SHARE

คัดลอกแล้ว

ปี 2565 เป็นอีกปีที่โลกต้องเผชิญกับเหตุการณ์ต่างๆ มากมาย หลายเหตุการณ์ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญที่เรียกได้ว่า กลายมาเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ที่อาจทำให้โลกไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป 

สำนักข่าว TODAY จะพาไปย้อนรอยเหตุการณ์สำคัญที่สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับโลกในปี 2565 มีอะไรบ้าง ติดตามได้ด้านล่าง

 

เปิดฉาก สงครามรัสเซีย-ยูเครน

หลังจากที่กลิ่นอายสงครามคุกรุ่นมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 ในที่สุดความสัมพันธ์ที่เปราะบางระหว่างรัสเซีย และยูเครน อดีตดินแดนในสหภาพโซเวียต ก็ถึงจุดแตกหัก เมื่อประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ประกาศสุนทรพจน์ผ่านทางโทรทัศน์ เริ่มต้น ‘ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร’ ในยูเครน เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 

ก่อนที่ปฏิบัติการพิเศษทางทหารจะเริ่มขึ้น ทั้งสองประเทศมีความขัดแย้งกันมายาวนาน นับตั้งแต่สหภาพโซเวียตล่มสลาย และยูเครนประกาศเอกราชของตัวเอง รัสเซียก็ได้แสดงจุดยืน ต้องการให้ยูเครนอยู่ภายใต้อิทธิพลของตนต่อไปมาโดยตลอด ด้วยข้ออ้างว่ารัสเซียและยูเครนต่างก็มีประวัติศาสตร์ร่วมกัน 

ขณะที่ในยูเครนเอง หลังประกาศเอกราชแนวคิดของประชาชนก็แตกออกเป็นสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งต้องการหันไปหันหายุโรป และค่อยๆ สร้างการเติบโตด้วยตนเองอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในขณะที่อีกฝ่ายยังอยากอยู่ภายใต้ร่มเงาของรัสเซีย มองรัสเซียว่าเป็นพี่ใหญ่ที่จะคอยสนับสนุนเรื่องเงินทุน และอำนาจต่อรองในเวทีโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชากรที่อาศัยอยู่ในดินแดนฝั่งตะวันออกของยูเครน ซึ่งมีพรมแดนติดกับรัสเซีย และส่วนใหญ่มีเชื้อสายรัสเซีย มีความผูกพันกับรัสเซียมานาน ประชากรกลุ่มนี้จึงต้องการที่จะผนวกรวมกับรัสเซียมากกว่ายุโรป

ความขัดแย้งได้เข้าสู่จุดเปลี่ยนสำคัญเมื่อรัสเซียผนวกรวมแคว้นไครเมีย ซึ่งเป็นดินแดนในคาบสมุทรไครเมีย ทางใต้ของยูเครนไปเป็นของตนเองในปี 2557 เมื่อไครเมียถูกผนวกรวมเข้ากับรัสเซียแล้ว ทำให้ดินแดนทางตะวันออกของยูเครน อย่างแคว้นดอนบาส (Donbas) ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 จังหวัดใหญ่คือ ลูฮันสก์ (Luhansk) และ โดเนตสก์ (Donetsk) แม้ในทางทฤษฎี 2 จังหวัดนี้จะเป็นของยูเครน แต่ในทางปฏิบัติ คือเป็นเขตแดนที่มีคนเชื้อสายรัสเซียอาศัยอยู่มาก บ้างก็ต้องการเอกราช จึงเกิดกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนขึ้นมาโดยมีรัสเซียให้การสนับสนุน จากนั้นมาก็เกิดการสู้รบระหว่างยูเครนและกลุ่มกบฏอย่างต่อเนื่อง 

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับไครเมีย และสองดินแดนทางตะวันออก ทำให้ยูเครนเริ่มหันไปใกล้ชิดกับชาติตะวันตกมากขึ้น จนเกิดแนวคิดที่จะผลักดันความพยายามในการเข้าเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต (NATO) ซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรทางทหารที่มีวัตถุประสงค์การก่อตั้งมาตั้งแต่แรกเพื่อต่อสู้กับภัยคุกคามจากรัสเซียที่แผ่ขยายอำนาจเข้าสู่ยุโรปหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยมีข้อตกลงว่าจะช่วยเหลือซึ่งกันและกันหากประเทศสมาชิกถูกคุกคามจากภายนอก

