SHARE

คัดลอกแล้ว

อาจจะฟังดูเป็นข่าวร้าย แต่ข้อเท็จจริงก็คือ เมืองไทยไม่น่าลงทุนอีกต่อไปแล้วสำหรับชาวต่างชาติ ทั้งการลงทุนในตลาดหุ้นไทย และการลงทุนระยะยาวในภาคเศรษฐกิจจริง

ซึ่งนั่นหมายถึงผลตอบแทนของตลาดหุ้นไทย ที่อาจจะไม่สามารถกลับไปมากเท่าเก่าได้แล้วด้วย

KKP Research โดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ได้เคยสำรวจข้อมูลเศรษฐกิจไทยเพื่อตอบคำถามว่า ทำไมนักลงทุนต่างชาติจึงทยอยโยกย้ายเงินทุนของตัวเองออกจากตลาดหุ้นไทย และพบว่าในช่วง 7-8 ปีหลังสุด นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยออกโดยสุทธิแทบทุกปี โดยช่วงปี 2013-2019 นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยออกสุทธิไปรวมกันกว่า 8 แสนล้านบาท

ขณะที่ในปี 2020 ที่เกิดสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 เฉพาะในช่วง 6 เดือนแรก นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยออกสุทธิไปอีกรวมกว่า 2.2 แสนล้านบาท

เรียกได้ว่า นักลงทุนต่างชาติที่ลงทุนในตลาดหุ้นไทย เทขายหุ้นไปออกไปสุทธิเป็นมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านบาท ในช่วง 7-8 ปีหลังสุด

คำถามสำคัญจากปรากฏการณ์ข้างต้นคือ นักลงทุนต่างชาติเห็นอะไร จึงได้ทยอยถอนการลงทุนออกจากตลาดหุ้นไทยมากมายขนาดนี้ในช่วง 7-8 ปีหลัง

เหตุผลแรกที่ชัดเจนที่สุดคือ เพราะตลาดหุ้นไทยให้ผลตอบแทนน้อยกว่าตลาดหุ้นในประเทศอื่น โดย KKP Research พบว่าในช่วง 7 ปีหลังสุดดัชนีตลาดหุ้นไทยแทบไม่โตขึ้นเลย ในขณะที่ดัชนีของตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียโดยรวมโตขึ้นกว่า 50% ส่วนดัชนีของตลาดหุ้นสหรัฐฯ โตขึ้นกว่า 100%

ดังนั้นนักลงทุนต่างชาติ ที่ไม่มีข้อจำกัดเรื่องการลงทุนข้ามประเทศ จึงดึงเงินลงทุนออกจากประเทศไทย และไปลงทุนในตลาดหุ้นประเทศอื่นที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าแทน

แต่การจะลงทุนหรือถอนการลงทุนจากประเทศใด การมองเพียงผลตอบแทนในอดีตนั้นยังไม่เพียงพอ แต่ยังต้องมองไปยัง “อนาคต” ของตลาดในประเทศนั้นๆ ด้วย

แต่ยิ่งมองไปในอนาคตข้างหน้า เรากลับยิ่งมองเห็นข่าวร้ายมากขึ้น เพราะเศรษฐกิจไทยยังมีจุดอ่อนหลายอย่าง ที่น่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ช้าไปอีกหลายปี และยิ่งทำให้การลงทุนในประเทศไทยดูไม่น่าดึงดูดมากขึ้นอีก

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยเติบโตช้าลงเรื่อยๆ ในช่วงประมาณ 20 ปีหลังสุด โดยช่วงก่อนเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 1997 นั้น เศรษฐกิจไทยเติบโตเฉลี่ยถึงปีละ 7% แต่หลังวิกฤติถึงช่วงประมาณปี 2012 เศรษฐกิจไทยกลับโตช้าลงเหลือเพียง 5% ต่อปี และในช่วง 7 ปีหลังสุดถึงปัจจุบัน เศรษฐกิจไทยเติบโตที่เพียง 3% ต่อปีเท่านั้น

โดยสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้เศรษฐกิจไทยโตช้าลงเรื่อยๆ ก็เนื่องมาจาก “การลงทุน” ในประเทศไทยที่ลดลงเรื่อยๆ ด้วยเช่นกัน โดยตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือที่เรียกว่า FDI (Foreign Direct Investment) ที่มาลงทุนสร้างโรงงานหรือเปิดธุรกิจใหม่ๆ ในประเทศไทยนั้น ลดลงเรื่อยๆ มาตลอด โดยในช่วงปี 2001-2005 ไทยเคยได้รับเงินลงทุนส่วนนี้คิดเป็นสัดส่วนกว่า 44% ของเงินลงทุนจากต่างชาติที่มาลงในกลุ่ม 5 ประเทศอาเซียน (ไทย, เวียดนาม, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย) แต่ในช่วงปี 2016-2018 ไทยได้รับเงินลงทุนส่วนนี้ลดลงเหลือแค่ 14% เท่านั้น น้อยที่สุดในกลุ่ม 5 ชาติอาเซียนข้างต้น

และไม่ใช่แค่บริษัทต่างชาติเท่านั้น เพราะแม้แต่บริษัทไทยเองก็นิยมหันไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้นด้วย โดยตัวเลขการออกไปลงทุนในต่างประเทศของธุรกิจไทย (Thai Direct Investment: TDI) เพิ่มขึ้นจากประมาณ 5,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2015 ไปเป็นกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2018

พูดง่ายๆ ว่า บริษัทต่างชาติเริ่มไม่อยากมาลงทุนในประเทศไทย ขณะที่ธุรกิจในประเทศไทยเองก็มองหาโอกาสในการเติบโตนอกประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะอาจมองไม่เห็นอนาคตการเติบโตของเศรษฐกิจไทยเหมือนกัน

ทั้งนี้ ทาง KKP Research ได้สรุปไว้ด้วยว่า รากปัญหาที่ทำให้เศรษฐกิจไทยโตน้อยและโตช้าเช่นนี้เกิดจาก หนึ่ง ตลาดในประเทศไม่โต ทั้งด้วยจากโครงสร้างประชากรที่กำลังกลายเป็นสังคมสูงอายุ และความเหลื่อมล้ำทางรายได้ที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งทำให้กำลังซื้อของคนส่วนใหญ่ลดลง (เพราะเงินไปกระจุกตัวกับกลุ่มคนรวย)

สอง เพราะธุรกิจไทยไม่สามารถสร้างสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโลกได้ โดยเห็นได้จากการที่ประเทศไทยยังถูกขับเคลื่อนด้วยธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมเก่า และยังไม่เคลื่อนไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยี โดยบริษัทที่มูลค่ามากที่สุดในตลาดหุ้นไทยอันดับต้นๆ ไม่มีบริษัทเทคโนโลยีอยู่เลย ในขณะที่ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ บริษัท Top 10 ที่มูลค่ามากที่สุดเป็นบริษัทเทคโนโลยีเกือบทั้งหมด

สาม คือนโยบายของภาครัฐเอง ที่ไม่ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรมในตลาด โดยมักเอื้อประโยชน์ให้ธุรกิจรายใหญ่ ทำให้สามารถผูกขาดตลาดได้ต่อไปโดยไม่ต้องพัฒนานวัตกรรม และในขณะเดียวกันก็เป็นการกีดกันผู้เล่นรายใหม่ไม่ให้เกิดขึ้นด้วย นอกจากนั้น การลงทุนของภาครัฐไทยยังมักไม่ใช่การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ที่จะช่วยให้ภาคเอกชนนำไปต่อยอดทางธุรกิจได้ด้วย ลองนึกถึงโอกาสที่ประเทศไทยเสียไปจากการที่ตอนนี้ยังไม่มีรถไฟความเร็วสูงดูก็ได้

ทั้งหมดนี้จึงทำให้ตลาดหุ้นไทยไม่น่าลงทุนอีกต่อไปในสายตาของชาวต่างชาติ ทั้งจากผลตอบแทนของตลาดหุ้นไทยเองที่น้อยกว่าตลาดอื่นๆ และจากโครงสร้างเศรษฐกิจไทยเอง ที่มองไปในอนาคตแล้วยังมืดหม่น และน่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยโตน้อยและโตช้าเช่นนี้ไปอีกนาน

บทความโดย กฤดิกร เผดิมเกื้อกูลพงศ์

ที่มา https://advicecenter.kkpfg.com/th/money-lifestyle/money/economic-trend/why-foreign-investor-leave-thai-stock?

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า