ครบรอบ 2 ปี การรัฐประหารในเมียนมา จากอนาคตสดใส สู่ประเทศที่มีวิกฤติรอบด้าน ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง จนลุกลามมายังไทยและประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน แต่สิ่งสำคัญที่กำลังจะเกิดขึ้นจากรัฐบาลทหารเมียนมา คือการประกาศจัดการเลือกตั้งทั่วไปในปีนี้
.
จอมพล ดาวสุโข บรรณาธิการข่าวต่างประเทศ สำนักข่าว TODAY สรุปสถานการณ์รัฐประหารเมียนมาสู่การเลือกตั้งโดยรัฐบาลทหาร ผ่านรายการ WORLD WHY อธิบายสถานการณ์โลก
สถานการณ์รัฐบาลทหารปีที่ผ่านมา
.
เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ศาลทหารของเมียนมาตัดสินคดีสุดท้ายของนางอองซาน ซูจี มีโทษจำคุกรวมทั้งสิ้น 33 ปี และยังมีเหตุเชื่อมโยงรัฐบาลทหารเมียนมากับไทย อย่างกรณีเครื่องบินรบเมียนมาล้ำเข้าน่านฟ้าไทยที่จังหวัดตาก เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว รวมถึง ทุนมินลัต นักธุรกิจเมียนมาที่ถูกจับข้อหายาเสพติด ฟอกเงิน และอาชญากรรมข้ามชาติ มีเครือข่ายเชื่อมโยงลูกของพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย กับสมาชิกวุฒิสภาไทย
.
จุดเปลี่ยน สัญญาณสู่การเลือกตั้ง
.
รัฐประหารโดยพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ที่ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญที่ร่างเมื่อปี 2008 ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในประเทศเป็นเวลา 1 ปี และมีการต่ออายุทุก ๆ 6 เดือนอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่ใช้อยู่กำลังหมดอายุลง และรัฐบาลทหารเมียนมาไม่ต่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงต้องจัดให้มีการเลือกตั้งภายใน 6 เดือนนับจากนี้ ซึ่งจะตรงกับช่วงปลายเดือนกรกฎาคม หรือประมาณเดือนสิงหาคม อย่างไรก็ตาม รัฐบาลทหารเมียนมาประกาศล่าสุดว่า จะขยายประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปอีก 6 เดือน
ตรายางรับรองสืบทอดอำนาจ ?
.
พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ย้ำถึงการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นว่าจะเป็นไปอย่างโปร่งใสและยุติธรรม พร้อมโน้มน้าวพรรคการเมือง รวมถึงบรรดากลุ่มชาติพันธุ์ ให้ลงสนามเลือกตั้งครั้งนี้ แต่หากมองดูการเตรียมการเลือกตั้งของรัฐบาลทหารเมียนมาจะพบว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ อาจเป็นการเลือกตั้งจอมปลอม ที่ตัดสิทธิ์ทุกฝ่ายให้เหลือผู้เล่นคือฝ่ายสืบทอดอำนาจจากรัฐบาลทหารลงสนามเท่านั้น
.
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา รัฐบาลทหารเมียนมาบังคับใช้กฎหมายจดทะเบียนพรรคการเมือง ผู้ติดตามสถานการณ์ในเมียนมาชี้ว่า ตามข้อกำหนดกฎหมายฉบับนี้ มีเพียง 2 พรรคที่ทำได้ คือพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา(USDP) ซึ่งเป็นพรรคสืบทอดอำนาจของฝ่ายทหาร กับพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย(NLD) ของนางอองซาน ซูจี ซึ่งประกาศไม่ร่วมการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะถึงร่วม รัฐบาลทหารอาจเชื่อมโยงพรรค NLD กับเครือข่ายต่อต้านการรัฐประหาร และชี้ว่าเป็นกลุ่มก่อการร้าย จนนำไปสู่การยุบพรรคได้ ดังนั้นพรรคการเมืองขนาดเล็ก หรือพรรคของกลุ่มชาติพันธุ์ อาจลงเลือกตั้งได้เฉพาะสนามในระดับท้องถิ่นเท่านั้น ไม่สามารถลงสนามการเมืองระดับชาติได้
.
ความเคลื่อนไหวในเวทีโลก
.
หน่วยงานสิทธิมนุษยชน Fortify Rights ร่วมมือกับชาวเมียนมา 16 คน ฟ้องนายพลเมียนมา คดีอาญาในเยอรมนี ตามหลักเขตอำนาจศาลสากล ในกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวมุสลิมโรฮิงญาและการก่ออาชญากรรมร้ายแรงต่อประชาชน ตลอด 2 ปีของการรัฐประหาร ส่วนอินโดนีเซียที่มีท่าทีแข็งกร้าวต่อการรัฐประหารเมียนมามาอย่างต่อเนื่อง ในฐานะประธานอาเซียนปีนี้ ได้ประกาศจัดตั้งสำนักงานผู้แทนพิเศษเพื่อประสานงานเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมาโดยเฉพาะ ส่วนรัฐบาลทหารเมียนมาได้พยายามเป็นพันธมิตรกับรัสเซีย ที่กำลังก่อสงครามยูเครนในขณะนี้
.
ท่าทีของรัฐบาลทหารเมียนมาในเวทีโลกจะเป็นอย่างไร ฟังสรุปเรื่องราวแบบเต็ม ๆ ได้ทางรายการ WORLD WHY จากสำนักข่าว TODAY ดูคลิป: