Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

การออกจาก comfort zone มันไม่ง่าย

แต่ที่สำคัญคือต้องรู้ว่าเป้าหมายของการออกมาคืออะไร 

เมื่อไหร่ที่คุณเข้าใจเป้าหมายดีแล้ว คุณจะไม่หลงทาง

หลายๆ คนอาจจะรู้จัก โน้ต-ศรัณย์ คุ้งบรรพต ในฐานะหนึ่งในเกสต์หลักของงาน ‘FaraTALK’ จากครีเอเตอร์ชื่อดัง FAROSE 

แต่หมวกอีกใบของ โน้ต-ศรัณย์ คือการเป็น HR มากประสบการณ์ ที่ต้องดีลทั้งกับคนระดับมืออาชีพที่เต็มไปด้วยความเชื่อและความมั่นใจ ไปจนถึงเด็กจบใหม่ไฟแรง อย่างกลุ่ม GEN Z ซึ่งเป็นกลุ่มที่กำลังค่อยๆ เข้ามาเทคโอเวอร์สัดส่วนตลาดแรงงาน แต่ดันเป็นกลุ่มที่หลายๆ องค์กรยังคงลังเลที่จะเปิดใจในการรับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีม

โน้ต-ศรัณย์ เองก็มองเห็นช่องว่างทางความคิดและความเชื่อมั่นตรงนี้ เขาจึงมาแชร์เคล็ดลับและคำแนะนำดีๆ ถึง GEN Z และ ‘คนรุ่นเดอะ’ ในที่ทำงาน ผ่านรายการ WISDOM ว่าแท้จริงแล้ว คนต่างวัยสองกลุ่มนี้สามารถอยู่ร่วมกันได้ เพียงแค่ต้องเริ่มต้นที่การเปิดใจเพื่อเข้าใจกันและกัน

ไม่ใช่แค่รุ่นใหญ่ต้องเข้าใจ GEN Z

แต่ GEN Z ก็ต้องรู้จักปรับตัว

จริงๆ แล้ว ‘การพยายามเข้าใจกันและกัน’ ไม่ใช่แค่คีย์หลักของความสัมพันธ์ฉันเพื่อนร่วมงานเท่านั้น แต่มันเอาไปปรับใช้ได้ทั้งกับครอบครัว เพื่อน คนรัก เพราะเราทุกคนเกิดมาแตกต่างกัน เผชิญโลกมาไม่เหมือนกัน อย่างในกรณีที่เราพูดถึงนี้ ความต่างที่เห็นได้ชัดคือช่วงอายุ ที่นำมาสู่ความแตกต่างทางด้านประสบการณ์และการมองโลก

โน้ต-ศรัณย์ แชร์ว่า ผู้ใหญ่เป็นคนที่ได้เปรียบในเชิงมีโอกาสได้เห็นโลก และผ่านโลกมามากกว่า ดังนั้นถ้าเทียบกับคนรุ่นหลัง ผู้ใหญ่ควรอยู่ในฐานะที่พร้อมเปิดใจและทำความเข้าใจความแตกต่างระหว่างในต่าง Generation 

ผู้ใหญ่ควรเข้าใจธรรมชาติของ GEN Z ว่านี่คือกลุ่มคนที่มีความทะเยอทะยานที่จะพัฒนาตัวเอง มีไฟในการเรียนรู้และทดลองสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ 

เมื่อเข้าใจแบบนั้นแล้ว ก็จะช่วยให้สามารถออกแบบการพัฒนา การรับมือ หรือการดูแลคนกลุ่มนี้ได้ดีขึ้น เช่น บางครั้งก็ต้องเปิดกว้างให้คนรุ่นใหม่ได้คิดวิธีการทำงานของตัวเอง ได้ลองวิธีการใหม่ๆ ให้พวกเขาได้ฝึกบริหารจัดการด้วยตัวเอง โดยมีผู้ใหญ่คอยช่วยประเมินและควบคุมความเสี่ยงอยู่ไกลๆ รวมถึงต้องทำใจยอมรับ หากผลลัพธ์ที่ออกมาไม่ได้สมบูรณ์แบบอย่างที่หวัง

แต่ถึงอย่างนั้นก็อย่าลืมว่า ตัวเรานั้นผ่านโลกมามากก็จริง แต่ใช่ว่าเราจะประเมินทุกสิ่งอย่างถูกไปหมด ท้ายที่สุดแล้วคนที่เข้าใจ ‘โลก’ ในช่วงเวลานี้ได้ดีที่สุด อาจไม่ใช่ผู้ใหญ่ แต่อาจจะเป็นคนรุ่นใหม่ที่กำลังเติบโต ถ้าเราเปิดใจกว้างได้มากพอ เราจะไม่มองเห็นแต่ความเสี่ยง แต่จะเห็นโอกาสที่วิ่งคู่ขนานกันมา

