ทุกวันนี้ ตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ส่งอาหารออนไลน์แข่งกันดุเดือดขึ้นเรื่อยๆ อย่างในไทยก็มี Grab, LINEMAN, Foodpanda, Robinhood, ShopeeFood และเจ้าอื่นๆ ที่เข้าร่วมสนามแข่งขันนี้
แต่ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นเลยว่า ผู้เล่นในตลาดแต่ละราย พยายามปรับตัวไปสู่สิ่งที่เรียกว่า Super App (ซูเปอร์แอป)
คือแม้ว่าบริการส่งอาหารจะเป็นตัวที่สร้างรายได้หลักๆ แต่ด้วยความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลาย แต่ละเจ้าก็ต้องขยายบริการให้ครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็น การเรียกรถ การรับ-ส่งพัสดุ สั่งซื้อของจากซุปเปอร์มาร์เก็ต ไปจนถึงการจองโรงแรม จองที่พัก และที่อาจจะตามมาในอนาคตอีกมากมาย
ภาพที่เห็นในวงการนี้คือ ผู้เล่นหลายรายในตลาดต้องการเป็น ‘ซูเปอร์แอป’ กันทั้งนั้น แต่ก็ดันมีรายหนึ่งในตลาดที่ดูเหมือนว่า จะไม่ขยับไปทำอะไรอย่างอื่นเลย นอกจากส่งอาหาร ซึ่งรายนั้นก็คือ Foodpanda
คำถามคือ ทำไม Foodpanda ถึงไม่อยากเป็นซูเปอร์แอปเหมือนคู่แข่งคนอื่นๆ ในตลาด
TODAY Bizview จะสรุปให้ในบทความนี้
[ Foodpanda จะทำแค่ส่งอาหารอย่างเดียว ]
ผ่านไป 10 ปีนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท จนถึงวันนี้ Foodpanda ยังคงมุ่งเน้นที่ตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่เพียงอย่างเดียว
Jakob Angele ซีอีโอ Foodpanda ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Nikkei Asia ในโอกาสครบรอบ 10 ปีของการทำธุรกิจในเอเชียว่า เขาต้องการเป็นแอปที่มีคุณค่าชัดเจนให้กับลูกค้า ด้วยการบริการส่งอาหารเท่านั้น ไม่ได้มีความต้องการเป็นซูเปอร์แอปที่มีบริการหลากหลาย
“ในตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ยังอะไรให้เราทำอีกมาก เรายังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการเดินทางเท่านั้น”
แต่ในขณะเดียวกัน Angele ก็บอกว่า แม้เราจะไม่เป็นซูเปอร์แอปเหมือนคนอื่นๆ แต่ Foodpanda พร้อมที่จะดึงเอาเทคโนโลยีอย่าง AI มาพัฒนาระบบการจัดการออเดอร์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม Foodpanda อาจจะถูกก็ได้ที่เลือกทำเพียงอย่างเดียว Angele ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ยังไปได้อีกไกล สิงคโปร์จะเติบโตได้อีกห้าเท่า แถมยันยันว่า Foodpanda อยู่ในจุดที่ดีมากจริงๆ และจะพยายามทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างสมเหตุสมผลและยั่งยืนอยู่เสมอ
[ ตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ใหญ่แค่ไหน ]
ตามรายงานของ Momentum Works Singapore เรื่องส่วนแบ่งการตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Grab เป็นผู้นำอยู่ที่ประมาณ 49% ของมูลค่าธุรกรรมรวมในตลาด (GMV) ฟู้ดเดลิเวอรี่ระดับภูมิภาค โดยมียอดขาย 7.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
รองลงมาคือ Foodpanda ที่ 22% หรือ 3.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วน Gojek คิดเป็น 14% หรือประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
เมื่อแบ่งเป็นรายประเทศ ก็เห็นภาพชัดขึ้นว่า ประเทศไหน ใครเป็นที่นิยมที่สุด
– ไทย: GrabFood (47%), Foodpanda (22%), LINE MAN (22%)
– อินโดนีเซีย: GrabFood (49%), GoFood (43%), ShopeeFood (8%)
– สิงคโปร์: GrabFood (54%), Foodpanda (34%), Deliveroo (12%)
– มาเลเซีย: Foodpanda (49%), GrabFood (48%), ShopeeFood (3%)
– ฟิลิปปินส์: Grab (52%), Foodpanda (48%)
– เวียดนาม: Grab (41%), ShopeeFood (41%), Baemin (3%)
ขณะที่แอปอื่นกำลังผันตัวเป็นซูเปอร์แอปโดยใช้ประโยชน์จากฐานลูกค้าเดิม เพื่อนำเสนอบริการใหม่ๆ ที่มีค่าใช้จ่ายสูงเพื่อดึงดูดลูกค้า Foodpanda ก็กำลังปรับตัวโดยดึง AI มาพัฒนาระบบคำสั่งซื้อจากซัพพลายเออร์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
Angele ยังเสริมอีกว่า Foodpanda สนับสนุนให้มีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างร้านอาหารและซัพพลายเออร์ด้วยเทคโนโลยี รวมถึงการจัดการสต็อกของร้านอาหารอีกด้วย
ตลาดฟู้ดเดลิเวอรี่ยังมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกไกล แต่ถ้ามามองดูในไทย ก็อาจทำกำไรได้ยาก เพราะลงทุนมหาศาลไปกับการพัฒนาระบบ ทำการตลาด ดันโปรโมชั่น เพื่อสร้างฐานลูกค้าให้ได้มากที่สุด การขยายตัวเป็นซูเปอร์แอปอาจมีกำไรมากขึ้นได้
[ ตัวเลขขาดทุนธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ประเทศไทย ปี 2562 – 2564 ]
– Grab หรือ บริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด ขาดทุนรวม 3 ปี 2,259.7 ล้านบาท: -1,650.1 ล้านบาท (2562), -284.3 ล้านบาท (2563), -325.3 ล้านบาท (2564)
– Foodpanda หรือ บริษัท เดลิเวอรี่ฮีโร่ (ประเทศไทย) จำกัด ขาดทุนรวม 3 ปี 2,259.7 ล้านบาท: -1,264.5 ล้านบาท (2562), -3,595.9 ล้านบาท (2563), -4,721.6 ล้านบาท (2564)
– LINEMAN หรือ บริษัท ไลน์แมน (ประเทศไทย) จำกัด ขาดทุนรวม 3 ปี 3,658.4 ล้านบาท: -157.2 ล้านบาท (2562), -1,114.7 ล้านบาท (2563), -2,386.5 ล้านบาท (2564)
– Robinhood หรือ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ขาดทุนรวม 2 ปี 1,423.2 ล้านบาท: -87.8 ล้านบาท (2563), -1,335.4 ล้านบาท (2564)
ที่มา :
https://asia.nikkei.com/Business/Technology/Foodpanda-will-not-follow-superapp-rivals-in-ASEAN-CEO
workpointTODAY