หากพูดถึงรถยนต์ไฟฟ้า หลายคนมองว่า Tesla คือบริษัทรถยนต์ส่วนบุคคลที่มาแรงที่สุดในตอนนี้ ด้วยเทคโนโลยีที่อัดแน่น ที่มาพร้อมกับเงินทุนและวิสัยทัศน์ของ อีลอน มัสก์
แต่สำหรับรถยนต์สาธารณะขนาดเล็ก ชื่อของ Zoox สตาร์ทอัพรายหนึ่ง ที่เผยโฉมรถยนต์ไฟฟ้าอัตโนมัติออกสู่สายตาชาวโลกเมื่อคืนนี้ เริ่มเป็นที่จับตามองมากยิ่งขึ้นแล้ว
ย้อนกลับไปเมื่อประมาณครึ่งปีก่อน Zoox อยู่ในสถานะที่เกือบจะไม่เหลือเงินทุนสำหรับการทำธุรกิจแล้ว หลังจากเริ่มก่อตั้งบริษัทมาเป็นเวลา 6 ปี
เรื่องราวของบริษัทที่กำลังจะถึงทางตัน แต่กลับฟื้นขึ้นมา จนถึงวันเปิดตัวผลิตภัณฑ์ ที่ดึงดูดความสนใจในวงกว้างได้ จากวันแรกจนถึงวันนี้ พวกเขาต้องผ่านอะไรมาบ้าง workpointTODAY จะมาสรุปให้อ่านกัน

Zoox L5 Fully Autonomous, All-electric Robotaxi
Zoox ก่อตั้งในปี 2014 โดย ทิม เคนต์ลีย์-เคลย์ เจ้าของบริษัทออกแบบในออสเตรเลีย และ เจสซี เลวินสัน โปรแกรมเมอร์ที่เชี่ยวชาญระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ
โดยจุดมุ่งหมายของบริษัทมีอยู่ 3 ข้อใหญ่ๆ คือ
- ออกแบบรถยนต์ไฟฟ้าขึ้นมาใหม่
- ใช้ระบบอัตโนมัติเต็มรูปแบบ
- พัฒนาแอปพลิเคชันเรียกรถ
ในขณะที่บริษัททั่วไป เลือกที่จะโฟกัสไปที่ข้อใดข้อหนึ่ง แต่ Zoox กลับเลือกเส้นทางที่ยากที่สุด คือการทำมันทุกอย่าง โดยเริ่มต้นใหม่จาก 0 ทั้งหมด
แม้จะดูเป็นไปได้ยาก แต่ภายใต้การนำเสนอไอเดียของเคนต์ลีย์-เคลย์ ในฐานะซีอีโอ เขาสามารถระดมทุนก้อนใหญ่จากนักลงทุนได้ 2 รอบ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 24,000 ล้านบาท
ไมเคิล แคนนอน-บรูกส์ ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง Atlassian บริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์ และเป็นหนึ่งในผู้ลงทุนรอบซีรีย์ B ยอมรับว่า การที่เขาเขียนเช็คมูลค่ากว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยใช้เงินทุนส่วนตัว นับเป็นเงินที่ไม่น้อยเลย มันมากกว่าที่เขาเคยลงทุนส่วนตัวก่อนหน้านี้ถึง 5 เท่า แต่นั่นแสดงให้เห็นถึงความเชื่อของเขาในสิ่งที่ Zoox กำลังทำอยู่
การพัฒนา AI สำหรับขับเคลื่อนอัตโนมัติได้เริ่มต้นขึ้นทันที ระหว่างที่รอทีมออกแบบดีไซน์รถขึ้นมาใหม่ พวกเขาได้ใช้รถของ Toyota รุ่น Highlander ในการทดสอบไปก่อน
จริงอยู่ที่การระดมทุนสำเร็จเป็นสิ่งที่สตาร์ทอัพต้องการ แต่นั่นย่อมต้องแลกมากับการให้อำนาจตัดสินใจ ไปอยู่ในมือนักลงทุนที่นำเงินมาแลกกับสัดส่วนการถือหุ้นเช่นกัน
