SHARE

คัดลอกแล้ว

ขอขอบคุณ Workpoint News ที่เชิญไปออกรายการวิเคราะห์การเลือกตั้งเมื่อคืนวันที่ 24 มีนาฯ รู้สึกดีใจที่ได้ร่วมเวทีกับพิธีกรและทีมงานทุกท่าน รวมถึงได้เจออาจารย์โกวิท วงศ์สุรวัฒน์เป็นครั้งแรก และต้องขอโทษที่อาจไม่ได้พูดอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อคนดูมากนัก เหตุผลหลักเพราะผลเลือกตั้งที่ออกมานั้นเหนือความคาดหมายมากเกินไป จนชุดความคิดที่เตรียมมานั้นไร้ค่าไปในทันที

หลังจากได้มานั่งคิด และได้เป็นสนามรองรับอารมณ์ของเพื่อนๆ ที่มีทั้งแสดงความเสียใจ ให้กำลังใจ และสมน้ำหน้าแล้ว ก็ทำให้เห็นหลายสิ่งหลายอย่างที่น่าสนใจจากการเลือกตั้งครั้งนี้ และหลังการเลือกตั้งผ่านไปได้ 1 เดือน ก็ทำให้ได้มองเห็นทิศทางและปัญหาที่เกิดจากการเลือกตั้งที่ยังไม่ได้ข้อสรุปแน่ชัดในครั้งนี้

แรงบัลดาลใจในการเขียนบทความนี้ได้มาจากการที่ผู้เขียนได้เห็นข้อความบนทวิตเตอร์ของอาจารย์แดน สเลเตอร์ (Dan Slater) ผู้อำนวยการศูนย์ประชาธิปไตยบังเกิดใหม่ มหาวิทยาลัยมิชิแกน วิทยาเขตแอนอาร์เบอร์ ที่พูดถึงข้อตกลงการแบ่งสรรปันอำนาจ (Power-sharing Agreement) ในประเทศอินโดนีเซียและเมียนมาร์ที่อาจจะเป็นตัวอย่างและแรงบัลดาลใจให้ประเทศไทยในสถานการณ์การเมืองปัจจุบันได้ นอกจากนั้นผู้เขียนยังได้มีโอกาสฟังปาฐกถาพิเศษ ณ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดของอาจารย์ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ ที่พูดถึงการแบ่งสรรปันอำนาจทางการเมืองใหม่เช่นกัน

ผู้เขียนจึงอยากจะขอตั้งข้อสังเกตุเพิ่มเติมจากมุมมองของผู้เขียนเอง และกล่าวคำขอร้องต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อชดเชยการที่พูดอะไรไม่ออกในสตูดิโอของ Workpoint News ในคืนวันเลือกตั้ง

 

ต่างฝ่ายต่างต้องยอมรับว่า มีมวลชนจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยกับอุดมการณ์และความเชื่อของฝ่ายตน

ในสถานการณ์ความตรึงเครียดทางการเมือง และในขณะที่สัญญาณทุกอย่างกำลังมุ่งหน้าไปยังการปะทะกันอีกครั้ง ทั้งสองฝ่ายต่างต้องไม่ลืมว่าในท้ายที่สุดแล้ว เราจะไม่มีทางกำจัดอีกฝ่ายหนึ่งไปจากประเทศไทยได้ แม้ว่าในใจทุกคนน่าจะมีฝ่ายที่คิดว่ามีความชอบธรรมมากกว่า แต่ฝ่ายที่ตรงกันข้ามกับเรานั้นกำลังคิดว่าเราเป็น “ศัตรู” ที่น่ากลัวและอันตราย บางคนคิดมากไปกว่านั้นว่าฝ่ายตรงข้ามคือ “โจร” เป็นคน “หนักแผ่นดิน” หรือเป็นสิ่งที่ต่ำกว่ามนุษย์เลยเช่น “ไดโนเสาร์” “ควาย” “แมลงสาบ” ฯลฯ

มีพี่ชายท่านหนึ่งที่ผู้เขียนนับถือได้กล่าวไว้ว่า “สถานการณ์ทุกอย่างมีสามด้านเสมอคือ ด้านของเรา ด้านของเขา และด้านของความจริง” และด้วยเหตุนี้แต่ละฝ่ายจึงต้องมองข้ามค่ายและเอาใจเขามาใส่ใจเราให้มากกว่าที่เป็นอยู่ ไม่มีฝ่ายไหน “เลว” หรือ “ดี” 100% เหตุผลหลักที่เราต้องยอมรับสัจธรรมข้อนี้คือการลดอุณหภูมิความขัดแย้งในปัจจุบัน ไม่ให้ไปถึงหายนะและการสูญเสียเลือดเนื้อบนท้องถนนอีกครั้ง หากทำสิ่งนั้นไม่ได้เพราะอุดมการณ์ที่แตกต่างกันชัดเจน อย่างน้อยก็ควรมองข้ามผู้นำของแต่ละฝ่ายและคำนึงถึงชีวิตของมวลชนที่สนับสนุน มวลชนพวกนี้ต่างหากที่ต้องถูกโน้มน้าวให้เข้าใจและเห็นด้วยกับ “อุดมการณ์” และ “ความถูกต้อง” ในอุดมคติของแต่ละฝ่าย มวลชนของฝ่ายตรงข้ามจึงไม่ควรถูกมองเป็น “ศัตรู” ที่ต้องกำจัด เพราะอย่างที่กล่าวมาแล้วว่าเราไม่มีทางกำจัดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ การปฏิรูปที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมวลชนที่เห็นต่างและทำตัวเป็นแรงเสียดทานนั้นถูกโน้มน้าวให้ยอมรับกับการเปลี่ยนแปลงนั้นๆ

