%25E0%25B8%2596%25E0%25B8%25A

http://www.kriengsak.com/Trends-of-21st-Century-Banking-Finance

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า