หลังจากดำเนินธุรกิจมาได้ 4 ปี กลับกลายเป็นว่า เคนต์ลีย์-เคลย์ ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของบริษัท ถูกไล่ออกจากตำแหน่งแบบไม่ทันตั้งตัว ด้วยคำสั่งจากบอร์ดบริหาร โดยหนึ่งในนั้นคือเลวินสัน ที่ร่วมก่อตั้งบริษัทมาด้วยกันตั้งแต่วันแรก
Zoox ตัดสินใจดึงตัว ไอชา อีแวนส์ อดีตหัวหน้าด้านกลยุทธ์ของบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Intel เข้ามาบริหารแทน
เลวินสัน ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยี หรือ ซีทีโอ เผยว่า เขาต้องการให้บริษัทก้าวขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง และเชื่อว่าอีแวนส์เป็นตัวเลือกที่เหมาะสม จากการที่เธอที่มีประสบการณ์ในการบริหารทีมวิศวกรขนาด 7,000 คนมาแล้ว
จากบริษัทที่นำโดย นักออกแบบ+โปรแกรมเมอร์ ตอนนี้ Zoox ได้เปลี่ยนทีมบริหารมาเป็น ผู้บริหารมืออาชีพ+โปรแกรมเมอร์ แทน เพื่อความพร้อมในการเปลี่ยนตัวเอง จากสตาร์ทอัพขายฝัน สู่การดำเนินธุรกิจอย่างจริงจัง

Zoox Fully Autonomous, All-electric Robotaxi
ความท้าทายของซีอีโอคนใหม่ก็มาถึงในเวลาไม่นาน เมื่อพวกเขาพบว่า บริษัทมีเงินไม่พอสำหรับโครงการใหญ่ครั้งนี้
ในการสร้างนวัตกรรมขึ้นมาอย่างหนึ่งนั้น ต่างจากการสั่งซื้อหรือผลิตสิ่งที่มีอยู่แล้วบนโลก พวกเขาไม่สามารถกำหนดไทม์ไลน์ได้อย่างชัดเจน ว่าผลิตภัณฑ์ตัวนี้จะต้องใช้เวลาและเงินทุนจำนวนเท่าไหร่
หากพิจารณาเฉพาะการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบขึ้นมา โดยไม่ต้องคำนึงถึงกำลังการผลิตจำนวนมาก ก็เป็นเรื่องที่ไปไกลกว่าสิ่งที่ Tesla หรือ Uber เคยทำมาก่อนหน้านี้แล้ว
ในช่วงเกือบ 6 ปีที่ก่อตั้งมา Zoox ไม่ได้มีบริการที่สร้างรายได้หรือจำนวนผู้ใช้งานใดๆ ทำให้เมื่อเวลาผ่านไป รายจ่ายของพวกเขาก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
แม้จะเข้าสู่ปี 2020 แล้ว แต่ภาพการทดสอบที่เปิดเผยออกมา ก็ยังคงใช้รถ Toyota Highlander อยู่ ยังไม่เห็นถึงการดีไซน์รถใหม่ที่เคยประกาศไว้แต่อย่างใด
นอกจากเงินทุนที่กำลังร่อยหรอลงเรื่อยๆ ในช่วงต้นปีถึงกลางปีที่ผ่านมา Zoox ยังประสบปัญหาใหญ่อีกเรื่อง คือการที่พนักงานคนสำคัญต่างทยอยกันลาออก เพราะพวกเขาไม่มั่นใจในอนาคตของบริษัทอีกต่อไป
ช่วงเวลานั้นเองที่ Amazon บริษัทอีคอมเมิร์ซอันดับหนึ่งของสหรัฐฯ มองเห็นโอกาส และเข้ามาเจรจาขอซื้อกิจการสตาร์ทอัพแห่งนี้ ด้วยมูลค่า 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ก่อนหน้านี้ Zoox เคยได้รับการประเมินว่ามีมูลค่าถึง 3,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการระดมทุนเมื่อ 2 ปีที่แล้ว แต่เมื่อมาถึงจุดนี้ พวกเขาไม่มีทางเลือกมากนัก เนื่องจากข้อเสนออื่นที่มีอยู่ ยกตัวอย่างเช่น ข้อเสนอจาก Cruise บริษัทขับเคลื่อนอัตโนมัติของ GM ที่เป็นอีกเจ้าที่ให้ความสนใจ เสนอเงินมาเพียงแค่ 1,050 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เท่านั้น
