SHARE

คัดลอกแล้ว

Exclusive จากดูไบ มองให้ลึกถึงเบื้องหลัง ‘ศาลาไทย’ ใน ‘World Expo’ เมื่อ KPI ค้ำคอวัดจากยอดผู้ชม หวังกู้ท่องเที่ยวไทย

‘World Expo’ หรือ The World Exposition นิทรรศการระดับโลก เทียบเท่า 1 ใน 3 อีเวนต์ใหญ่ที่สุดของโลกที่ผู้คนต่างเฝ้ารอ จะเป็นรองแค่เพียงโอลิมปิกเกม และฟุตบอลโลก มีประวัติศาสตร์ยาวนานมากว่า 200 ปี นับตั้งแต่จัดครั้งแรกที่ลอนดอน สหราชอาณาจักร เมื่อปี พ.ศ. 2394 (ค.ศ. 1851) โดยมีหลายประเทศสับเปลี่ยนหมุนเวียนเป็นเจ้าภาพ จัดขึ้นทุกๆ 5 ปี และประเทศไทยก็ได้เข้าร่วมงานนี้อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ พ.ศ. 2405 ตรงกับปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ หากนับรวมไทยได้เข้าร่วมจัดงานมาแล้วกว่า 30 ครั้ง

เช่นเดียวกับครั้งล่าสุด ‘World Expo 2020 Dubai’ จัดขึ้น ณ มหานครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ที่ในที่สุดก็สามารถเปิดงานได้สำเร็จเมื่อคืนวันที่ 30 พ.ย.ที่ผ่านมา หลังจากถูกเลื่อนเปิดงานมา 1 ปี ด้วยผลกระทบจากโควิด-19

มหกรรมนวัตกรรมโลกปีนี้ ถูกจับตามองจากทั่วโลกเป็นพิเศษ ไม่เพียงการโชว์นวัตกรรมล้ำๆ ของแต่ละประเทศ และบทพิสูจน์ความพร้อมและศักยภาพของดูไบท่ามกลางมหาวิกฤตเท่านั้น แต่นี่ยังเป็นงานใหญ่ที่จะถูกจารึกในประวัติศาสตร์ยูเออี ด้วยการเป็นประกาศเป็นประเทศแรกของภูมิภาคตะวันออกกลาง สร้างความภาคภูมิใจแก่โลกอาหรับ ที่ได้รับคัดเลือกให้จัดงานแสดงนิทรรศการระดับโลกเป็นครั้งแรก

ธีมหลัก World Expo 2020 Dubai คือ ‘Connecting Minds, Creating the Future’ หรือ “เชื่อมความคิด สร้างอนาคต” และแบ่งออกเป็น 3 ธีมย่อยให้แต่ละประเทศได้เลือกแสดงศักยภาพของตัวเอง ได้แก่ 1. โอกาส (Opportunity) 2. การขับเคลื่อน (Mobility) และ 3.ความยั่งยืน (Sustainability)

 

แน่นอนว่า ‘ประเทศไทย’ ซึ่งเป็นหนึ่งในภาคีสมาชิกสํานักงานมหกรรมโลก (Bureau of International Expositions : BIE) ไม่พลาดที่จะเข้าร่วมนิทรรศการที่ดูไบครั้งนี้ โดยเลือกธีม Mobility (การขับเคลื่อน) ตีโจทย์หวังให้อาคารแสดงประเทศไทย (Thailand Pavilion) สื่อสารด้วยแนวคิด “การขับเคลื่อนสู่อนาคต” (Mobility for the Future) โดยทำพิธีเปิดไปเมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา

‘ดอน ปรมัตถ์วินัย’ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวภายหลังร่วมพิธีเปิดและเชิญธงไตรรงค์ขึ้นสู่ยอดเสาหน้า Thailand Pavilion ว่าความพิเศษการจัดงานครั้งนี้ไม่ได้อยู่แค่ตัว Thailand Pavilion แต่ยังเป็นปีครบรอบความสัมพันธ์ 45 ปี ของไทย กับ UAE (ประเทศเจ้าภาพ) ในวันที่ 12 ธันวาคม ทั้งนี้ หวังว่าพลัง Soft Power และ Thai Hospitality จะเป็นจุดแข็งและเสน่ห์ของไทยที่สร้างความประทับใจให้ผู้ชมกลับไปเยือนประเทศไทย

ไทยได้พื้นที่จัดใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เข้าร่วม แต่งบฯ อนุมัติจำกัดเท่าพื้นที่เล็ก

‘อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย’ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) ในฐานะ Commissioner General of Section for Thailand Pavilion แม่งานหลักในการสร้างอาคารแสดงประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) เปิดเผยกับทีม TODAY Bizview ว่ามีความท้าทายนับตั้งแต่วันแรกที่ได้โจทย์ให้เนรมิตพื้นที่ว่างเปล่ากลางทะเลทรายดูไบ มาเป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่อนาคต จากนั้นก็ทำงานบนข้อจำกัดมาโดยตลอด

– เริ่มจากเรื่องงบประมาณ ปี 2561 เสนองบประมาณราว 1,600 ล้านบาท แต่ในที่สุดถูกปรับลดเหลือราว 900 ล้านบาท เพื่อบริหารจัดการพื้นที่ขนาด 3,606 ตรม. หรือ 2.25 ไร่ ซึ่งตัวเลขใกล้เคียงกับงบประมาณเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ตอนจัด World Expo 2015 ที่มิลาน ประเทศอิตาลี ใช้งบประมาณราว 800 กว่าล้านบาท แต่บริหารจัดการพื้นที่ราว 2,400 ตร.ม. จากนั้นได้ตั้งคณะทำงาน World Expo ขึ้น โดยมีหลายกระทรวงเข้าร่วมเป็นพันธมิตร

“5 ปีผ่านไปกลับได้งบประมาณเท่าๆ กัน แต่ขนาดพื้นที่มากกว่า ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องเงินเฟ้อ และดูไบ ก็ไม่ได้เป็นประเทศที่วัสดุต่างๆ ราคาถูก…ต้องพูดเลยว่า ตอนนั้นกลุ้มใจว่าจะทำได้ไหม เพราะดูจากตัวเลขเท่ากับ 5 ปีก่อน และขนาดพื้นที่ใหญ่กว่า ถ้าไปดูงบประมาณที่ได้มาต่อตารางเมตร จะเห็นได้ว่ามันน้อยไปมาก เมื่อเทียบกับสมัยมิลาน และเซี่ยงไฮ้ จากนั้นก็ได้เปิดประมูลจัดซื้อจัดจ้าง มีบริษัทเสนอตัวเข้ามาประมาณ 2-3 บริษัท จนในที่สุดก็มีบริษัทที่ยอมรับในตัวเลขงบประมาณนั้น”

– ปี 2562 วางคอนเซ็ปต์พาวิลเลียนไทย เริ่มก่อสร้างได้รวดเร็ว เป็นประเทศที่มีความพร้อมในลำดับต้นๆ จนถูกทางเจ้าภาพหยิบยกไปจัดทำคลิปวิดีโอพรีเซ้นต์อยู่บ่อยครั้ง

– ปี 2563 ประเทศเจ้าภาพติดต่อทุกประเทศ เลื่อนการเปิดมหกรรมโลกออกไป 1 ปี จากด้วยความกังวลสถานการณ์โควิด-19 ที่กำลังระบาดหนัก ‘ปลัด DES’ เผยอีกว่า การเลื่อนเปิดงานไป 1 ปี ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นเกือบ 50 ล้านบาท ในเรื่องค่ารักษาความปลอดภัย และค่าทำความสะอาดต่างๆ โดยเจ้าภาพจัดงานได้พยายามเจรจากับผู้รับเหมา ให้ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม

อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) ในฐานะ Commissioner General of Section for Thailand Pavilion

เลือกธีม ‘Mobility’ เพราะมองว่าประเทศไทย อยู่ระหว่างการขับเคลื่อนสู่อนาคต

นอกจากความยากเรื่องการบริหารงบประมาณที่มีจำกัด ให้เหมาะสมกับพื้นที่ก่อสร้างขนาดใหญ่และค่าวัสดุราคาแพงแล้ว สิ่งสำคัญไม่แพ้กัน นั่นคือ “เนื้อหาและแบรนด์ประเทศ” ที่จะสื่อสารต่อสายตาผู้คนทั้งโลก ‘ปลัด DES’ เล่าว่า ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการคนแรกของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นผู้เลือกธีมย่อย ‘Mobility’ เพราะมองว่าประเทศไทย อยู่ระหว่างการขับเคลื่อนสู่อนาคต จึงเลือกคอนเซ็ปนี้เพื่อนำเสนอประเทศไทยสู่สายตาชาวโลก ภายใต้การดูแลของกระทรวงดิจิทัลฯ

“ถ้าถามว่าทำไมเป็น Mobility เพราะว่าเรากำลังขับเคลื่อนประเทศ ตอนแรกเราจะเลือก Opportunity ดีมั้ย แต่คิดว่าการเป็นกระทรวงดิจิทัลฯ น่าจะเกี่ยวกับการทรานส์ฟอร์ม การขับเคลื่อนจะเหมาะสมกว่า”

ทั้งนี้ ต้องการสื่อสารให้เห็นว่า ประเทศไทยพัฒนามาจากความอุดมสมบูรณ์ มีระบอบพระมหากษัตริย์ มีความพร้อมในการพัฒนาประเทศ และมี Hospitality Minds ที่เป็นจุดแข็งของไทยมา 700 กว่าปี ประกอบกับปัจจุบันโครงสร้างดิจิทัลของประเทศก็พร้อมที่จะต่อยอดให้กับทุกๆ ธุรกิจ

“จากการศึกษามา พบว่าชาวตะวันออกกลาง ได้สนใจ Medical tourism ของไทย ซึ่งเราก็พยายามจะสื่อสารว่าในยุคใหม่ จะมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วย เพราะดูว่า Medical คือสิ่งที่คนที่นี่ประทับใจ”

สำหรับการออกแบบอาคารแสดงประเทศไทย (Thailand Pavilion) ได้นำเอาเสน่ห์ของคนไทย (Thai Hospitality) มาร้อยเรียงอยู่ในทุกองค์ประกอบ เพื่อสร้างความประทับใจให้กับผู้เข้าชมตั้งแต่แรกเห็นผ่านดอกไม้ไทย คือ ‘ดอกรัก’ ไม่ใช่ลายกนกอย่างที่หลายคนเข้าใจ ซึ่งเปรียบเสมือนการต้อนรับอันอบอุ่นจากคนไทย นอกจากนั้นยังเลือกใช้ “สีทอง” เป็นหลัก เพื่อสื่อถึงแผ่นดินสุวรรณภูมิ และยังเป็นสีที่ได้รับความนิยมในภูมิภาคตะวันออกกลาง

ภายในอาคารแสดงประเทศไทยแบ่งการนำเสนอออกเป็น 4 ห้องนิทรรศการหลัก โดยได้ร้อยเรียงเนื้อหาและนำเสนอความเป็นไทยในมิติต่าง ๆ ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี พร้อมการนำเสนอการพัฒนาประเทศตามแนวทางพระราชดำริของพระมหากษัตริย์ไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ด้วยวิธีเล่าเรื่องจากมาสคอต ‘รัก’ และ ‘มะลิ’

