SHARE

คัดลอกแล้ว

สวัสดีวันปีใหม่ไทย ประวัติศาสตร์การเงิน EP. นี้ อยากชวนคุยเรื่อง ‘เครดิตสวิส’ (Credit Suisse) หนึ่งในธนาคารขนาดใหญ่ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ด้วยอายุกว่า 160 ปี

Credit Suisse เพิ่งถูกคู่แข่งซื้อกิจการไปเมื่อวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา หรือเมื่อเดือนที่แล้วนี่เอง สาเหตุเพราะขาดทุนหนัก และหากไม่ได้รับการช่วยเหลือ อาจส่งผลต่อระบบการเงินโลกในวงกว้าง

แต่เก่าและแก่ขนาดนี้ ทำไมถึงยังพลาดได้ อะไรคือสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้ Credit Suisse ต้องล้มลง TODAY Bizview ชวนไปสำรวจพร้อมกัน

[ Credit Suisse คืออะไร ประวัติศาสตร์จัดเต็ม ]

Credit Suisse หรือชื่อเต็ม Credit Suisse Group AG หนึ่งในธนาคารใหญ่ที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก ก่อตั้งเมื่อวันที่ 5 ก.ค. 1856 (2399) ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยนักการเมืองและนักธุรกิจชาวสวิส ‘อัลเฟรด เอสเชอร์’ (Alfred Escher)

เริ่มแรกธนาคาร Credit Suisse ใช้ชื่อว่า Schweizerische Kreditanstalt (SKA) แปลตรงตัวว่า ‘สถาบันเครดิตของสวิส’ ให้บริการในสวิตเซอร์แลนด์เป็นหลัก ก่อนจะขยายไปยัง 50 ประเทศทั่วโลก ผ่านสาขาบริการกว่า 150 สาขา ซึ่งหนึ่งในนั้นมีไทยด้วย

ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 167 ปีที่แล้ว SKA ถูกใช้เป็นแหล่งเงินทุนสำหรับโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ของสวิตเซอร์แลนด์ ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายรางรถไฟของประเทศ หรือเครือข่ายไฟฟ้าระหว่างสวิตเซอร์แลนด์กับยุโรป

ต่อมาในปี 1870 Credit Suisse เปิดสำนักงานตัวแทนต่างประเทศ (Foreign Representative Office) แห่งแรกในนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ก่อนจะขยับมาให้บริการลูกค้ารายย่อยในช่วงปี 1900  (ราว 2443) และเปิดสาขาแรกในเมืองบาเซิล สวิตเซอร์แลนด์ ในปี 1905 (2448)

Credit Suisse ภายใต้ชื่อ SKA ขยายกิจการอย่างต่อเนื่องทั้งในยุโรปและสหรัฐ โดยมีการตั้ง CS Holding ขึ้นมาในปี 1982 (2525) ก่อนจะปรับโครงสร้างให้ CS Holding ขึ้นมาเป็นบริษัทแม่ของ SKA ในปี 1989 (2532)

ส่วนชื่อ Credit Suisse ที่เราเห็นในปัจจุบัน มาจากการปรับโครงสร้างอีกครั้งเมื่อปี 1997 (2540) โดยเปลี่ยนจาก CS Holding มาเป็นเป็น Credit Suisse Group และเริ่มลดบทบาทชื่อเก่าแก่ SKA ลงในท้ายที่สุด

[ ยุครุ่งเรืองของ Credit Suisse ลูกค้าเป็นใคร ]

Credit Suisse มีชื่อเสียงจากบริการธนาคารเอกชน (Private Baning) วาณิชธนกิจ (Investment Banking: IB) และการบริหารจัดการสินทรัพย์ (Asset Management) ขึ้นชื่อเรื่องการรักษาความลับของลูกค้า (แม้จะเคยถูกแฉรับฝากเงินลูกค้าที่เป็นอาชกรโลกก็ตาม)

ฐานลูกค้าของ Credit Suisse ส่วนใหญ่เป็นบุคคลที่มีรายได้สูง (คนรวย) และลูกค้าธุรกิจ ครอบคลุมเกือบทุกอุตสากรรม ไม่ว่าจะเป็น สถาบันการเงิน การแพทย์ อุตสาหกรรม น้ำมันและก๊าซ พลังงาน อสังหาริมทรัพย์ ค้าปลีก เทคโนโลยี สื่อ โทรคมนาคม ฯลฯ

ถ้าพูดกันแค่ในประเทศที่ถือกำเนิด Credit Suisse เป็นธนาคารใหญ่อันดับ 2 ของสวิตเซอร์แลนด์ เป็นรองเพียงธนาคาร UBS (UBS Group AG) คู่แข่งที่ปัจจุบันซื้อกิจการของ Credit Suisse ไปแล้ว ด้วยมูลค่าสินทรัพย์กว่า 50 ล้านล้านบาท (1.3 ล้านล้านฟรังก์สวิส)