แน่นอนว่ารัสเซียย่อมไม่ต้องการให้ยูเครน ซึ่งถูกมองว่าเป็นรัฐกันชนระหว่างรัสเซียกับยุโรป เข้าเป็นสมาชิก NATO เพราะหากเป็นเช่นนั้นก็เท่ากับว่ายุโรปเข้ามาตีประชิดได้ถึงหน้าบ้านของรัสเซีย จึงพยายามให้ NATO รับประกันว่าจะไม่รับยูเครนเข้าเป็นสมาชิก แต่ NATO ไม่รับปาก 

นำไปสู่ฉากโหมโรงของสงครามในยูเครนครั้งนี้ ซึ่งเริ่มจากการที่รัสเซียทยอยสั่งสมกำลังทหารตามแนวชายแดนยูเครน โดยมีภาพถ่ายทางดาวเทียมพบว่า มีการเคลื่อนย้ายยุทโธปกรณ์และเคลื่อนกำลังพลมาประจำการมากกว่า 100,000 นาย จนสหรัฐฯ และชาติตะวันตกออกมาเตือนว่าเป็นความเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ แต่รัสเซียได้ปฏิเสธ โดยระบุว่าเป็นเพียงการเคลื่อนกำลังเพื่อซ้อมรบทั่วไป

ในขณะที่สถานการณ์เริ่มคุกรุ่นมากขึ้น ได้มีความพยายามเจรจาทางการทูตเกิดขึ้นมาตั้งแต่ต้นปี 2565 แต่นอกจากการเจรจาจะไม่เป็นผลแล้ว กลับยิ่งเพิ่มความตึงเครียดในความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซีย ยูเครน และองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต (NATO) 

จนสถานการณ์ดำเนินมาถึงจุดสำคัญ เมื่อประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ประกาศมอบอำนาจอธิปไตยให้กับสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์ และ สาธารณรัฐประชาชนลูฮันสก์ พร้อมส่งกองกำลังเข้าไปประจำการในดินแดนทั้งสองแห่ง เพื่อปกป้องสันติภาพจากการรุกรานของยูเครน ทำให้ยูเครนตัดสินใจประกาศกฎอัยการศึก และตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับรัสเซียทันที พร้อมกับขอความช่วยเหลือไปยังสหรัฐฯ และชาติยุโรป

นับจนถึงวันนี้ สงครามในยูเครนยืดเยื้อมานานกว่า 10 เดือนแล้ว และยังคงไม่มีแนวโน้มที่จะยุติลงในเร็ววัน โดยทั้งสองฝ่ายต้องสูญเสียกำลังพล และคร่าชีวิตพลเรือนไปเป็นจำนวนมาก แม้จะไม่สามารถยืนยันตัวเลขที่ชัดเจนได้ แต่จากการประเมินของชาติตะวันตกคาดว่า ทหารทั้งสองฝ่ายเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บในสงครามเป็นหลักหมื่นถึงหลักแสนนาย ชาวยูเครนต้องอพยพทิ้งบ้านเรือนนับล้านคน ขณะที่อีกหลายล้านคนต้องใช้ชีวิตด้วยความยากลำบากแสนสาหัส เนื่องจากรัสเซียยังคงเดินหน้าใช้กลยุทธ์ตัดน้ำ ตัดไฟ ทำให้พวกเขาไม่มีไฟฟ้าและน้ำประปาใช้ ในช่วงที่ต้องเผชิญกับสภาพอากาศหนาวจัด 

 

ควีนเอลิซาเบธที่ 2 สวรรคต

ในช่วงเย็นของวันที่ 8 กันยายน 2565 ตามเวลาอังกฤษ หรือกลางดึกตามเวลาไทย ทั่วโลกตกอยู่ในบรรยากาศของความโศกเศร้าอาลัย เมื่อสำนักพระราชวังบักกิงแฮม มีแถลงการณ์ออกมาว่า สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 พระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์สหราชอาณาจักร เสด็จสวรรคตอย่างสงบ ณ ปราสาทบัลมอรัล ในสกอตแลนด์ ขณะพระชนมพรรษา 96 พรรษา หลังจากทรงครองราชย์มา 70 ปี 

