SHARE

คัดลอกแล้ว

พจนานุกรม Oxford ให้นิยาม Deadwood ไว้ว่า “People or things that are no longer useful or productive.” แปลเป็นภาษาไทยว่า “ผู้คนหรือสิ่งของที่ไม่มีประโยชน์ หรือไม่มีประสิทธิภาพอีกต่อไป”

ในบริบทการทำงาน ‘Deadwood’ จึงมีความหมายว่า บุคคลที่เปรียบเสมือน ‘ไม้ตายซาก’ ไม่ได้กระทำความผิดร้ายแรงให้บริษัท แต่ก็ไม่ได้สร้างประโยชน์หรือคุณค่าให้องค์กรและเพื่อนร่วมงาน เรียกว่า “อยู่ไปวันๆ ไม่ออกไอเดีย ไม่กระตือรือร้น ทำงานตามสั่งให้ผ่านไปวันๆ”

แม้จะดูเป็นคนทำงาน ‘Underperformance’ ทั่วๆ ไป แต่ในความเป็นจริงแล้ว ‘Deadwood’ มีผลกระทบร้ายแรงต่อองค์กรมากกว่าที่คิด

เพราะในขณะที่เพื่อนร่วมงานเต็มที่กับงาน ผลัดกันโยนไอเดียอย่างดุเดือด พลังงานติดลบและความเฉื่อยชาของ ‘Deadwood’ ก็แผ่ซ่านออกมาด้วย จนทำให้บรรยากาศการทำงานไม่ราบรื่นอย่างที่ควรจะเป็น

และถึงที่สุดแล้ว พนักงานไม้ตายซากเหล่านี้อาจกลายเป็นตัวการสำคัญ ที่ทำให้การปรับตัว-พัฒนาองค์กรไปข้างหน้าเป็นไปอย่างยากลำบาก หากไม่รีบเทคแอคชัน ร้ายแรงที่สุด คือบริษัทอาจถึงขั้นสูญเสียพนักงานดีๆ ไป จากการเก็บคนกลุ่มนี้ไว้

[ ตายซากแค่ตัวเองไม่เท่าไร แต่ทำให้เพื่อนร่วมงานเดือดร้อนไปด้วย ]

ผลสำรวจจาก ‘Investors in People’ องค์กรไม่แสวงหาผลประโยชน์ที่เก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการบริหารจัดการบุคลากร สหราชอาณาจักร เผยผลสำรวจที่น่าสนใจเกี่ยวกับมุมมองต่อคนทำงานในองค์กร

พบว่า 75% ของผู้บริหาร และ 80% ของพนักงาน มองว่า ตัวเองมีเพื่อนร่วมงานที่กลายเป็น ‘Deadwood’ ไปแล้ว โดยให้เหตุผลว่า เพื่อนร่วมงานของพวกเขาเป็นคนเกียจคร้าน

กว่าครึ่งหนึ่งในจำนวน 80% นี้ยังบอกด้วยว่า พวกเขาต้องทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับเพื่อนร่วมงานไม้ตายซากที่ขี้เกียจและไม่เหมาะกับงานเอาเสียเลย

แต่ที่น่าสนใจไปกว่านั้น คือพนักงานราว 4 ใน 10 คน ระบุว่า หัวหน้างานหรือระดับผู้บริหารกลับไม่เทคแอคชันกับพนักงานไม้ตายซากเหล่านี้

‘Investors in People’ ระบุว่า ปัญหานี้มีแนวโน้มที่จะกลายเป็นเรื่องใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะในผลสำรวจดังกล่าวยังบอกด้วยว่า พนักงานกว่า 84% ในบริษัทที่มีพนักงานเกิน 1,000 คนขึ้นไป บอกว่า มองว่าตนเองมีเพื่อนร่วมงานที่มีประสิทธิภาพการทำงาน ‘ต่ำกว่าเกณฑ์

ขณะที่บริษัทขนาดเล็กที่มีพนักงานต่ำกว่า 50 คน มีเพียง 50% หรือครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่คิดแบบเดียวกัน แปลว่า ‘ไม้ตายซาก’ เหล่านี้ดูจะพบได้มากกว่าในบริษัทใหญ่ๆ ที่มีพนักงานเยอะๆ

ส่วนที่น่ากังวลใจ คือแบบสำรวจนี้สรุปผลออกมาว่า พนักงานไม้ตายซากอาจมีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของเพื่อนร่วมงานอย่างมากทั้งทางร่างกายและทางจิตใจ

มีพนักงานบางส่วนให้ข้อมูลว่า พวกเขาต้องทำงานเยอะขึ้น หนักขึ้น และนานขึ้น เพื่อชดเชยส่วนที่ไม้ตายซากเหล่านี้หลบเลี่ยง

