SHARE

คัดลอกแล้ว

ในขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาทั่วโลกในวันนี้ (21 มี.ค.) เพิ่มขึ้นมากกว่า 275,000 คน และมีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 11,500 คน หลายประเทศก็ยังคงต้องต่อสู้กับการระบาดครั้งนี้อย่างหนัก ทั้งการปิดเมือง ปิดประเทศ การรณรงค์ให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้านเพื่อลดการระบาดและการแพร่เชื้อ

 

ยูวัล โนอาห์ แฮรารี นักประวัติศาสตร์ นักปรัชญา และนักเขียนเจ้าของหนังสือขายดีระดับโลกอย่าง “Sapiens”, “Homo Deus” และ “21 Lessons for the 21st Century” ได้เขียนบทความในหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ ที่แสดงความคิดเห็นถึงสถานการณ์ของการระบาดในปัจจุบัน โดยชี้ให้เห็นว่าหากทุกประเทศในโลกร่วมมือกันมีความเชื่อใจกัน และผู้นำประเทศต่างๆ แสดงบทบาทความเป็นผู้นำ และให้การช่วยเหลือชาติที่ได้รับผลกระทบมากกว่า เราก็จะสามารถเอาชนะเชื้อโรคได้

 

 

หลายคนกล่าวโทษโลกาภิวัตน์ว่าทำให้เกิดการระบาดของไวรัสโคโรนา และกล่าวว่าการป้องกันการแพร่ระบาดวิธีเดียวคือการทำให้โลกไม่เป็นโลกาภิวัตน์ ทั้งการสร้างกำแพง จำกัดการเดินทาง ลดการค้า อย่างไรก็ตาม แม้การกักตัวระยะสั้นมีความจำเป็นต่อการยับยั้งการระบาด แต่การโดดเดี่ยวในระยะยาวจะทำให้เศรษฐกิจล่มสลาย โดยไม่ได้เป็นการป้องกันโรคระบาดอย่างแท้จริง แต่ยาแก้โรคระบาดที่แท้จริงคือการร่วมมือกัน ไม่ใช่การกีดกัน

 

โรคระบาดคร่าชีวิตผู้คนหลายล้านก่อนยุคโลกาภิวัตน์ในปัจจุบัน แม้ในศตวรรษที่ 14 จะไม่มีเครื่องบินหรือเรือสำราญ แต่กาฬโรคที่แพร่ระบาดจากเอเชียตะวันออกไปยังยุโรปตะวันตกภายในระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งทศวรรษ ได้คร่าชีวิตผู้คนไปราว 75-200 ล้านคน หรือมากกว่า 1 ใน 4 ของประชากรในเขตยุโรปและตะวันออกใกล้ ส่วนในอังกฤษ ประชากร 4 ใน 10 เสียชีวิต ส่วนเมืองฟลอเรนซ์ในอิตาลี ประชาชนเสียชีวิต 50,000 จาก 100,000 คน

 

เดือนมีนาคม ปี 1520 นายฟรานซิสโก เด เอเกีย ซึ่งเป็นพาหะโรคฝีดาษ เดินทางถึงเม็กซิโก ในขณะนั้นอเมริกากลางไม่มีรถไฟ รถเมล์ หรือแม้แต่ลา แต่ภายในเดือนธันวาคม โรคฝีดาษระบาดทั่วอเมริกากลาง คาดว่ามีผู้เสียชีวิตถึง 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด

 

ปี 1918 ไข้หวัดสายพันธุ์รุนแรง ได้แพร่ไปไกลถึงพื้นที่ที่ห่างไกลที่สุดของโลกภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน มีผู้ติดเชื้อกว่าครึ่งล้านคน มากกว่า 1 ใน 4 ของประชากรมนุษย์ คาดว่าชาวอินเดียเสียชีวิตราวร้อยละ 5 ที่เกาะตาฮิติร้อยละ 14 และที่เกาะซามัว ร้อยละ 20 โรคระบาดได้คร่าชีวิตผู้คนหลายสิบล้านคน และอาจสูงถึง 100 ล้านคนภายในระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งปี มากกว่าผู้เสียชีวิตจากสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งสู้รบกันนานถึง 4 ปี

