Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

Wirecard บริษัทด้านเทคโนโลยีชั้นนำในเยอรมัน ครั้งหนึ่งเคยเป็นดาวรุ่งแห่งวงการการเงินและเทคโนโลยี แต่ตอนนี้กำลังเข้าสู่ภาวะล้มละลาย ซีอีโอถูกจับ ผลจากการที่พบว่า มีเงิน 1 พัน 9 ร้อยล้านยูโรหรือไม่ต่ำกว่า 6 หมื่น 6 พันล้านบาทหายไป ฟังเรื่องราวได้ที่ Podcast ของ workpointTODAY

อะไรอยู่เบื้องหลังการพังทลายของ Wirecard ?

สวัสดีครับ นี่คือ Podacst จาก Workpoint today ครับ

เคยสงสัยกันไหมครับว่า มีกระบวนการอะไรบ้างที่อยู่เบื้องหลังการรูดบัตรเครดิตจ่ายเงินของเรา มันคงเป็นระบบที่ซับซ้อนน่าดูแน่ๆ เลยใช่ไหมครับ

แล้วเคยคิดกันเล่นๆ ไหมครับว่า ถ้าระบบรับ-จ่ายเงินอิเล็กทรอนิกส์แบบนั้นเกิดล่มหรือมีความไม่น่าไว้ใจขึ้นมา มันจะเป็นอย่างไร

ตอนนี้ไม่ต้องมาคิดกันแล้วนะครับ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ แล้ว กับบริษัทชื่อ Wirecard ในเยอรมนี ที่ตอนนี้กำลังเข้าสู่ภาวะล้มละลาย ซีอีโอถูกจับ ผลจากการที่พบว่า มีเงิน 1 พัน 9 ร้อยล้านยูโรหรือไม่ต่ำกว่า 6 หมื่น 6 พันล้านบาทหายไป

บอกก่อนนะครับว่า เรื่องที่เล่าให้ฟังต่อไปนี้ รายละเอียดเยอะหน่อย แต่อยากให้จับจุดที่ตัวละครของเรื่องที่หลักๆ จะมีอยู่ 4 ตัว

– แน่นอนว่าตัวแรกก็คือ Wirecard ต้นเรื่อง

– ตัวละครที่สองได้แก่บริษัทตรวจสอบบัญชี Ernst & Young ซึ่งเราจะเรียกสั้นๆ ว่า EY เป็นบริษัทที่ตรวจสอบบัญชีให้ Wirecard

– ส่วนตัวละครที่ 3 คือหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทม์ส ซึ่งขุดคุ้ยเรื่องราวของ Wirecard มาตั้งแต่แรก

– และตัวละครสุดท้าย จะมาท้ายเรื่องหน่อยแต่ก็สำคัญไม่แพ้กันคือ Softbank บริษัทด้านการลงทุนรายใหญ่ของโลกสัญชาติญี่ปุ่น

เริ่มต้นมาทำความเข้าใจตัวละครหลักของเรื่องครับ กับคำถามที่ว่า Wirecard ทำธุรกิจอะไร?

Wirecard เป็นบริษัทที่เป็นเหมือนตัวกลางในการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ครับ ยกตัวอย่างง่ายๆ สมมุติเรารูดบัตรเครดิตซื้อเสื้อผ้า Wirecard จะเป็นตัวกลางระหว่างเรา ธนาคารเจ้าของบัตร และร้านเสื้อผ้า ดำเนินการส่งต่อเงินและยืนยันว่ามีการจ่ายเงินจริงๆ

จุดเริ่มต้นของ Wirecard เริ่มเมื่อปี 2542 เรียกได้ว่าเติบโตในช่วงยุคดอทคอมครับ ตอนนั้น Wirecard เริ่มเห็นช่องในการเข้าไปให้บริการรับจ่ายเงินอิเล็กทรอนิกส์ ระหว่างผู้ใช้งานคนทั่วไปกับลูกค้าธุรกิจกลุ่มสีเทานิดๆ เช่นธุรกิจการพนัน เว็บไซต์ผู้ใหญ่ ซึ่งในตอนนั้นธุรกิจเหล่านี้ไม่มีระบบรับจ่ายเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่ไหนมารองรับ Wirecard ก็อาสาเป็นตัวกลางตรงจุดนี้เพื่อสร้างรายได้ให้ตัวเอง

