SHARE

คัดลอกแล้ว

ซีรีส์เกาหลีจาก Netflix ที่มาแรงสุดๆ ส่งท้ายปีนี้ ถึงกับทำให้คอซีรีส์ลงแดง นับวันรอว่าเมื่อไรจะถึงสุดสัปดาห์ ต้องยกให้เรื่อง ‘When The Phone Rings’ (지금 거신 전화는) ซีรีส์แนว Romantic thriller ของช่อง MBC ซึ่งดัดแปลงมาจากนิยายออนไลน์ใน Kakaopage

 

‘When The Phone Rings’ เป็นเรื่องราวของคู่รักคลุมถุงชนคู่หนึ่ง ฝ่ายชายแพคซาออนรับบทโดย ยูยอนซอก โฆษกประจำทำเนียบประธานาธิบดี เกิดในตระกูลนักการเมืองชื่อดัง ต้องมาแต่งงานสานสัมพันธ์ เพื่อผลประโยชน์ของครอบครัวกับฝ่ายหญิง ฮงฮีจูรับบทโดย แชซูบิน ล่ามภาษามือ ลูกสาวคนรองของประธานช็องอุนเดลี่ บริษัทสื่อยักษ์ใหญ่ของเกาหลี เธอมีอาการผิดปกติทางการพูด ตั้งแต่ประสบอุบัติเหตุในวัยเด็ก

ทั้งที่ความจริง เจ้าสาวที่ถูกวางตัวไว้แต่ต้น คือ ฮงอินอารับบทโดย ฮันแจอี ลูกสาวคนโตของประธานช็องอุนเดลี่ แต่เธอกลับหายไปในคืนก่อนวันแต่ง ฮงฮีจูจึงต้องมารับบทเจ้าสาวแทนพี่สาว 

แม้ว่าเธอจะพยายามทำตัวเป็นภรรยาที่ดี แต่แพคซาออนกลับปฏิบัติต่อเธอ เหมือนไม่ใช่ภรรยา ห้ามไม่ให้เธอเปิดเผยชื่อ ตัวตน และสถานะของเธอ ความสัมพันธ์ของพวกเขาถึงได้ค่อนข้างห่างเหิน และต่างเย็นชาใส่กัน กระทั่งวันหนึ่ง แพคซาออน ได้รับโทรศัพท์สายปริศนา ว่าได้ลักพาตัวฮงฮีจูไป นับจากนั้น ความสัมพันธ์ของซาออนและฮีจูก็ดูจะต่างไปจากเดิม….

ไม่เพียงคาแร็กเตอร์ และเนื้อเรื่องที่ดึงดูดให้ผู้ชมติดตาม ซีรีส์ยังบอกเล่าค่านิยมทางสังคมของเกาหลีใต้ไว้ จนอดตั้งคำถามไปไม่ได้ ทั้งอาชีพของพระนางในเรื่องก็น่าสนใจเป็นพิเศษ บทความนี้จะขอพาทุกท่านไปอิน(ไซต์) When The Phone Rings ในมุมมองใหม่ๆ กัน

[เมื่อไรกันนะ ที่การแต่งงานอาจไม่ได้เริ่มด้วยความรัก]

ในวัฒนธรรมดั้งเดิมของเกาหลี อย่างในสมัยโชซอน การแต่งงานระหว่างชายกับหญิงจะถูกตัดสินใจโดยผู้ใหญ่ของเจ้าบ่าวและเจ้าสาว (중매결혼) ทำให้ฝ่ายชายและฝ่ายหญิงไม่ได้รู้จักกันมาก่อน แนวคิดขงจื๊อใหม่ ถือว่าครอบครัวเป็นสิ่งที่มีค่า และขนบธรรมเนียมของครัวมีความสำคัญ การแต่งงานจึงถือเป็นทางผ่านที่สำคัญในชีวิต เพราะเป็นหนทางในการพัฒนาและรักษาสถานภาพทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในครอบครัวชนชั้นสูง