ย้อนกลับไป เหตุการณ์ในวันที่ 8 กันยายน ก่อนมีแถลงการณ์อย่างเป็นทางการออกมาจากสำนักพระราชวังบักกิงแฮม เริ่มมีกระแสความกังวลเกี่ยวกับพระพลานามัยของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 มาตั้งแต่ช่วงบ่าย หลังจากที่สำนักพระราชวังออกมาเปิดเผยว่า คณะแพทย์อยู่ระหว่างถวายการดูแล จากนั้นมีรายงานออกมาเป็นระยะๆ ว่าพระบรมวงศานุวงศ์ และสมาชิกราชวงศ์อังกฤษ อาทิ เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ (พระยศในขณะนั้น) ดัชเชสคามิลล่าแห่งคอร์นวอลล์ เจ้าชายวิลเลียม เจ้าชายแอนดรูว์ เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด และพระชายา เคาน์เตสส์แห่งเวสเซ็กซ์ เสด็จยังปราสาทบัลมอรัล เพื่อเฝ้าติดตามพระอาการ 

ภายหลังการสวรรคต เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ มกุฎราชกุมารแห่งอังกฤษ ซึ่งเป็นพระโอรสพระองค์โตในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ได้เสด็จขึ้นครองราชย์ โดยใช้พระปรมาภิไธยว่า ‘พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3’ และมีกำหนดจะจัดพระราชพิธีราชาภิเษกในวันที่ 6 พฤษภาคม 2566 

พระราชพิธีพระบรมศพสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 พิธีแรกเป็นการอัญเชิญพระบรมศพจากปราสาทบัลมอรัลไปยังพระราชวังบักกิงแฮม โดยประดิษฐานไว้ที่เวสต์มินสเตอร์ฮอลล์ (Westminster Hall) ซึ่งเป็นห้องโถงใหญ่ในกลุ่มอาคารรัฐสภา เพื่อเปิดให้พสกนิกรเข้าถวายสักการะพระบรมศพเป็นเวลา 4 วัน ตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันที่ 14 กันยายน ไปจนถึงเช้าตรู่ของวันที่ 19 กันยายน โดยจากรายงานของสำนักข่าวบีบีซี แถวของพสกนิกรที่รอเข้าถวายสักการะมีความยาวถึง 16 กิโลเมตร ใช้เวลารอนานกว่า 24 ชั่วโมง และในเวลาต่อมา กระทรวงวัฒนธรรมได้ออกมาเปิดเผยตัวเลขคร่าวๆ ว่า มีพสกนิกรราว 250,000 คน เข้าสักการะพระบรมศพ

ส่วนพระราชพิธีพระบรมศพอย่างเป็นทางการ จัดขึ้น ณ มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ ในกรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2565 โดยมีบุคคลสำคัญ เชื้อพระวงศ์ และผู้นำประเทศจากทั่วโลกเข้าร่วมในพระราชพิธีราว 2,000 คน ก่อนที่พระบรมศพจะถูกเคลื่อนไปยังโบสถ์เซนต์จอร์จ ภายในพระราชวังวินด์เซอร์ เพื่อประกอบพระราชพิธีฝังพระบรมศพ ข้างหลุมฝังพระศพของเจ้าชายฟิลิป พระราชสวามีของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ซึ่งในพระราชพิธีนี้ มีเพียงพระบรมวงศานุวงศ์ สมาชิกราชวงศ์อังกฤษ และเจ้าหน้าที่พระราชพิธี เข้าร่วม

สำหรับพระราชประวัติ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 มีพระนามเดิมว่า เจ้าหญิงเอลิซาเบธ อเล็กซานดรา แมรี วินด์เซอร์ ประสูติเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2469 ในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5 แห่งสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นพระอัยกา พระองค์เป็นพระราชธิดาองค์โตในสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 และสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระราชชนนี ทรงมีพระราชขนิษฐา 1 พระองค์ คือ เจ้าหญิงมาร์กาเร็ต

สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ขึ้นครองราชย์ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2495 ขณะมีพระชนมายุ 25 พรรษา ทรงอภิเษกสมรสกับ เจ้าชายฟิลิป ดยุคแห่งเอดินบะระ มีพระราชโอรสและพระราชธิดา 4 พระองค์ ได้แก่ เจ้าชายชาร์ลส์ ปัจจุบันเสด็จขึ้นครองราชย์เป็น ‘สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร’ พระราชสมภพในปี 2491 เจ้าหญิงแอนน์ ประสูติในปี 2493 ปัจจุบันทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น ‘ราชกุมารี’ เจ้าชายแอนดรูว์ ประสูติในปี 2503 ปัจจุบันทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น ‘ดยุกแห่งยอร์ก’ และ เจ้าชายเอ็ดเวิร์ด ประสูติในปี 2507 ปัจจุบันดำรงพระอิสริยยศเป็น ‘เอิร์ลแห่งเวสเซ็กส์

ตลอดการครองราชย์ยาวนานกว่า 70 ปี สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงได้รับการยกย่องว่าปกครองสหราชอาณาจักรด้วยความสามารถ พระสติปัญญา และความเมตตาต่อประชาชนมาโดยตลอด แม้พระองค์จะผ่านช่วงเวลาที่เลวร้าย ทั้งเศรษฐกิจถดถอย และปัญหารอบด้านในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่พระองค์ก็ทรงนำพาสหราชอาณาจักรเข้าสู่ยุครุ่งเรืองมาจนปัจจุบัน  

 

สี จิ้นผิง รั้งตำแหน่งผู้นำจีนสมัยที่ 3 

อีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญที่ถูกจับตามาตั้งแต่ต้นปี คือการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน (CPC) ซึ่งจัดขึ้นทุก 5 ปี และในปีนี้เป็นการประชุมครั้งที่ 20 ซึ่งจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 16-22 ตุลาคม 2565 ณ อาคารมหาศาลาประชาชน ในกรุงปักกิ่ง โดยไฮไลท์ของการประชุมครั้งนี้อยู่ที่ การต่อวาระของนายสี จิ้นผิง เป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งเท่ากับว่าเขาจะได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีจีนเป็นสมัยที่ 3 และจะกลายเป็นผู้นำที่ทรงอำนาจที่สุดนับตั้งแต่ยุค เหมา เจ๋อตุง 

การประชุม CPC เป็นการรวมตัวกันของคณะผู้แทนพรรคคอมมิวนิสต์ทั่วประเทศ มากกว่า 2,300 คน ซึ่งมาจากทุกภาคส่วน ทั้งเจ้าหน้าที่บริหารท้องถิ่น นายทหาร นักวิชาการ และผู้แทนประชาชน เพื่อมาร่วมหารือ ทบทวนนโยบายของพรรคคอมมิวนิสต์ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา และกำหนดทิศทางของนโยบายในอีก 5 ปีต่อจากนี้ 

หลังการประชุม CPC เสร็จสิ้นลง ในวันที่ 23 ตุลาคม ภาพวินาทีประวัติศาสตร์ก็ปรากฏขึ้น เมื่อนายสี จิ้นผิง วัย 69 ปี เดินนำคณะกรรมการกรมการเมืองพรรคคอมมิวนิวต์ หรือโปลิตบูโร (Politburo Standing Committee) ซึ่งเทียบเท่ากับคณะรัฐมนตรีของประเทศอื่นๆ โดยการขึ้นไปปรากฏตัวบนเวทีของนายสี ชี้ชัดว่า เขาได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนสมัยที่ 3 

การต่ออำนาจในตำแหน่งประธานาธิบดีของนายสี เป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นประวัติศาสตร์จีน เพราะมีกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญว่า ประธานาธิบดีสามารถดำรงตำแหน่งได้เพียง 2 สมัย วาระละ 5 ปี ซึ่งนายสี ขึ้นสู่ตำแหน่งมาตั้งแต่ปี 2556 เท่ากับว่าหากยึดตามข้อกำหนดดังกล่าวในรัฐธรรมนูญ นายสีจะต้องลงจากอำนาจในปีหน้า แต่เมื่อปี 2561 คณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้มีมติให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ตัดประโยคที่ว่า ‘ประมุขของประเทศจะดำรงตำแหน่งเกินวาระ 2 ปีมิได้’ ออกไป เพื่อเปิดทางให้นายสีอยู่ในอำนาจยาว ตราบเท่าที่เขาจะได้รับความไว้วางใจจากสภาประชาชน 