เมื่อทำงานหนัก สิ่งที่พนักงานต้องการได้รับ คือการมองเห็นของหัวหน้า ทว่าพวกเขากลับรู้สึกว่า ตนเองถูกประเมินค่าการทำงานต่ำเกินไป ถูกมองข้าม ไม่ได้รับการให้คุณค่ามากเท่าที่ควร ทั้งที่พนักงานเหล่านี้มีส่วนช่วยให้งานดำเนินไปได้อย่างราบรื่น

ขณะที่ ‘Deadwood’ ยังทำงานเรื่อยๆ มาเรียงๆ อย่างสบายใจ ความรู้สึกเปรียบเทียบกันในลักษณะนี้สร้างผลกระทบต่อจิตใจของพนักงานไม่น้อยเลยทีเดียว

ไม่เพียงการแบกงานเพิ่ม แต่ยังเกิดความรู้สึกสลับซับซ้อนคุกรุ่นในใจไม่น้อยไปกว่ากัน พนักงานบางส่วนระบุในผลสำรวจว่า ตนไม่กล้าเอ่ยปากตักเตือน หรือพูดคุยปรึกษากับหัวหน้า เพราะเกรงว่า จะเป็นการตีขลุมชีวิตของอีกฝ่ายจนเกินไป

คิดว่า พนักงานไม้ตายซากเหล่านี้อาจกำลังเผชิญปัญหาส่วนตัวที่ยากลำบากอยู่ก็เป็นได้ หรือแม้กระทั่งคิดแทนไปว่า พวกเขาอาจได้ทำงานที่ไม่ถนัด ไม่ได้รับการเทรนนิ่งมาจากองค์กร จนท้ายที่สุดแล้วคนทำงานดีตามมาตรฐานอาจตัดสินใจมองหาสถานที่ใหม่ๆ และลงท้ายด้วยการลาออก

[ มีระบบประเมินอย่างจริงจัง หนักถึงขั้นไล่ออกก็ต้องทำ ]

เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดพนักงานไม้ตายซากในองค์กรขึ้นมาอีก สิ่งที่บริษัทต้องทำ คือการวางระบบประเมินงานอย่างมีรูปแบบ ติดตามผลอย่างใกล้ชิดตั้งแต่ช่วงแรกที่รับเข้ามาทำงาน

‘บาร์บารา ไซเฟิร์ต’ (Barbara Seifert) นักเขียนและผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมองค์กร ให้ความเห็นว่า เพื่อให้มีหลักฐานบันทึกพฤติกรรมของพนักงานอย่างเป็นรูปธรรม องค์กรควรมีการจดบันทึกและติดตามผลทุกครั้ง เพื่อให้การพัฒนาปรับปรุงการทำงานเกิดประสิทธิผลกับคนทำงานมากยิ่งขึ้น

สำหรับตัวพนักงานที่ดูจะมีแนวโน้มเป็นไม้ตายซาก ‘ไซเฟิร์ต’ แนะนำให้องค์กรใช้วิธีการหมุนเวียนงาน หรือ ‘Job Rotation’ อย่างที่หลายๆ องค์กรใช้กัน เพื่อช่วยลดความเบื่อหน่ายงาน

และอีกนัยหนึ่งก็เพื่อเป็นการลับคมทักษะด้านอื่นๆ ไม่แน่ว่า พนักงานเหล่านี้อาจมีงาน หรือทักษะบางประเภทที่หลบซ่อนอยู่ แต่องค์กรไม่มีพื้นที่ให้พวกเขาปล่อยของก็ได้

ถึงที่สุดแล้ว ถ้ายังไม่คืบหน้าและไม่มีการเปลี่ยนแปลงก็คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องปล่อยมือ และจบเรื่องด้วยการแยกทาง เพราะการขาดพร่องซึ่งความสามารถก็นับเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ยุติธรรมพอในการบอกเลิกจ้าง

แต่อย่างไรก็ตามสิ่งนี้มักเกิดขึ้นในกรณีของพนักงานใหม่เป็นส่วนใหญ่ หากเป็นคนทำงานที่อยู่มานานแล้ว การเลิกจ้างด้วยเหตุผลเรื่องขาดคุณสมบัติคงเป็นส่วนหนึ่งในความรับผิดชอบขององค์กรเองด้วย

พูดคุยตกลงกันเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ดีกับทุกฝ่าย และอย่าลืมที่จะคิดถึงภาพรวมขององค์กร เพราะการเก็บพนักงานตายซากที่คุณมองว่า เป็นเพียงส่วนเล็กๆ สักวันหนึ่งสิ่งนี้อาจแพร่ขยาย ส่งต่อพลังงานลบๆ จนทำให้พนักงานที่มีเพอฟอร์แมนซ์ กลายเป็น ‘Deadwood’ ได้ในสักวัน

ที่มา : allaboutcareerssitehrzonemichelleray

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า