ขั้นตอนแรกคือการจับคู่ (중매) จะมีคนกลางทำหน้าที่เป็นพ่อสื่อหรือแม่ชัก หารือความเป็นได้ในการจัดงานแต่ง โดยคำนึงถึง สถานภาพทางสังคม บุคลิกภาพ รูปลักษณ์ อาชีพ การศึกษา ปกติแล้วฝ่ายชายจะเป็นฝ่ายส่งจดหมายขอแต่งงาน หากฝ่ายหญิงยินยอมก็จะมีจดหมายตอบกลับ

ขั้นตอนที่สองคือการกำหนดวัน (날짜 설정) ฝ่ายชายจะส่ง วัน เดือน ปี และเวลาเกิด ไปยังครอบครัวของเจ้าสาว หมอดูจะทำหน้าที่กำหนดวันแต่งงานจากวันเดือนปีเกิดของฝ่ายชาย โดยดวงชะตาของฝ่ายชายและหญิงต้องไม่ขัดแย้งกัน หลังจากนั้นกำหนดวันแต่งจะถูกส่งกลับไปยังฝ่ายชายอีกครั้ง

ขั้นตอนสุดท้ายก่อนงานแต่ง คือ การส่งมอบ แลกเปลี่ยนของมีค่า () เจ้าบ่าวจะส่งหีบใส่ของขวัญที่เรียกว่า ‘ฮัม’ (함) ให้เจ้าสาว ภายในประกอบไปด้วย เอกสารการสมรส ผ้าไหม เครื่องประดับ เงินทอง จานชาม และของใช้จำเป็น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเอกสารการสมรส (한서) เป็นเอกสารที่แสดงว่าเจ้าสาวจะแต่งงานเป็นภรรยาของสามีคนนี้เพียงคนเดียว

[รูปแบบการแต่งงานที่เปลี่ยนแปลงไปในสังคมเกาหลี]

ไม่มีค่านิยมไหนจะอยู่คงทนถาวร การแต่งงานผ่านพ่อสื่อแม่ชัก หรือคลุมถุงชนจึงค่อยๆ หมดไปตามยุคสมัย หนุ่มสาวเลือกจะแต่งงานผ่านการคบหาดูใจ และตัดสินใจเลือกคู่ครองเอง ทว่า ในปัจจุบันเกาหลีใต้ประสบปัญหาอัตราการแต่งงานลดลง กว่าลดลง 40% ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ย้อนไปปี 2023 มีคู่รักประมาณ 193,673 คู่ ที่แต่งงานกัน ลดลงจาก 322,807 คู่ในปี 2013 แนวโน้มนี้เกิดจากบรรทัดฐานทางสังคมที่เปลี่ยนไป เช่น ข้อจำกัดทางการเงิน และทัศนคติที่เปลี่ยนไปต่อการแต่งงาน เป็นต้น

สำหรับ ชาวเกาหลีใต้รุ่นเยาว์ ดูจะให้ความสำคัญกับอิสรภาพ และการพัฒนาตนเองในสาขาอาชีพ มากกว่าความคาดหวังในการแต่งงานแบบดั้งเดิม ยืนยันด้วยแบบสำรวจ ที่ระบุว่า คนหนุ่มสาวส่วนใหญ่มองว่าการแต่งงานไม่ใช่สิ่งจำเป็นอีกต่อไป สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงไปสู่แนวคิดปัจเจกนิยม หรือค่านิยมที่ให้ความสำคัญการพึ่งพาตนเอง และยึดเป้าหมายส่วนตน มากกว่าเป้าหมายส่วนรวม

ด้วยเหตุนี้ทำให้ชาวเกาหลีจำนวนมาก หันไปเลือกคู่ครองเป็นชาวต่างชาติมากขึ้น สถิติคู่การแต่งงานระหว่างชาวเกาหลีใต้ กับคู่สมรสต่างชาติเพิ่มขึ้นกว่า 18% ในปี 2023 ซึ่งสูงถึงเกือบ 20,000 คน การเพิ่มขึ้นนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการผ่อนคลายข้อจำกัดของ COVID-19 ที่เอื้อต่อการเดินทางข้ามพรมแดน

