SHARE

คัดลอกแล้ว

จากหน้าจอทีวี สายตาของผู้ชมย้ายสู่หน้าจอสมาร์ทโฟนและแท็บแล็ต ข่าวการคืนช่องทีวีดิจิทัลมากมายแม้จะเป็นเรื่องที่ใจหาย แต่ก็ดูจะยอมรับได้ในแง่เหตุผล ว่ามันไม่สามารถทำเงินสู้ช่องทางออนไลน์บนแพล็ตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่มีผู้ใช้งานอยู่ทั่วทุกมุมโลกได้อีกแล้ว

จากผังรายการ สู่เพลย์ลิสต์บนแชนแนลยูทูบ หรือไทม์ไลน์เฟซบุ๊กที่ช่วงเวลาและความสร้างสรรค์กว้างใหญ่ขึ้นไม่สิ้นสุด ความน่าสนใจหนึ่งคือเรื่องของรูปแบบการนำเสนอที่เปลี่ยนไป ปัจจุบันมีรายการบนช่องทางยูทูบมากมาย คนดังหลายต่อหลายคนก็หันมาเป็นยูทูบเบอร์เสียเอง ขณะที่เรื่องของคอนเท็นต์ก็มีหลากหลาย บางแชนแนลเป็นรูปแบบของการลงทุนทำโปรดักชันรายการไปเลย

ฟรีสไตล์มากขึ้น ใช้คำหยาบคายได้มากขึ้นโดยไม่ผิดกฎหมายใดๆ บางแชนแนลนำเสนอผ่านรูปแบบ Vlog หรือคลิปไลฟ์สไตล์ตามติดชีวิตประจำวัน บ้างเป็นคลิปสอนต่างๆ เช่น แต่งหน้า เล่นเกม ฯลฯ หรือเป็นคลิปที่เจ้าของแชนแนลพาตัวเองเข้าไปในสถานการณ์ต่างๆ เพื่อทดลองสิ่งใหม่ๆ ให้ผู้ติดตามได้ร่วมลุ้นไปเรื่อย เช่น ลองชิมร้านเด็ด หรือทดลองเปิดกลุ่มสุ่ม ซึ่งส่วนใหญ่หนึ่งคลิปจะมีความยาวราว 15-20 นาที ไม่เกิน 30 นาที ตอบสนองไลฟ์สไตล์คนดูยุคใหม่ที่เสพอะไรที่สั้นขึ้น แต่ต้องการความครบถ้วนทั้งในแง่ของเนื้อหาและอารมณ์ร่วม

ซึ่งนอกจากแพล็ตฟอร์มออนไลน์จะเป็นโอกาสใหม่สำหรับสื่อหรือคนดังที่มีพื้นที่สื่อในมือมาก่อนแล้ว มันยังเปิดโอกาสให้กับคนทั่วไป สามารถก้าวเข้ามาเป็นผู้ถือครองคอนเทนต์และสร้างชื่อเสียง ความสำเร็จ ตลอดจนเงินทอง ได้อย่างไม่นึกไม่ฝันด้วย

ลองคิดดูง่ายๆ ปัจจุบันโมเดลธุรกิจยูทูบ ทำให้การหารายได้เป็นเรื่องง่ายมาก และเรียกว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว โดย 1. ยูทูบจะแบ่งเงินให้ยูทูบเบอร์ที่เป็นพาร์ทเนอร์กันผ่านระบบการแทรกโฆษณาลงไปในคลิป 2. ยอดวิวของแต่ละคลิป และ 3. หากยูทูบเบอร์มีสินค้าหรือบริการเข้ามาให้ไท-อิน รับเชิญไปงานอีเวนท์ ก็สามารถรับเงินจากผู้จ้างได้อีกต่อ หรือบางช่องก็เปิดช่องทางรับบริจาคเงินสนับสนุนทำคลิปจากผู้ชมอย่างเป็นทางการด้วย

จาก Nobody เป็น Someone

กระแสยูทูบเบอร์ในไทยพูดถึงก็น่าจะเริ่มมาราวสอง-สามปีที่ผ่านมานี้เอง คนแรกๆ ที่เรานึกถึงและขอใช้คำว่า Break internet ในยุคที่เขาเริ่มโด่งดัง ก็น่าจะเป็น Kayavine หรือ เค เลิศสิทธิชัย หนุ่มตี๋นักเรียนนอกวัย 22 ปี ซึ่งแน่นอนว่านอกจากหน้าตาที่ทำให้สาวไทยต้องรีบค้นหาว่าเขาเป็นใครมาจากไหน คอนเทนต์วิดีโอที่เขาทำก็เรียกได้ว่ามีประโยชน์สำหรับหลายคน เพราะเคแชร์ประสบการณ์เรียนเมืองนอก เช่น คลิป “เรียนอเมริกาใช้เงินวันละเท่าไหร่?!?” คลิปสอนภาษาอังกฤษ และหากิจกรรมแปลกๆ ทำ พาผู้ชมตามไปดูด้วยเสมอๆ

