พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบกออกชี้แจงกรณี มีเอกสารข่าวของสำนักงานความร่วมมือด้านความมั่นคงกลาโหม (Defense Security Cooperation Agency – DSCA) แจ้งว่ามีการขายเฮลิคอปเตอร์ให้กองทัพไทยเป็นเงิน 1.2 หมื่นล้านบาท โดยชี้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของโครงการจัดหาเฮลิคอปเตอร์ลาดตระเวนติดอาวุธระยะ 2 ที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2554

วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก
วันที่ 24 กันยายน 2562 มีเอกสารข่าวของสำนักงานความร่วมมือด้านความมั่นคงกลาโหม ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา ระบุว่าสหรัฐฯ เห็นชอบให้ขายเฮลิคอปเตอร์โจมตี AH-6i พร้อมอุปกรณ์ จำนวน 8 ลำให้แก่ทางการไทยในราคาประมาณ 400 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 12,236 ล้านบาทไทย

เอกสารข่าวของสำนักงานความร่วมมือด้านความมั่นคงกลาโหม สหรัฐอเมริกา
https://www.facebook.com/thaiarmedforce/posts/10157784880909612
หลังมีการรายงานข่าวออกไป เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์โดยทั่วไปเรื่องการใช้งบประมาณ ผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งกล่าวว่า “เวลาน้ำท่วม ต้องขอบริจาค // สหรัฐฯ ขาย เฮลิคอปเตอร์โจมตีให้ไทย 8 ลำ 12,000 ล้าน”
ขณะที่บางส่วนนำไปเปรียบเทียบกับการจัดสรรงบประมาณช่วยเหลือน้ำท่วมซึ่งต้องระดมเงินบริจาคโดยปราศจากการชี้แจงงบประมาณที่ควรมีการจัดสรรไว้ตามปกติอยู่แล้ว
อย่างไรก็ดี กองทัพบกออกมาชี้แจงแก่สื่อมวลชนในวันที่ 26 กันยายน 2562 ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า พ.อ.วินธัย แจ้งแก่สื่อมวลชนว่าการจัดซื้อนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการจัดหาเฮลิคอปเตอร์ลาดตระเวนติดอาวุธระยะ 2 ที่กำหนดความต้องการขั้นต่ำไว้ 31 ลำ ในปี 2554 จัดซื้อมาแล้ว 8 ลำ และปีนี้จัดซื้ออีก 8 ลำ
และตัวเลข 1.2 หมื่นล้านบาทที่ระบุในเอกสารของสหรัฐฯ เป็นราคาเต็มระบบ แต่กองทัพบกไทยเลือกเฉพาะรายการตามความจำเป็น อยู่ภายใต้วงเงิน 4,226 ล้านบาทเท่านั้น
เอกสารข่าวของสหรัฐฯ ระบุว่าเฮลิคอปเตอร์ทั้ง 8 ลำจะถูกบรรจุแทนฝูงบิน AH – IF ของเฮลิคอปเตอร์คอบร้า
ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯชื่นมื่นขึ้นทุกวัน
การจัดซื้ออาวุธระหว่างไทยและสหรัฐถูกระงับลงเป็นเวลากว่า 5 ปี นับตั้งแต่การเข้ามาของรัฐบาลคสช.ในปี 2557 เนื่องจากรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้ประธานาธิบดีบารัก โอบามา เน้นนโยบบายด้านสิทธิมนุษยชน และประกาศลดบทบาทการให้ความช่วยเหลือทางการทหารลง
ต่อมาแม้จะเปลี่ยนเป็นรัฐบาลนายโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ไม่ได้มีการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ขึ้น จนกระทั่งประเทศไทยมีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 สหรัฐฯ จึงได้ตกลงซื้อขายรถเกราะล้อยาง และเฮลิคอปเตอร์แบล็กฮอว์ก
แม้จะมีกระแสต้านจากสื่อสหรัฐฯ ว่า “ประชาธิปไตยในไทยเป็นของกำมะลอ” การรีบเร่งซื้อขายอาวุธอาจทำให้สหรัฐฯผิดข้อบัญญัติที่ห้ามสนับสนุนอาวุธแก่รัฐบาลรัฐประหาร แต่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาไม่ซ่อนความกระตือรือร้นที่จะฟื้นฟูความสัมพันธ์กับไทยแม้แต่น้อย

ไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐฯ ขณะเยือนไทยวันที่ 2 สิงหาคม 2562
เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2562 ไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ กล่าวปาฐกถาระหว่างเยือนไทย โดยได้เน้นย้ำถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างไทย-สหรัฐฯ และกล่าวว่าพร้อมจะร่วมมือกันเพื่อสร้างความมั่นคงแข็งแกร่งให้แก่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกตามแผน
“ลองถามตัวเองดู ว่าใครสนใจผลประโยชน์ของประชาชนกว่ากัน ระหว่างมหาอำนาจทางการค้าที่เคารพอธิปไตยของคุณหรือคนที่มุ่งทำลาย ถามตัวเองดูว่าใครจะโอบอุ้มนวัตกรรมและการปฏิรูปได้ดีกว่ากัน ระหว่างบริษัทเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจ ถามตัวเองดูว่าใครส่งเสริมให้ชาติอยู่ด้วยตัวเองได้และเป็นเอกราช นักลงทุนที่มุ่งตอบสนองผู้บริโภคหรือนักลงทุนที่วางกลให้คุณติดกับดัก” ปอมเปโอกล่าวในเวทีปาฐกถา สอดคล้องกับแผนร่างโครงการ “Indo-Pacific Strategy” ที่สหรัฐฯ พยายามใช้ต้านอิทธิพลของจีนเหนือภูมิภาคเอเชียตะวันออก
ในเอกสารข่าวของความร่วมมือด้านความมั่นคงกลาโหมต้นเรื่อง ก็ได้ระบุว่าการขายเฮลิคอปเตอร์ครั้งนี้จะช่วยสนับสนุนนโยบายต่างประเทศของสหรัฐที่มุ่งสร้างความมั่นคงกับประเทศพันธมิตรนอกนาโต (NATO) และจะไม่ทำให้สมดุลทางการทหารในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกไม่เปลี่ยนแต่อย่างใด