อย่างไรก็ตาม มีชาวเกาหลีจำนวนไม่น้อย ยังคงต้องการเลือกคู่ครองเป็นชาวเกาหลีด้วยกัน ทำให้รูปแบบการคลุมถุงชนในอดีตเปลี่ยนแปลงเป็น บริษัทจัดหาคู่’ (매칭 서비스) บริษัทหาคู่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น จากการช่วยเหลือคนโสดหาคู่ที่เหมาะสม โดยพิจารณาจากความชอบและเกณฑ์ส่วนบุคคล โดยบริการเหล่านี้ผสมผสานการจับคู่แบบดั้งเดิมเข้ากับวิธีการออกเดทสมัยใหม่ เพื่อตอบสนองคนที่ตามหาความสัมพันธ์ชีวิตคู่

อย่างบริษัทซอนอู (선우) ของ CEO อีอุงจิน บริษัทจับหาคู่ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1992 และมีสถิติจับคู่รักสำเร็จไปแล้วถึง 680 คู่ ไม่เว้นกระทั่ง ช่วงวิกฤตการเงินปี 1997 จำนวนลูกค้าของเขาก็ไม่ลดลงแม้แต่น้อย

นอกจากนี้ รูปแบบการคลุมถุงชนในอดีต ยังถูกนำไปดัดแปลงเป็นรายการรายการเรียลลิตี้โชว์ของเกาหลีในปัจจุบัน เช่น รายการผู้เชี่ยวชาญด้านการจับคู่ (중매술사) ออกอากาศทาง KBS Joy และ SmileTV Plus  โดยในรายการมีผู้เชี่ยวชาญด้านการจับคู่ถึง 4 คน ที่จะคอยช่วยผู้สมัครให้หาคู่ได้ตรงตามเงื่อนไข

[ชีวิตจริงยิ่งกว่าซีรีส์]

ต่อให้ไม่ใช่คอซีรีส์เกาหลี ก็เชื่อว่าคงพอจะเคยได้ยินเรื่องการคลุมถุงชน ในกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ (재벌) กันมาบ้าง ไม่เว้นปัจจุบัน ภายในครอบครัวแชโบล หรือกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่ดำเนินกิจการโดยสมาชิกในครอบครัว ยังคงมีพัฒนาการเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง 

ในอดีตการแต่งงานดังกล่าวเป็นไปเพื่อเชิงกลยุทธ์ โดยมีเป้าหมายเพื่อรวมความมั่งคั่งและอำนาจระหว่างครอบครัวชนชั้นสูง ตัวอย่าง ชเวแทวอน ประธาน SK Group ซึ่งเป็นเจ้าของกิจการโทรคมนาคม พลังงาน เคมีภัณฑ์ รวมถึงเซมิคอนดักเตอร์ ที่แต่งงานกับ โนโซยอง ลูกสาวของอดีตประธานาธิบดี โนแทอู ในปี 1988 ทว่า ชีวิตคู่ของทั้งสองก็ลงเอยด้วยการหย่าร้างในเวลาต่อมา หลังคดีหย่าร้าง ศาลยอมรับว่าการแต่งงานของพวกเขาช่วยเสริมสถานะทางธุรกิจของ SK Group

ที่มาภาพ :blog.naver.com

มาถึงตอนนี้ ทายาทแชโบลบางส่วน ก็หันไปแต่งงานกับบุคคลนอกวงชนชั้นสูง โดยเลือกคู่ครองเป็นผู้ประกาศข่าว หรือเซเลบในสังคม การเปลี่ยนแปลงนี้ อาจสะท้อนให้เห็นถึงการแต่งงานบนพื้นฐานของความรักมากขึ้น กว่าการแต่งงานเพื่อผลประโยชน์เชิงกลยุทธ์โดยตรงอย่างในอดีต เช่น อดีตผู้ประกาศข่าวหญิง KBS โนฮยอนจอง แต่งงานกับ ชองแดซอน สมาชิกของตระกูลฮยอนแด (Hyundai) ในปี 2006 หรือ จอนจีฮยอน ดาราสาวเจ้าบทบาท จาก My Love from the Star (2013) และ The Legend of the Blue Sea  (2016) แต่งงานกับ ชเวจุนฮยอก นายธนาคารและหลานชายของนักออกแบบชุดฮันบกชื่อดัง ในปี 2012

