SHARE

คัดลอกแล้ว

วันที่ 29 เม.ย. รายการ Workpoint Today ทางเพจ Workpoint News ได้ชวนนักการเมือง 3 คน ซึ่งเป็นระดับอดีตรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรค ร่วมพูดคุยถึงเรื่องทางออกวิกฤติและโอกาสจากโควิด คนละ 30 นาที เริ่มด้วย นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า ต่อด้วย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และ นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตแกนนำพรรคไทยรักษาชาติ โดยช่วงรอยต่อได้เปิดให้แต่ละฝ่ายได้พูดคุยกันด้วย

คนแรก นายกรณ์ จาติกวณิช ในฐานะอดีต รมว.คลัง เขามองการทำงานของรัฐบาลว่า การเยียวยาควรทำควบคู่กับสาธารณสุขตั้งแต่แรก เพราะเมื่อให้ประชาชนหยุดอยู่กับบ้านต้องเยียวยาทันที
.
เกณฑ์การประเมินการทำงานของรัฐบาลด้านการเยียวยาว่าผ่านหรือไม่ เขาตั้งไว้ 5 ข้อชี้วัด คือ 1.ความสะดวกของประชาชนในการเข้าถึง 2.ความรวดเร็ว ทันท่วงที 3. มีความเหมาะสมหรือไม่ 4.ครอบคลุมหรือไม่ 5. มีความยุติธรรมกับทุกฝ่ายหรือไม่ทั้งผู้รับและผู้เสียภาษี
.
ซึ่งรัฐบาลไม่ผ่านตั้งแต่ข้อแรก การเยียวยาประชาชนต้องตั้งคำถามว่าทำไมต้องให้มาขึ้นทะเบียน ทั้งที่มีฐานข้อมูลบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14 ล้านคน ซึ่งควรจะเยียวยากลุ่มนี้ก่อน เพราะเดิมก่อนโควิดก็เดือดร้อนอยู่แล้ว หลังโควิดเขาต้องเดือดร้อนแน่นอน ถ้ายิงเงิน 5 พันบาทตรงไปเลยจะช่วยคลี่คลายกลุ่มที่เดือดร้อนหนักที่สุด หลังจากนั้นค่อยไล่ดูข้อมูลกลุ่มอื่นๆ
.
ความรวดเร็วก็ช้ากว่าที่บอกว่าจะได้ใน 7 วัน ภายหลังยิ่งขยายกลุ่มก็ยิ่งล่าช้าออกไป
.
ความครอบคลุมก็ยังมีคนที่เข้าไม่ถึง มีส่วนที่สุดท้ายจะถูกตัดออกไป, มีเพียงส่วนความยุติธรรม เงินช่วยเหลือรายละ 1.5 หมื่นบาท ถือว่าเหมาะสม
.
กรณ์ ยังมองมาตรการว่า ที่ควรทำสิ่งแรกคือ ตัดงบปี 63 ที่ไม่สอดคล้องสถานการณ์มาเป็นงบฉุกเฉินส่วนกลางที่เยียวยาประชาชนได้ แต่ก็ได้มาแค่ 1 แสนล้านทั้งที่น่าจะได้ 3 แสนล้าน
.
ส่วนการออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้าน เห็นด้วยว่าเป็นความจำเป็น ส่วนที่กันไว้เยียวยา 6 แสนล้านบาทถือว่าเหมาะสม โดยเห็นว่าควรจะแจก 5 พันบาท ให้ 30 ล้านคน ซึ่งจะใช้เงินประมาณ 4 แสนล้านบาท ส่วนที่เหลือ 2 แสนล้านกับที่โอนมาจากงบปี 63 อีก 1 แสนล้านบาทรวม 3 แสนล้านบาทให้ใช้ด้านสาธารณสุขและการดูแลประชาชนกลุ่มอื่นๆ เช่น ผู้สูงอายุ คนพิการ แม่ที่เลี้ยงเด็กอ่อน ผู้ปกครอง ที่มีภาระดูแลลูกที่ไม่ได้ไปโรงเรียน
.
แต่ที่เห็นต่างคือ ส่วนที่กันไว้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท ซึ่งไม่ชัดเจนว่าจะทำอะไร เขามองว่าส่วนนี้ควรจะเข้าสู่ระบบงบประมาณปกติปี 64 ให้สภาและฝ่ายค้านตรวจสอบได้ ไม่ใช่ออกเป็น พ.ร.ก. ซึ่งในอดีตก็เคยมีปัญหาแบบนี้ ไม่อยากให้รัฐบาลซ้ำรอยเส้นทางผิดพลาดเหมือนที่ผ่านมา
.
นอกจากประชาชนเขายังห่วงผู้ประกอบการขนาดเล็ก เพราะมาตรการที่ออกมา อย่างสินเชื่อผ่อนปรน ซอฟท์โลน จากธนาคารแห่งประเทศไทย สุดท้ายแล้วจะเข้าไม่ถึง หรืออาจจะเจอดอกเบี้ยสูงกว่าจากธนาคารพาณิชย์ เขาเห็นว่าวิธีการดูแล SME 2 ล้านกว่ารายที่ส่วนใหญ่สายป่านสั้น และอาจจะไม่รอดพ้นช่วงโควิด ควรช่วย 3 ด้าน คือ
.
– รัฐควรช่วยจ่ายเงินเดือนลูกจ้าง SME บางส่วน เช่น 6 พัน นายจ้าง 9 พันบาท หลายประเทศก็ทำแบบนี้
– จ่ายดอกเบี้ยแทน SME 3 เดือน กำหนดไม่เกิน 3 หมื่นบาท
– ออกเกณฑ์ไม่ต้องจ่ายค่าเช่า 6 เดือน แล้วรัฐเยียวยาเจ้าของอาคาร เช่น สิงคโปร์ และเยอรมนี มาตรการแบบนี้จะตรงจุด แต่ต้องรีบทำ
.
ส่วนคำถามที่ว่ารัฐบาลมีเงินพอหรือไม่ อดีต รมว.คลัง บอกว่า แม้ไทยไม่ใช่ประเทศร่ำรวย และต้องกู้เงิน แต่เรามีศักยภาพการคลังเข้มแข็งเพียงพอ หลักคิดของเขาในภาวะวิกฤติ คือรัฐบาลรับภาระเป็นหนี้ดีกว่าปล่อยให้ประชาชนไปกู้ยืมเงินเอง รัฐบาลยังสามารถกู้มาช่วยประชาชนได้อีก