การเข้ามาของ Amazon ครั้งนี้ ทำให้หลายฝ่ายจับตามองว่า จะเป็นการ acquihire หรือไม่ โดยเฉพาะกับทีมที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในเรื่องระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ ซึ่งหาไม่ได้ง่ายๆ ตามท้องตลาด
(acquihire เป็นศัพท์ที่ใช้เรียกการซื้อธุรกิจ เพื่อให้ได้ตัวพนักงานมาทำงานให้ มากกว่าที่จะสนใจในตัวผลิตภัณฑ์)
ความกังวลอีกข้อของ Zoox คือ พวกเขาอาจโดนลดเป้าหมายของบริษัทลง อย่างน้อยๆ คือตัดเรื่องระบบแอปพลิเคชันเรียกรถออกไป หรืออาจจะถึงขั้นปรับรูปแบบรถเสียใหม่ เพื่อไปโฟกัสกับการพัฒนาตัวรถและระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ ที่ตอบโจทย์ธุรกิจอีคอมเมิร์ซของ Amazon มากกว่า
การพัฒนารถเพื่อส่งของนั้น ซับซ้อนน้อยกว่ารถสำหรับให้คนนั่งอย่างมาก เนื่องจากไม่ต้องกังวลเรื่องระบบความปลอดภัยและความสะดวกสบายมากนัก แถมยังสามารถนำไปใช้กับบริการอีคอมเมิร์ซที่ Amazon เป็นผู้ครองตลาดได้ นอกจากจะลดต้นทุนได้อย่างมหาศาลแล้ว ยังมีบริการที่รองรับให้ใช้งานได้ในทันทีอีกด้วย
แต่นั่นไม่ใช่วิสัยทัศน์ที่ Zoox ตั้งไว้ตั้งแต่แรก นี่คือบททดสอบสำคัญของซีอีโอ ที่จะต้องโน้มน้าวให้นักลงทุนเชื่อว่า สิ่งที่กำลังทำอยู่จะประสบความสำเร็จ โดยไม่จำเป็นต้องลดเป้าหมายให้เล็กลง
สุดท้ายเธอก็ทำได้สำเร็จ
เมื่อทั้งสองฝ่ายปิดดีลได้ Amazon ประกาศทันทีว่า Zoox จะมีอิสระในการทำงานเช่นเดิม และสนับสนุนให้ทำตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ต่อไป

Zoox L5 Fully Autonomous, All-electric Robotaxi at Coit Tower San Francsico
หลังจากได้เงินทุนสนับสนุนจาก Amazon ที่มีเจ้าของคือ เจฟฟ์ เบซอส ชายที่รวยที่สุดในโลก โดยรับประกันว่าจะไม่มีการแทรกแซง ในที่สุด Zoox ก็มาถึงจุดที่เปิดตัวผลิตภัณฑ์และบริการ ให้สาธารณชนได้เห็นจนได้
รถยนต์ไฟฟ้าของ Zoox เผยโฉมออกมาในรูปลักษณ์ที่ต่างจากรถยนต์ทั่วไป ด้วยรูปทรงแบบสมมาตรที่มีด้านหน้าและด้านหลังเหมือนกัน ซึ่งเป็นการพัฒนาเพื่อติดตั้งกล้องและเซนเซอร์ต่างๆ ในจุดที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุด
รวมไปถึงการถอดพวงมาลัยรถยนต์ออก เพื่อให้ผู้โดยสารทั้งสองฝั่งหันหน้าเข้าหากันได้ และลดกลไกการทำงานที่ไม่จำเป็นสำหรับรถยนต์อัตโนมัติลง ทำให้ตัวรถมีขนาดเล็ก และสามารถใช้งานบนท้องถนนได้คล่องตัวมากยิ่งขึ้น