ห้องที่ 1: Thai Mobility ผ่านความงดงามของศิลปะไทย จัดแสดงในรูปแบบ Walkthrough Exhibition ผู้เข้าชมจะได้พบกับความงดงามตระการตาของเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์จำลอง และราชรถจำลอง ให้ความรู้เกี่ยวกับการเดินทางของคนไทยในอดีต

ห้องที่ 2: Mobility of Life น้ำขับเคลื่อนชีวิตไทย จัดแสดงในรูปแบบ Aquatic Performance สะท้อนภาพประวัติศาสตร์ สังคม ประเพณี วัฒนธรรม และวิถีชีวิตจากอดีต

ห้องที่ 3: Mobility of the Future นำเสนอภาพยนตร์แอนิเมชัน 360 องศา เพื่อแสดงภาพในอนาคตของประเทศไทยที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลผ่านเมืองอัจฉริยะ (Smart City) พร้อมผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีดิจิทัลในภูมิภาค

ห้องที่ 4: Heart of Mobility นำเสนอภาพยนตร์สั้น โดยใช้เทคนิค Pyramid Motion Picture บอกเล่าเรื่องราวเสน่ห์ของประเทศไทยในหลากหลายมิติ ที่สร้างความประทับใจให้ชาวต่างชาติเดินทางมาเยี่ยมเยือน ทำธุรกิจ หรือใช้ชีวิตในประเทศไทย

ไฮไลท์ของห้องสุดท้ายนี้คือมี วิลเลียม เอ็ลล์วู๊ด ไฮเน็ค ซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างทั่วไปว่า ‘บิล ไฮเน็ค’ นักธุรกิจสัญชาติไทยเชื้อสายอเมริกัน ผู้ก่อตั้ง เครือบริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ร่วมถ่ายทอดเรื่องราวความประทับใจและความภูมิใจต่อประเทศไทยอีกด้วย

อีกทั้ง ยังมีส่วนของร้านอาหารไทย ‘The Taste of Thai’ ให้ผู้เข้าชมงานได้ลิ้มรสความอร่อยของอาหารไทยแท้ โดยเพียงวันแรกมียอดขายทะลุ 4-5 ล้านบาท และร้านของที่ระลึก ‘Thai Souk’ ที่คัดสรรสินค้าดีมีคุณภาพจากประเทศไทยมาร่วมสร้างความประทับใจ

ส่วนบริเวณด้านหน้าอาคารมีเวทีกิจกรรมจัดแสดงศิลปวัฒนธรรมไทยร่วมสมัยหลากหลายชุดมาโชว์อย่างไม่ซ้ำกันทั้ง 7 วัน ภายใต้แนวคิด “Thai iconic: ความเป็นไทยสู่สายตานานาชาติ” รวมทั้งยังมีนิทรรศการ และกิจกรรมพิเศษต่าง ๆ จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนมาหมุนเวียนมาร่วมจัดแสดง ภายใต้แนวคิด The Best of Thailand เพื่อนำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดของประเทศไทย ที่แสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ และศักยภาพด้านต่างๆ ของประเทศไทยบนเวทีโลก

อย่างไรก็ดี ปลัด DES คาดหวังจะมีผู้เข้าชมศาลาไทยประมาณ 10% จากยอดผู้เข้าชมทั้งหมดตลอดการจัดมหกรรมโลก 6 เดือนเต็ม (ประเทศเจ้าภาพตั้งเป้า 25 ล้านครั้ง) พร้อมหวังว่าจะติด Top 10 พาวิลเลียน Popular ที่ถูกพูดถึงมากที่สุดให้ได้

โดยมั่นใจว่าผลลัพธ์ทางตรงในจำนวน 10% นี้ จะกลับไปเที่ยวเมืองไทยในช่วงไตรมาสแรกปีหน้า (2565) ส่วนทางอ้อม คาดหวังว่าจะเกิดการค้าการลงทุนระหว่างไทยและกลุ่มอาหรับมากขึ้น