จากนั้น เป็นช่วงที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จะเข้ามาพูดคุยต่อ โดย กรณ์ และพิธา ได้ทักทายกัน และกรณ์พูดถึงเรื่องความรู้ด้านการเกษตรของพิธา  ซึ่งเมื่อ 3 ปีก่อน เคยปรึกษากันหลายรอบในเรื่องแนวทางการเกษตรพรีเมียม

.

พิธา สรุปนโยบายของรัฐบาลในช่วงวิกฤติ 100 วันที่ผ่านมา ว่า “ฝนตกไม่ทั่วฟ้า เยียวยาไม่ทั่วถึง ชีวิตที่รำพึง ล้วนถึงซึ่งความตาย” ซึ่งเขาบอกว่าเป็นถ้อยคำที่คนของพรรคไปได้ยินมาจากประชาชน
.
วิกฤติครั้งนี้มีคนที่ไร้ทางออกจากนโยบายล็อกดาวน์ ต้องตกงาน การเยียวยา 5 พันบาทก็เละเทะไปหมด ทำให้ได้รับความยากลำบากมาก คำถามคือ 100 วันที่ผ่านมาเป็นอย่างนี้ แล้ว 100 วัน ข้างหน้าจะบริหหารจัดการได้ดีมากกว่าที่ผ่านมาหรือไม่ ซึ่งต้องมองภาพใหญ่เอาประชาชนเป็นที่ตั้ง มีพิมพ์เขียวชัดเจน
.
เขาเห็นว่า รัฐบาลมักใช้คำว่าการ์ดห้ามตก แต่สิ่งที่ต้องทำไปด้วยคือ ต้องชกด้วย คือ ชกความจน ความหิวโหย หนี้สิน ค่าใช้จ่าย ค่านม ค่าผ้าอ้อม ของพี่น้องประชาชนด้วย และต้องยอมรับกันว่าสังเวียนของสังคมเราเอียง ช่องว่างสังคมเรากว้าง เมื่อวิกฤติมีคนจำนวนมากที่เมื่อตั้งการ์ดเขาจะถอยหลังลงไปเรื่อยๆ เมื่อต้องการจะชกกลับบ้างก็ชกไม่ถึง ต้องใช้วิกฤตินี้เข้าใจว่าสังเวียนที่เอียงอยู่เป็นปัญหาที่เรื้อรัง ขณะที่ด้านสาธารณสุขเขามองว่าทำได้ดีอยู่แล้ว
.
เรื่อง เงินเยียวยา พิธา บอกว่า รัฐบาลควรเยียวยาแบบทั่วหน้าแล้วคัดคนที่ไม่ลำบากออก แต่รัฐบาลกลับทำแบบคัดเข้า ให้คนมาพิสูจน์ความจนเริ่มจากฐาน 3 ล้านคน ขยายเป็น 9 ล้านคน เป็น 14 ล้านคน และ 16 ล้านคน บวกเกษตรกรอีก 10 ล้านคน แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลประเมินต่ำ และช้าไปเยอะ ในเรื่องความทุกข์ร้อนประชาชน