ปัจจุบันเคมีผู้ติดตามบนยูทูบแชนแนลมากถึงเกือบ 8 แสนคน มีผู้ชมเข้าดูคลิปของเขารวมเกือบ 53 ล้านครั้ง ซึ่งความสำเร็จดังกล่าวกรุยทางทำให้ปัจจุบันริ่มเข้าวงการบันเทิงไทย มีผู้จัดการส่วนตัว และได้รับการจ้างงาน ร่วมงานกับคนดังคนอื่นมากขึ้นเรื่อยๆ

ยูทูบเบอร์คนอื่นจับตามองก็คงหนีไม่พ้น เก๋ไก๋สไลเดอร์ หรือ ณัฐธิชา นามวงษ์ เจ้าของช่อง Kaykai Slider แชนแนลแรกในไทยที่มียอดผู้ติดตาม 10 ล้านคน และได้รับโล่เพชรจากยูทูบ หลักๆ เธอทำคลิปไลฟ์สไตล์ ท่องเที่ยว และแกล้งแฟน เน้นมาสายฮา ซึ่งโดนใจคนดูจนบางคลิปมียอดวิวถึง 40 ล้านวิว โดยคลิปที่ฮือฮาที่สุดคือคลิปที่เธอเอาเงิน 1 ล้านบาทที่มาจากน้ำพักน้ำแรงของเธอให้แม่

Ananped ซึ่งปัจจุบันมีผู้ติดตามราว 1.3 ล้านคน และส่วนใหญ่เป็นเด็กมัธยม ก็เป็นหนึ่งในยูทูบเบอร์ที่ได้รับความนิยมในช่วงนี้ ด้วยคาแร็กเตอร์และการพูดการจาแบบกวนๆ ชอบทำคอนเท็นต์เล่าเรื่องตลก แต่งหญิงแกล้งคน หรือทดลองกินของแปลก ทำให้แฟนคลับเด็กๆ ชื่นชอบเป็นอย่างมาก

หรือที่มาแรงสุดๆ ณ วันนี้ เลยก็ต้อง ‘พิมรี่พาย’ หรือ พิมพ์พรรณ สรัลรัชญ์ แม่ค้าออนไลน์เงินล้านปากจัด สุดแซ่บ ที่ประสบความสำเร็จในการค้าขายไปแล้ว เมื่อต้นปีที่ผ่านมาเธอเข้ามาวัดดวงในแวดวงยูทูบอีกคน ด้วยการทำวิดีโอไลฟ์สไตล์และสอนแต่งหน้า ความตรงไปตรงมาทั้งคำพูดและท่าทาง ความตลกและความแรงของเธอทำให้หลายคนส่งต่อและตัดต่อคลิปของเธอมาแชร์กันอย่างกว้างขวางในช่วงนี้จนเป็นกระแส

อันที่จริงหากลองถอดสมการความสำเร็จของยูทูบเบอร์ที่ดังในไทยแต่ละคนดู จะพบว่า นอกจากการอัพเดทเทรนด์ หรือนำเสนอประสบการณ์แปลกใหม่แบบ Kayavine แล้ว แนวที่ได้รับความนิยมมาก ก็คือคอนเทนต์แนวบ้านๆ เน้นการนำเสนอตัวตนใกล้ชิดผู้ชม ที่สำคัญต้องตลกและสร้างเสียงหัวเราะได้ โดยส่วนใหญ่แล้วการค้นหาคาแร็กเตอร์ของตัวเอง และความถนัดในการนำเสนอ เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะนั่นคือการกำหนดทิศทางว่าช่องจะไปทางไหน

ความสำเร็จบนโลกยูทูบ บอกได้เลยว่ายิ่งใหญ่มาก เพราะหลายแชนแนลยูทูบเห็นโอกาสการทำเงิน ถึงขั้นจดบริษัทโปรดักชั่นมาทำคลิปอย่างจริงจัง มีคนคิดคอนเทนต์ คนทำกราฟิก ตากล้อง ตัดต่อพร้อมสรรพ

มาถูกทาง คว้าเม็ดเงินมหาศาล

ในปี 2006 กูเกิลซื้อยูทูบมาด้วยมูลค่า 1.65 พันล้านเหรียญสหรัฐ หลังจากนั้นยูทูบได้ชื่อว่าเป็นโมเดลธุรกิจที่ชาญฉลาดอันดับต้นๆ ของโลก ด้วยการสร้างรายได้จากแพล็ตฟอร์มผ่านการรันโฆษณาจากทั่วโลก ในปีนี้ ยูทูบได้รับการคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าหมุนเวียนสูงถึง 160,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นแพล็ตฟอร์มที่สร้างรายได้เป็นอันดับ 2 รองจากเฟซบุ๊กเท่านั้น