สองสัปดาห์แรก เวลาทองพาวิลเลียนไทย พิสูจน์ศักยภาพดึงผู้ชมวัดผล KPI

ด้านผู้คว้าสิทธิ์บริหารอาคารศาลาไทย ‘เกรียงไกร กาญจนะโภคิน’ ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม กลุ่มบริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า พาวิลเลียนไทยมีเวลาแค่สองสัปดาห์แรกเท่านั้น ในการพิสูจน์ศักยภาพตัวเอง เขาจึงต้องศึกษาพฤติกรรมผู้ชมพร้อมกับนำกลยุทธ์ทางการตลาดมาประยุกต์ใช้ เพื่อเปิดแนวรบช่วงชิงผู้ชมให้ได้มากที่สุด และถูกพูดถึงมากที่สุด ภายใต้ความท้าทายรอบด้าน

“Consumer insight คือเขาต้องเช็กมาแล้ว ว่าอะไรที่ควรจะต้องเข้าชม เขาก็จะเลือกเข้ามาชมเลย ดังนั้น must visit pavilion เป็นสิ่งที่ผู้จัดจำเป็นต้องเร่ง Key success คือในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก จะต้องติดท็อปตั้งแต่ต้นให้ได้ ไม่เช่นนั้นก็จะพลาดโอกาสนี้ตลอดไป โดยผู้ชมจะต้องมีการถ่ายรูป แชร์ให้เยอะที่สุด และมีข่าวและมีการพูดถึงต่างๆ ที่คนรู้สึกว่าว้าวและอยากมาดูนั่นคือ กลยุทธ์ทางการตลาด”

“คุณมีเวลาแค่ 2 สัปดาห์แรกที่จะทำมันให้เกิดขึ้น ถ้าหลุดจากสองสัปดาห์นี้ไปแล้วเรียกว่าแทบจะไม่มีโอกาสเลย ที่จะกลับเข้ามาเป็นท็อป เพราะฉะนั้นเกมนี้มันเป็นเกมกลวิธีล้วนๆ” เกรียงไกร กล่าว

เวลาทองสองสัปดาห์แรก ปฏิเสธไม่ได้ว่าจำเป็นต้องตีฆ้องร้องป่าวงัดการแสดงซึ่งเป็นจุดแข็งของไทยมาสู้ เพราะเขารู้ดีว่าชื่อของพาวิลเลียนไทย ยังไม่ได้เป็นหมุดหมาย 20 จุดแรกที่คนต้องการเข้าชม

เกรียงไกร กาญจนะโภคิน ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม กลุ่มบริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน)

ด้วยพื้นที่ของมหกรรมโลกที่กว้างใหญ่ ราว 2,700 ไร่ กับผู้เข้าร่วม 192 ประเทศ/ดินแดน ‘เกรียงไกร’ ยอมรับว่าโจทย์ครั้งนี้ มีคู่แข่ง 10 จุดเด่นซึ่งเป็นแม่เหล็กดึงดูดคนแน่ๆ นั่นคือ ความแข็งแกร่งของพาวินเลียนประเทศเจ้าภาพอย่างยูเออี รวมทั้ง 3 ธีมย่อย และ Al Wasl Plaza จุดทำพิธีเปิดหัวใจสำคัญของงาน Expo 2020 Dubai ที่กลายเป็นโรงละครเชื่อมต่อเวทีกับหน้าจอฉายภาพ 360 องศาของโดม ซึ่งใหญ่ที่สุดในโลกที่ยูเออีทุ่มเทด้วยงบประมาณสูงสุด ยังไม่นับรวมประเทศบิ๊กเนม พื้นที่ขนาดใหญ่ไซส์ XL เช่น จีน เยอรมัน ซาอุดิอาระเบีย และเกาหลี

