SHARE

คัดลอกแล้ว

ญี่ปุ่นเริ่มฉีดวัคซีนให้ประชาชนเมื่อกลางเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าล่าช้าหากเทียบกับประเทศอื่นๆ อย่างสหรัฐฯ โดยรัฐบาลญี่ปุ่นให้เหตุผลว่า สาเหตุหลักเป็นเพราะวัคซีนไฟเซอร์ของบริษัทฝั่งยุโรปนั้นขาดแคลน

อย่างไรก็ตาม 3 เดือนต่อมา แม้การจัดส่งจะเริ่มเข้าที่เข้าทาง รวมถึงรัฐบาลก็พยายามที่จะเร่งฉีดวัคซีน แต่ญี่ปุ่นก็ยังรั้งท้าย กลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการป้องกันโควิดน้อยที่สุดของโลก ซึ่งรัฐบาลออกมาแถลงว่าเป็นเพราะญี่ปุ่นขาดแคลนเจ้าหน้าที่หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่จะมาทำการฉีดวัคซีนให้ประชาชน

แม้ ‘โยชิฮิเดะ ซูงะ’ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น จะให้คำมั่นว่าจะฉีดวัคซีนให้ประชาชนครบโดสก่อนสิ้นเดือนกันยายน แต่เจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบางรายกลับเห็นต่างว่า การฉีดวัคซีนอาจกินเวลาไปจนถึงปีหน้า

และเป็นไปไม่ได้ที่ญี่ปุ่นจะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ภายใน 2 เดือนต่อจากนี้ ก่อนที่การแข่งขันโตเกียวโอลิมปิกจะเริ่มขึ้น

โดยขณะนี้ ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าระบบสาธารณสุขญี่ปุ่น ที่ตอนนี้ก็ประสบปัญหารอบด้านแล้ว จะยังสามารถดูแลผู้ที่เดินทางเข้าประเทศมาระหว่างการแข่งขันดังกล่าวได้หรือไม่ เพราะแค่ดูแลผู้ป่วยในประเทศและระดมฉีดวัคซีนก็หนักแล้ว

งานนี้จึงเรียกได้ว่ารัฐบาลซูงะกำลังประสบกับแรงกดดันจากประชาชนที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากการบริหารจัดการวัคซีนที่ล่าช้า และการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินซ้ำแล้วซ้ำเล่า หลายๆ คนไม่เห็นด้วยกับการที่ญี่ปุ่นจะเดินหน้าเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกต่อไป

ประเด็นสำคัญมาจากมุมมองของชาวญี่ปุ่น ที่กังวลว่าการแข่งขันโอลิมปิกอาจกลายเป็น super spreader ได้ โดยผลการสำรวจจากสำนักข่าวท้องถิ่นอย่าง Kyodo News เผยว่า ประชากรกว่า 86% กลัวว่ายอดผู้ติดเชื้อจะพุ่งสูงขึ้นอีกหากยืนยันจะจัดงานโตเกียวโอลิมปิกและพาราลิมปิกในช่วงฤดูร้อนนี้

ทำไมวัคซีนถึงล่าช้า?

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นเริ่มฉีดวัคซีนช้า เป็นเพราะว่าญี่ปุ่นขอให้มีการวิจัยวัคซีนไฟเซอร์ในประเทศเองก่อน เพิ่มเติมจากผลวิจัยของประเทศอื่นๆ

ในขณะที่หลายสิบชาติยอมรับในผลการวิจัยวัคซีนไฟเซอร์จากนานาประเทศที่เผยแพร่เมื่อช่วงเดือน พ.ย. 2563 และเริ่มระดมฉีดทันที แต่การวิจัยในญี่ปุ่นนั้นกินเวลาเพิ่มอีกเป็นเดือนๆ

ส่วนวัคซีนโมเดอร์นาและแอสตร้าเซนเนก้าก็ได้ขึ้นทะเบียนหลังจากผ่านขั้นตอนเดียวกันกับไฟเซอร์เช่นกัน

ทำไมญี่ปุ่นถึงต้องการข้อมูลวิจัยอีก?

สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากประชาชนญี่ปุ่นมักจะสงสัยและระแวงยาที่ผลิตจากต่างประเทศ โดยเฉพาะวัคซีน ทำให้รัฐบาลเห็นว่าไม่ควรละเลยข้อกังวลด้านความปลอดภัยเหล่านี้

โดยการวิจัยไฟเซอร์ในระดับนานาชาติมีขึ้นช่วงเดือน ก.ค. – พ.ย. ซึ่งทำการวิจัยในคนกว่า 44,000 ราย จาก 6 ประเทศ โดย 2,000 รายเป็นชาวเอเชีย แต่ญี่ปุ่นขอให้มีการทดลองในประชากรของตนเองทั้งหมด 160 ราย

ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า การทดลองในคนจำนวนน้อยขนาดนั้น ไม่ได้ช่วยอะไรมาก และรังแต่จะชะลอการฉีดวัคซีนออกไปเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่สาธารณสุขก็ยืนยันว่าเป็นเหตุจำเป็นเพื่อสร้างความมั่นใจในตัววัคซีน

ทำไมความเชื่อมั่นวัคซีนจึงต่ำ?