 

ในอีกหนึ่งศตวรรษต่อมานับตั้งแต่ปี 1918 มนุษยชาติเสี่ยงติดโรคระบาดมากขึ้น เนื่องจากประชากรเพิ่มขึ้น การขนส่งที่ดีขึ้น เมืองสมัยใหม่อย่างโตเกียวหรือเม็กซิโก ซิตี้ กลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคยิ่งกว่าเมืองในยุคกลางอย่างฟลอเรนซ์ เครือข่ายการขนส่งทั่วโลกในปัจจุบัน รวดเร็วกว่าปี 1918 เชื้อไวรัสสามารถเดินทางจากปารีสไปโตเกียวและเม็กซิโก ซิตี้ โดยใช้เวลาน้อยกว่า 24 ชั่วโมง

 

อย่างไรก็ตาม ทั้งสถานการณ์และผลกระทบของโรดระบาดได้ลดลงอย่างมาก แม้จะมีการแพร่ระบาดของเชื้อเอชไอวีและอีโบลา ส่วนในศตวรรษที่ 21 โรคระบาดคร่าชีวิตมนุษย์น้อยกว่ายุคใดๆ นับตั้งแต่ยุคหิน นั่นเพราะวิธีป้องกันเชื้อโรคที่ดีที่สุดของมนุษย์ไม่ใช่การโดดเดี่ยวตนเอง แต่คือข้อมูล มนุษยชาติมีชัยชนะเหนือเชื้อโรค เพราะในการต่อสู้ระหว่างเชื้อโรคและแพทย์ เชื้อโรคอาศัยเพียงการกลายพันธุ์ แต่แพทย์อาศัยวิทยาศาสตร์ในการวิเคราะห์ข้อมูล

 

ชัยชนะในสงครามต่อต้านเชื้อโรค

 

เมื่อกาฬโรคระบาดในศตวรรษที่ 14 ผู้คนไม่รู้สาเหตุของการระบาดหรือการรับมือ จนกระทั่งก่อนหน้ายุคสมัยใหม่ มนุษย์มักโทษโรคภัยว่าเกิดจากพระเจ้าพิโรธ ปิศาจร้าย หรืออากาศแย่ เพราะไม่รู้จักถึงการมีอยู่ของแบคทีเรียและไวรัส ผู้คนเชื่อว่าเทพยดาและและนางฟ้า แต่พวกเขาไม่เข้าใจว่าน้ำเพียหยดเดียวอาจเต็มไปด้วยเชื้อโรคร้าย ดังนั้นเมื่อกาฬโรคหรือโรคฝีดาษระบาด  สิ่งที่ดีที่สุดที่เจ้าหน้าบ้านเมืองจะทำได้คือการสวดอ้อนวอนต่อพระเจ้าและนักบุญ แต่มันแทบไม่ได้ช่วยอะไร เพราะการที่คนจำนวนมากมารวมตัวกัน ยิ่งก่อให้เกิดการติดเชื้อจำนวนมาก

 

คาดว่ามีผู้เสียชีวิตจากกาฬโรคในยุโรปและตะวันออกใกล้ ราว 75-200 ล้านคน

 

ในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ แพทย์ และพยาบาลทั่วโลกต่างรวบรวมข้อมูลและทำความเข้าใจกลไกเบื้องหลังการระบาด ทฤษฎีการวิวัฒนาการช่วยอธิบายว่าเหตุใดโรคใหม่จึงเกิดขึ้น และโรคเก่ากลับมารุนแรงได้อย่างไร ความรู้ด้านพันธุศาสตร์ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ได้เห็นการทำงานของเชื้อโรค ขณะที่ผู้คนยุคกลางไม่มีทางรู้ว่าอะไรคือสาเหตุของกาฬโรค แต่นักวิทยาศาสตร์ใช้เวลาเพียง 2 สัปดาห์ในการค้นพบไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ถอดรหัสจีโนม และพัฒนาการตรวจหาผู้ติดเชื้อที่เชื่อถือได้

 

เมื่อนักวิทยาศาสตร์เข้าใจสาเหตุที่ก่อให้เกิดการระบาด เราจึงต่อสู้กับมันได้ง่ายขึ้น ทั้งการผลิตวัคซีน ยาปฏิชีวนะ การปรับปรุงสุขอนามัย และโครงสร้างพื้นฐานด้านการแพทย์ที่ดีขึ้น ในปี 1967 มีผู้ติดเชื้อฝีดาษ กว่า 15 ล้านคน และเสียชีวิตกว่า 2 ล้านคน แต่ในทศวรรษต่อมา การรณรงค์ใช้วัคซีนโรคฝีดาษทั่วโลกประสบความสำเร็จ และเมื่อปี 1979 องค์การอนามัยโลกประกาศว่ามนุษยชาติเป็นฝ่ายชนะ และเชื้อฝีดาษถูกกำจัดไปจนหมดสิ้น ในปี 2009 ไม่พบว่ามีมนุษย์แม้แต่คนเดียวที่ติดเชื้อหรือเสียชีวิตเพราะฝีดาษ

 

การปกป้องพรมแดน

 

ประวัติศาสตร์ตรงนี้สอนอะไรเราบ้างเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าในปัจจุบัน?

 

สิ่งแรกคือ มันชี้ว่าเราไม่สามารถปกป้องตัวเองด้วยการปิดพรมแดนอย่างถาวร เพราะโรคระบาดแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วแม้แต่ในยุคกลาง ก่อนยุคโลกาภิวัตน์ แม้เราจะพยายามลดการติดต่อจากโลกภายนอกให้อยู่ในระดับเดียวกับอังกฤษในปี 1348 แต่นั่นอาจไม่เพียงพอ เพราะหากเราจะป้องกันตัวเองด้วยการโดดเดี่ยวตนเอง เราอาจต้องย้อนกลับไปยังยุคหินอย่างเต็มตัว

 

สองคือ ประวัติศาสตร์บ่งชี้ว่าการป้องกันอย่างแท้จริงมาจากการแบ่งปันข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือ และมาจากความน้ำหนึ่งใจเดียวกันทั่วโลก เมื่อประเทศหนึ่งถูกโจมตีด้วยโรคระบาด ประเทศนั้นควรเต็มใจที่จะเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการระบาดอย่างตรงไปตรงมา โดยไม่ต้องหวาดกลัวหายนะทางเศรษฐกิจ ส่วนประเทศอื่นๆ ควรเชื่อใจในข้อมูล และยินดีที่จะช่วยเหลือมากกว่ากีดกันชาติที่เผชิญโรคระบาด  ปัจจุบัน จีนสามารถสอนหลายบทเรียนสำคัญให้แก่ทั่วโลกเกี่ยวกับไวรัสโคโรนาได้ แต่ต้องอาศัยความเชื่อใจและความร่วมมือกันอย่างสูงในระดับนานาชาติ

 

ความร่วมมือกันระหว่างชาติต่างๆ ยังจำเป็นต้องอาศัยมาตรการกักตัวที่มีประสิทธิภาพ  การกักตัวและปิดเมืองมีส่วนสำคัญต่อการยับยั้งการแพร่กระจาย แต่เมื่อประเทศต่างๆ ไม่ไว้ใจกัน และต่างรู้สึกว่ากำลังต่อสู้เพียงลำพัง รัฐบาลก็อาจลังเลที่จะออกมาตรการที่เข้มงวด หากรัฐบาลพบผู้ป่วย 100 รายในประเทศ พวกเขาจะสั่งปิดทั้งเมืองและพื้นที่นั้นในทันทีหรือไม่? นั่นขึ้นอยู่กับว่าสิ่งใดที่เราคาดหวังจากประเทศอื่น การสั่งปิดเมืองหรือประเทศอาจนำไปสู่การล่มสลายทางเศรษฐกิจ แต่หากเราคิดว่าประเทศอื่นจเข้ามาช่วยเหลือ เราอาจจะใช้มาตรการดังกล่าวได้ แต่เมื่อคุณคิดว่าประเทศอื่นจะละทิ้งคุณ คุณก็อาจจะลังเลไปจนถึงจุดที่ทุกอย่างสายเกินไป

