Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

ประชาชนต้องประหยัด และเตรียมเซฟเงินไว้จ่ายค่าไฟแพงขึ้น โดยเฉพาะค่าไฟตั้งแต่รอบเดือนกันยายน ถึง ธันวาคมปีนี้ ในอัตราค่าไฟฟ้า เฉลี่ยที่ 4.72 บาทต่อหน่วย และอาจต้องเก็บเงินไว้จ่ายค่าไฟที่อาจปรับเพิ่มอีกเผื่อจนถึงปีหน้าด้วย 

สาเหตุค่าไฟฟ้าแพงขึ้น นายกรัฐมนตรีผู้บริหารประเทศอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อธิบายว่า (ค่าไฟฟ้า) มันขึ้นก็ต้องขึ้น แต่ขึ้นจากอะไรก็ไปดูสาเหตุ สาเหตุแห่งปัญหา ไปศึกษาธรรมะบ้าง ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เรียนซะบ้าง ว่าทุกข์เกิดจากอะไรแล้วจะแก้ปัญหาอย่างไ

TODAY Bizview ขอสรุปเรื่องค่าไฟแพงขึ้นที่จะส่งผลเป็นทุกข์ของพวกเรามาให้อ่านกัน และหนทางที่จะดับทุกข์ค่าไฟแพงได้คืออะไร 

อื่นใดต้องรู้ก่อนว่า หน่วยงานที่มีหน้าที่พิจารณาปรับขึ้นค่าไฟฟ้า คือ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. เป็นองค์กรอิสระที่กำกับดูแลพลังงาน และมีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการพิจารณาขึ้นค่า เอฟที (FT) ซึ่งก็คือค่าไฟจะเพิ่มขึ้นลดลง ก็มาจากค่า เอฟทีในบิลของเรานี่ล่ะ 

ค่าเอฟที คือ ค่าไฟฟ้าผันแปร เข้าใจง่ายที่สุด คือ ค่าต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่การไฟฟ้าไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ราคาเชื้อเพลิง อัตราเงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ในช่วงนั้นๆ ดังนั้นค่าเอฟทีจะปรับขึ้นก็ได้ จะปรับลงก็ได้ โดยบ้านเรามีการกำหนด ปรับค่าเอฟที หรืออัตราค่าไฟฟ้าทุก 4 เดือน เพื่อสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของต้นทุนผลิตไฟฟ้า 

และหนนี้ก็เช่นกันที่ค่าเอฟทีปรับขึ้นทำให้ค่าไฟแพงขึ้น โดยมาจากประเด็นหลักคือ “ก๊าซธรรมชาติขาดแคลน” 

ก๊าซธรรมชาติ ถือเป็นเชื้อเพลิงหลักสำหรับการผลิตไฟฟ้า ดังนั้นจึงเป็นต้นทุนที่มีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา ต้นทุนนี้เลยไปอยู่ในค่าเอฟที และเมื่อตอนนี้บ้านเรา เจอปัญหาจากการขาดแคลนก๊าซธรรมชาติ แปลว่าต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าก็เลยเพิ่มขึ้น  

[ สาเหตุของการขาดแคลน ] 

ก๊าซธรรมชาติส่วนหนึ่งในอ่าวไทย จากแหล่งผลิตหลักเอราวัณขาดหายไป เพราะเป็นช่วงรอยต่อเปลี่ยนผ่าน ระหว่างผู้รับสัมปทานรายเก่า (กลุ่มเชฟรอน) กับผู้เข้ามาพัฒนารายใหม่ (ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด) ช่องว่างรอยต่อช่วงนี้ทำให้การผลิตก๊าซที่แหล่งเอราวัณไม่ต่อเนื่อง ส่งผลให้ก๊าซขาดแคลน

อีกส่วนคือ การผลิตก๊าซจากเมียนมาร์ไม่สามารถผลิตได้ตามกำลังการผลิตเดิมและมีแนวโน้มที่จะลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประเทศไทยมีความสามารถในการผลิตก๊าซธรรมชาติใช้เอง 66% และนำเข้าจากต่างประเทศอีก 34% โดยนำเข้าจากเมียนมาร์ราว 16% และนำเข้าในรูปแบบก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากต่างประเทศอีก 18 %

พอเกิดปัญหาความไม่แน่นอนของแหล่งก๊าซธรรมชาติในประเทศไทยและในเมียนมาร์แบบนี้ บ้านเราก็ต้องใช้วิธีนำเข้า ‘ก๊าซธรรมชาติเหลว’ ที่เรียกว่า LNG  จากต่างประเทศเข้ามาเสริม หรือเดินเครื่องโรงไฟฟ้าด้วย ‘น้ำมัน’ เพื่อทดแทนปริมาณก๊าซในอ่าวไทยที่ขาด แต่ตอนนี้ราคาก๊าซธรรมชาติเหลวราคาแพงและผันผวน

การที่ราคาก๊าซธรรมชาติเหลวแพงและผันผวน ก็มาจากสองสาเหตุ 1.สงครามรัสเซีย – ยูเครน ที่รัสเซียลดหรือตัดการจ่ายก๊าซธรรมชาติทางท่อไปยังยุโรป ทำให้ความต้องการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว เพิ่มขึ้นในยุโรป ส่งผลทางอ้อมต่อราคาก๊าซธรรมชาติเหลวในตลาดเอเชียไปด้วย 2.ปัญหาสะสมคั่งค้างมาจากช่วงวิกฤตโควิด-19 แพร่ระบาดหนัก ช่วงนั้นผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวชะลอการลงทุน เพราะมีความต้องการใช้พลังงานน้อยในช่วงโควิด พอหลายประเทศฟื้นตัวจากโควิดไล่ ๆ กัน ทำให้เกิดความต้องการใช้ LNG มากกว่ากำลังการผลิตในตลาดโลก เลยส่งผลกระทบต่อราคาซื้อขายและสัญญาซื้อขาย

จากสาเหตุที่ว่ามา ทั้งความไม่แน่นอนของแหล่งก๊าซธรรมชาติในประเทศไทยและเมียนมาร์ กับสภาวะราคาพลังงานในตลาดโลก ส่งผลต่อ ‘ต้นทุนการผลิตไฟฟ้า’ ที่เพิ่มขึ้น และมีความกังวลว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะมีภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่แบกไว้ก่อนหน้านี้ ส่งผลต่อสถานภาพของ กฟผ.ด้วย

[ ปัญหารากลึกยิ่งกว่า ] 

เรื่องค่าไฟฟ้าแพง ถูกพูดถึงและวิพากษ์วิจารณ์มานานแล้ว ถึงสาเหตุหนึ่งของปัญหา คือ บ้านเรามี “ปริมาณไฟสำรองล้นประเทศ” โดยประเมินกันว่าระบบกำลังผลิตไฟฟ้าของไทยมีพลังงานสำรองสูงถึงราว 35-50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งตามค่ามาตรฐานของการศึกษาควรจะสำรองไม่เกิน 15 เปอร์เซ็นต์

การสำรองไฟฟ้าล้นระบบเกินไปมากนี้ ถูกตั้งข้อสังเกตว่าส่งผลให้ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าต้องแบกรับภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าที่หน่วยงานรัฐจัดหาถึงแม้ว่าจะไม่ได้มีการใช้งานจริงก็ตาม ระบบนี้จึงถูกมองว่าไม่ยุติธรรม 

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพแบบกลมๆ เช่น ตามแผนในปี 2565 คาดว่าจะใช้ไฟ 100 หน่วย เลยผลิตไฟฟ้า 115 หน่วย  (สำรอง 15 เปอร์เซ็นต์ ตามมาตรฐาน) แต่ด้วยสถานการณ์โควิด ส่งผลให้มีการใช้ไฟจริงแค่ 70 หน่วย ทำให้กันสำรองไฟฟ้าเหลือมากกว่า 15 เปอร์เซ็นต์ แต่เนื่องจากตามแผนมีการคำนวณค่าไฟที่ 115 หน่วย ไปแล้ว ไม่ว่าจะใช้แค่ 100 หรือ 70 ก็ต้องคิด 115  เทียบง่าย ๆ คล้ายกับทำเบเกอรี่ขาย ที่ต้นทุนจะแพงกว่าอาหารทั่วไป เพราะต้องคำนวณเผื่อของที่ขายไม่หมดจนต้องทิ้งด้วย 

ที่ว่ามาคือการยกตัวอย่างกันสำรองตามมาตรฐานที่เหมาะสม 15 เปอร์เซ็นต์ แต่สถานการณ์จริงไกลกว่านั้น ขณะนี้บ้านเรามีปริมาณไฟฟ้าสำรองเกินไปกว่านั้นมาก ประมาณการที่ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ เลยทีเดียว โดยข้อมูลจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ระบุว่าในเดือนธันวาคม 2563 ประเทศไทยมีกำลังการผลิตติดตั้งไฟฟ้า 45,480 เมกะวัตต์ เมื่อเทียบกับความต้องการไฟฟ้าสูงสุดในปี 2563 ที่ 28,637 เมกะวัตต์ ส่งผลให้มีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองสูงถึง 37% หรือ 27% เมื่อหักส่วนนำเข้าไฟฟ้าออกไป

เรื่องนี้จึงถูกตั้งคำถามมาตลอดว่า เมื่อซัพพลายสูงกว่าดีมานด์ ราคาแทนที่จะลดลง แต่กลับเป็นตรงกันข้าม เพราะรูปแบบที่ไปกำหนดราคากันในระยะยาว และแผนการใช้ไฟที่ผลิตออกมาไม่เป็นไปตามคาด ประชาชนจึงได้รับผลกระทบ ?

