องค์กรสิทธิแสดงความกังวลกรณีเด็กหญิงอายุ 15 ปีถูกคุมขังก่อนการพิจารณาคดีในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์
วันที่ 29 มีนาคม 2566 ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางอนุมัติฝากขัง ‘หยก’ นักกิจกรรมวัย 15 ปี จากการจับกุมตามข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ถูกร้องทุกข์กล่าวโทษโดย นายอานนท์ กลิ่นแก้ว ประธานศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.)
วันที่ 28 มีนาคม 2566 ขณะมีการพ่นสเปรย์ที่กำแพงพระบรมมหาราชวังโดยนักกิจกรรมรายหนึ่งจนถูกจับกุม หยกเดินทางไปที่ สน.พระราชวัง เพื่อติดตามนักกิจกรรมรายดังกล่าว ต่อมาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวโดยสันนิษฐานว่าอาจเป็นผู้กระทำผิดร่วมกัน ต่อมาเจ้าหน้าที่จึงแจ้งว่าเป็นการจับกุมตามหมายจับม.112 ที่ออกเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 จากการเข้าร่วมการชุมนุมเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2565
ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนอ้างว่าก่อนปรากฎหมายจับดังกล่าวเธอได้รับหมายเรียกและมีการติดต่อเพื่อขอเลื่อนรายงานตัวแล้วเนื่องอย่างอยู่ในช่วงสอบ โดยร้องขอเจ้าหน้าที่ตำรวจสน.สำราญราษฎรณ์เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อขอเลื่อนการรายงานตัวเป็นวันที่ 9 เมษายน 2566 แต่กลับมีการขอหมายจับ
ระหว่างการจับกุมนี้ หยก อ้างว่าเธอถูกคุกคามทางเพศจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ กล่าวว่าเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมนั่งทับตัวเธอและล้วงเข้าไปบริเวณหน้าอกและขา เธอร้องขอให้ทนายความแจ้งความเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดดังกล่าวจำนวน 8 รายในเวลาต่อมา
วันต่อมาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางอนุมัติให้ควบคุมตัวเธอไว้ที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนหญิงบ้านปรานี จังหวัดนครปฐม
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล : ทางการไทยยังคงพุ่งเป้าโจมตีเด็ก
ชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นเครื่องย้ำเตือนอันน่าสะเทือนใจอีกครั้งหนึ่งว่า ทางการไทยยังคงพุ่งเป้าโจมตีเด็กโดยการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์เพื่อปราบปรามการแสดงความเห็นต่างโดยสงบ นอกจากนั้น ภายในเดือนมีนาคมเพียงแค่เดือนเดียว มีการพิพากษาตัดสินลงโทษผู้ชุมนุมประท้วงอย่างน้อย 4 คน อีกทั้งยังมีการตั้งข้อกล่าวหาและการสั่งฟ้องในอีกหลายคดีภายใต้ข้อหานี้
“คดีต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้สะท้อนให้เห็นการหดตัวลงอย่างน่าตกใจของพื้นที่พลเมืองสำหรับประชาชนหลายล้านคนในประเทศไทย โดยที่ทางการยังคงปฏิเสธที่จะยอมรับการแสดงความเห็นต่างโดยสงบมากขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ผู้ชุมนุมประท้วงโดยสงบหลายคนถูกพิพากษาตัดสินว่ามีความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ เพียงเพราะการใช้สิทธิในเสรีภาพในการแสดงออกผ่านการโพสต์ข้อความทางออนไลน์ การเข้าร่วมงานแฟชั่นที่จัดขึ้นเพื่อล้อเลียน และเมื่อเร็วๆ นี้ ในการขายปฏิทินออนไลน์ซึ่งมีภาพวาดเป็ดเหลือง อันเป็นสัญลักษณ์ของขบวนการชุมนุมประท้วง
“ทางการไทยต้องยกเลิกการดำเนินคดีต่อบุคคลในทุกข้อหา ซึ่งเป็นการใช้กฎหมายที่มีเนื้อหาไม่สอดคล้องกับกฎหมายและมาตรฐานระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน และต้องงดเว้นจากการจับกุมและควบคุมตัวผู้ชุมนุมประท้วงโดยสงบก่อนการพิจารณาคดีด้วย”
นับตั้งแต่เริ่มมีการชุมนุมประท้วงทั่วประเทศในประเทศไทยเมื่อปี 2563 มีบุคคลอย่างน้อย 1,895 คนที่ถูกดำเนินคดีอาญาในข้อหาต่างๆ จากการมีส่วนร่วมในการชุมนุมประท้วง โดยตามข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในบรรดาบุคคลเหล่านี้ มีอย่างน้อย 237 คนที่ถูกดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ รวมทั้งเด็ก18 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 27 มีนาคม 2566)