 

สิ่งสำคัญที่ผู้คนควรตระหนักถึงเกี่ยวกับการระบาดเช่นนี้คือ ไม่ว่าจะเกิดในประเทศไหนก็ล้วนแต่เป็นอันตรายต่อมนุษยชาติ เพราะไวรัสจะพัฒนาตลอดเวลา โดยไวรัสโคโรนามีต้นกำเนิดจากสัตว์อย่างค้างคาว เมื่อมันแพร่ไปยังมนุษย์ มันก็อาจปรับตัวไม่ได้ดีนัก แต่เมื่อมันกำลังเพิ่มจำนวนขึ้นในมนุษย์ ไวรัสก็เริ่มมีการกลายพันธุ์เป็นครั้งคราว แม้การกลายพันธุ์ส่วนใหญ่ไม่มีอันตราย แต่มันทำให้ไวรัสสามารถต้านระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ได้มากขึ้นเรื่อยๆ และไวรัสกลายพันธุ์เหล่านี้จะแพร่ขยายไปอย่างรวดเร็วในประชากรมนุษย์ คนคนหนึ่งอาจเป็นพาหะของไวรัสนับล้านล้านตัวที่กำลังเพิ่มจำนวนอยู่ตลอดเวลา คนที่ติดเชื้อทำให้ไวรัสนับล้านล้านตัว มีโอกาสในการที่จะปรับตัวให้เข้ากับร่างกายมนุษย์ได้มากขึ้น มนุษย์ที่เป็นพาหะก็เปรียบเสมือนเครื่องเล่นพนันที่แจกจ่ายตั๋วนับล้านใบให้ไวรัส เพื่อรอที่จะถูกรางวัลใหญ่

 

หนังสือ “Crisis in the Red Zone” หรือ “วิกฤตในแดนอันตราย” ของ “ริชาร์ด เพรสตัน” ได้อธิบายถึงห่วงโซ่ของการระบาดของเชื้ออีโบลา ในปี 2014 ที่เริ่มจากการแพร่จากค้างคาวสู่คน ไวรัสทำให้ผู้คนเจ็บป่วย แต่มันสามารถปรับตัวให้อยู่ในค้างคาวได้ดีกว่าในร่างกายมนุษย์ สิ่งที่เปลี่ยนอีโบลาจากโรคหายากให้กลายเป็นโรคระบาดคือ การกลายพันธุ์เพียงครั้งเดียวในยีนอีโบลาเพียงตัวเดียว ที่ติดไปยังมนุษย์เพียงคนเดียว ในแถบแอฟริกาตะวันตก ที่เรียกว่า “Makona Strain” ทำให้ร่างกายมนุษย์ดึงเอาเชื้ออีโบลาเข้าสู่เซลล์ แทนที่จะดึงคอเลสเตอรอล ทำให้ไวรัสติดต่อในมนุษย์ได้ง่ายขึ้นถึง 4 เท่า

 

ในขณะที่เรากำลังอ่านข้อความบรรทัดนี้ อาจมีการกลายพันธุ์ในลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นในยีนตัวหนึ่งของไวรัสโคโรนาในร่างกายของใครสักคนหนึ่งในกรุงเตหะราน เมืองมิลาน หรือเมืองอู่ฮั่น หากมันเกิดขึ้นจริง นี่จะไม่ใช่เพียงภัยคุกคามต่อคนชาติใดชาติหนึ่งเท่านั้น แต่รวมไปถึงชีวิตของเราด้วย ผู้คนทั่วโลกล้วนแบ่งปันความเป็นและความตายร่วมกันเพื่อไม่ให้ไวรัสโคโรน่าได้รับโอกาสนั้น นั่นหมายความว่าเราจำเป็นต้องปกป้องประชาชนทุกคนในทุกประเทศ