 

[ หนทางดับทุกข์ จะแก้ค่าไฟแพงอย่างไร ] 

 เมื่อพูดถึงการบริหารจัดการต้นทุน ปริมาณสำรองไฟฟ้าที่เป็นระบบ ทำให้มีการพูดถึงการทบทวนแผน PDP หรือชื่อเต็มว่า Power Development Plan    

PDP คือแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ที่จะวางแผนการใช้พลังงานอย่างเป็นระบบในระยะยาว โดยจะเริ่มตั้งแต่การบริหารจัดการแหล่งพลังงานที่เหมาะสม มีการกระจายใช้เชื้อเพลิงอย่างสมดุล เล่าให้เห็นภาพคือ แผนนี้ได้คาดการณ์ว่าปีนั้นปีนี้ ประเทศไทยจะใช้ไฟฟ้าเท่าไหร่ พอคาดการณ์แล้ว ก็มานั่งคิดต่อว่า จะต้องมีโรงไฟฟ้าจำนวนเท่าไหร่ ผลิตไฟฟ้าจะใช้เชื้อเพลิงอะไรที่ถูกสุด สะอาดสุด เหมาะสมที่สุด และเมื่อคาดการณ์เสร็จก็ประกาศใช้แผน PDP ออกมา โดย กฟผ.จะนำแผนไปดำเนินการ 

แต่อย่างที่บอกว่า แผนที่กำหนดการใช้ไฟฟ้าและกันสำรองไว้ เกิดปัญหาจากหลายสาเหตุ ทั้งการรับซื้อไฟฟ้าเข้ามาในระบบมากเกินกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้า เกิดสถานการณ์โควิด-19 ขึ้นมา ตามที่เล่าไว้ การมีพลังงานหมุนเวียนทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม​ ชีวมวล​ ชีวภาพ​ ซึ่งโดยธรรชาติพลังงานลักษณะนี้ยังไม่มีเสถียรภาพในการจ่ายไฟฟ้าให้กับระบบ ทำให้ต้องมีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เพื่อแบคอัพระบบ

ประชาชาติธุรกิจเคยรายงานข่าว เมื่อช่วงสถานการณ์โควิดระบาดหนักในปี 2563 ถึงความเป็นห่วงปริมาณสำรองไฟฟ้าที่ล้นเกิน ซ้ำด้วยการระบาดของไวรัสโควิดเป็นตัวเร่งให้ปริมาณสำรองไฟฟ้าของไทยเพิ่มสูงขึ้นเกือบเท่าตัว เพราะการใช้ไฟฟ้าในประเทศลดลง รวมทั้งการใช้ไฟในภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจก็ลดน้อยลงตามจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชะงักในช่วงโควิด 

โดยขณะน้ันมีข้อเสนอให้แผน PDP ฉบับปรับใหม่จะต้องทำหลัก ๆ คือ

  • ลดกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ที่จะเข้าระบบ 
  • ลดการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจาก สปป.ลาว 
  • เลื่อนหรือยกเลิกโรงไฟฟ้าใหม่ที่จะเข้าสู่ระบบ 

ดังนั้นประเด็นค่าไฟแพง นอกจากจะตอบคำถามว่าเป็นเรื่องของปัญหาขาดแคลนก๊าซธรรมชาติ ปัญหาราคาพลังงานโลกผันผวน ไม่ว่าผลกระทบลูกโซ่นี้จะมาอย่างไร 

แต่เรื่องหนึ่งที่จะต้องถูกกลับมาพูดถึงคือ การวางนโยบายของแผนการผลิตและสำรองไฟฟ้าของประเทศ หรือการทำแผน PDP ฉบับใหม ให้สอดคล้องสมดุลกับสถานการณ์การใช้ไฟฟ้าของประเทศ

ที่ต้องมีประสิทธิภาพ และแก้ปัญหา “ปริมาณสำรองไฟฟ้าล้นประเทศ” วางแผนให้รัดกุมและไม่ถูกตั้งคำถามว่ามีการเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนใดหรือไม่

ส่วนเรื่องรณรงค์ให้ประชาชนประหยัดการใช้ไฟฟ้า เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตจากก๊าซธรรมชาติ+เชื้อเพลิงอื่น ๆ จะเป็นการช่วยลดราคาเฉลี่ยของค่าเอฟที ให้ราคาค่าไฟฟ้าถูกลง ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่รับฟังได้ แต่ประเด็น “ปริมาณไฟสำรองล้นประเทศ” ที่สังคมตั้งข้อสงสัยรัฐบาลก็ต้องแก้ไขจริงจังเช่นกัน

 

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า