และ Wirecard ก็เติบโตขึ้นตามเทรนด์ของโลกที่ขยับสู่สังคมอิเล็กทรอนิกส์และโลกของอีคอมเมิร์ซ นั่นก็ทำให้ Wirecard มีพันธมิตรธุรกิจทั้งวีซ่า มาสเตอร์การ์ด ไปจนถึงอาลีเพย์ วีแชตเพย์ บรรดาผู้ให้บริการรับจ่ายเงินอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นพันธมิตรกับ Wirecard ทั้งสิ้น

โดยรายได้หลักๆ ของ Wirecard ก็จะมาจากค่าดำเนินการทำธุรกรรม และการขายข้อมูลวิเคราะห์ที่บริษัทมีอยู่ในมือ

จุดรุ่งเรืองที่สุดของ Wirecard อยู่ในช่วงปี 2561 ตอนนั้นบริษัทมีรายได้ปีนั้นปีเดียวอยู่ที่ 2 พันล้านยูโร คิดเป็นเงินไทยก็ประมาณ 6 หมื่น 8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเมื่อ 5 ปีก่อนถึง 4 เท่าตัว แถมยังได้รับการจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 30 บริษัทที่โดดเด่นที่สุดในเยอรมนี

ส่วนมูลค่าหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ของ Wirecard พุ่งไปแตะที่ 190 ยูโร หรือกว่า 6 พัน 6 ร้อยบาท

ในตอนนั้นไม่มีอะไรมาหยุดยั้งการเติบโตของ Wirecard ได้ คิดดูนะครับว่า ในยุคสมัยที่เรากำลังพูดถึงสังคมไร้เงินสด เข้าทางธุรกิจของ Wirecard เต็มๆ

ตามปกติแล้วการดำเนินการของบริษัททั่วๆ ไป ก็จะมีการว่าจ้างผู้ตรวจสอบบัญชีมาจัดการ เช่นเดียวกับ Wirecard ที่ใช้บริการบริษัทตรวจสอบบัญชีชื่อดัง Ernst & Young หรือ EY ครับ ซึ่งภายใต้ธุรกิจที่กำลังไปได้สวย ก็เริ่มมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจของ Wirecard เกิดขึ้นมา แต่ไม่ได้มาจาก EY ซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีนะครับ แต่กลับมาจากสื่อมวลชนที่ได้กลิ่นทะแม่งๆ จากการเติบโตของ Wirecard

ต้องบอกเลยครับว่า มหากาพย์ Wirecard ที่ถูกเปิดโปงมาได้อาจจะต้องยกเครดิตให้สื่อมวลชนอย่างหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทม์ส ตัวละครที่สามของเรานะครับ ที่ดูเหมือนจะเป็นคนที่จับตาการดำเนินธุรกิจของ Wirecard อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องที่สุด โดยไฟแนนเชียลไทม์ส เริ่มตีพิมพ์บทความที่จับพิรุธ Wirecard ตั้งแต่ปี 2558 ด้วยการตั้งคำถามถึงความเคลื่อนไหวของเงินในบัญชี Wirecard

ไฟแนนเชียลไทม์สพบว่ามีความผิดปกติในบัญชีของ Wirecard เป็นเงิน 250 ล้านยูโร หรือกว่า 8 พัน 7 ร้อยล้านบาท เมื่อมีการเผยแพร่ชิ้นนี้ Wirecard โต้ไฟแนนเชียลไทม์สกลับด้วยการตั้งทนายและส่งหนังสือถึงไฟแนนเชียลไทม์ส ขณะเดียวกันก็ว่าจ้างบริษัทประชาสัมพันธ์กู้ภาพลักษณ์บริษัทตัวเอง