ขณะที่คู่แข่งอย่าง Waymo ของ Google มีจุดเด่นที่ระบบนำทาง และ AI ที่มีประสบการณ์วิ่งบนถนนจริงมาอย่างโชกโชน แต่รูปลักษณ์ของ Zoox นับเป็นสิ่งที่สร้างความแตกต่างได้อย่างชัดเจน

Zoox L5 Fully Autonomous, All-electric Robotaxi Interior
ทางด้าน เคนต์ลีย์-เคลย์ อดีตซีอีโอ ที่โดนไล่ออกไปเมื่อ 2 ปีก่อน ครั้งนั้นเขาวิจารณ์บอร์ดบริหารว่า แทนที่จะพยายามแก้ปัญหาอย่างจริงจัง กลับหวาดกลัวกับเส้นทางข้างหน้า มัวแต่พยายามหาประโยชน์จากเงินที่เหลืออยู่เพียงน้อยนิด และยอมที่จะสูญเสียความก้าวหน้าครั้งใหญ่ไปแทน
ส่วนในฝั่งบริษัท ลอรี โยเลอร์ หนึ่งในบอร์ดบริหาร ให้ความเห็นว่า เคนต์ลีย์-เคลย์ เป็นซีอีโอที่ยอดเยี่ยมสำหรับช่วงเริ่มต้นของบริษัท แต่ไม่เหมาะกับการบริหารพนักงาน 600 คนขึ้นไป ความเป็น perfectionist ของเขาทำให้กระบวนการตัดสินใจของบริษัทกลายเป็นแบบคอขวด
แม้จะจากกันแบบไม่สวยนัก แต่เมื่อได้เห็นบริษัทที่เขาร่วมก่อตั้งก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง เคนต์ลีย์-เคลย์ ก็อดไม่ได้ที่จะทวีตแสดงความชื่นชม พร้อมทั้งขอบคุณทุกคนที่ทำให้ความฝันกลายเป็นจริง
After an epic road, the Zoox robot revealed in its natural habitat! To all crew: computer scientists, engineers, producers, supporters and especially for today, designers, well done and thank you for bringing a dream to the streets of San Francisco — soon for all to enjoy
pic.twitter.com/xKsTDnmRDY
— Tim Kentley Klay (@TimKentleyKlay) December 14, 2020
“หลังจากเส้นทางอันยาวไกล หุ่นยนต์ของ Zoox ได้เปิดตัวในที่ของมันแล้ว! ถึงทีมงานทุกคน โปรแกรมเมอร์ วิศวกร ทีมผลิต ทีมสนับสนุน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทีมออกแบบ ทำได้ดีมาก และขอบคุณที่นำความฝันมาสู่ท้องถนนในเมืองซานฟรานซิสโก ทุกคนจะได้มีความสุขไปกับมันเร็วๆ นี้”

Zoox L5 Fully Autonomous, All-electric Robotaxi
อย่างไรก็ตาม การเปิดตัวผลิตภัณฑ์ครั้งนี้ถือเป็นเพียงก้าวแรกสู่โลกกว้างของ Zoox เท่านั้น รถคันนี้น่าจะยังไม่สามารถนำมาให้บริการแก่บุคคลทั่วไปได้ภายในปีหน้า
พวกเขายังมีสิ่งที่ต้องทำอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นการขอใบอนุญาตจากภาครัฐ สำหรับให้บริการรับส่งผู้โดยสาร ด้วยรถยนต์ที่ไม่มีพวงมาลัยบังคับ รวมไปถึงการพัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อรองรับผู้ใช้งานจำนวนมาก
แต่อย่างน้อย นี่คือการพิสูจน์ว่าสิ่งที่พวกเขาทำอยู่นั้นจับต้องได้ และอาจเป็นการเปิดประตูให้บริษัทอื่นๆ เริ่มทลายกรอบการออกแบบยานพาหนะแบบเดิมๆ สู่ยานยนต์สำหรับอนาคตอย่างแท้จริง