สำหรับเรื่อง งบประมาณจากการกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท เขาเสนอให้จัดสรรใหม่ จากที่รัฐบาลกำหนดงบเยียวยา 6 แสนล้าน ฟื้นฟู 4 แสนล้าน ซึ่งไม่เพียงพอ ในแบบของพรรคก้าวไกล เสนอให้ กำหนดงบเยียวยาประชาชน 9 แสนล้านบาท และด้านสาธารณสุข 1 แสนล้าน ส่วนงบฟื้นฟู 4 แสนล้านบาทให้ไปใช้งบประมาณปี 2564 โดยตัดจากส่วนที่ไม่จำเป็น เช่น การจัดซื้อรถยานเกราะ
.
นอกจากที่รัฐบาลจะเยียวยาใน 3 เดือนแรกแล้ว เขาเสนอโร้ดแม็ปเยียวยาในเดือนที่ 4-6 คือ เยียวยาประชาชนทั่วหน้าผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป 3,000 บาท 50 ล้านคน เป็นการให้เวลาปรับตัวอีก 3 เดือน และให้ครอบครัวที่มีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี อีกหัวละ 1 พัน เพื่อบรรเทาภาระผู้ปกครอง รวม13 ล้านคน
.
อีก 1 แสนล้านบาท ช่วยผู้ประกอบการสมทบค่าจ้างพนักงานไม่ให้เลิกจ้างหยุดกิจการ และเพิ่มงบสาธารณสุขจาก 4.5 หมื่นล้าน ไปเป็น 1 แสนล้าน

ส่วนนี้จะช่วยให้พอปรับตัวใน 100 วันและอีก 3 เดือนข้างหน้าได้ เมื่อตั้งการ์ดและได้เริ่มชกแล้ว 6 เดือนต่อไปจะเป็นช่วงที่จะต้องกลับมาแก้สังเวียนที่เอียง ลดช่องว่างระหว่างสังคมให้น้อยลงได้ ทำระบบสวัสดิการรองรับโลกที่ไม่แน่นอนในอนาคตมากขึ้น
.
สำหรับอนาคตจะต้องใช้วิกฤติครั้งนี้กลับที่ไปที่เศรษฐกิจฐานราก เหมือนที่เขาเคยอภิปรายเรื่องกระดุม 5 เม็ด การกระจายการครองที่ดิน การลดภาระหนี้สิน การแปรรูป การกระจายการท่องเที่ยวหลายแบบ ไม่ต้องพึ่งการค้าระหว่างประเทศมากจนเกินไป เพราะโลกใหม่จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ในความท้าทายใหม่ ไทยจะมีโอกาสด้าน อาหารปลอดภัย เป็นครัวของโลกหลังโควิด และมีคนหนุ่มสาวที่กลับบ้านเกิดเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์เป็นปัจจัยหนุน และจะมีการเปลี่ยนโฉมเป็น ทุนนิยมไทยใหม่
.
พิธา บอกด้วยว่า หากจะต้องกู้เงินเพิ่มก็จำเป็น เพราะถ้าไม่กู้ตอนนี้ก็ไม่รู้จะกู้ตอนไหน ต้องเอาเงินมาให้คนตั้งหลักได้ ให้ปรับตัวได้ในช่วงวิกฤติ ถ้าเลือกจังหวะใช้งบประมาณถูกต้องก็ป้องกันเศรษฐกิจไม่เป็นตัวแอล (ซึมยาว) ซึ่งถ้าไปกู้ตอนนั้นอาจจะต้องกู้มากกว่าตอนนี้ด้วยซ้ำ