ขณะเดียวกันชื่อชั้นแบรนด์ของประเทศ โดยเฉพาะ ญี่ปุ่น รัสเซีย สเปน อิตาลี และกลุ่มอาหรับเพื่อนบ้านยูเออี โอมาน คูเวต กาต้าร์ ที่คนต้องเข้าชมแน่ๆ หากพิจารณาแล้วยังไม่นับว่าไทยจะอยู่ในลิสต์ 20 พาวินเลียนแรกเลย

ประกอบกับสภาพอากาศของดูไบอยู่ระหว่างเปลี่ยนฤดูกาลจากร้อนจัดไปสู่ฤดูหนาว ทำให้ที่นี่อุณหภูมิร้อนระอุทั้งวัน ผู้คนจะออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านในช่วงเย็น ช่วงเวลาที่จะดึงดูดผู้ชมได้จึงสั้นเข้าไปอีก

“ดังนั้น สิ่งที่มันเกิดขึ้นคือการแย่งผู้ชม ถ้าถามว่าศึกในการแย่งชิงผู้ชมนี้รบยากมั้ย เรารบยากแน่นอน เพราะว่า 10 พาวินเลียนที่ผู้คนต้องเข้าแน่ๆ มันครบไปแล้ว…..สนุกสุดคือ ช่วงชิงผู้ชมกับประเทศที่มีงบประมาณสูงกว่า ศักยภาพและแบรนด์ประเทศที่ดึงดูดมากกว่า เพราะฉะนั้นความสนุกก็คือจะทำยังไงให้ติดใน Top 10 Top 5 นั่นคือ ความท้าทายที่สุดใน limitation ที่มี เชื่อว่าตลอด 6 เดือนจากนี้ แต่ช่วงเวลาที่รบกันจริงๆ ช่วงเวลาทองคือ 2 สัปดาห์แรก ไม่เกิน 3 เดือน แต่มั่นใจว่าได้เตรียมตัวค่อนข้างดี”

ทั้งนี้ จำนวนประชากรของในดูไบเอง ก็มีความหลากหลายมาก คนท้องถิ่นมีเพียง 10 – 20% เท่านั้น ที่เหลือเป็นประชากรแฝงและนักท่องเที่ยว ทำให้เพิ่มความยากในการตีโจทย์เข้าไปอีก ‘เกรียงไกร’ เผยว่า ทีมงานได้สัมภาษณ์และสำรวจพฤติกรรมผู้คนตั้งแต่ก่อนเปิดพาวิลเลียน พบว่ากลุ่มคนอาหรับอยากกลับไปไทยอีก ส่วนคนที่ไม่เคยไปจะต้องหาโอกาสไปประเทศไทยให้ได้

เมื่อถามถึงกระแสดราม่าอาคารศาลาไทย ‘เกรียงไกร’ บอกว่าไม่อยากให้ตัดสินจากภายนอกเพียงแค่เห็นสีทอง หรือชุดไทยเท่านั้น แต่อยากให้มาสัมผัสพาวิลเลียนไทยด้วยตัวเองแล้วจะรู้ว่าข้างในถูกออกแบบให้ร่วมสมัย นำนวัตกรรมมาสอดแทรกเนื้อหาอีกมากมาย ซึ่งเขาใช้เวลานานกว่า 4 ปีในการศึกษาโปรเจคนี้

“คนที่ไม่เข้าใจ World Expo คนที่ไม่เคยมา จะเข้าใจว่าแข่งกันด้วย Architecture สถาปัตยกรรมล้ำๆ หรืออาคารรูปทรงแปลกตา ซึ่งผิดหมด โดยหนนี้เรียกว่าเป็นกับดักของคนที่ไม่เข้าใจ พอวันนี้ทุกคนจะโมเดิร์นหมด แต่ก็เข้าใจว่าพออยู่ในประเทศไทยก็จะโดนถ่มถุย เราเองต้องรู้ว่าเราอยู่ตรงไหน แม้ส่วนตัวจะชอบโมเดิร์นแต่ต้องแยกแยะว่า เวลาทำงานไม่ได้นำตัวเองมาทำ อีโก้ของเราคือต้องสำเร็จ KPI คือต้องสำเร็จ คนต้องมาชมเยอะ”