ทั้งหมดที่พูดมามิได้พยายามจะให้เกิดความขัดแย้งที่น้อยลง แต่ต้องเป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นบนพื้นฐานของความจริงที่ว่าทั้งสองฝ่ายยังจะต้องอยู่ร่วมบนแผ่นดินเดียวกันต่อจากนี้ หรืออย่างที่ อ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ได้กล่าวไว้ว่า Not disagreeing less, but disagreeing better หรือแปลได้ว่า “ไม่ใช่ให้เห็นแย้งกันน้อยลง แต่ให้เห็นแย้งในทางที่ดีขึ้น”

 

ข้อตกลงการแบ่งสรรปันอำนาจ (Powersharing Agreement) น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในสถานการณ์ปัจจุบัน

ภายใต้สัจธรรมที่ว่าเราทั้งสองฝ่ายยังต้องอยู่บนผืนแผ่นดินไทยร่วมกันไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นหลังจากนี้ ทำให้ผลลัพธ์การคลี่คลายสถานการณ์ควรที่จะออกมาในเชิงการแบ่งสรรปันอำนาจการปกครองให้กับแต่ละฝ่าย และหากเรามองว่าประชาธิปไตยเป็นเรื่องของการ “give & take” (มีทั้งได้และเสีย) และ “compromise” (การประนีประนอม) แล้ว เราก็น่าจะยอมรับกันได้ว่าจะไม่มีฝ่ายไหนที่จะได้ทุกอย่างที่ต้องการ 100% การคลี่คลายสถานการณ์จึงควรจะออกมาในเชิง “ข้อตกลงการแบ่งสรรปันอำนาจ” หรือ  “Power-sharing Agreement” ที่จะนำเราไปสู่ “ประชาธิปไตยแบบร่วมมือ” หรือ  “Consociational Democracy” และเริ่มต้นการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมประชาธิปไตยหลังจากที่เราหยุดการพัฒนามา 5 ปี ข้อเสนอนี้จะแตกต่างจากข้อเสนอ “รัฐบาลแห่งชาติ” ที่ผ่านมา เพราะจะมีฝ่ายค้านได้และนายกฯ ไม่จำเป็นต้องเป็นคนกลาง ผู้เขียนจะอธิบายแนวคิดนี้เพิ่มเติมในตอนท้ายบทความ

แต่ก่อนจะถึงข้อตกลงตรงนั้นได้ น่าจะต้องมีเหตุการณ์อะไรที่ทำให้เกิดทางตันทางการเมืองหรือเกิดความโกลาหลครั้งใหญ่อีกครั้ง ซึ่งจะทำให้ทั้งสองฝ่ายต้องเจรจาและพูดคุยกันมากขึ้น ทั้งสองฝ่ายต้องอ่านความต้องการในสิ่งที่ “ยอมไม่ได้” ของฝ่ายตรงข้าม และสิ่งที่แต่ละฝ่ายสามารถ “ยอมได้” เพื่อหาจุดร่วมที่จะสามารถตกลงกันได้ ในภาษาของนักไกล่เกลี่ยความขัดแย้งเรียกจุดร่วมนี้ว่า “Zone of Possible Agreement” หรือ “ZOPA”

เพื่อความเป็นไปได้ของการตกลงและรอมชอม ผู้เขียนอยากสรุปสิ่งที่แต่ละฝ่ายให้ความสำคัญมากที่สุด และความท้าทายของฝ่ายตัวเองที่แต่ละฝ่ายจะต้องยอมรับและปรับความคิด เพื่อที่เราทุกคนจะไม่ต้องเห็นการนองเลือดครั้งใหญ่ขึ้นอีก

 

สิ่งที่ฝ่าย คสช. และแนวร่วมต้องการคืออะไร?

สิ่งที่ฝ่าย คสช. และแนวร่วมกลัวที่สุดคืออิทธิพลของคุณทักษิณที่มีต่อความเป็นไปของการเมืองไทย เหตุการณ์วันที่ 8 ก.พ. และรูปถ่ายวันแต่งงานของลูกสาวของคุณทักษิณน่าจะเป็นเครื่องยืนยันที่ดีว่าคุณทักษิณยังพยายามมีส่วนร่วมและมีอิทธิพลอย่างมากต่อการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา คุณทักษิณพยายามเล่นเกมส์การเมืองในระดับมหภาค และอาจจะมองการต่อสู้ของการเมืองในระดับประชาชนเป็นเพียงแค่ทางผ่าน ไม่ว่าความจริงจะเป็นเช่นไรปฏิเสธไม่ได้ว่ามีคนกลุ่มใหญ่และเป็นคนที่มีอำนาจที่คิดว่า “ระบอบทักษิณ” นั้นน่ากลัวและอันตรายต่อประเทศมากกว่าสถานการณ์ปัจจุบัน คสช. และแนวร่วมให้ความสำคัญกับการเมืองระดับปัจเจกบุคคลมากกว่าโครงสร้าง กล่าวคือพวกเขาคิดว่าระบอบใดก็ตามหากตัวบุคคลคิดไม่ซื่อ เป็นคนคดโกง ระบอบนั้นก็ไร้ความหมาย ซึ่งตรงนี้จะแตกต่างจากความคิดของฝั่งตรงข้ามที่ให้ความสำคัญกับโครงสร้างมากกว่าตัวบุคคล