ในปี 2559 Wirecard ถูกกล่าวหาจากนักเล่นหุ้นเพื่อเก็งกำไรกลุ่มหนึ่งว่าฟอกเงิน แต่แทนที่ Wirecard จะถูกตรวจสอบ กลับกลายเป็นว่าผู้ที่ออกมาเปิดเผยเรื่องนี้ถูกเล่นงานเสียเอง โดยหน่วยงานที่มีชื่อว่า BaFin ซึ่งเป็นองค์กรตรวจสอบเอกชน พุ่งเป้าไปที่บรรดานักเล่นหุ้นเก็งกำไรที่วิจารณ์ Wirecard 

นอกจากนี้มีการรายงานเป็นข้อสังเกตจากหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทม์ที่สรายงานว่า บรรดาพวกที่เป็นปฏิปักษ์กับ Wirecard ตั้งแต่บรรดานักเก็งกำไร กองทุน ผู้เชี่ยวชาญต่างๆ และที่ขาดไม่ได้คือหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทม์ส มักจะได้รับอีเมลประเภท spear-phishing อธิบายง่ายๆ คือเป็นอีเมลปลอมที่ตั้งใจส่งมาหลอกให้เราเปิดเผยข้อมูล มีการตั้งข้อสังเกตนะครับว่า มีอีเมลประเภทนี้ส่งไปถึงคนที่อยู่คนละฝั่งกับ Wirecard เหมือนๆ กันเป็นเวลาหลายปี ซึ่งจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีใครรู้ว่า เป็นฝีมือของใคร

ผมเล่าถึงตรงนี้ อย่าลืมนะครับนี่เพิ่งเป็นเรื่องเมื่อประมาณปี 2558-2559 หรือเมื่อ 4-5 ปีที่แล้วโน้น ก็เริ่มมีคนสงสัยในตัวบริษัท Wirecard มากขึ้น แต่กิจการของ Wirecard ก็อยู่ในช่วงเติบโตอย่างก้าวกระโดด มีการขยายธุรกิจให้ครอบคลุมทั่วโลกมากขึ้นทั้งในอเมริกาเหนือและเอเชีย แต่ก็ตามมาด้วยเรื่องอื้อฉาวที่ขยายตัวตามไปด้วย แถมหลักๆ เกิดขึ้นในอาเซียนด้วย

กรณีหนึ่งที่เกิดขึ้นและเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นความอื้อฉาว คือกรณีที่สิงคโปร์ครับ เมื่อปี 2561 มีวงในจากสำนักงานของ Wirecard ที่สิงคโปร์ที่เปิดเผยข้อมูลว่า Wirecard กำลังวางแผนใช้วิธี round tripping คือโยกเงินจากสิงคโปร์ไปลงทุนในอินเดีย ให้ดูเหมือนเป็นการลงทุนจากต่างประเทศ

ซึ่งไฟแนนเชียลไทม์สซึ่งเกาะติด Wirecard มาอย่างต่อเนื่อง ก็เกาะติดเรื่องนี้อย่างจริงจัง จนทางการสิงคโปร์เข้าตรวจค้นสำนักงาน Wirecard ที่สิงคโปร์ กรณีนี้ทำให้ชื่อเสียงของ Wirecard เสียหายมาก ราคาหุ้นตก ซึ่งต่อมา Wirecard ก็ฟ้องเจ้าหน้าที่สิงคโปร์ จากกรณีที่สิงคโปร์ตั้งข้อหาพนักงานของ Wirecard ว่ามีความผิดในกรณีดังกล่าว

นับจากตรงนี้เองครับ ชะตากรรมของ Wirecard กำลังดิ่งลง

ในปี 2562 ปีที่แล้ว ไฟแนนเชียลไทม์สขุดคุ้ยความผิดปกติของ Wirecard ออกมาไม่หยุด ลองฟังดูนะครับ ฟังแล้วจะรู้สึกว่า เหมือนไฟแนนเชียลไทม์สค่อยๆ พบจิ๊กซอว์ชี้นเล็กๆ แล้วต่อมันไปเรื่อยๆ จนสามารถขุดเจอเรื่องใหญ่ได้

