SHARE

คัดลอกแล้ว

หลายคนอาจไม่เชื่อว่าร้านขนมไทย ‘หยกสด’ ที่เราเห็นกันหลายสาขาในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เริ่มต้นมาจาก ‘ความอยากกินแต่หาซื้อไม่ได้’ ของเจ้าของธุรกิจ ‘จ๊าก-มหศักย์ สุรกิจบวร’ ตั้งแต่ตอนที่เขาเพิ่งจะลาสิกขาออกมา จนเกิดเป็นร้านขนมไทยที่ทำรายได้ประมาณ 121 ล้านบาท และมีกำไรเกือบ 20 ล้านบาท (จากข้อมูล Creden data) ในปี 2566

[ ขายดีตั้งแต่วันแรก ทะลุ 100 กล่อง ]

ย้อนไปเมื่อ 7 ปีก่อนตอนที่ยังไม่มี ‘หยกสด’ อย่างทุกวันนี้ จ๊าก-มหศักย์ มีช่วงเวลาที่พยายามฝึกทำขนมเปียกปูนตามแบบที่เขาชอบ หลังจากที่พยายามหาซื้อมานานแต่ก็ไม่ได้รสชาติที่ต้องการ จนวันที่เขามั่นใจว่าทำอร่อยและเปิดขายพรีออเดอร์ บวกกับไปวางขายตามคอมมูนิตี้ช่วงเสาร์-อาทิตย์

ปรากฎว่า กระแสตอบรับค่อนข้างดี คนให้ความสนใจ ซึ่งช่วงวันแรกๆ เขาขายได้ประมาณ 100 กล่อง รายได้ต่อวันในช่วงนั้นก็ประมาณแบงค์พัน 3-4 ใบ จ๊าก-มหศักย์ เล่าว่า “ตอนนั้นรู้สึกว่าเราขายได้เยอะมากๆ เพราะไม่เคยจับเงินเยอะขนาดนี้ภายในวันเดียว”

“เแล้วราก็เริ่มคิดไกลขึ้นว่า ทำเลที่มีคนเเดินยอะขึ้นเราก็จะขายดีขึ้นกว่าเดิม และทำเป็นธุรกิจที่เลี้ยงตัวเองได้ ”

“สิ่งที่คิดตอนนั้นก็คือ เราต้องไปที่คนอยู่เยอะๆ ผมเริ่มมองไปที่ห้างสรรพสินค้า เช่น เซนทรัลปิ่นเกล้า, เดอะมอลล์บางแค และก็เพิ่มรสชาติให้หลากหลายขึ้น ทำให้สินค้าดูมีกิมมิคมากขึ้น เช่น ขนมเปียกปูนรสใบเตย กับรสกาบมะพร้าวเผา ซึ่งเป็น 2 รสชาติที่ขายดีที่สุดเวลานั้น”

แม้ว่าเส้นทางธุรกิจของ จ๊าก-มหศักย์ จะดูดีเติบโตขึ้นเรื่อยๆ แต่เขาเล่าว่า ในระหว่างนั้นก็มีช่วงที่ยอดขายไม่ดี ไม่เป็นไปตามเป้าที่คิดไว้ และก็มีเปลี่ยนทำเลไปเรื่อยๆ อาจเพราะตอนนั้นยังตกผลึกไม่สมบูรณ์ว่าปัจจัยยอดขายตกไม่ใช่แค่ทำเลเพียงอย่างเดียว

[ เลือกทำสิ่งที่ถนัด และยังไม่มีเจ้าตลาด ]

พอยอดขายไม่เป็นไปตามเป้า เขาพยายามวิเคราะห์เหตุและผลสิ่งที่เกิดขึ้น จนกระทั่งได้คำตอบก็คือ ลูกค้าน่าจะชอบใบเตยมากที่สุด เพราะเป็นรสชาติที่ขายดีที่สุด และก็เป็นสิ่งที่เขาถนัดมากที่สุด บวกกับตอนนั้นยังไม่มีเจ้าตลาดที่ทำเฉพาะ ‘ขนมใบเตย’

“เราตกผลึกได้ว่าเราทำใบเตยได้ดี และก็ยังไม่มีเจ้าตลาดเจ้าไหนที่คนนึกถึงถ้าเป็นขนมใบเตย และใบเตยก็ค่อนข้างเป็นอะไรที่คนคิดบวกกับมัน และเหมาะกับขนมไทยด้วย จึงกลับมาที่จุดเริ่มต้นว่าเราเริ่มทำธุรกิจเพราะอะไร คำตอบก็คือ ขนมที่อยากกิน แต่ไม่รู้จัก และหาซื้อไม่ได้”