ในทางกลับกัน คนรุ่นใหม่เองก็ควรเปิดรับมุมมองที่หลากหลาย พร้อมปรับตัว และเรียนรู้อยู่เสมอ และที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ต้องทำความเข้าใจว่าโลกนี้ไม่เคยหยุดนิ่ง วันนี้เราอาจจะเป็นความหวังของตลาดแรงงาน แต่อย่าลืมว่าทุกคนต่างเคยเป็นคนรุ่นใหม่มาแล้วทั้งนั้น ทุกคนต่างเคยเป็นความฝันและความหวังของประเทศ

หากมองในภาพใหญ่ คนรุ่นใหม่ กลุ่ม GEN Z คืออนาคตของตลาดแรงงานจริง มีอำนาจต่อรองในตลาดจริง แต่ท้ายที่สุดเมื่อมองภาพให้แคบลง คนทุกคนต่างถูกทดแทนได้เสมอ การขาดเราไปไม่ได้ส่งผลกระทบต่อภาพใหญ่ขนาดนั้น 

ดังนั้นจง ‘เรียนรู้’-เรียนรู้ทุกประสบการณ์ที่เราจะได้หลังจากนี้, ‘ปรับตัว’-ปรับตัวเข้ากับคนทุกกลุ่มเพราะท้ายที่สุดคนที่ยืดหยุ่นคือคนที่จะมีที่ยืน และสุดท้าย ‘พัฒนา’-อย่าหยุดพัฒนาความสามารถเพราะเราไม่ได้สำคัญมากจนใครต้องหยุดรอ

คำแนะนำถึง GEN Z 

อยากไปได้ไกลต้องกล้าออกจาก comfort zone

จากประสบการณ์การทำงานร่วมกับคนโดยตรง โน้ต-ศรัณย์ มองว่าถ้าคนรุ่นใหม่อยากไปได้ไกล สิ่งที่ควรทำในช่วง 2-5 ปีแรกของชีวิตการทำงาน คือการออกจาก comfort zone ออกไปลองผิดลองถูก และอย่ากลัวความล้มเหลว 

ที่บอกว่าในช่วง 2-5 ปีแรกเป็นช่วงสำคัญเพราะมันเป็นช่วงที่เราเพิ่งเดินทางเข้าสู่โลกอีกใบ นั่นคือโลกการทำงาน หลังจากอยู่ในรั้วการศึกษามานานกว่า 20 ปี เป็นช่วงตั้งไข่ ที่จะได้เรียนรู้โลกอีกใบที่เราจะใช้ชีวิตอยู่กับมันไปอีก 30-40 ปีจนกว่าจะถึงวัยเกษียณ ดังนั้น ถ้าคุณเจอสิ่งที่คุณหลงใหล เจองานที่ทำได้ด้วยแพชชั่นและหัวใจ สิ่งนี้มันจะเป็นโบนัสหล่อเลี้ยงคุณไปอีกครึ่งชีวิต

แต่สุดท้าย ถ้าคุณรู้แล้วว่าในโลกของการทำงานใบนี้ คุณไม่สามารถฝากหัวใจไว้กับมันได้ทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ ช่วงเวลาตั้งไข่นั้น มันจะสอนให้คุณปรับตัว เตรียมตัว และทำให้ค้นพบกับอีกหนึ่งทักษะที่ทำให้คุณไปต่อได้โดยไม่หมดแรง นั่นคือ ‘ความรับผิดชอบ’

ความรับผิดชอบเป็นอีกหนึ่งอาวุธที่จะทำให้คุณสามารถต่อสู้กับโลกการทำงานได้โดยไม่พ่ายแพ้และสูญเสียตัวตน มันเป็นสิ่งที่จะยึดให้เท้าของคุณยังยืนอยู่บนพื้นโลกอยู่เสมอ แพชชั่นอาจทำให้ใจของคุณอิ่มเอม แต่จงระลึกว่าไม่มีความรู้สึกใดคงอยู่ตลอดไป อย่ายึดติดกับมันจนเป็นภัยกับตัวเอง

โน้ต-ศรัณย์ เปรียบว่าแพชชั่นก็เหมือนกับพลุ ตอนที่มันถูกจุดขึ้นไปบนฟ้า มันมีแต่ความสวยงามสว่างโชติช่วง แต่พอถึงจุดที่การแสดงพลุอันสวยงามสิ้นสุดลง เราจะใช้ชีวิตต่อไปอย่างไร จะปล่อยชีวิตว่างเปล่าพร้อมกับเหตุผลว่า ‘ไม่มีแพชชั่น’ อย่างนั้นหรือ ฉะนั้น จงใช้ชีวิตวัยทำงานโดยซ่อนอาวุธที่ชื่อ ‘ความรับผิดชอบ’ ไว้ในกระเป๋าอยู่เสมอ

แต่ถึงอย่างนั้นก็จงอย่าหมดหวังกับการตามหาแพชชั่น แพชชั่นหนึ่งอาจไม่คงอยู่ตลอดไป แต่มันก็เกิดขึ้นใหม่ได้เช่นกัน และแพชชั่นอาจจะไม่ใช่แค่เรื่องงานอีกแล้วก็ได้ แต่อาจจะเป็นกิจกรรมในวันหยุด การออกไปเที่ยวในวันพักผ่อน 

ถ้าเราบาลานซ์ความรับผิดชอบเข้ากับแพชชั่นในชีวิตได้ เราก็จะสามารถอยู่ในโลกการทำงานได้ โดยไม่หดหู่และสิ้นหวังเกินไป

คลินิก GEN Z 

บ่นเรื่องงานลงโซเชียลได้ไหม?