 

ด้านนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตแกนนำพรรคไทยรักษาชาติ เข้ามาพูดคุยเป็นคนถัดมา โดยถามพิธา ว่า งานหนักไหม ซึ่ง พิธา ตอบกลับว่าหนักแต่สนุก จาตุรนต์ จึงกล่าวต่อว่า ติดตามการทำงานและข้อเสนอของพิธาตลอด ซึ่งพิธา ก็บอกว่าติดตามจาตุรนต์ ตั้งแต่สมัย 20 ปีก่อนที่ยังเรียนที่ ม.ธรรมศาสตร์ 
จากนั้นช่วง คุยกับจาตุรนต์ เมื่อให้ประเมินการทำงานของรัฐบาล จาตุรนต์ บอกว่า ด้านสาธารณสุขต้องให้ A แต่ภาพรวมการรับมือวิกฤติของรัฐบาลได้แค่ C+ จากการประเมินสถานการณ์และปัญหาต่ำไป
.
วันที่พบผู้ป่วยรายแรกตนแสดงความเห็นว่าเป็นวิกฤติแล้ว และหลายประเทศก็มีปัญหาแล้วต้องมองไปที่ worst case แต่ของเรามองว่าเป็นเรื่องหวัดธรรมดา ส่งผลต่อนโยบายการห้ามคนจากประเทศเสี่ยง ที่ควรให้เฉพาะที่จำเป็นและต้องมากักตัว 14 วัน แต่มาทำตอนปลายเดือน มี.ค. ทั้งที่มีการเสนอกันตั้งแต่ปลาย ม.ค.
.
อาศัยว่าระบบสาธารณสุขเราแข็งแกร่ง ผู้ติดเชื้อไม่มาก แต่ก็มาเจอกับกรณีประจวบเหมาะคือสนามมวยและผับ จนติดเชื้อมากเกินจำเป็นและเป็นปัญหา
.
กรณีล็อกดาวน์ก็ช้าเกินไปและไม่มีการเตรียมการล่วงหน้าจนเกิดความเสียหาย ทำให้คนตกงาน ถูกเลิกจ้าง ออกไปต่างจังหวัดกระจายเชื้อไป มีปัญหาตามมา รวมทั้งคนสั่งให้ปิดเมืองคือผู้ว่าฯ แต่ละจังหวัด ไม่มีอำนาจในการเยียวยา คนเยียวยามาคิดตามทีหลังและวางระะบบซับซ้อนไม่ทันสถานการณ์ เมื่อรวมกับผลกระทบจากกิจการอื่น จากการส่งออก การท่องเที่ยว สมทบมาทำให้ผู้ต้องการการเยียวยามีมากแต่ช่วยเหลือช้า
.
รัฐบาลไม่ได้เข้าไปช่วยผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และ SME ด้วยการร่วมจ้างให้พนักงานยังทำงานต่อหรือยังเป็นลูกจ้างได้ต่อ เช่น รัฐบาลจ่าย 2 ส่วน เอกชน จ่าย 1 ส่วน เราไปเลือกใช้วิธีเยียวยา 3 เดือนตั้งแต่ต้นทำให้คนรู้สึกว่ากลับบ้านดีกว่า อยู่ต่อไปก็ไม่มีอนาคต กิจการต่างๆ ก็หยุดกันยาวๆ มีผลกระทบกันเป็นลูกโซ่ ขณะที่จำนวนคนที่เข้าสู่ระบบรับเงินเยียวยาก็เพิ่มมากขึ้นๆ
.
เมื่อถึงเรื่องการเยียวยา 5 พันบาท จาตุรนต์ กล่าวว่า หลังตัดส่วนลงทะเบียนซ้ำซ้อนออกแล้ว ต้องจ่ายให้หมดก่อน แล้วค่อยมาดูส่วนที่มีปัญหา เรากลับปล่อยให้คนเป็น 10 ล้าน รออยู่โดยไม่มีรายได้เลย และส่วนที่ไม่ครอบคลุมที่เดือดร้อนเช่นกันต้องหาวิธีช่วย