คสช. และแนวร่วมต้องการสร้างการคานอำนาจในเชิงราบ (Horizontal accountability) ซึ่งก็คือการถ่วงดุลอำนาจผ่านองค์กรอิสระต่างๆและพวกเขาสามารถทำได้สำเร็จเป็นอย่างมาก หากฝ่ายตรงข้ามสามารถเข้ามาเป็นรัฐบาลผ่านการเลือกตั้งได้ คสช. และแนวร่วมจะยังมีกลไกต่างๆ ที่จะถ่วงดุลรัฐบาลต่างขั้วได้ไม่ยากนัก สิ่งที่พวกเขาขาดคือการสร้างความชอบธรรมทางการเมืองโดยใช้ Vertical accountability หรือการคานอำนาจในแนวดิ่ง ซึ่งก็คือการได้รับฉันทามติจากประชาชนผ่านการเลือกตั้งที่เขาไม่เคยมีเท่าฝ่ายตรงข้าม การเลือกตั้งครั้งนี้จึงเป็นการพยายามเพิ่มความชอบธรรมในลักษณะหลัง เราจึงเห็นการต่อสู้ที่ทั้งสองฝ่ายต่างทำทุกอย่างเพื่อให้ได้ชัยชนะ ในขณะที่ฝ่ายเรียกร้อง “ประชาธิปไตย” ต้องการยื้อ Vertical accountability ไว้อยู่กับฝ่ายตน ฝ่าย คสช. และแนวร่วมนั้นต้องการแย่งความชอบธรรมนี้มาส่งเสริมการอยู่ในอำนาจของตน

“ความจงรักภักดี” หรือ “Loyalty” เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ฝ่าย คสช. และแนวร่วมถือเป็นค่านิยมสำคัญ “ความจงรักภักดีในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงเพียงแค่สำหรับ “ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” แต่รวมไปถึงความจงรักภักดีต่อองค์กร ต่อสถาบันการเมืองต่างๆ หรือต่อกองทัพ ค่านิยมเช่นนี้เป็นแกนความเชื่อหลักของแนวคิดอนุรักษนิยมทั่วโลก คสช. และแนวร่วมเชื่อว่าความจงรักภักดีจะสร้างความสามัคคี ความสงบ และในที่สุดจะนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรื่ิองให้กับประเทศชาติได้ คสช.และแนวร่วมจึงมองความแตกแยก  ความคิดต่าง และความคิดที่ขัดแย้งต่อวัฒธรรมความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของชาติเป็นสิ่งที่น่ากลัว สิ่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นได้ชัดถึงค่านิยมนี้ก็คือ การที่ คสช. และแนวร่วมอนุรักษนิยมมองว่าการวิจารณ์สิ่งต่างๆ ที่เกิดในประเทศโดยทั้งนักวิชาการหรือคนทั่วไปว่าเป็นการ “ให้ร้าย” ประเทศชาติ ในขณะที่กลุ่มคนที่มีความคิดก้าวหน้านั้นจะมองว่าการวิจารณ์หรือการพูดคุยอย่างเสรีนั้นจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ

 

ความท้าทายของฝ่าย คสช. และแนวร่วมคืออะไร?

คสช. และแนวร่วมควรจะตระหนักได้เสียที่ว่าการต่อสู้กับคุณทักษิณนั้นไม่สามารถมีฝ่ายใดที่ชนะเบ็ดเสร็จได้ คุณทักษิณยังอยู่ในใจของหลายคนไม่ว่า คสช. และแนวร่วมจะมีความเกลียดชังอดีตนายกฯ ท่านนี้เพียงไร การต่อสู้ในแบบเดิมๆ ด้วยวิธีเดิมๆ ไม่ได้ทำให้ความนิยมต่อตัวของคุณทักษิณลดลงในใจของหลายคน ยิ่งไปกว่านั้นการต่อสู้ของ คสช. ได้ทำให้คุณทักษิณเป็นนักรบพลีชีพ (“Martyr”) เขาได้กลายเป็นฮีโร่และตัวแทนของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ทั้งๆ ที่เขาไม่ควรได้เครดิตนั้นหากมองถึงประวัติศาสตร์การเป็นผู้นำของเขาในอดีต  คสช. และแนวร่วมต้องระมัดระวังเรื่องนี้เป็นอย่างมาก การเดินเกมของ คสช. และแนวร่วมในการสร้างคู่ขัดแย้งใหม่มีแต่จะเป็นการเพิ่มความชอบธรรมให้ฝ่ายตรงข้ามและสร้างนักรบพลีชีพคนใหม่ การต่อสู้กับคุณทักษิณมีทางเดียวเท่านั้นคือการต่อสู้ตามวิธีทางประชาธิปไตย ที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่า และนั่นหมายความว่าฝ่ายตรงข้ามคุณทักษิณต้องชนะการเลือกตั้งโดยไม่ใช้วิธีการเดียวกับที่เคยกล่าวหาพวกพ้องของคุณทักษิณ และที่สำคัญการเลือกตั้งนั้นต้องโปร่งใสและชัยชนะต้อง “สง่า” และไร้ข้อกังขา ซึ่งนั่นอาจจะต้องใช้เวลา การตัดตอนวงจรการทำงานของประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่มีแต่จะช่วยเพิ่มความชอบธรรมให้ฝ่ายคุณทักษิณและเครือข่าย และจะทำให้มวลชนที่เรียกร้องสิทธิทางประชาธิปไตยรู้สึกเป็นผู้ถูกกระทำและถูกเอาเปรียบมากขึ้นไปอีก

