การหยิบปากกาจรดกระดาษขีดเขียนข้อความดูไม่ใช่การกระทำที่ยิ่งใหญ่ แต่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เชื่อว่าการกระทำเล็ก ๆ นี้เปลี่ยนโลกได้
โครงการ “Write For Rights” แคมเปญเพื่อการ “เขียน เปลี่ยน โลก” เกิดมากจากการที่ แอมเนสตี้ ประเทศไทย เชิญชวนผู้สนับสนุนจากทั่วโลกเขียนจดหมายหลายล้านฉบับให้กับผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือครอบครัวโดยตรง เพื่อให้พวกเขารับรู้ว่าไม่ได้ต่อสู้เพียงลำพัง
ไผ่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน อดีตนักโทษคดี 112 เปิดเผยว่า การขีดเขียนของคนอื่น ช่วยต่อจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์ของเขาไว้ได้ หลังถูกคุมขังตลอด 2 ปี
“ตอนอยู่ในคุก บางครั้งก็รู้สึกสูญเสียความมั่นใจ สูญเสียความเป็นมนุษย์ไปอยู่บ้าง เพราะเราถูกกระทำจนเป็นเรื่องปกติทั้งที่ไม่ปกติ ถ้ารู้สึกด้านชาก็เป็นอะไรที่ไม่ควรจะเป็น แต่พอได้รับจดหมายก็ทำให้หัวใจชุ่มชื้นขึ้น จากที่หมดหวังก็มีหวังมากขึ้น ที่มนุษย์ในซีกโลกอื่นก็ยังเห็นด้วยกับเรา ยังสนับสนุนให้กำลังใจเรา เข้าใจเรา เพราะตอนนั้นสิ่งที่เราทำถูกมองว่าผิด คนที่เข้าไปอยู่ในคุกทุกคนถูกมองว่าผิด โดยที่ไม่มีใครมาชี้แจงว่าผิดเพราะอะไร ซึ่งไม่ยุติธรรม” ไผ่เผย
ไผ่ได้รับจดหมายจากโครงการ Write for Rights พร้อมเผยว่าจนถึงขณะนี้เขาก็ยังคงเก็บจดหมายเหล่านั้นอยู่่
“ได้รับจดหมายจากหลายที่ จากฝรั่งเศสทำแคมเปญมีรูปเราด้วย บางที่ก็เขียนมาเล่าสถานการณ์ที่นั้นให้ฟัง ทำให้เราคิด ณ ตอนนั้นได้ว่าความเป็นมนุษย์มีความเป็นสากล เราไม่รู้จักกัน แต่ในเมื่อเกิดความอยุติธรรมขึ้นกับมนุษย์คนหนึ่ง มนุษย์คนอื่น ๆ ในพื้นที่อื่นก็พร้อมที่จะสนับสนุน ให้กำลังใจ พร้อมที่จะปกป้อง ทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่ได้เดียวดายบนโลกใบนี้”
นอกจากการส่งข้อความเพื่อให้กำลังใจผู้ถูกละเมิดสิทธิแล้ว ผู้เข้าร่วมโครงการของแอมเนสตี้ยังเขียนจดหมายถึงผู้มีอำนาจ โดยพวกเขาเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ให้ยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนและนำความยุติธรรมมาสู่ผู้ได้รับผลกระทบ
“จดหมายจะสามารถเปลี่ยนทุกอย่างได้จริงเหรอ แน่นอนว่าไม่ใช่เขาคนเดียวที่โดนจับ มีคนอีกมากมายที่ถูกจับ บุคคลที่เราเลือกเพื่อเชิญชวนให้ผู้คนส่งจดหมายไปนั้น เพราะเห็นจะช่วยสร้างโดนิโนเอฟเฟกต์ (domino effect) ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปยังผู้ถูกกระทำคนอื่น ๆ ต่อไปได้” ที่ผ่านมา แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย มีแนวทางในการจัดการรณรงค์หลากหลายแบบ ทั้งจากข้างล่างขึ้นข้างบน และข้างบนลงข้างล่าง สำหรับวิธีการจากข้างล่างคือ การพยายามทำให้สังคมเห็นว่าทำไมเรื่องราวที่เกิดขึ้นจึงไม่ถูกต้อง ทั้งนี้ การรณรงค์ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ต้องเข้าถึงบุคคลที่มีอำนาจในการตัดสินใจ และที่สำคัญที่สุดคือ “ทุกอย่างมีกระบวนการ ไม่สามารถทำงานวันเดียวจบได้ แต่ต้องทำต่อไปเรื่อยๆ” เพชรรัตน์ ศักดิ์ศิริเวทย์กุล หัวหน้าฝ่ายรณรงค์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผย
นอกจากกิจกรรม Write For Right ยังมีกิจกรรม ปฏิบัติการณ์ด่วน (urgent action) เช่น หามีผู้ถูกจับกุมหรือลิดรอนเสรีภาพ จะมีการประกาศปฏิบัติการด่วนเพื่อเชิญชวนสมาชิกช่วยกันเขียนจดหมายไปกดดัน โดยตลอดทั้งปีมีปฏิบัติการนี้อย่างต่อเนื่องในประเด็นที่หลากหลาย
“ในฐานะที่เราเป็นมนุษย์ ความอยุติธรรมเกิดขึ้นกับเพื่อนมนุษย์ เราก็ควรจะออกมาทำอะไรสักอย่าง การเขียนก็เป็นการแสดงออกอีกช่องทางหนึ่ง อย่างน้อยการมีจิตใจเผื่อแพร่ เห็นความไม่ยุติธรรม อยากให้เพื่อนมนุษย์ได้รับความยุติธรรม การกระทำเป็นตัวช่วยการแสดงออกว่าเราคิดอย่างไร การเขียนก็เป็นการแสดงออกแบบหนึ่ง แสดงและยืนยันความเป็นมนุษย์อีกแบบหนึ่ง” จตุภัทร์ กล่าว
ขณะนี้มหกรรม “Write for Rights” หรือ “เขียน เปลี่ยน โลก” ของแอมเนสตี้กลับมาอีกครั้ง สำหรับผู้ให้ความสนใจร่วมกิจกรรมได้ที่เว็บไซต์