แชร์บทความ คัดลอกแล้ว

SHARE

คัดลอกแล้ว

ตลาดเบียร์เย็นๆ กลายเป็นร้อนฉ่า หลังจากเมื่อวาน (24 ม.ค. 2566) ‘เสถียร เสถียรธรรมะ’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มชูกำลัง ‘คาราบาวแดง’ เจ้าของสมญานามนักสู้ผู้ยิ่งใหญ่ ตัดสินใจเปิดเผยแผนรุกเข้าสู่ ‘ธุรกิจเบียร์’ ที่มีผู้เล่นน้อยและล้วนแล้วแต่เป็น ‘ยักษ์’ ไม่ว่าจะเป็นสิงห์หรือช้าง

โดยทุ่มงบประมาณลงทุนกว่า 4,000 ล้านบาท เตรียมออกเบียร์ ‘ขวด-กระป๋อง’ ราว 2-3 ตัว ด้วยกำลังการผลิต 400 ล้านลิตรต่อปี ออกจำหน่ายภายในไตรมาส 4 ปีนี้ 

คำถาม คือ ทำไม ‘เสถียร’ ถึงตัดสินใจพากลุ่ม ‘คาราบาวแดง’ มาชนยักษ์ใหญ่ใน ‘ธุรกิจเบียร์’

อย่างแรก ต้องอธิบายก่อนว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกใน ‘การชนยักษ์’ ของเสถียร 

เพราะนับตั้งแต่เริ่มต้นเข้าสู่ธุรกิจ ‘เครื่องดื่มชูกำลัง’ เมื่อปี 2544 โดยการก่อตั้ง ‘คาราบาวแดง’ ร่วมกับ ‘ณัฐชไม ถนอมบูรณ์เจริญ’ และ ‘ยืนยง โอภากุล’ 

โดยถือเป็น ‘ชนยักษ์’ ครั้งแรก เพราะธุรกิจเครื่องดื่มชูกำลังในเวลานั้นมีผู้เล่นสำคัญอย่างโอสถสภาเจ้าของ ‘M-150’ และกลุ่มธุรกิจ TCP เจ้าของ ‘กระทิงแดง’ ดำเนินธุรกิจอยู่แล้ว และประสบความสำเร็จด้วยการขยับสู่ตำแหน่ง ‘เบอร์สอง’ ของตลาดเครื่องดื่มชูกำลังไทยและขยายการรับรู้ออกสู่ตลาดต่างประเทศ

หลังจากนั้น ในปี 2556 ‘เสถียร’ ได้เข้าไปซื้อ ‘บจ.พีเอสดี รักษ์ไทย’ ที่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ‘บจ. ซี.เจ. เอ็กซ์เพรส กรุ๊ป’ ทำธุรกิจ ‘ร้านสะดวกซื้อ’ ภายใต้แบรนด์ ‘CJ Supermarket’ (ซีเจ ซูเปอร์มาร์เก็ต) จำหน่ายสินค้าอุปโภคและบริโภคครบครันในราคาประหยัด

ครั้งนี้ถือเป็นการตัดสินใจซื้อธุรกิจที่จะต้อง ‘ชนยักษ์’ อีกเช่นกัน เพราะเจ้าของธุรกิจร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาเก็ตในประเทศไทย มีเจ้าตลาดอย่าง ‘7-11’ ของกลุ่มซีพี รวมถึงผู้เล่นสำคัญอย่าง ‘แฟมิลี่ มาร์ท’ ของกลุ่มเซ็นทรัลอยู่แล้ว แต่สุดท้าย ‘ซีเจ’ ก็สามารถขยายเปิดให้บริการแล้ว 900 สาขา ในพื้นที่ 41 จังหวัดทั่วประเทศไทย

ต่อมาในปี 2560 ‘เสถียร’ ก็ได้สร้างความฮือฮาอีกครั้งด้วยการรุกเข้าสู่ ‘ธุรกิจเหล้า’ ก่อตั้ง ‘บจ.ตะวันแดง 1999’ ทุ่มงบกว่า 3,000 ล้านบาท สร้างโรงงานสุราครบวงจรกำลังการผลิต 150,000 ลิตรต่อวัน ในจังหวัดชัยนาทบนพื้นที่ 816 ไร่ โดยมีหลากหลายแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็น สุราขาวข้าวหอม วิสกี้เทนโด และโซจูแทยัง 

แน่นอนว่าครั้งที่ 3 นี้ก็ ‘ชนยักษ์’ อีกครั้ง เพราะธุรกิจเหล้าในประเทศไทยมียักษ์ใหญ่ในไทยประเทศอย่าง ‘กลุ่มไทยเบฟ’ ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี อยู่แล้ว

แต่ผ่านมากว่า 5 ปี ปัจจุบัน ‘บจ.ตะวันแดง 1999’ ก็สามารถสร้างรายได้หลักพันล้านบาทและสร้างกำไรในปี 2564 กว่า 640 ล้านบาท โดยยอดขายของ ‘สุราข้าวหอม’ เติบโตกว่า 50% ตลอด 3 ปี

นอกจากนั้น ในเวลาที่ ‘เสถียร’ เป็นผู้ริเริ่มรุก ‘ธุรกิจโมเดลโชห่วย’ อย่าง ‘ร้านถูกดี มีมาตรฐาน’ ชวนชาวบ้านมาจับมือเปิดร้านโชห่วย ปัจจุบันมีเครือข่ายมากกว่า 5,000 ร้าน เติบโตอย่างต่อเนื่องและยังดึงดูดให้ ‘ยักษ์ใหญ่’ อย่าง ‘กลุ่มไทยเบฟ’ และ ‘กลุ่ม CP’ เข้ามาลุยธุรกิจนี้ด้วย 

ทุกก้าวที่ผ่านมาจึงเป็นเครื่องยืนยันว่า ‘กลุ่มคาราบาว’ ไม่กลัวการชนยักษ์และรุกธุรกิจที่ต้องชนยักษ์มานับครั้งไม่ถ้วน

อย่างที่สอง คือ คำอธิบายของ ‘เสถียร’ ที่ว่า ถ้าอยากขายเหล้าให้ดี จะต้องขายเบียร์เป็นภาคบังคับ

หลังจากทำธุรกิจเหล้ามาหลายปี ดูเหมือน ‘เสถียร’ จะมองว่า ถ้าอยากให้ธุรกิจเหล้าขยายตัวดี โดยเฉพาะเหล้าในกลุ่ม ‘เหล้าสี’ จำเป็นต้องอาศัยการเติบโตจากฝั่งที่เรียกว่า On Premise หรือ จำหน่ายผ่านสถานบันเทิงและร้านอาหารต่างๆ ร่วมด้วย

โดยลักษณะของการจำหน่ายแบบ On Premise สินค้าแอลกอฮอล์ที่ขายดีที่สุดและมีสัดส่วนมากที่สุด คือ ‘เบียร์’ ทำให้เมื่อเข้าไปต่อรองกับร้านค้าจำเป็นจะต้องมี ‘เบียร์’ เข้าไปต่อรองด้วย 

“มันเป็นไฟต์บังคับ พอเราทำเหล้าแล้ว เรารู้สึกว่าโอกาสที่เหล้าเราจะเติบโตหรือขยายตัวยาก เพราะเราต้องยอมรับว่า ถ้าเราจะขายเหล้าสี ไม่ว่าจะเป็นเทนโดะ โซจู จะต้องขายอยู่ในร้าน ร้านอาหาร หรือว่าฝั่งที่เรียกว่า On Premise ซึ่งสิ่งที่ขายแบบ On Premise ได้เยอะที่สุดก็คือเบียร์ ถ้าเราไม่มีเบียร์ เวลาที่เราเข้าไปต่อรองก็จะยาก เพราะเบียร์เป็นสัดส่วนที่เยอะ”

ดังนั้น ตั้งแต่เริ่มคิดเข้าสู่ธุรกิจเหล้า จึงได้เริ่มต้นศึกษาธุรกิจเบียร์แล้ว เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ ‘คาราบาว’ ลงสู่ธุรกิจเบียร์จึงมาจากความจำเป็นในการสร้างการเติบโตให้กับกลุ่มธุรกิจแอลกอฮอล์

อย่างไรก็ตาม เดิมกลุ่มคาราบาวก็มีพื้นฐานจาก ‘โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง’ ที่เปิดมากว่า 20-30 ปี โดยปัจจุบันมีเบียร์คราฟต์หลากหลายรสชาติหมุนเวียนกันให้บริการ คิดว่าผู้บริโภคเองก็พร้อมที่จะเปิดรับทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้น 

เรื่อง ‘ชื่อแบรนด์’ ยังไม่ได้ฟันธง แต่คาดว่าจะเกี่ยวข้องกับแบรนด์ ‘คาราบาว’ หรือ ‘ตะวันแดง’ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง โดยจะเริ่มกำลังการผลิต 200 ล้านลิตรต่อปีจากกำลังการผลิต 100% ที่ 400 ล้านลิตรต่อปี

“จริงๆ ไม่ได้คิดว่าจะไปแข่งกับใคร ตั้งแต่ 20 ปีที่แล้วที่จะทำคาราบาวแดง เมื่อจะทำก็คิดว่าเรื่องนั้นมันเป็นโอกาส ทุกครั้งที่ทำผมคิดว่ามันคือโอกาส ถ้าเอาเครื่องดื่มชูกำลังมาปิดด้วยแบรนด์คาราบาวก็น่าจะขายได้ ตอนที่ผมทำเหล้า ผมก็คิดว่าในประเทศนี้จะมีคนทำเหล้าแค่คนเดียวหรอ มันน่าจะมีโอกาสให้กับเราบ้าง…”

ปัจจุบันตลาดเบียร์มีมูลค่า 2.6 แสนล้านบาท โดย ‘ผู้นำตลาด’ หลักๆ ได้แก่ ‘สิงห์’ หรือ บจก.บุญรอดบริวเวอรี่มีส่วนแบ่งตลาด 57.9% ตามด้วย ‘ช้าง’ หรือ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ 34.3% และ ‘ไทเกอร์’ หรือ บจก.ไทย เอเชียแปซิฟิค บริวเวอรี่ 4.7%

ขณะที่หากดูเป็นแบรนด์ ‘ลีโอ’ มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดที่ 44.8% รองลงมา คือ ‘ช้าง’ (31.2%) ‘สิงห์’ (11.2%) ‘ไฮเนเกน’ (3.8%) และ ‘อาชา’ (2.4%)

นี่จึงเป็นอีกครั้งที่ ‘เสถียร เสถียรธรรมะ’ หนึ่งในนักธุรกิจผู้ไม่เคยกลัวการชนยักษ์ ลงสนามท้าประลองมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน ตัดสินใจเข้าสู่ศึกอีกครั้งในตลาดที่มีผู้เล่นใหญ่อยู่แค่ 2 รายมานานหลายสิบปี

ที่มา

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า