ส่วนสมาชิกโปลิตบูโร ซึ่งเปรียบเหมือนคณะรัฐมนตรีของจีน ที่จะรับหน้าที่ในการสนับสนุนประธานาธิบดี และมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางนโยบายของจีนในช่วง 5 ปีข้างหน้า ประกอบด้วย นายหลี่ เฉียง ซึ่งถูกวางตัวไว้เป็นสมาชิกหมายเลข 2 ในโปลิตบูโร รองจากนายสี คาดว่าจะเป็นผู้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไปของจีน และสมาชิกคนอื่นๆ อีก 5 คน ได้แก่ นายจ้าว เล่อจี้, นายหวัง ฮู่หนิง, นายไช่ ฉี, นายติง เซวียเสียง และนายหลี่ ซี

การอยู่ในตำแหน่งประธานาธิบดีวาระที่ 3 ของนายสี ถูกมองว่า ไม่น่าจะสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก ในขณะที่จีนกำลังเผชิญกับความท้าทายรอบด้าน ทั้งจากการระบาดของโรคโควิด-19 และความสัมพันธ์ที่ดิ่งลงต่ำสุดกับสหรัฐฯ จากเรื่องไต้หวัน รวมถึงประเด็นเรื่องสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งนายสีได้กล่าวสุนทรพจน์ต่อที่ประชุม CPC อย่างชัดเจนว่า เขาจะยึดมั่นในนโยบายโควิดเป็นศูนย์ (Zero-COVID) ต่อไป โดยกล่าวยกย่องนโยบายนี้ว่า เป็นการปกป้องชีวิตประชาชน และสร้างผลลัพธ์เชิงบวกอย่างมีนัยสำคัญ พร้อมกับยืนยันอย่างชัดเจนอีกครั้งว่า กรณีเรื่องไต้หวันเป็นเรื่องภายในที่จะต้องจัดการด้วยตัวเอง และไม่มีใครสามารถเข้ามาแทรกแซงได้ โดยที่รัฐบาลจีนจะมุ่งมั่นไปสู่การรวมชาติอย่างสันติ

อย่างไรก็ตาม ไม่ถึง 2 เดือนหลังการประกาศในที่ประชุม CPC ของนายสี ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงปรากฏขึ้นให้เห็น โดยรัฐบาลจีนตัดสินใจผ่อนปรนมาตรการควบคุมโควิด-19 เข้มงวดภายใต้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ หลังเกิดการประท้วงครั้งใหญ่ขึ้นทั่วประเทศ จากความไม่พอใจของประชาชนที่ต้องอยู่ภายใต้ข้อจำกัดที่กระทบต่อการใช้ชีวิตมาเป็นเวลานาน 

แม้ท่าทีล่าสุดของรัฐบาลจีนจะดูเหมือนเป็นสัญญาณดีที่จีนเริ่มหันมาฟังเสียงประชาชนมากขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือความท้าทายอันใหญ่หลวงที่กำลังตามมา จากการยกเลิกนโยบายควบคุมโรคอย่างกะทันหัน โดยไม่ได้เตรียมพร้อมมากพอ ทั้งในเรื่องการเตรียมการรับมือกับจำนวนผู้ป่วยที่จะพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว และอัตราการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยงอย่างผู้สูงอายุ ยังไม่ครอบคลุม ท่ามกลางคำเตือนจากผู้เชี่ยวชาญที่พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า อาจมีชาวจีนติดเชื้อโควิดมากถึง 60% ของประชากรทั้งหมดราว 1.4 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อแตะหลัก 1-2 ล้านคน หากจีนไม่สามารถเร่งดำเนินการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม สำรองยารักษาและยาต้านไวรัสไว้อย่างเพียงพอ 

ยังไม่รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งจำเป็นต้องสร้างความสมดุลระหว่างการควบคุมโรคกับการรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจ จีนจะรับมือกับเรื่องนี้อย่างไรคงต้องจับตาดูกันต่อไป 

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า