wedding of Noh Hyun Jung

วกกลับมาที่คู่แต่งงานที่ทุกคนกำลังเอาใจช่วย และกรี๊ดกับพวกเขาแบบสุดๆ ระหว่างแพคซาออนกับฮงฮีจู แม้จุดเริ่มต้นดูเหมือนจะเป็นการคลุมถุงชนระหว่างสองตระกูล แต่เมื่อติดตามไปเรื่อยๆ ทำไมเราถึงเริ่มใส่เครื่องหมายคำถามกันนะ หรือนี่อาจจะไม่ใช่การคลุมถุงชนอย่างที่ทุกคนคิด…

(บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางช่วงของซีรีส์ แต่ไม่ได้คลี่คลายปมสำคัญให้ผู้อ่านได้ทราบ)

[ล่ามภาษามือ (수어통역사) : เสียงที่ทำลายความเงียบ]

ปฏิเสธไม่ได้ว่าอาชีพล่ามภาษามือของฮงฮีจู เป็นอีกสิ่งที่ทำให้ซีรีส์ When the Phone Rings มีเสน่ห์ ไม่ซ้ำเรื่องไหน เพราะแทบจะไม่เคยเห็นซีรีส์เรื่องไหนนำเสนออาชีพนี้ ผ่านตัวละครหลักของเรื่องมาก่อน

ต่อให้เป็นทีมงานซีรีส์เกาหลีที่ขึ้นชื่อเรื่องความมืออาชีพ ก็ผิดพลาดกันได้ นับตั้งแต่วันที่ซีรีส์ออกอากาศวันแรก ก็เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากสังคม ฉากดังกล่าวเล่าเหตุการณ์ที่นางเอกทำงานเป็นล่ามภาษามือให้กับรายการข่าว แล้วเกิดข้อผิดพลาดในการส่งสัญญาณระหว่างการถ่ายทอดสด ทำให้ภาพนิ่งขณะที่กำลังนางเอกทำภาษามือคำว่า ‘ภูเขา’ ถูกแปลความหมายไปในทางหยาบคาย

หลังจากตอนนี้ออกอากาศไป ประเด็นดังกล่าวก็ตกเป็นเป้าโจมตีทันที เนื่องจากมีการล้อเลียนภาษามือ โดยผู้ชมบางส่วนแสดงความรู้สึกว่าไม่พอใจ จนทีมงานผู้สร้างต้องออกมาขอโทษเป็นการด่วน ที่ใช้ภาษามืออย่างไม่เหมาะสม และถูกตีความว่าเป็นการล้อเลียนภาษามือ

พร้อมชี้แจงว่า ซีรีส์ When the Phone Rings เป็นละครที่สร้างขึ้นโดย มีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการสื่อสารระหว่างผู้คน ทีมงานจึงไม่มีเจตนาที่จะล้อเลียนหรือดูถูกภาษามือ ซึ่งเป็นเครื่องมือสื่อสารอันล้ำค่าสำหรับผู้พิการทางได้ยิน

นั่นยิ่งตอกย้ำว่า ทีมงานไม่ได้ใช้ภาษามือ เป็นเพียงภาษาที่ให้พระนางเปิดใจและสื่อสารกันตามเส้นเรื่องที่ถูกวางไว้เท่านั้น แต่ผู้ชมจะได้เห็นตัวละครทั้งสองพยายามทำความเข้าใจ ปรับตัวเข้าหากันผ่านภาษามือ

สอดคล้องกับที่ทีมงานผู้ผลิต ย้ำระหว่างการขอโทษ ว่าพวกเขาจะทำงานอย่างหนัก เพื่อให้แน่ใจว่าซีรีส์เรื่องนี้ถ่ายทอดเรื่องราวของภาษามือในฐานะเครื่องมือที่ใช้เชื่อมโยงผู้คนในสังคมให้เป็นหนึ่งเดียว

สำหรับ ล่ามภาษามือ ถือเป็นอาชีพที่สำคัญ และช่วยขับเคลื่อนให้สังคมเกาหลีเดินไปข้างหน้า นับตั้งแต่ปี 2008 ที่มีการออกข้อบัญญัติ ห้ามการเลือกปฏิบัติต่อผู้พิการ ทำให้ล่ามภาษามือ กลายเป็นอีกอาชีพที่เริ่มเป็นที่นิยม เพราะ ไม่เพียงแต่ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางสำคัญระหว่างผู้พิการทางได้ยินและบุคคลทั่วไป แต่ยังทำให้ผู้พิการใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ได้อย่างราบรื่น ไม่เพียงเท่านั้น เกาหลีใต้ยังมีความก้าวหน้าอย่างมาก ในการส่งเสริมการเข้าถึงและการมีส่วนร่วมสำหรับผู้พิการ ผ่านพระราชบัญญัติภาษามือเกาหลี ประกาศใช้ในปี 2016 ได้รับรองให้ภาษามือเกาหลีเป็นภาษาราชการ และกำหนดให้มีการจัดหาบริการล่ามภาษามือในสถานที่ต่าง ๆ

อาชีพล่ามภาษามือในเกาหลีใต้ช่วยสนับสนุนการรวมกลุ่ม และสร้างชุมชนผู้พิการทางได้ยินให้ใกล้ชิดกับสังคมมากขึ้น  ตัวอย่างเช่น ในระหว่างการแถลงข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ล่ามภาษามือปรากฏตัวพร้อมกับเจ้าหน้าที่ระดับสูง เช่น นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข เพื่อแปลข้อมูลแบบเรียลไทม์ จากที่พวกเขาคอยส่งภาษาอยู่ที่มุมเล็ก ๆ ด้านล่างหน้าจอ

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลเกาหลีใต้ถูกวิจารณ์เกี่ยวกับการไม่ให้ความสำคัญกับผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน แต่ในช่วง COVID-19 รัฐบาลได้ปรับปรุงการสื่อสารอย่างจริงจัง ทำให้สังคมเล็งเห็นถึงบทบาทสำคัญของล่ามภาษามือในการเผยแพร่ข้อมูลให้กับประชาชนอย่างทั่วถึง

และใน When the Phone Rings ตอนที่ 4 ผู้ชมจะได้เห็นว่า ไม่เว้นแม้แต่ในทำเนียบ ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐที่แพคซาออนทำงานอยู่ ก็ดูจะขาดอาชีพล่ามภาษามือไม่ได้ จนฮีจูก็กลายเป็นหนึ่งผู้ท้าชิงของตำแหน่งนี้

[ฮงฮีจู นางเอกซีรีส์เกาหลีที่ไม่เหมือนใคร]

การที่นักเขียนบทและผู้ผลิตซีรีส์ เลือกให้ฮงฮีจูมีอาการผิดปกติทางการพูด และต้องมาทำงานเป็นล่ามภาษามือนั้น ตามความเห็นของผู้เขียน มองว่า ช่วยเพิ่มความลึกให้กับตัวละครหลัก หากสังเกตดีๆ แก่นเรื่องของ When the Phone Rings ดูเหมือนจะมุ่งไปที่การสื่อสาร 

ทั้งพระเอกและนางเอก ต่างประกอบอาชีพด้านการสื่อสาร และอยู่ในแวดวงสื่อมวลชน แต่ทั้งคู่กลับเลือกที่จะไม่สื่อสารกันอย่างตรงไปตรงมา และไม่เปิดใจคุยกันสักครั้งในฐานะสามีภรรยา จนก่อให้เกิดรอยร้าวในความสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจผิดในเวลาต่อมา

ภาษามือที่ไร้เสียงในความรู้สึกของคนทั่วไป อาจเปรียบไม่ต่างกับความโดดเดี่ยวในใจของฮงฮีจู ที่เธอรู้สึกมาตลอดนับตั้งแต่ต้องกลายเป็นภรรยาของแพคซาออน

