ความเหลื่อมล้ำมีหลายมิติ แต่ที่เห็นได้ชัดเจนและใกล้ชิดคนไทยมาก คงหนีไม่พ้นคือความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ ภาพที่คุ้นตาความเจริญกระจุกตัวอยู่ในเมืองหลวง แหล่งรวมงาน ศูนย์กลางการใช้ชีวิตและโอกาสมากมาย ในขณะที่อีกหลายจังหวัดในประเทศไทย แม้จะเป็นหัวเมืองใหญ่ ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศเช่นกัน แต่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานยังเป็นอุปสรรค จากอำนาจการบริหารที่รวมศูนย์ที่ส่วนกลาง รวมถึงอุปสรรคด้านงบประมาณ
ธนาคารโลก (World Bank) ร่วมกับหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่นจัดทำงานศึกษา “การประเมินแหล่งเงินทุนสำหรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการ พัฒนาเมืองในประเทศไทย” โดยได้ศึกษาผ่านโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ใน 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ระยอง นครสวรรค์ ขอนแก่น และภูเก็ต
โดยชี้ว่าโอกาสและความสำคัญของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานนั้น ช่วยผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยรัฐบาล จะต้องมีแนวทางส่งเสริมให้เมืองรองเหล่านี้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนภาคเอกชนเพื่อมาใช้ในการลงทุนและการพัฒนาเมือง
ที่ผ่านมากรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของประเทศมาอย่างยาวนาน แต่โอกาสในการขยายตัวทางเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ เริ่มอิ่มตัว เมืองรองต่างๆ เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น และระยอง กำลังเจริญเติบโตและสร้าง โอกาสให้กับคนในพื้นที่ อีกทั้งยังสามารถเป็นแกนหลักทางเศรษฐกิจของประเทศ หากมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ในด้านต่างๆ เช่น ระบบขนส่งมวลชน พลังงานทดแทน และโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
จากการศึกษาพบว่า เมืองรองต่างๆ เหล่านี้ ไม่สามารถพึ่งพางบประมาณภาครัฐเพียงแหล่งเดียว และควรพิจารณาเครื่องมือการระดมทุนอื่นๆ เช่น การออกพันธบัตรสนับสนุนการลงทุนโครงการในท้องถิ่น และการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (Public-Private Partnerships: PPP) เป็นต้น
เพราะการพัฒนาเมืองจะเป็นประโยชน์กับทั้งประชาชนที่อาศัยในเขตเมืองและประชาชนที่อยู่นอกเขตเมือง เช่น จากการพัฒนาระบบขนส่งและคมนาคม ระบบพลังงานและไฟฟ้า น้ำประปา ระบบบำบัดน้ำเสีย ระบบกำจัดขยะมูลฝอย เพื่อสร้างเมืองให้เป็นเมืองน่าอยู่ ช่วยส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน การพัฒนาคุณภาพชีวิต และประโยชน์ในด้านสิ่งแวดล้อม
ดังนั้น หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดหาแหล่งทุนได้ด้วยตนเอง จะสามารถช่วยลด ภาระต่อสถานะทางการคลังของประเทศไทยได้ ซึ่งปัจจุบันเมืองรองและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของ ไทยยังคงต้องพึ่งพาเงินงบประมาณในการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและยังไม่มีอำนาจในการจัดหาแหล่งทุนได้ด้วยตนเอง นี่คืออุปสรรค
แม้ว่ากฎหมายการกระจายอำนาจที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ พ.ศ. 2542 ได้ระบุเจตนารมณ์ให้ท้องถิ่น ตัดสินใจในกิจการท้องถิ่นได้เอง แต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำเป็นต้องสร้างความน่าเชื่อถือทางการเงินด้วย การมีฐานภาษีและการจัดเก็บรายได้ที่จะสร้างความั่นคงทางการเงินและคลัง เพื่อให้เกิดความมั่นใจให้แก่นักลงทุน
รายงานฯ จึงได้เสนอแนะให้เมืองรองได้มีอำนาจจัดหาแหล่งทุนได้ด้วยตนเอง สร้างเครื่องมือ และความเชี่ยวชาญในการจัดหาเงินทุนเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาเมือง และเสนอให้มีการกำหนดยุทธศาสตร์ระดับชาติเพื่อส่งเสริมการลงทุนจากภาคเอกชน และการจัดตั้งหน่วยงานขึ้นเพื่อวางแผนพัฒนา และติดตามการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาเมือง
นอกจากนี้ ยังเสนอแนะอีกว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรต้องมีอิสระทางการคลังในการดำเนินการมากขึ้นเพื่อสามารถพึ่งพาตนเอง มีความ โปร่งใส และตรวจสอบได้ ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนในพื้นที่ และสามารถดำเนินโครงการใหญ่ๆ ให้สำเร็จต่อไปได้