หาก คสช. และแนวร่วมได้รับ “ชัยชนะ” และกลับมาสู่อำนาจหลังจากการเลือกตั้งครั้งนี้ แรงต่อต้านที่จับต้องได้อาจจะลดลงชั่วขณะ อย่างไรก็ตาม คสช. และแนวร่วมต้องคำนึงอยู่เสมอว่า “ความสงบ” ที่เกิดขึ้นเป็นความสงบแต่เพียงผิวเผินที่กำลังรอการปะทุขึ้นอีกครั้ง ในมุมมองของฝ่ายตรงข้าม คสช. และแนวร่วมจะยังคงเป็น “เผด็จการ” เพียงแต่จะเปลี่ยนจากเป็น “เผด็จการ” ที่ยึดอำนาจเข้ามาเป็น “เผด็จการ” ที่ผ่านการเลือกตั้ง  คสช. และแนวร่วมต้องอย่าลืมว่า “เผด็จการรัฐสภา” หรือความไม่เสรีภายใต้ระบอบประชาธิปไตย คือสิ่งที่ใครหลายคนร่วมต่อต้านกันมา การได้รับการยอมรับจากคู่ต่อสู้ทางการเมืองและประชาชนที่สนับสนุนฝ่ายตรงข้ามเป็นสิ่งสำคัญต่อการสร้างความชอบธรรมในเชิง Vertical accountability ที่ คสช. และแนวร่วมแสวงหา แต่การเลือกตั้งที่ผ่านมาไม่ได้ทำให้ คสช. และแนวร่วมได้รับสิ่งนี้ ซ้ำไปกว่านั้นการที่องค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเลือกตั้งและฝ่ายตุลาการมุ่งหน้าที่จะจับตาและเล่นงานกลุ่ม “คนรุ่นใหม่” เป็นพิเศษก็ไม่ได้ช่วยให้ คสช.ได้รับความชอบธรรมทางการเมืองเพิ่มมากขึ้น การบั่นทอนความชอบธรรมของตัวเองเช่นนี้ยิ่งจะทำให้ความขัดแย้งมุ่งหน้าไปสู่การปะทะกันบนท้องถนนและสูญเสียเลือดเนื้อได้เร็วและรุนแรงขึ้นไปอีก

อีกสิ่งหนึ่งที่ คสช. และแนวร่วมถูกท้าทาย แต่เหมือนพยายามปิดหูปิดตาตัวเองอยู่ ก็คือความจริงที่ว่าการพัฒนาในโลกของเรากำลังอยู่ระหว่างการถูก disrupt ในระดับที่รุนแรงมากกว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) มีคำกล่าวของ Klaus Schwab ผู้ก่อตั้ง World Economic Forum ว่าขณะนี้เรากำลังอยู่ในยุคของ “Information Revolution” หรือ การปฏิวัติทางด้านข้อมูล กล่าวคือการเข้าถึงข้อมูลของประชาชนทำได้ง่ายและมีตัวเลือกมาก อำนาจในการควบคุมข้อมูลและข่าวสารจึงทำไม่ได้เหมือนในยุคก่อน อะไรที่ยิ่งปิดจะยิ่งเป็นจุดสนใจและน่าค้นหา อะไรหรือใครที่เป็นผู้ถูกกระทำก็มีช่องทางมากมายที่จะเรียกร้องความเป็นธรรมและสร้างกระแสให้เพิ่มขึ้นไปอีก เราอาจจะเรียกได้ว่า “อำนาจ” นั้นได้ถูกทำให้ “ซึม” หรือ “Power diffusion” ไปทุกหนทุกแห่ง การพยายามฝืนความเปลี่ยนแปลงไม่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการดำรงอยู่ในอำนาจของ คสช. และแนวร่วม การปฏิวัติทางด้านข้อมูลที่เกิดขึ้นจะยิ่งทำให้การจำกัดและกำจัดอิทธิพลทางความคิด อุดมการณ์ และความเชื่อได้ยากมากขึ้นไปอีก ปัจเจกบุคคลกลายเป็นแค่ตัวแทนทางความคิดและความอัดอั้นที่แพร่หลาย หาก คสช. และแนวร่วมประสบความสำเร็จและสามารถล้มได้หนึ่งคน อีกไม่นานก็จะมีบุคคลผู้เป็นตัวแทนขึ้นมาใหม่ ความเสียสละที่แท้จริงของ คสช. และแนวร่วมจึงไม่ใช่ความพร้อมที่จะเสียสละชีพเพื่อกำจัดอิทธิพลทางความคิดที่แตกต่าง แต่ความเสียสละที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศคือการยอมเปิดพื้นที่รับฟังความคิดและความอัดอั้นเหล่านี้ และเรียนรู้ที่จะอยู่กับความคิดที่หลากหลายเหล่านี้ให้ได้

 

สิ่งที่ฝ่ายเรียกร้อง “ประชาธิปไตย” ต้องการมากที่สุดคืออะไร?