คงไม่ถือว่าสปอยล์เกินไป เพราะตั้งแต่ช่วงต้น ซีรีส์ก็ได้เฉยปมว่าแท้จริงแล้วฮงฮีจูพูดได้ แต่มีเหตุทำให้เธอต้องแกล้งเป็นมีอาการผิดปกติทางการพูด และการที่ฮีจูเลือกจะสื่อสารกับผู้อื่นผ่านภาษามือ แสดงออกถึงความขัดแย้งภายในใจเธออย่างเห็นได้ชัด จากผลพวงของสังคมที่เธอใช้ชีวิตอยู่นั้นไม่ได้ปกติสุข ไม่ต่างกับมลพิษ 

ขณะเดียวกัน When the Phone Rings มีเจตนาที่ดี ที่ต้องการถ่ายทอดความยากลำบากของคนกลุ่มนี้ ดังนั้น ล่ามภาษามือจึงมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงให้ผู้ที่บกพร่องทางการได้ยิน ให้เป็นส่วนหนึ่งของสังคม สร้างบรรยากาศให้สังคมเปิดกว้าง และยอมรับความแตกต่าง

[แพคซาออน โฆษกที่บกพร่องด้านการสื่อสาร?]

มีให้เห็นบ้าง แต่ก็ไม่ได้บ่อย สำหรับการรับบทบาทโฆษกของหน่วยงานรัฐของพระเอกของเรื่อง ตามการคาดเดาของผู้เขียน มองว่า เหตุที่นักเขียน และผู้ผลิตซีรีส์ เลือกอาชีพดังกล่าวขึ้นมา ก็น่าจะเพราะต้องการขับเน้นแก่นเรื่อง การสื่อสาร ดังที่ได้กล่าวไป และแพคซาออน ที่เติบโตมากับสายงานสื่อมวลชน จากการเป็นนักข่าวประจำสถานีโทรทัศน์ ก็มีคุณสมบัติครบกับตำแหน่งโฆษกประจำทำเนียบประธานาธิบดี  

โฆษก ถือเป็นกระบอกเสียงอย่างเป็นทางการ โดยเฉพาะหากเป็นหน่วยงานภาครัฐ ทำหน้าที่ถ่ายทอดข้อมูล และนโยบายไปยังสาธารณชนวงกว้างด้วยแล้ว บทบาทของพวกเขาสำคัญอย่างยิ่ง ในการสร้างภาพลักษณ์องค์กร และการรับรู้ของสาธารณชน ตลอดจนทำให้การสื่อสารระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับประชาชนมีความโปร่งใส

ในซีรีส์เราจะเห็นภาพลักษณ์ของพระเอก หรือแพคซาออนเป็นโฆษกที่เนี้ยบ ทำงานตงฉิน อยู่ในระเบียบวินัย ไม่เคยทำให้ทำเนียบประธานาธิบดีเจอกับเรื่องด่างพร้อยแม้แต่นิด 

ทว่า ทางตรงกันข้าม ชีวิตครอบครัวของแพคซาออน เขากลับเลือกที่จะปิดตายประตูการสื่อสารกับภรรยา สร้างความเหินห่างในความสัมพันธ์ไม่รู้จบ แม้บางช่วงบางตอน ซีรีส์อาจจะแอบแย้มให้เห็นกันบ้างแล้ว ว่าทั้งหมดอาจเป็นภาพลวงตา ใครอยากรู้รายละเอียดมากกว่านี้คงต้องติดตามดูในซีรีส์

[ทางออกของความสัมพันธ์ ที่ต่างปิดประตูใส่กัน]

ระยะหลังมานี้ ซีรีส์เกาหลีจำนวนหนึ่ง เลือกพูดถึงความสัมพันธ์ของคู่แต่งงานที่เส้นทางชีวิตคู่มาถึงทางตัน และลงเอยด้วยการหย่าร้าง ไม่ว่าจะเป็น 18 Again (2020) จากช่อง JTBC หรือ Queen of Tears (2024) จากช่อง tvN