“สิ่งที่คนไทยเห็นอาจจะอี๋ ว่าเอาลิเกมารำ แต่สิ่งที่เราต้องการคือ Miracle of smile ซึ่งประเทศอื่นยังไม่มี ถามว่าสิ่งที่เราทำ เราทำให้ต่างชาติดู เขาเลือกที่จะถ่ายรูปแบบนี้ มากกว่าถ่ายรูปพาวิลเลียน ทั้งหมดนี้คือแผนและกลวิธีล้วนๆ เรามีโชว์หลากหลายมาก 7 วันไม่ซ้ำกัน แต่เราเลือกที่ให้เป็นโชว์ Traditional Thai เพื่อช่วงชิงพื้นที่สื่อท้องถิ่นในวันแรกๆ จากนั้นจะค่อยๆ เป็นศิลปะประยุกต์”

หากพิจารณาจาก KPI หวังยอดเข้าชมสะสม 7 วันแรก มีผู้เข้าชมราว 4.5 หมื่นคน ถือว่าทำได้ค่อนข้างดี ปรากฏบนสื่อโซเชียลท้องถิ่น แต่หากดูจากธีมงานแล้วก็ต้องยอมรับว่าพาวิลเลียนไทยคงหลีกหนีไม่พ้นที่จะโดนข้อกังขา ในการตอบโจทย์ที่จะพัฒนาประเทศไปในทิศทางไหนในอนาคต

ที่ผ่านมาสถิติความนิยมอาคารศาลาไทยใน World Expo ก็มีไม่น้อย

– ติดอันดับ Top 7 ของพาวิลเลียนยอดนิยม World Expo 2010 ที่เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน

– ติด Top 3 ของพาวิลเลียนยอดนิยม ศาลาไทยในงาน Yeosu Expo 2012 Korea ที่เมืองยอซู ประเทศเกาหลี

– ศาลาไทยทรงงอบในงาน Expo Milano 2015 ที่จัดขึ้น ณ เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี ถูกจัดเป็น 1 ใน 25 พาวิลเลียนน่าเข้าชม

– ศาลาไทยในงาน Astana Expo 2017 ณ กรุงอัสตานา ประเทศคาซัคสถาน คว้าที่ 2 พาวิลเลียนยอดนิยมที่ดีที่สุดของเด็กและครอบครัวจากชาวคาซัคฯ

ทั้งนี้ พาวิลเลียนไทยคงต้องพิสูจน์ตัวเองกันอีกหลายรอบ ทั้งสองสัปดาห์แรกว่าจะติดท็อปลิสต์พาวิลเลียนยอดนิยมหรือไม่ และเมื่อครบการจัดงาน 6 เดือนเต็มแล้วนั้น จะตอบโจทย์เป้าหมายของตัวเองที่คาดหวังว่าจะมียอดเข้าชมถึง 10% ของจำนวนผู้ชมงานทั้งหมด 25 ล้าน (เป้าหมายของประเทศเจ้าภาพ) ได้อย่างไร

สำคัญที่สุดคือ มากกว่าการรู้จักกัน สเตปแรกหลังจบมหกรรมโลกนี้ ต้องจับตาดูว่าพาวิลเลียนไทยจะแสดงศักยภาพสร้างมูลค่าให้ประเทศไทยได้มากน้อยแค่ไหน ทั้งจากการท่องเที่ยว และเทคโนโลยี เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ เกิดโอกาสการค้า การลงทุนระหว่างประเทศ การต่อยอดทางธุรกิจและอุตสาหกรรมใหม่ๆ กลับคืนสู่ประเทศได้

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า