โดยมีการสำรวจรายได้คาดการณ์ในปี 2018 ของ 10 อันดับยูทูบเบอร์ของโลก โดยทั้ง 10 คนมีรายได้รวมกัน 180.5 ล้านเหรียญสหรัฐในปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 42% จากปี 2017 อันดับหนึ่งคือ ‘RYAN TOYSREVIEW’ หนุ่มน้อยวัย 7 ขวบที่คอยรีวิวของเล่นให้ผู้ติดตาม 17 ล้านคนของเขาได้ชม ซึ่งปีที่แล้วคาดการณ์รายได้ของไรอัน อยู่ที่สูงที่ 22 ล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว แน่นอนว่าเม็ดเงินมากขนาดนี้ ถ้าไม่ดึงดูดใจให้คนจำนวนมากอยากเริ่มอาชีพยูทูบเบอร์ คงจะแปลก

เกิดและดับด้วยกระแส สัจธรรม YouTuber

ก่อนที่จะรวย การเป็นยูทูบเบอร์ไม่ได้ง่าย และชื่อเสียงก็ไม่ได้มาง่ายๆ ด้วย ลองคิดว่าว่าในหนึ่งวันมีคนพยายามสร้างช่องของตัวเองขึ้นมานับพันนับหมื่นคน จะทำอย่างไรให้คอนเทนต์วิดีโอของเราสามารถครองใจผู้ชมได้ และแน่นอนว่าหาเงินได้ในที่สุด แต่ไม่ใช่ว่าดังแล้วจะลอยตัวได้ สิ่งที่ตามมาที่จะต้องดีลมีอีกมากมาย ทั้งเรื่องของความเครียดและแรงกดดันจากสาธารณะ หรือการรักษาโปรไฟล์ให้ดี เพราะไม่รู้ว่าวันไหนดราม่าจะเข้ามาเล่นงาน ซึ่งก็มีเคสที่เกิดขึ้นจริง ยูทูบเบอร์ไทยเกือบหมดอนาคตเพราะโพสต์เหยียดชนชั้น จนเกิดกระแสตีกลับจากคนดู

PewDiePie โพสท่าถ่ายรูปกับแฟน ๆ เมื่อเขามาถึงเพื่อเข้าร่วมงาน Singapore Social Star Awards ที่มารีน่าเบย์แซนด์สในสิงคโปร์ เมื่อปี 2013 (Photo by ROSLAN RAHMAN / AFP)

ที่ต่างประเทศเอง ก็มีเคสที่ ‘PewDiePie’ เกมเมอร์คนดัง เคยทำมีม (Meme) ตัวเองเพื่อให้คนแชร์ต่อ เรียกคนมากดติดตามช่องมากขึ้น แล้วดันไปเอี่ยวกับเหตุการณ์กราดยิง เมื่อมือปืนที่กราดยิงมัสยิดในนิวซีแลนด์ ดันตะโกนคำว่า ‘Subscribe to Pewdiepie’ ออกมาในไลฟ์สด จนเขาต้องออกมาขอร้องให้ยุติการส่งต่อมีมตัวเองก่อนที่ตัวเขาจะกลายเป็นสัญลักษณ์ของความขัดแย้งไปเสียก่อน รวมไปถึงเคสของ ‘James Charles’ ยูทูบเบอร์สายบิวตี้ ที่ทะเลาะกับเพื่อนยูทูบเบอร์จนเสียยอดผู้ติดตามนับล้านภายในวันเดียว ขณะที่บางคนโด่งดังจากการเป็นยูทูบเบอร์แล้วรับกับความกดดันและเสียงด่าทอไม่ได้ จนมีสภาพจิตใจย่ำแย่สุดๆ

ดังนั้นการเป็นยูทูบเบอร์ คือการรับมือกับความเสี่ยง และเส้นแบ่งความเป็นส่วนตัวที่พร่าเลือนในเวลาเดียวกัน ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ยูทูบเบอร์แต่ละคนจำเป็นจะต้องหาทางจัดการมันด้วยตัวเอง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

Social Icon | สื่อจีนนำเสนอเรื่อง “น้องแพรพาเพลิน” ซื้อ BMW หกล้านในวัย 12 ปี

Social Icon | เปิดชีวิต Nas Daily นักทำคลิปวิดีโอบนเฟซบุ๊ก หมื่นล้านวิว เปลี่ยนโลก

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า