โดยสิ่งที่เจ้าของหยกสดทำก็คือ 

1.เปลี่ยนคอนเซปต์ธุรกิจ คือขายขนมทุกอย่างที่ทำมาจากใบเตย

2.เปลี่ยนทำเลขาย

สิ่งหนึ่งที่ จ๊าก-มหศักย์ ย้ำตลอดที่สัมภาษณ์กับ TODAY Bizview ก็คือ “เราไม่กล้าคิดไกลขนาดนั้น ขอแค่ให้รอดก่อน อยากให้ค่อยเป็นค่อยไป”

ดังนั้น จากที่เขาวางคอนเซปต์ใหม่ทั้งหมด ไม่เน้นกิมมิคที่หลากหลาย แต่ขนมทุกอย่างที่จะขายจะทำมาจากใบเตยทั้งหมด ซึ่งหลังจากที่ปรับตัวและยึดโมเดลนี้เป็นหลักเขาเริ่มออกขายเป็นบูธ ทำวนอยู่แบบนั้นเกือบ 1 ปี

จนกระทั่งเขาเริ่มคิดเรื่องการเปิดร้านประจำ โดยเริ่มจากที่สำนักงานออฟฟิศเดอะไนน์ เพื่อให้ลูกค้าสามารถสั่งเดลิเวอรี่ได้ เพราะเขาไม่ต้องการให้ลูกค้าลำบากเกินไป ต้องยอมรับว่าอุปสรรคและความยากลำบากในการสั่ง หรือการหาซื้อสินค้า ล้วนมีผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคยุคนี้มากๆ

[ ทำธุรกิจ 7 ปี ขยายร้าน 25 สาขา ]

เส้นทางการทำธุรกิจของหยกสดเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ยังพอมีเวลาหรือช่องว่างในเรียนรู้ ปรับตัว อยู่บ้างในมุมมองของ จ๊าก-มหศักย์ ซึ่งเขามองว่า การทำธุรกิจหรือการวางกลยุทธ์สำหรับตัวเขาเอง อาจจะไม่ได้ดูภาพใหญ่อะไรขนาดนั้น เขาเลือกที่จะมองจากภาพเล็กๆ แล้วนำมาขยายต่อ ไม่มีการวางมาสเตอร์แพลนไว้ชัดเจน แต่เป็นการทำธุรกิจที่เกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป พัฒนาจากสิ่งที่มีอยู่แล้ว

ปัจจุบันร้านหยกสดมีทั้งหมด 25 สาขา ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยภายในร้านมีสินค้าประมาณ 19 ตัวที่เป็นเมนูประจำ เมื่อเราถามเขาว่า ‘ฮีโร่โปรดักส์’ ของหยกสดคืออะไร จากจุดเริ่มต้นวันแรกๆ ที่เขาเริ่มทำ ‘ขนมเปียกปูน’

“สำหรับหยกสด เราจะเน้นที่การขายแบรนด์ ปั้นแบรนด์ มากกว่าขายตัวสินค้าโดยเฉพาะ เพราะการสร้างแบรนด์ให้ชัดเจนอาจจะดูยั่งยืนมากกว่า”

การตั้งราคาของร้านหยกสดจะมีหลายปัจจัย คือคนทานขนมก็ต้องรู้สึกว่าโอเค เขาสามารถจ่ายในราคานี้ได้ และถามว่าตอนนี้มีคู่แข่งที่เป็นขนมใบเตยตรงๆ ไหม ก็ยังไม่มีในตลาด เพียงแต่ว่า แต่ละรายที่อยู่ในตลาดก็จะมีกิมมิคน่าสนใจแตกต่างกัน”

สำหรับ จ๊าก-มหศักย์ กล่าวว่า ตอนนี้ตลาดขนมไทยมีการแข่งขันคือลูกค้ามีตัวเลือกเยอะขึ้น แต่ไม่ได้แข่งกันดุเดือด เลือดสาดขนาดนั้น เพราะเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีฐานลูกค้าค่อนข้างกว้าง ไม่เจาะจงวัย เพศ หรืออื่นๆ 

“สินค้าขนมไทยยังมีโอกาสอีกมาก ถ้าเราทำดี รสชาติอร่อย มีกิมมิค ทุกเจนก็น่าจะเปิดรับอยู่แล้ว ยิ่งเป็นขนมไทยด้วย ถือว่าซื้อง่ายขายคล่องระดับหนึ่ง”