 

ในช่วงยุค 1970 มนุษยชาติสามารถเอาชนะไวรัสโรคฝีดาษได้เพราะผู้คนในทุกประเทศได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันฝีดาษ แต่หากมีเพียงประเทศเดียวที่ล้มเหลวในการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชน นั่นอาจหมายถึงอันตรายต่อมนุษยชาติทั้งหมด เพราะตราบใดที่ไวรัสฝีดาษยังคงอยู่ มันก็อาจแพร่กระจายได้อีกครั้งในทุกที่

 

การต่อสู้กับไวรัส มนุษย์จะต้องปกป้องพรมแดนอย่างระมัดระวัง แต่ไม่ใช่พรมแดนระหว่างประเทศ แต่เป็นพรมแดนระหว่างโลกของมนุษย์และของไวรัส โลกเป็นแหล่งอาศัยของไวรัสจำนวนมาก การกลายพันธุ์ของยีนทำให้เกิดไวรัสชนิดใหม่ตลอดเวลา เส้นแบ่งเขตที่แยกพื้นที่ของไวรัสกับโลกของมนุษย์นั้นอยู่ในร่างกายของมนุษย์ทุกคน หากไวรัสสามารถผ่านเส้นนี้ไปได้ไม่ว่าที่ไหนบนโลก มันจะทำให้มนุษย์ทั้งหมดตกอยู่ในอันตราย

 

ในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา มนุษยชาติได้เสริมสร้างปราการบริเวณเส้นพรมแดนนี้อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ระบบสาธารณสุขสมัยใหม่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นเสมือนกำแพงตามชายแดน ส่วนแพทย์ พยาบาล และนักวิทยาศาสตร์ เปรียบเสมือนยามที่คอยลาดตระเวนและขับไล่ผู้บุกรุก อย่างไรก็ตาม ยังมีแนวชายแดนอีกมากที่ไม่ได้รับการป้องกัน ยังคงมีผู้คนอีกหลายร้อยล้านทั่วโลกที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพขั้นพื้นฐาน เราคุ้นชินกับการคิดว่าเรื่องของสุขภาพเป็นเรื่องในระดับชาติ แต่การบริการด้านสุขภาพที่ดีขึ้นทั้งต่อชาวอิหร่านและชาวจีน ยังอาจช่วยป้องกันชาวอิสราเอลและชาวอเมริกันจากโรคระบาดด้วย แม้เราจะทราบความจริงข้อนี้ดี แต่กลุ่มคนที่มีความสำคัญที่สุดในโลกกลับมองไม่เห็นมัน

 

โลกที่ปราศจากผู้นำ

 

วันนี้มนุษยชาติกำลังเผชิญวิกฤตร้ายแรงหลายอย่าง ทั้งไวรัสโคโรนา และการขาดความเชื่อใจระหว่างมนุษย์ ดังนั้น ผู้คนต้องเชื่อใจผู้เชี่ยวชาญสายวิทยาศาสตร์ ประชาชนต้องเชื่อใจผู้มีอำนาจในรัฐบาล และเหล่าประเทศต้องเชื่อใจกันและกัน เพื่อที่จะเอาชนะโรคระบาด ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา บรรดานักการเมืองที่ขาดความรับผิดชอบได้ทำลายความเชื่อใจในข้อมูลวิทยาศาสตร์ อำนาจรัฐ และความร่วมมือระหว่างประเทศโดยเจตนา ทำให้เราต้องเผชิญวิกฤตโดยไร้ผู้นำโลกที่สร้างแรงบันดาลใจ ที่สามารถจัดการ และระดมเงินเพื่อหามาตรการแก้ไขในระดับโลกได้

 

 

.

ในการระบาดของเชื้ออีโบลาเมื่อปี 2014 สหรัฐฯ ทำหน้าที่ผู้นำในลักษณะดังกล่าว สหรัฐฯ ยังแสดงบทบาทที่คล้ายกันในช่วงวิกฤตการเงินโลกปี 2008 ด้วยการระดมความช่วยเหลือจากหลายประเทศ เพื่อร่วมป้องกันภาวะเศรษฐกิจล่มสลายทั่วโลก แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ ได้ยุติบทบาทการทำหน้าที่เป็นผู้นำโลก รัฐบาลสหรัฐฯ ยุคปัจจุบันได้ตัดความช่วยเหลือต่อองค์กรระหว่างประเทศ เช่น องค์การอนามัยโลก สหรัฐฯ แสดงเจตนาชัดเจนว่าตนไม่มีมิตรแท้อีกต่อไป มีเพียงผลประโยชน์เท่านั้น เมื่อเกิดวิกฤตไวรัสโคโรนา สหรัฐฯ ไม่แสดงบทบาทผู้นำ แม้ในปัจจุบัน สหรัฐฯ จะพยายามทวงความเป็นผู้นำ ความเชื่อใจในรัฐบาลสหรัฐฯ ชุดปัจจุบัน ได้สูญเสียไปจนแทบไม่มีประเทศไหนที่อยากจะปฏิบัติตาม คำถามคือ เราจะยอมเชื่อใจผู้นำที่มีคติพจน์ว่า “ฉันต้องมาก่อน” หรือไม่?

 

ไม่มีชาติใดอยากเติมเต็มช่องว่างที่สหรัฐฯ ทิ้งไว้ ในทางตรงกันข้าม ภาวะกลัวมนุษย์ แนวคิดโดดเดี่ยว และความไม่เชื่อใจ ได้กลายเป็นตัวกำหนดลักษณะของระบบระหว่างประเทศส่วนใหญ่ หากปราศจากความเชื่อใจและความเป็นหนึ่งเดียวกันของทั้งโลก เราก็ไม่อาจหยุดการระบาดของไวรัสโคโรนาได้ และมีแนวโน้มที่เราจะพบกับโรคระบาดอีกในอนาคต แต่ทุกๆ วิกฤตคือโอกาส และได้แต่หวังว่าการระบาดครั้งนี้จะช่วยให้มนุษย์ได้ตระหนักถึงอันตรายของความแตกแยก

 

การระบาดอาจเป็นโอกาสทองสำหรับสหภาพยุโรปเพื่อกอบกู้เสียงสนับสนุนที่หายไปในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา หากประเทศสมาชิกที่โชคดีกว่า เร่งให้การสนับสนุนเงิน อุปกรณ์ และบุคลากรการแพทย์ เพื่อช่วยเหลือประเทศสมาชิกที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก นี่จะช่วยพิสูจน์อุดมคติแบบยุโรปยิ่งกว่าสุนทรพจน์ใดๆ  นอกจากนั้น หากแต่ละประเทศถูกทิ้งให้ต้องปกป้องตนเอง การระบาดครั้งนี้อาจกลายเป็นลางร้ายของสหภาพยุโรป

 

ในห้วงเวลาของวิกฤตนี้ การต่อสู้ครั้งสำคัญเกิดขึ้นในหมู่มนุษยชาติ หากการระบาดครั้งนี้ส่งผลให้มนุษย์เกิดการแตกแยกและขาดความเชื่อใจกันยิ่งขึ้น นี่จะเป็นชัยชนะครั้งใหญ่ที่สุดของไวรัส เมื่อมนุษย์ทะเลาะกัน ไวรัสจะเพิ่มขึ้นสองเท่า ในทางกลับกัน หากการระบาดทำให้โลกกลับมาร่วมมือกันใกล้ชิดขึ้น มันจะไม่เป็นเพียงชัยชนะเหนือไวรัสเท่านั้น แต่ยังเป็นชัยชนะเหนือเชื้อโรคทั้งหมดในอนาคตด้วย

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า