อย่าง 18 Again ได้เผยให้ผู้ชมเห็นว่า เมื่อฝ่ายหนึ่งมัวแต่หมกมุ่นกับความล้มเหลวในชีวิต ทั้งเรื่องงานและความฝันของตนเอง จนละเลยที่จะใส่ใจความรู้สึกของอีกฝ่าย ไม่รับฟัง ไม่พยายามทำความเข้าใจความกดดันในฐานะแม่และเวิร์คกิ้งมัม จนภรรยาตัดสินใจยุติชีวิตคู่อย่างไม่ลังเล ขณะที่ Queen of Tears พระเอกนางเอกต่างไม่เปิดใจคุยกันถึงปัญหา และสิ่งที่ตัวเองรู้สึกอย่างแท้จริง เลือกที่จะเงียบใส่กัน เพราะคิดว่าจะช่วยเลี่ยงการทะเลาะ หนักกว่านั้นก็เลือกที่จะพูดสิ่งที่ตรงกันข้ามกับความรู้สึกในใจ

จุดร่วมของซีรีส์ทั้งสองเรื่อง คล้ายกับว่า ปัญหาการสื่อสารจะเป็นสาเหตุของความหมางเมิน และความเข้าใจผิดในชีวิตคู่ ไม่ต่างกับ When the Phone Rings ที่กำลังส่งข้อความสำคัญไปยังผู้ชม และตั้งคำถาม เพื่อให้นำไปสู่แนวทางการแก้ปัญหาการหย่าร้าง ที่สังคมเกาหลีเผชิญในทุกวันนี้

Q&A จาก blogger ชาวเกาหลีคนหนึ่ง ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการแต่งงาน การหาคู่ และการเลี้ยงลูก ชวนตั้งคำถามว่า ระหว่างการแต่งงานแบบคลุมถุงชนกับการแต่งงานที่เกิดจากความรัก แบบไหนมีอัตราหย่าร้างสูงกว่ากัน คำตอบคือ อัตราการหย่าร้างไม่ได้ขึ้นอยู่กับวิธีการแต่งงาน แต่ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ทัศนคติ บุคลิกนิสัย และสถานะทางสังคม  บางงานวิจัยถึงพบว่า การแต่งงานแบบคลุมถุงชนมีอัตราการหย่าร้างต่ำกว่า แต่ก็ถูกแย้งด้วยผลงานวิจัยอีกชิ้นที่ตรงข้ามกัน

ดังนั้น ความสำเร็จของการแต่งงานจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับวิธีแต่งงาน แต่ขึ้นอยู่กับสามีและภรรยาจะสื่อสารกันอย่างไร เคารพซึ่งกันและกันหรือไม่ และเมื่อมีปัญหาจะหันหน้าพูดคุย ปรับความเข้าใจ และหาแนวทางการแก้ไขร่วมกันมากน้อยเพียงใด

ชีวิตคู่เปรียบเสมือนการปลูกต้นไม้ที่ต้องหมั่นดูแลเอาใจใส่ รดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ย ประคับประคองไปให้ความสัมพันธ์ราบรื่น หากวันใดขาดการเอาใจใส่ และเลือกที่จะห่างเหินใส่กัน ต้นไม้หรือความสัมพันธ์นั้นก็จะเหี่ยวเฉาในที่สุด แล้วมาร่วมติดตาม เอาใจช่วยให้แพคซาออนกับฮงฮีจู เปิดประตูหัวใจ ทำลายกำแพงการสื่อสารลงใน When the Phone Rings ซับไทยถูกลิขสิทธิ์ ทางแพลตฟอร์ม หรือแอปพลิเคชัน Netflix ไปด้วยกัน

 

อ้างอิง

สาขาวิชาภาษาเกาหลี ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ. (2566). หลักสูตรการอบรมเพื่อผลิตผู้สอนภาษาเกาหลีชาวไทย ประจำปี 2566. คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

https://shorturl.at/DsUBX

https://shorturl.at/qNyIl

https://koreajoongangdaily.joins.com

https://www.straitstimes.com(1)

https://www.straitstimes.com (2)

https://www.couple.net

https://itvc.tistory.com

https://www.hankookilbo.com

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า