ย้ายงานบ่อยเป็นอะไรหรือเปล่า?

ย้อนกลับไปในประเด็นเรื่องที่เราพูดถึงเรื่องการมองโลกของคนในแต่ละ Generation ที่ไม่เหมือนกัน อาจจะนำมาสู่การแสดงออกของพฤติกรรมบางอย่างที่ทำให้คนต่าง Generation เผลอขมวดคิ้ว เช่น ปัญหาสุดคลาสสิคอย่าง “ไม่พอใจเรื่องงาน บ่นลงโซเชียลได้ไหม?”

โน้ต-ศรัณย์ แชร์ว่า ท้ายที่สุดแล้ว เราต้องเข้าใจว่าพื้นที่โซเชียลมีเดีย เป็นพื้นที่ส่วนของคนแต่ละบุคคล เพราะฉะนั้นเจ้าของพื้นที่จะทำอะไรก็ย่อมได้ แต่คนที่โพสต์เองก็ต้องยอมรับผลที่ตามมาหลังจากนั้นด้วยเช่นกัน เพราะพื้นที่ตรงนั้นไม่ใช่พื้นที่ที่ใช้สื่อสารในองค์กรโดยตรง แต่เป็นการพูดกับคนในที่สาธารณะ

หากให้แนะนำ โน้ต-ศรัณย์ มองว่า ก่อนเราจะตัดสินใจโพสต์ข้อความอะไร เราควรถามตัวเองว่าเราต้องการคุยกับใคร ทำไปเพื่ออะไร ถ้าความตั้งใจของการโพสต์คือการแก้ปัญหาเรื่องงาน จะดีกว่าไหม หากเราเปลี่ยนวิธีไปเป็นการพูดคุยกับคนที่สามารถแก้ปัญหาได้โดยตรง ซึ่งจะตรงจุดกว่าการเผยแพร่ปัญหาสู่สาธารณะ

ซึ่งนอกจากเรื่องการบ่นเรื่องงานลงโซเชียล อีกหนึ่งประเด็นที่ยังถกเถียงกันระหว่างคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่คือ “มันโอเคไหมที่จะเปลี่ยนงานบ่อย?”

โน้ต-ศรัณย์ แชร์ว่า การเปลี่ยนงานบ่อยไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย เพราะในยุคนี้มีโอกาสมากขึ้น จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่คนจะแสวงหาสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ นอกจากนี้ การเปลี่ยนงานบ่อยยังทำให้เราได้เห็นมิติการทำงานมากขึ้น ได้ฝึกทักษะที่หลากหลาย และได้ลองผิดลองถูก ซึ่งนี่ก็เป็นมุมที่ดีของมัน

แต่อีกด้านที่ควรจะคำนึงถึงคือปัญหาที่อาจมาในรูปแบบ ‘Happy Problem’ เช่น เราอาจจะเปลี่ยนงานบ่อยจนอัพเงินเดือนได้สูงตั้งแต่อายุน้อยๆ สิ่งที่เราจะเจอหลังจากนั้นคือแล้วอีกครึ่งชีวิตวัยทำงานเราจะไปทำอะไรต่อ องค์กรถัดไปจะสามารถเกื้อกูลเราได้เท่านี้ไหม หรือเรามีทักษะอะไรที่เขาต้องจ่ายด้วยจำนวนเงินที่สูงขนาดนี้

โน้ต-ศรัณย์ มองว่าเมื่อถึงจุดนึง พฤติกรรมที่เราเคยเปลี่ยนงานบ่อยๆ ในอดีตอาจจะไม่สามารถทำได้อีกต่อไป เมื่ออายุมากขึ้น คุณต้องตอบให้ได้ว่าจุดแข็งของคุณคืออะไร และทำให้มันแข็งมากขึ้นไปอีก ไม่ใช่เรียนรู้สิ่งใหม่ไปเรื่อยๆ โดยที่ยังสับสนกับความจุดยืนและความเชี่ยวชาญของตัวเอง 

ท้ายที่สุด อย่าลืมว่าครั้งหนึ่งเราล้วนเคยอยู่ในจุดที่ตลาดแรงงานต้องการมากที่สุด แต่เมื่อเวลาผ่านไป ยุคสมัยก็เปลี่ยนไป สิ่งที่ต้องคำนึงอยู่เสมอ คือทำอย่างไรจึงจะรักษาคุณค่าของเราไว้ได้ เพราะคุณค่าที่ว่านั่น คือสิ่งรับประกันความมั่นคงของคุณ

#TODAYBizview
#MakeTomorrowTODAY

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า