สิ่งที่ฝ่ายเรียกร้อง “ประชาธิปไตย” เรียกร้องมาโดยตลอดก็คือการเลือกตั้งที่มีความชอบธรรม เพื่อที่เราจะได้รู้ถึงฉันทามติของประชาชนอย่างแท้จริงและปูทางนำไปสู่ความยุติธรรมทางสังคม เราต้องยอมรับว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีความชอบธรรมที่ค่อนข้างต่ำตั้งแต่เริ่มต้นเนื่องจากคนเขียนกติกากลายมาเป็นผู้เล่นเสียเอง และการออกแบบวิธีการเลือกนายกฯ ที่มี ส.ว. สรรหาที่ไม่มีใครรู้วิธีการเลือกและไม่มีใครทราบว่ามีใครบ้างจนถึงทุกวันนี้ การเลือกตั้งครั้งนี้จึงมีความชอบธรรมค่อนข้างต่ำ นอกจากนั้นความล้าช้าของ กกต. และความสับสนเรื่องการคำนวณและนับคะแนนก็ไม่ได้ช่วยให้การเลือกตั้งครั้งนี้มีความชอบธรรมมากขึ้น และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือเหตุการณ์ความสับสนในปัจจุบันทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายใต้บริบทที่มวลชนที่สนับสนุนฝ่ายเรียกร้อง “ประชาธิปไตย” รู้สึกเป็นผู้ถูกกระทำที่เสียเปรียบจากชนชั้นนำและผู้มีอำนาจมาโดยตลอด การเลือกตั้งที่เป็นธรรมจึงเป็นความหวังเดียวที่จะทำให้พวกเขาสามารถปลดปล่อยความอึดอัดและความรู้สึกของผู้ถูกกระทำออกมา

สิ่งที่สองที่ฝ่ายเรียกร้อง “ประชาธิปไตย” ต้องการคือการปฏิรูปกองทัพ สำหรับทุกคนที่เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย คงไม่มีใครไม่เห็นด้วยถึงความจำเป็นของข้อเสนอและเรียกร้องนี้ เหตุเพราะกองทัพเป็นปัจจัยหลักปัจจัยหนึ่งของความล่าช้าในการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศไทย เราพูดและถกเถียงกันในวงกว้างเกี่ยวกับการปฏิรูปโน่นนี่ แต่การปฏิรูปกองทัพดูเหมือนจะได้รับการยกเว้นเอาไว้ นอกจากวงวิชาการแล้ว การปฏิรูปกองทัพไม่ได้รับการพูดถึงและถกเถียงมากนักในสังคมไทยในช่วงก่อนการเลือกตั้ง และแน่นอน แรงกดดันจากสังคมที่มีต่อกองทัพในขณะนี้นั้นเป็นผลโดยตรงจากการที่คสช.ได้อยู่ในอำนาจมาเป็นเวลานานเกือบ 5 ปีแล้ว

สิ่งที่สามที่ฝ่ายเรียกร้อง “ประชาธิปไตย” ต้องการคือการแก้ไข้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเราทุกคนน่าจะได้สัมผัสถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้มามากพอควร นอกจากปัญหา ส.ว.สรรหา 250 คนที่ไม่มีความชัดเจนแล้ว สิ่งที่ฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตยและนักวิชาการเป็นห่วงมากที่สุดอีกอย่างคือ “คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ” หรือในทางปฏิบัติก็คือ “ซุปเปอร์บอร์ดควบคุมรัฐบาล” การเกิดขึ้นของคณะกรรมการนี้คล้ายๆ กับกลุ่ม Politburo ในประเทศสังคมนิยมที่จะมีอำนาจตัดสินใจเรื่องต่างๆ เหนือรัฐบาลอีกทีหนึ่ง หากมองในเชิงรัฐศาสตร์ซึ่งปกติแล้วเราแบ่งอำนาจอธิปไตยให้กับฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ และฝ่ายบริหาร การเกิดขึ้นของ “คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ” คือการให้อำนาจอธิปไตยที่เหนือกว่าทุกฝ่ายแก่กลุ่มคนหนึ่งๆ อย่างเป็นทางการ นี่เป็นปัญหาเพิ่มเติมให้กับระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่ยังมีอำนาจอธิปไตยนอกระบบที่ไม่เป็นทางการอีกหลายกลุ่ม

 

ความท้าทายของฝ่ายที่เรียกร้อง “ประชาธิปไตย” คืออะไร?