จาตุรนต์ ตั้งข้อสังเกตว่าที่ช้าเพราะรัฐบาลสับสนหรือไม่ เช่น เมื่อก่อนให้เงินคนพอมีสตางค์โดยแถมเงินให้เขาไปเที่ยว หวังว่าเขาจะควักเงินเที่ยวเยอะๆ จะได้กระตุ้นเศรษฐกิจ แต่วันนี้คนเดือดร้อนมากมาย กลับกลัวซ้ำซ้อนสิ้นเปลือง
.
รัฐบาลจะต้องเตรียมการต่อ หลังจากตัวเลขงบที่ต้องใช้ในการเยียวยารวมกว่า 3.9 แสนล้าน ในช่วง 3 เดือน ไม่นับคนตกหล่น งบใน พ.ร.ก.กู้เงิน 6 แสน ไม่น่าจะเพียงพอหากสถานการณ์ยืดเยื้อ อาจต้องนำงบฟื้นฟู 4 แสนล้านบาท มาใช้เยียวยาก่อน เพราะเป็นความเป็นความตาย ส่วนที่เหลือต้องมุ่งไปที่โครงการที่มีการจ้างงานมากๆ และต้องคิดเรื่องให้ประชาชนเลี้ยงตัวได้ ต้องเปิดเศรษฐกิจใหม่ที่เหมาะสมในสถานการณ์แบบนี้ซึ่งจะต้องรีบคิด
.
ระยะสั้นต้องเปิดให้ระบบเศรษฐกิจเดินได้ โดยชะลอให้โควิดไม่มากเกินระบบสาธารณสุขรับไหว และต้องมีแนวทางที่ชัดเจน เนื่องจากข้อมูลที่ออกมามีหลายหลักเกณฑ์ หลายสี หลายกลุ่ม หลายช่วงเวลา ทำให้ไม่มีการเตรียมการ ไม่รู้ว่าจะต้องเปิดเมื่อไร และจะถูกปิดอีกเมื่อไร
.
ถ้าไม่รีบทำให้เกิดความชัดเจน เมื่อถึงเวลาจะเปิดก็เปิดไม่ได้ เช่น แรงงานต่างด้าวก็กลับไปหมดแล้ว และอีกหลายเรื่อง ต้องให้ระบบเศรษฐกิจเดิน คนมีรายได้จะได้ไม่ต้องพึ่งเงินเยียวยาอย่างเเดียว เราไม่สามารถเยียวยาด้วยเงินมากๆ ได้ตลอดไป
.
เขาเสนอให้มุ่งไปที่นิคมอุตสาหกรรมที่มี ปรับไปที่การผลิตวัสดุ อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ยังต้องจำเป็นต้องใช้ไปอีกเป็นปีทั่วโลก และด้านการผลิตอาหารส่งออก ส่วนระยะยาวคือ การมองแนวทางเศรษฐกิจที่มาทดแทน ด้านที่จะหายไป เช่น การท่องเที่ยว ซึ่งจะปรับเปลี่ยนอย่างไร ต้องกลับมาคิดวางแผนใหม่ ทั้ง 1-2 ปี และระยะต่อไป
.
ในฐานะ อดีต รมว.ศึกษาธิการ เขามองเรื่องการศึกษาในภาวะโควิดว่า ถ้าจะเปิดเรียนอาจต้องคิดเรื่องออกแบบห้องเรียน จัดที่นั่ง เพิ่มห้อง ส่วนระบบออนไลน์ที่จะทดแทนได้ในเวลาแบบนี้เราก็ยังมีพัฒนาการช้ากว่าหลายประเทศมาก การเรียนทางไกลทางทีวีก็เป็นแบบสื่อสารทางเดียว ใน 2 เดือนนี้ต้องคิดว่าจะเตรียมการอย่างไร ซึ่งสถานการณ์โควิดจะเร่งให้ต้องคิดเรื่องการศึกษาแบบใหม่ ไม่ใช่เลื่อนแล้วก็แล้วกัน เปิดมาก็จะทำแบบเดิม เพราะโควิดจะอยู่ไปอีกเป็นปี
.

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า