ส่วนในระดับโลก Credit Suisse เป็น 1 ใน 9 ธนาคารใหญ่ที่มีความสำคัญต่อระบบการเงินโลก (Bulge Bracket Bank) ทั้งในแง่การให้บริการที่หลากหลาย ครอบคลุมทุกภูมิภาคของโลก รวมถึงการคิดค้นนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ

นอกจากนี้ Credit Suisse ยังถูกจัดเป็น​ Systemically Important Financial Institution (SIFI) หรือสถาบันการเงินที่มีความสำคัญต่อระบบการเงินโลก มีธุรกรรมเชื่อมโยงกับสถาบันการเงินอื่นๆ ค่อนข้างมาก

[ Credit Suisse ตัวแม่ ตัวมัม ผู้เหมาทุกวิกฤต ]

Credit Suisse ไม่ได้เพิ่งมีปัญหาเพราะธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) เร่งขึ้นดอกเบี้ยหลังโควิด-19 ที่จริงแล้ว Credit Suisse เป็นธนาคารที่เหมามาแทบทุกวิกฤต ตั้งแต่วิกฤตซับไพรม์ วิกฤตหนี้ยุโรป วิกฤตโควิด วิกฤตเฮดจ์ฟันด์ Archegos และวิกฤตข้อมูลภายในรั่วไหล ฯลฯ

นอกจากความสามารถพิเศษในการเหมาทุกวิกฤตแล้ว Credit Suisse ยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำผิดกฎระเบียบ การถูกปรับ การถูกฟ้องร้อง และยังเป็นธนาคารที่เปลี่ยนบริหารบ่อย ทำให้ความเชื่อมั่นค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ

ขณะที่ผลประกอบการของ Credit Suisse เอง พบว่า ขาดทุนต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยในปีล่าสุด (2565) ธนาคารฯ ขาดทุนกว่า 7.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 3 แสนล้านบาท) หนักสุดในรอบ 13 ปี นับตั้งแต่วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์

ปัญหาหลักมาจากการบริหารงาน ระบบควบคุมภายในที่อ่อนแอ ป้องกันการฟอกเงินและทุจริตของพนักงานไม่ได้ รวมถึงเจอปัญหาลูกค้าแห่ถอนเงินฝากกว่า 1.2 แสนล้านเหรียญ (ราว 4 ล้านล้านบาท) เมื่อปลายปีก่อน

ท่ามกลางปัญหาภายในที่ยังแก้ไม่ตก ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของธนาคารอย่าง ‘ซาอุดี เนชั่นแนล แบงก์’ (Saudi National Bank: SNB) ยังออกมาปฏิเสธแผนการเพิ่มทุน เพราะไม่อยากถือหุ้นเพิ่มขึ้น (ไม่อยากทำตามกฎระเบียบของยุโรป)

ทำให้ Credit Suisse ต้องระหกระเหินไปยืมเงินจากธนาคารแห่งชาติสวิตเซอร์แลนด์ (Swiss National Bank) มูลค่า 5.4 หมื่นล้านเหรียญ (ราว 2 ล้านล้านบาท) เพื่อเสริมสภาพคล่อง ก่อนจะถูกซื้อกิจการโดย UBS ในเวลาต่อมา

[ UBS x Credit Suisse จะทำได้ไหม ทำได้หรือเปล่า ]

มาถึงวันที่ต้องปิดตำนาน UBS หรือ UBS Group AG ธนาคารเบอร์ 1 ของสวิตเซอร์แลนด์ ประกาศซื้อกิจการ Credit Suisse คู่แข่ง ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 3.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 1.12 แสนล้านบาท) โดยมีรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์เป็นนายหน้าและผู้ค้ำประกัน

แต่หลังรวมกันได้เพียง 2 สัปดาห์ ก็มีรายงานข่าวว่า ดีลควบรวมกิจการในเดือนที่ผ่านมา อาจส่งผลให้ UBS ต้องปลดพนักงานลงถึง 30% หรือประมาณ 36,000 คน แบ่งเป็น พนักงาน 11,000 คนในสวิตเซอร์แลนด์ และ 25,000 คนทั่วโลก

ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 เม.ย.ที่ผ่านมาสภาผู้แทนราษฎร (สภาล่าง) ของสวิตเซอร์แลนด์ เพิ่งปฏิเสธมาตรการช่วยเหลือ Credit Suisse เพราะต้องใช้เงินภาษีสูงถึง 1.09 แสนล้านฟรังก์สวิส (ราว 4.1 ล้านล้านบาท) ในการค้ำประกัน

อย่างไรก็ตาม การลงคะแนนเสียงของสภาล่างเป็นการกระทำเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น และไม่ส่งผลกระทบต่อมาตรการช่วยเหลือ UBS ในการเข้าซื้อ Credit Suisse เพราะมีการออกกฎหมายฉุกเฉินรองรับไปแล้วก่อนหน้านี้

[ ฝนที่ตกทางโน้น หนาวถึงคนทางนี้ (หรือเปล่า) ]