เช่นการตรวจสอบพบว่า ธุรกิจส่วนใหญ่ของ Wirecard ซึ่งเป็นเรื่องการทำธุรกรรมทางการเงินนั้น Wirecard ไม่ได้ดำเนินการเอง แต่อาศัยบริษัทภายนอกเกินครึ่ง และเมื่อไปตรวจสอบบริษัทที่เป็นพันธมิตรของ Wirecard ในฟิลิปปินส์ ก็พบว่าระบุที่อยู่เป็นบ้านของกะลาสีเรือเกษียณอายุคนหนึ่ง ที่พอไปถามเจ้าของบ้านก็ยังงงอยู่ว่า บ้านของเขาประกอบกิจการรับจ่ายเงินระหว่างประเทศตั้งแต่เมื่อไหร่

นอกจากนี้ยังพบความไม่ชอบมาพากลอีกว่า บริษัทนอกที่รับงานให้ Wirecard ในสิงคโปร์ ฟิลิปปินส์และดูไบ ทำกำไรให้บริษัทสูงสุด ไฟแนนเชีลไทม์สยังพบข้อมูลในเวลาต่อมาอีกว่า ตัวเลขกำไรของบริษัท Wirecard สำนักงานดับลินและดูไบสูงเกินจริง และมีข้อมูลลูกค้าบางส่วนที่บริษัทระบุไว้แต่เมื่อตรวจสอบแล้วกลับไม่มีอยู่จริง

นี่เป็นเหมือนจุดเริ่มต้นให้มีการตรวจสอบผลประกอบการของ Wirecard อย่างจริงจัง

แต่ระหว่างที่ Wirecard ถูกตั้งข้อสงสัยหนักขึ้น ก็มีเรื่องแปลกๆ เช่น Wirecard ถูกกล่าวหาถึงการจ้างอดีตหัวหน้าหน่วยข่าวกรองลิเบียเป็นสายลับติดตามบรรดาผู้ที่คอยวิจารณ์ Wirecard รวมทั้งบรรดานักลงทุนต่างๆ

ย้อนกลับมาที่การตรวจสอบบริษัท Wirecard ครับ หลังจากที่ใช้บริการ EY เป็นผู้ตรวจสอบบัญชีมาหลายปีแล้วก็แทบไม่เห็นความผิดปกติอะไรเลย Wirecard ก็ถูกกดดันกลายๆ ให้ต้องหาคนมาตรวจสอบบริษัทเพิ่มเติม แล้วได้เลือกบริษัท KPMG เข้ามาเป็นผู้ตรวจสอบพิเศษ

การตรวจสอบของ KPMG เริ่มมีผลชัดเจนในช่วงต้นปีที่ผ่านมา บริษัทตรวจสอบบัญชีออกมาประกาศสัญญาณแรกแล้วว่า ผลประกอบการต่างๆ ที่ Wirecard เคยบอกว่ากำไรเท่านั้นเท่านี้ ไม่น่าเชื่อถือเพราะตรวจสอบไม่ได้

จนกระทั่งมาพบกับเงินก้อนใหญ่ 1 พัน 9 ร้อยล้านยูโรหรือประมาณ 6 หมื่น 6 พันล้านบาทที่หายไปในฟิลิปปินส์

6 หมื่น 6 พันล้านบาทมากแค่ไหนสำหรับ Wirecard ก็มีค่าเท่ากับ 1 ใน 4 ของทรัพย์สินทั้งหมดที่บริษัทนี้มีทีเดียวครับ

นี่เป็นเหมือนจุดจบของ Wirecard ครับ เป็นเหตุให้ Markus Braun ซีอีโอลาออกจากตำแหน่งและถูกจับในเวลาต่อมา ส่วน Wirecard ก็ออกมายอมรับเป็นครั้งแรกว่า อาจมีเรื่องของการตกแต่งบัญชีในช่วงหลายปีมานี้ และบอกด้วยว่า เงิน 6 หมื่น 6 พันล้านบาทอาจไม่มีอยู่จริงตั้งแต่แรกแล้ว

ชะตากรรมของ Wirecard ตอนนี้กำลังร่วงลงสู่ปากเหว ราคาหุ้นร่วง 85% ภายใน 3 วัน และบริษัทที่เคยใหญ่โตกำลังเดินไปสู่หนทางการล้มละลาย

และแน่นอนครับเมื่อชะตากรรมของ Wirecard ไม่เหลือชิ้นดี คำถามก็ตกไปถึง EY ซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีของ Wirecard ด้วยว่า ที่ทำหน้าที่มาหลายปี ไม่เห็นความผิดปกติอะไรบ้านเลยหรือ?