เรื่องนี้จริงๆ ก็มีมานานแล้ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรายงานผลข้างเคียงที่มักจะเกินจริง อย่างล่าสุด ญี่ปุ่นก็ไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก หลังจากที่สื่อรายงานผลข้างเคียงต่างๆ ของวัคซีนทั้งที่ยังไม่มีข้อพิสูจน์ ทำให้ประชาชนกังวลที่จะฉีดแม้จะมีการใช้อย่างแพร่หลายในต่างประเทศ

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นมีผู้ติดเชื้อโควิดมากกว่า 789,000 ราย ในขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตเกิน 14,506 ราย

ขณะที่การฉีดวัคซีนในญี่ปุ่นเริ่มเมื่อกลางเดือน ก.พ. ส่วนผู้สูงอายุกว่า 36 ล้านคน ได้รับวัคซีนตั้งแต่ช่วงกลางเดือน เม.ย.

ทำให้จนถึงตอนนี้ มีประชากร 17% ที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว โดยผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่บางรายคาดว่า กว่าจะฉีดวัคซีนให้ประชาชนครบทุกคน อาจกินเวลาไปถึงฤดูใบไม้ผลิปีหน้า

ญี่ปุ่นมีวัคซีนเพียงพอไหม?

ญี่ปุ่นมีวัคซีนในมืออยู่ 344 ล้านโดส โดย 194 ล้านโดสเป็นไฟเซอร์ 120 ล้านโดสเป็นแอสตร้าเซนเนก้า และอีก 50 ล้านโดสเป็นโมเดอร์นา เรียกได้ว่าเพียงพอต่อประชากรยาวไปจนถึงสิ้นปีนี้

แม้จะมีวัคซีนเพียงพอ แต่สิ่งที่ภาครัฐกังวลคือจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ที่จะมาฉีดวัคซีนให้ประชาชนอาจไม่พอ เพราะมีเพียงแพทย์และพยาบาลเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้ทำหน้าที่นี้ได้ การให้เภสัชกรมาช่วยฉีดอย่างในสหรัฐหรือฉีดโดยอาสาสมัครอย่างในอังกฤษ ยังไม่เป็นที่ยอมรับในญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มว่าสถานการณ์จะดีขึ้น เมื่อสื่อในประเทศรายงานว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะผ่อนคลายกฎดังกล่าว เพื่อให้มีเจ้าหน้าที่มาช่วยมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้แผนการฉีดวัคซีนดำเนินการได้เร็วขึ้นหลังช่วงกลางเดือน พ.ค.

ซายูริ ชิราอิ ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยเคโอะ กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า การที่ญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่กำลังเดินหน้าสู่ภาวะประชากรสูงอายุ ขาดแคลนแพทย์และพยาบาล เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นเริ่มฉีดวัคซีนโควิดได้ช้ากว่าที่ควรจะเป็น

โดยเมื่อวันที่ 21 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีประชากรเพียง 18.3% เท่านั้นที่ได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 โดส

หากต้องการเห็นภาพที่ชัดขึ้นว่าญี่ปุ่นเริ่มช้าเพียงใด อาจต้องลองเทียบกับประเทศอย่างสหรัฐฯ ที่ขณะนี้มีประชากรมากกว่า 50% ได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 โดส ในขณะที่อังกฤษพุ่งสูงไปกว่า 63.6%

ศาสตราจารย์ชิราอิกล่าวว่า “ในสังคมผู้สูงอายุ เป็นเรื่องยากมากที่จะหาแพทย์และพยาบาล ส่วนรัฐบาลก็ไม่มีบุคลากรมากเพียงพอที่จะฉีดวัคซีนให้ประชาชน นั่นทำให้การฉีดวัคซีนในญี่ปุ่นล่าช้า”

ทั้งนี้ ประเทศที่เผชิญภาวะประชากรสูงอายุและอัตราการเกิดที่ลดลง จัดเป็นกลุ่มประเทศที่เสี่ยงอย่างมากที่จะขาดแคลนบุคลากรแขนงต่างๆ ในอนาคต แม้กระทั่งช่วงก่อนการระบาดโควิด รายงานจากองค์การอนามัยโลกเมื่อปี 2560 ก็ระบุว่าญี่ปุ่นกำลังประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งการลดลงของอัตราการเกิดส่งผลกระทบโดยตรงต่อจำนวนเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข

ญี่ปุ่นพัฒนาวัคซีนของตนเองไหม?

ใช่ว่าจะซื้อวัคซีนจากต่างประเทศเท่านั้น แต่บริษัทและองค์กรวิจัยบางแห่งกำลังพัฒนาวัคซีนโควิดด้วย

อย่างบริษัท Shionogi and Co. บริษัทยาของญี่ปุ่น ก็ออกมาระบุว่า หวังว่าวัคซีนของบริษัทตนเองจะได้รับการขึ้นทะเบียนภายในสิ้นปีนี้

นอกจากนี้ยังมีบริษัท Takeda Pharmaceutical Co. ซึ่งจะเป็นผู้จัดจำหน่ายวัคซีนโมเดอร์นาและผู้ผลิตวัคซีนโนวาแวกซ์ในญี่ปุ่น ส่วน JCR Pharmaceuticals Co. จะเป็นผู้ผลิตวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า บริษัทญี่ปุ่นไม่ค่อยพัฒนาวัคซีนมากนัก หลักๆ เป็นเพราะความเสี่ยง กระบวนการที่กินเวลานาน และการสนับสนุนงบจากรัฐบาลที่ไม่มากนัก

ท้ายที่สุด คงต้องรอดูว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะบริหารจัดการเรื่องนี้อย่างไร เพื่อให้ประชาชนได้ฉีดวัคซีนครบโดสกันอย่างเร็วที่สุด เพื่อเปิดประเทศให้ได้อีกครั้ง

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า