เพราะเป็นธนาคารขนาดใหญ่ที่มีธุรกิจในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งอย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า ประเทศไทยเองก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ Credit Suisse เข้ามาทำธุรกิจเช่นกัน

ทำให้ในช่วงที่ผ่านมา มีการเผยแพร่ข้อมูลที่น่าจะเกี่ยวโยงกับวิกฤตที่เกิดขึ้นกับอดีตแบงก์เบอร์ 2 ของสวิตเซอร์แลนด์ โดยมีรายงานข่าวว่า Credit Suisse ถือหุ้นไทยสูงถึง 17 บริษัท ทั้งทางตรงและทางอ้อม

ซึ่งตอนหลังตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ออกมาอธิบายว่า ชื่อของ Credit Suisse ที่เห็น เป็นบริการรับฝากทรัพย์สิน (Custodian Service) ไม่ใช่ธนาคารเข้ามาถือหุ้นเอง เจ้าของเงินจริงๆ คือนักลงทุนที่ใช้บริการ และมีวิธีการทำงานที่เรียกว่า Ringfencing ไม่ว่าบริษัทแม่จะอยู่หรือไม่ บัญชี Custodian ก็ไม่ถูกกระทบ

นอกจากนี้ ยังมีการรวบรวมรายชื่อกองทุนที่ถือหุ้นกู้ Credit Suisse ซึ่งกองทุนของไทยเองก็มีสัดส่วนลงทุนในหุ้นกู้ของธนาคารฯ เช่นกัน โดยสัดส่วนการลงทุนสูงสุดอยู่ที่ 5% แต่ตอนหลังบริษัทเจ้าของกองทุนก็ออกมาปฏิเสธว่าเป็นข้อมูลเก่า ณ สิ้นปีก่อน (2565)

ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้กำกับดูแลธุรกิจธนาคาร ก็ออกมาให้ข้อมูลที่คล้ายกันกว่า ธนาคารในประเทศเรามีธุรกรรมทางตรงกับ Credit Suisse น้อยมาก และมีสภาพคล่องในระดับที่ปลอดภัย ทำให้มั่นใจว่าจะไม่ถูกกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว

[ Opinion: ใหญ่แค่ไหนก็ล้มได้ ถ้าความเชื่อมั่นหาย ]

หลังจากอยู่กับข้อมูลมาหลายเดือน ผู้เขียนมองว่า ท้ายที่สุดการล้มลงของ Credit Suisse ก็มาจาก ‘ความเชื่อมั่น’ (Trust) ที่เป็นดาบสองคมของธุรกิจธนาคาร เมื่อไหร่ที่คนเต็มไปด้วยความเชื่อมั่น ธนาคาร ไม่ว่าจะเล็กใหญ่ ก็ย่อมอยู่รอด

แต่เมื่อไหร่ที่ความเชื่อมั่นถูกสั่นครอน อย่างกรณีของ Credit Suisse ที่มีข่าวร้ายกระทบความเชื่อมั่นมาต่อเนื่อง จนวินาทีสุดท้ายก่อนจะล้ม ก็ยังถูกแปะป้ายว่าล้มตามวิกฤตแบงก์ในสหรัฐ (ทั้งที่ไซส์ต่างกันลิบลับ)

เรื่องนี้ เหล่าผู้บริหารธนาคารในประเทศเองก็รู้ดี ในฐานะคนทำข่าวการเงินมา 5 ปี ก็มักจะเห็นผู้บริหารโต้เถียงกับพี่ๆ ในสนามเสมอ เพราะกังวลว่า การพาดหัวข่าวแต่ละครั้ง ถึงแม้ว่าจะเป็น 1 บรรทัดสั้นๆ ก็อาจส่งผลให้ธนาคารล้มลงได้ไม่ยาก

ที่มา:

  • www.credit-suisse.com/about-us/en/our-company/who-we-are.html
  • www.credit-suisse.com/careers/en/locations.html
  • www.credit-suisse.com/us/en/investment-banking/ibcm/corporate-clients.html
  • www.credit-suisse.com/careers/en/culture/awards.html
  • krungthai.com/Download/economyresources/EconomyResourcesDownload_1919Research_Note_SVB_24_03_66.pdf
  • www.finma.ch/en/enforcement/recovery-and-resolution/too-big-to-fail-and-financial-stability/systemically-important-banks/
  • www.bloomberg.com/news/articles/2023-04-02/ubs-will-cut-workforce-by-20-30-after-cs-takeover-soz-says
  • www.bloomberg.com/news/articles/2023-04-11/swiss-government-set-for-grilling-over-ubs-credit-suisse-deal
  • www.reuters.com/business/finance/credit-suisse-rescue-package-rejected-by-swiss-parliament-2023-04-12/
  • workpointtoday.com/thailands-stock-exchange-clarified-credit-suisse-holds-major-shares-of-listed-companies/
  • workpointtoday.com/23-thai-fif-invested-in-credit-suisse-at1/
  • workpointtoday.com/bank-of-thailand-assures-us-europe-bank-collapse-will-not-affect-thai/

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า