ถึงตอนนี้ ย้อนไปสักนิดหนึ่งกับสถานการณ์ตอนนี้ เรามีตัวละครออกมา 3 ตัวแล้ว คือ Wirecard ต้นเรื่องความวุ่นวายทั้งหมด มี EY ซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีให้ Wirecard แต่กลับไม่พบความผิดปกติอะไรเลยจนบริษัทพังทลายลงมา และมีไฟแนนเชียลไทม์ส เป็นสื่อที่ตามติดความไม่ชอบมาพากลของ Wirecard ชนิดกัดไม่ปล่อย

และแล้วก็ถึงเวลาเบิกตัว ตัวละครที่ 4 ครับ นั่นก็คือนักลงทุนจากแดนอาทิตย์อุทัยอย่าง Softbank ที่เข้าไปลงทุนกับ Wirecard เมื่อปีที่แล้ว ทั้งๆ ที่ในตอนนั้นเริ่มมีกลิ่นตุๆ ถึงความไม่โปร่งใสของ Wirecard ออกมามากขึ้น แต่ Softbank ก็ประกาศทุ่มเงินที่สูงถึง 900 ล้านยูโร หรือกว่า 3 หมื่น 1 พันล้านบาท ลงทุนกับ Wirecard ซึ่งนอกจากบทบาทนักลงทุนแล้ว Softbank ยังให้สัญญาว่า จะช่วย Wirecard ขยายตลาดในญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ด้วย

ความหายนะที่เกิดขึ้นกับ Wirecard ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงกับ Softbank ครับ คำถามแรกที่ทุกคนจะถามตรงกันคือ แล้วเงินที่ Softbank ลงทุนไปตั้ง 3 หมื่นกว่าล้านบาท จะมีโอกาสได้คืนแค่ไหน ซึ่งเรื่องแบบนี้ กับบริษัทยักษ์ใหญ่แบบนี้ เอากันตรงๆ ก็คงหาทางเอาคืนมาให้ได้มากที่สุดอยู่แล้ว ส่วนจะได้เป็นเงิน เป็นหุ้น หรือเป็นอะไรค่อยมาว่ากันอีกที

แต่ที่เสียหายกับ Softbank แน่ๆ คือความน่าเชื่อถือครับ ที่พูดแบบนี้ไม่ใช่ว่า Softbank ไม่เคยมีบาดแผลที่ไปลงทุนแล้วเจ๊งนะครับ มีเยอะแยะไปที่ Softbank เจ๊ง แต่กรณีนี้ต่างออกไปครับ เพราะกรณีของ Wirecard เป็นบริษัทที่สื่อธุรกิจยักษ์ใหญ่อย่างไฟแนนเชียลไทม์สพูดถึงตลอด ไม่ได้มีประวัติสะอาดเอี่ยมมาตั้งแต่แรก Softbank ไม่รู้เรื่อง ไม่ระแคะระคายเรื่องพวกนี้เลยหรือ ถ้ารู้ แล้วให้ความสำคัญ หยิบมาชั่งน้ำหนักแค่ไหน ก่อนจะทุ่มเงินลงทุนมหาศาลขนาดนั้น

แล้วเรื่องราวทั้งหมดนี้สะท้อนอะไรครับ

มีหลายคนให้บทสรุปและก็สะท้อนให้เห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับ Wirecard ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของบริษัทๆ หนึ่งเท่านั้น แต่ยังหมายถึงเรื่องของระบบการเงินในโลกยุคใหม่ที่มีช่องโหว่

กรณีของ Wirecard ยังจะทำให้บรรดาฟินเทคทั้งหลายที่กำลังเกิดขึ้นพร้อมผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เติบโตยากขึ้น

Seamus Donoghue รองประธานฝ่ายขายและและพัฒนาธุรกิจของ METACO อธิบายเหตุผลนี้ด้วยการพาเล่าย้อนไปถึงที่มาของ Wirecard ถ้าจำกันได้ตอนต้นเรื่อง เราเล่าให้ฟังว่า Wirecard เริ่มมาจากการเป็นบริการรับจ่ายเงินอิเล็กทรอนิกส์ทางเลือกให้กับบางบริการที่ไม่มีใครเข้าไปทำ เช่นการพนันหรือเว็บไซต์ผู้ใหญ่ และค่อยๆ เติบโตมาเป็นบริษัทระดับโลกที่มีความน่าเชื่อถือ

Donoghue ชี้ว่า นี่คือตัวอย่างของบริษัทที่เริ่มต้นจากการเป็นทางเลือก ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ตลาดไม่มี สร้างความเชื่อใจจนยิ่งใหญ่ ซึ่งที่ผ่านมามีหลายบริษัท เช่นบรรดาสตาร์ทอัพต่างๆ เจริญรอยตาม และได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่า บรรดาลูกค้า คู่ค้าต่างๆ เชื่อว่าบริษัทเหล่านี้จะยิ่งใหญ่แบบ Wirecard ในอนาคต

แต่การพังทลายลงของ Wirecard ด้วยข้อหาที่ส่อทุจริตมหาศาล ได้ทำให้ความไว้เนื้อเชื่อใจของบริษัทใหม่ๆ เหล่านี้หายไปด้วย ต่อไปใครจะร่วมลงทุนกับบรรดาบริษัทเล็กๆ ที่อาจกำลังทำเรื่องเงินดิจิตอล คริปโตเคอร์เรนซี หรือบริการทางเลือกที่ไม่มีใครทำ ก็จะถูกตั้งกำแพงมากขึ้นว่า ตกลงบริษัทเหล่านี้มีความน่าเชื่อถือ น่าทุ่มเงินลงทุนให้มากน้อยแค่ไหน นักลงทุนอาจมีการเรียกร้องระบบป้องกันการทุจริตที่สูงขึ้นเทียบเท่าบริษัทหรือสถาบันการเงินใหญ่ ซึ่งก็จะเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของบริษัทเล็กๆ

นอกจากนี้ยังสะท้อนเรื่องการตรวจสอบที่อ่อนแอด้วย

เจฟฟ์ ทรุทท์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของ Securrency บอกว่ากรณีของ Wirecard สะท้อนถึงความล้มเหลวของบรรดาหน่วยงานตรวจสอบทั้งหลายที่เคยถูกยกย่องว่ามีคุณภาพและมีความน่าเชื่อถือ แต่กลับปล่อยให้เกิดความผิดพลาดครั้งใหญ่

และกลายเป็นว่า หน่วยงานที่เป็นเหมือนพระเอกที่รื้อปัญหาทั้งหมดออกมาเป็นสื่อมวลชน ซึ่งก็ต้องยกเครดิตให้ไฟแนนเชียลไทม์ส ที่ถ้าฟังกันมาตั้งแต่แรกจะเห็นได้ว่า การมีจมูกข่าว สงสัยถึงความไม่ชอบมาพากล การเกาะติดอย่างใกล้ชิด การสอบสวนอย่างไม่ย่อท้อเป็นเวลาหลายปี ไม่หวั่นแม้จะถูกดำเนินคดี ฟ้องร้อง ทำให้ได้มาซึ่งข่าวที่สร้างแรงสั่นสะเทือนใหญ่ได้ขนาดนี้

สุดท้ายมองในแง่ดีบ้างครับ กรณีของ Wirecard อาจเป็นตัวเร่งให้เกิดความปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางการเงินมากขึ้น และอาจกระตุ้นให้มีการศึกษาพัฒนานวัตกรรมใหม่ในการโอนถ่ายข้อมูลทางการเงินซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญ เราอาจต้องพูดถึงบล็อกเชน ซึ่งตัดตัวกลางออกไปเพื่อลดความเสี่ยง หรืออาจต้องคิดเรื่องสกุลเงินดิจิตอลให้มากขึ้น

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า