[ ปี 68 อยากทำธุรกิจด้วยความเร็วกำลังดี มีเวลาให้แก้ไข ]

การเติบโตของร้านหยกสดจะว่าเร็วก็เร็ว แต่ถ้ามองว่าช้าก็ไม่แปลก เพราะเจ้าของะุรกิจเขาเชื่อว่า อยากจะทำธุรกิจที่ความเร็วกำลังพอเหมาะไม่ช้าไม่เร็วเกินไป ซึ่งปี 2568 ก็ยังจะเป็นปีแห่งความเร็วปานกลางอยู่ดี

จ๊าก-มหศักย์ อธิบายเพิ่มว่า การที่เราทำธุรกิจแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่รีบจนเกินไป ค่อยๆ ปรับตัว ค่อยๆ ศึกษา เป็นความเร็วที่กำลังดี ยังเรียนรู้ และแก้ไขทัน

ตีความหมายง่ายๆ ก็คือ เป็นการเติบโตที่ยังไหวตัวทัน ถ้าวันหนึ่งธุรกิจจะไปไม่รอด หรือถ้าธุรกิจปังมากๆ อย่างน้อยก็ยังพอมีเวลาให้ศึกษาตัวอย่างความสำเร็จ ไม่ใช่ทุกอย่างต้องรีบไปหมด จนเราเองก็ตามไม่ทัน

“ถ้าเราค่อยๆ ไป เราก็จะค่อยๆ มองเห็น และปรับตัวตามได้ทัน บางทีแพลนเยอะมากๆ มันก็ไม่เหมาะกับธุรกิจแบบของเรา แต่ระหว่างนั้นก็มีการ revise ทุกเดือนอยู่แล้ว”

[ ลงมือทำเลย = ทางที่เร็วที่สุด ]

จะเคล็ดลับ ตำรา หรือ กลเม็ด ไม่ว่าจะพูดคำไหนก็ตามแต่ สำหรับ จ๊าก-มหศักย์ แทบไม่มีแผนอันไหนที่จะดีที่สุดเท่า ‘การลงมือทำเลย’ เขามองว่ามันเป็นวิธีที่เร็วที่สุดที่เราจะเรียนรู้ เข้าใจ และศึกษาจริง ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริง

แต่อย่างน้อยๆ ต้องประเมินเพราะแต่ละคนมีความเสี่ยงไม่เหมือนกัน คือถ้าพลาดแล้วล้มเลยก็อาจจะไม่น่าทำ แต่ถ้าพลาดแล้วยังไปต่อไหว ทำสิ่งใหม่ได้ การที่คิดแล้วไม่ลงมือทำต่างหากที่น่าเสียดาย

จากสิ่งที่เราได้พูดคุยกับเจ้าของธุรกิจหยกสด มีหลายมุมมองที่คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ หรือคนที่อยากทำธุรกิจ โดยเฉพาะ beginners อยู่เพิ่งจะเริ่มๆ โดยสรุปเป็นสาระน่าสนใจ ดังนี้

– การคิดไอเดียธุรกิจอาจจะเกิดขึ้นจากสิ่งใกล้ตัว จากความสงสัยของตัวเองได้

– ความอดทนและความพยายาม ยังเป็นสูตรสำเร็จของนักธุรกิจเสมอ

– การเรียนรู้และค้นหาสิ่งที่ตัวเองถนัดที่สุด จำเป็นต่อความอยู่รอดของธุรกิจ

– กลยุทธ์ธุรกิจของเราอาจแตกต่างจากคนอื่น แต่ไม่ได้หมายความว่า มันเป็นวิธีที่ผิด

– เรียนรู้ แก้ไข ปรับตัวให้ไวที่สุด คือหนึ่งในกุญแจสำคัญของความสำเร็จ

– จังหวะและความเร็วในการขยายธุรกิจสำคัญเสมอ

– การลงมือทำเป็นทางออก และเป็นวิธีทำที่เร็วที่สุดในการทำธุรกิจ

นอกจากนี้ จ๊าก-มหศักย์ ได้พูด ‘loyalty’ หนึ่งในเรื่องที่นักธุรกิจกังวลมากที่สุด เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยน โอกาส และความท้าทายมีมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เขามองว่า loyalty เป็นโอกาสสำหรับธุรกิจยุคใหม่ เพราะนั่นหมายถึงการเปิดใจ การยอมรับสิ่งใหม่ๆ ของผู้บริโภค ซึ่งธุรกิจเก่าๆ ก็ต้องปรับตัวเช่นกัน

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า