ฝ่ายที่เรียกร้อง “ประชาธิปไตย” ต้องมองการเปลี่ยนแปลงสู่ประชาธิปไตย (Democratization process) ในหลายมิติที่ไม่ใช่แค่ “มี” หรือ “ไม่มี” แต่เป็น “พิสัย” หรือ “range” ที่ไม่ใช่มีแค่ 0 หรือ 1 แต่เป็น -10 จนถึง 10 และการเปลี่ยนแปลงนั้นจะเกิดขึ้นเป็นขั้นๆไป พวกเขาต้องภูมิใจที่ได้ปลดแอกและจุดประกายประชาชนจำนวนมากให้รู้สึกถึงสิทธิที่ประชาชนพึงมีในระบอบประชาธิปไตย สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ฝ่ายที่เรียกร้อง “ประชาธิปไตย” ต้องคำนึงถึงคือ หากตอนนี้ปรอทความเป็นประชาธิปไตยของเราเป็น 0 ยังมีอีกหลายเหตุการณ์ที่สามารถเกิดขึ้นได้ที่จะทำให้ปรอทวัดความเป็นประชาธิปไตยนั้นกลายเป็น -10 เราทุกคนจึงต้องทำทุกวิธีทาง ซึ่งอาจจะหมายถึงการต้องยอมอะไรบางอย่างเพื่อไม่ให้ “Democratic gains” (การเพิ่มพูนความเป็นประชาธิปไตย) ที่เกิดขึ้นบ้างแล้วต้องสูญเสียไป สิ่งสำคัญอีกอย่างที่ฝ่ายที่เรียกร้อง “ประชาธิปไตย” ในปัจจุบันต้องคำนึงถึงเสมอคือความจริงที่ว่า ฝ่ายของตนนั้นก็ใช่ว่าจะมีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยอยู่ในระดับที่น่าภูมิใจหากมองถึงประวัติการปกครองของกลุ่มตนที่ผ่านมาเทียบกับมาตรฐานประชาธิปไตยที่ควรจะเป็นในระดับสากล ประชาธิปไตยจึงเป็นสิ่งที่ควรถูกพัฒนาให้ดีขึ้นเสมอ ความซับซ้อนตรงนี้ทำให้ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ลึกซึ้งมากกว่าการ “มี” หรือ “ไม่มี”

Framing หรือการนำเสนอเรื่องการปฏิรูปกองทัพจะต้องมีการปรับเปลี่ยน ปัญหาหลักของการสื่อสารของฝ่ายเรียกร้อง “ประชาธิปไตย” คือยุทธศาสตร์การสื่อสารให้มวลชนกระตือรือร้นและสนับสนับสนุนนั้น ในทางกลับกันก็ทำให้ฝ่ายตรงข้ามตีตัวออกห่าง เราพอเข้าใจได้ว่าในสถานการณ์เลือกตั้ง การเลือกใช้คำต่างๆ จะต้องคำนึงถึงผลลัพธ์ด้านอารมณ์เพื่อชัยชนะ แต่ฝ่ายเรียกร้อง “ประชาธิปไตย” น่าจะเห็นถึงแรงเสียดทาน (Institutional resistance) และการพยายามหลีกเลี่ยงการสูญเสีย (Loss aversion) ของกองทัพอยู่มากพอสมควรแล้ว ฝ่ายเรียกร้อง “ประชาธิปไตย” ต้องพยายามนำเสนอความคิดเดียวกันในเชิงบวกมากขึ้นไปอีก แทนที่จะมุ่งนำเสนอเรื่องการ “ตัดงบ” เป็นหลักของการปฏิรูป ตัวอย่างเช่น การนำเสนอควรทำให้เห็นว่าสิ่งที่พวกเขาพยายามเรียกร้องอยู่นั้นในความเป็นจริงคือการ “เพิ่มประสิทธิภาพ” ของการปกป้องประเทศและการให้ความช่วยเหลือประชาชนเมื่อเกิดภัยพิบัติ มากไปกว่านั้นพวกเขาอาจจะสื่อสารได้ว่า การปฏิรูปกองทัพนั้นเป็นการ “เพิ่มความเป็นมืออาชีพ” ให้กับกองทัพเพื่อให้ทัดเทียมและสง่างามเท่ากับนานาชาติ ซึ่งการปฏิรูปตามหลักวิชาการที่ไม่อิงอารมณ์ในท้ายที่สุดเมื่อทำการศึกษาอย่างรอบคอบอาจจะหมายถึงการ “เพิ่มงบ” หรือ “จัดสรรงบใหม่” ให้กองทัพและ “ขึ้นเงินเดือน” ให้ทหารชั้นประทวนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของพวกเขา ฝ่ายที่เรียกร้อง “ประชาธิปไตย” ต้องไม่ลืมว่าการปฏิรูปที่ประสบความสำเร็จต้องมีแนวร่วมจากภายในกองทัพเอง และวิธีเดียวที่จะสร้างแนวร่วมจากภายในได้ก็คือต้องทำให้กองทัพรู้สึกว่าเขา “ได้” มากกว่า “เสีย” จากการเรียกร้องปฏิรูปครั้งนี้

การแก้รัฐธรรมนูญก็เช่นกัน จะสังเกตได้ว่าฝ่ายที่เรียกร้อง “ประชาธิปไตย” ไม่ได้มีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมในจุดนี้มากนัก การล้มล้างรัฐธรรมนูญมีอยู่วิธีเดียวที่จะทำได้โดยไม่ต้องพึ่งความเห็นชอบจากฝ่ายตรงข้าม นั่นก็คือการปฏิวัติ ซึ่งเป็นวิธีการที่ฝ่ายเรียกร้อง “ประชาธิปไตย” ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากไม่มีกองกำลังในมือ และวิธีการดั่งกล่าวก็ไม่ได้เป็นวิถีทางประชาธิปไตย หากมีทหารบางกลุ่มที่แยกตัวมาสนับสนุนและเป็นแนวร่วมของฝ่ายที่เรียกร้อง “ประชาธิปไตย” และใช้กองกำลังเพื่อฉีกรัฐธรรมนูญเราอาจจะได้เห็นสงครามกลางเมืองที่ทั้งสองฝ่ายมีกำลังหนุนหลัง เพราะฉะนั้นวิธีเดียวที่จะสามารถแก้รัฐธรรมนูญโดยไม่ให้เกิดความโกลาหลครั้งใหญ่ คือการที่ฝ่ายเรียกร้อง “ประชาธิปไตย” จะต้องมีแนวร่วมทั้งในสภาบนและสภาล่าง ในกลุ่ม ส.ส.น่าจะหาแนวร่วมได้ไม่ยากนัก ความท้าทายจริงๆ คือการโน้มน้าวให้ ส.ว. บางส่วนเห็นชอบ และฝ่าย “ประชาธิปไตย” จะทำตรงนี้ไม่ได้เลยหากพวกเขาถูกมองเป็นศัตรูที่จ้องทำลาย ส.ว. กลุ่มนี้ ดังนั้นเรื่องนี้น่าจะต้องใช้เวลาและความใจเย็นพอสมควร เพื่อให้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากรัฐธรรมนูญนี้ผุดออกมามากขึ้น บางทีอาจจะต้องให้ผู้ที่มีอำนาจในปัจจุบันประสบปัญหาจากรัฐธรรมนูญนี้ด้วยตัวเอง อีกอย่างหนึ่งที่ฝ่ายเรียกร้อง “ประชาธิปไตย” ต้องตีโจทย์ให้แตกคือพวกเขาจะทำอย่างไรเพื่อให้การสรรหา ส.ว. มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น การเรียกร้องเพื่อเปิดเผยขั้นตอนการจัดสรรจำนวนให้กับกลุ่มสาขาอาชีพต่างๆ และการกำหนดวิธีการเลือกตัวแทนของกลุ่มนั้นๆ อาจจะเป็นพัฒนาการเชิงประชาธิปไตยที่สามารถทำได้และน่าจะช่วยลดแรงเสียดทานได้บ้าง

 

ข้อตกลงการแบ่งสรรปันอำนาจ (Powersharing Agreement) จะออกมาในลักษณะใด?

ทุกฝ่ายควรเห็นร่วมกันว่า ข้อตกลงการแบ่งสรรปันอำนาจ หรือ Power-sharing Agreement เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเปลี่ยนระบอบการปกครองให้เป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น (Democratization process)  เราจะเปลี่ยนผ่านออกจากระบอบอำนาจนิยมในระยะเกือบ 5 ปีที่ผ่านมา แน่นอนสิ่งนี้ไม่ใช่สิ่งที่สวยงามที่สุด แต่ถือเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ที่ทำให้เรามีความหวังกับเส้นทางประชาธิปไตยอีกครั้ง ข้อตกลงการแบ่งสรรปันอำนาจไม่ใช่เรื่องใหม่ในภูมิภาคอาเซียน ตัวอย่างเช่นในประเทศอินโดนีเซียและเมียนมาร์ ข้อตกลงการแบ่งสรรปันอำนาจถูกใช้เป็นคำตอบเพื่อการสร้าง การปกป้อง และการคงอยู่ของประชาธิปไตยในสังคมซึ่งมีความขัดแย้งและแตกแยกสูง

ในประเทศอินโดนีเซียกระบวนการเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นประชาธิปไตยเริ่มต้นอย่างจับต้องได้เมื่อประธานาธิบดีซูฮาร์โต้ลงจากต่ำแหน่งหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี ค.ศ. 1998 ข้อตกลงการแบ่งสรรปันอำนาจในครั้งนั้นตกลงให้มีสมาชิกสภาสรรหา 38 คนที่เป็นทหารและตำรวจ บวกกับสมาชิกสภาที่มาจากการเลือกตั้งอีก 462 คน รวมเป็นฝ่ายนิติบัญญัติทั้งหมด 500 คน ภายในปี ค.ศ. 2004 สมาชิกสภาของอินโดนีเซียทั้งหมดมาจากการเลือกตั้ง  นอกเหนือจากนั้นการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่ผ่านมาไม่กี่วันและออกมาค่อนข้างราบรื่น ก็น่าจะเป็นบทพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการเปลี่ยแปลงของพวกเขาเดินหน้ามาได้ถูกต้อง อย่างน้อยที่สุดก็ตามระบอบกติกาที่ทุกคนเห็นพ้องและเคารพร่วมกัน ผลการสำรวจความน่าเชื่อถือของประชาชนเกี่ยวกับกองทัพในวันที่เป็น “ทหารอาชีพ” ไม่ใช่ “ทหารการเมือง” ก็ดีมากขึ้นและกลายเป็นองค์กรรัฐที่ได้รับความน่าเชื่อถือมากที่สุดในประเทศ

ส่วนกระบวนการเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นประชาธิปไตยในประเทศเมียนมาร์นั้นยังเพิ่งเริ่มต้นขึ้น พวกเขามีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและมีนางอองซานซูจีเป็นผู้นำประเทศโดยพฤตินัย ในสภานิติบัญญัติของเมียนมาร์ทั้งหมด 440 คนมีสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้ง 330 คน และมาจากการแต่งตั้งของกองทัพ 110 คน และแม้ว่าการเมืองในเมียนมาร์ยังมีปัญหามากมาย แต่การเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงในประเทศเพื่อนบ้านเราได้เกิดขึ้นแล้ว สิ่งที่ทั้งนักการเมืองและประชาชนในเมียนมาร์ต้องระมัดระวังก็คือไม่ให้การเพิ่มพูนความเป็นประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นแล้วนั้นต้องถอยหลังลง ความท้าทายที่สำคัญที่สุดของเมียนมาร์ไม่ใช่การกลับไปสู่ยุด “เผด็จการ” แต่เป็นการหยุดอยู่ในวังวนของ “ประชาธิปไตยที่ไร้ความเสรี” (Illiberal democracy) ที่โดนครอบงำโดยด้านมืดของอุดมการณ์ชาตินิยม

สำหรับสถานการณ์ปัจจุบันในประเทศไทย ปัญหาติดอยู่ที่ว่าสถานการณ์การเมืองของเรานั้นตกต่ำมากพอที่จะทำให้ Power-sharing Agreement นั้นเกิดขึ้นได้หรือยัง ทั้งสองฝ่ายโดยเฉพาะ คสช. และแนวร่วมยังคิดว่าฝ่ายตนยังจะชนะได้เบ็ดเสร็จ หากแต่ว่าการมุ่งหน้าทำลายล้างฝั่งตรงข้ามมีแต่จะทำให้ความขัดแย้งเพิ่มขึ้น และในที่สุดอาจจะทำให้ฝ่ายที่เรียกร้องประชาธิปไตยนั้นรู้สึกว่าพวกเขาถูกตัดสิทธิ์จากการมีปากมีเสียงในความเป็นไปของประเทศ (Voter disenfranchisement) ซึ่งนั่นก็หมายความว่าเรากำลังเพิ่มความเสี่ยงของการปะทะบนท้องถนน

เป็นเรื่องแปลกที่ความหวังในการพัฒนาประชาธิปไตยโดยการสูญเสียเลือดเนื้อให้น้อยที่สุดในปัจจุบันคือ วิกฤตรัฐธรรมนูญ (Constitutional crisis) เพราะจะทำให้ทุกฝ่ายเห็นถึงความจำเป็นต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญและอาจจะยอมรับได้เสียทีว่าการเมืองไทยในปัจจุบันที่ฝ่ายหนึ่งรู้สึกถูกเอารัดเอาเปรียบทางกติกาและตกอยู่ในระบอบที่ไม่เป็นธรรม ส่วนอีกฝ่ายก็ตกอยู่ในความกลัวที่จะเสียอำนาจการบริหารให้กับฝ่ายตรงข้ามที่ตนเองไม่มีความไว้เนื้อเชื่อใจนั้น ไม่สามารถเดินไปข้างหน้าได้เพราะเราเริ่มจากรัฐธรรมนูญที่มีปัญหา

วิกฤตรัฐธรรมนูญ จึงเป็นสิ่งที่จะทำให้ทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากันเพื่อหารือให้ประเทศเดินหน้าต่อไป สถานการณ์หนึ่งที่วิกฤตรัฐธรรมนูญจะเกิดขึ้นได้คือฝ่ายเรียกร้อง “ประชาธิปไตย” สามารถรวบรวมเสียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เกิน 250 เสียงแต่ไม่สามารถเลือกนายกฯ ได้เพราะ ส.ว. สรรหามีอยู่ 250 เสียงที่มีสิทธิ์เลือกนายกฯ ที่ฝ่าย คสช. และแนวร่วมมั่นใจว่า “คุมได้”  ทางตันทางการเมืองที่เกิดขึ้นจะทำให้สองฝ่ายหันหน้าเข้าหารือกันเพื่อหาทางออกให้ประเทศและป้องกันการแก้ปัญหาด้วยวิธีเดิมๆ เช่นการเสนอชื่อนายกฯ คนกลางและการตั้งรัฐบาลพระราชทานเฉพาะกาล

แต่ถึงแม้สถานการณ์จะถูกกระตุ้นด้วยวิกฤตรัฐธรรมนูญ (หรือวิกฤตที่หนักหน่วงกว่านั้น) การสร้าง “ประชาธิปไตยแบบร่วมมือ” (Consociational Democracy) ยังจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (Paradigm shift) ทางการเมืองตามที่ผู้เขียนได้กล่าวมาบ้างแล้วในบทความนี้ และเราต้องได้เห็นความกล้าหาญและเสียสละครั้งใหญ่จากผู้นำทั้งสองขั้วการเมือง เหมือนที่คู่ขัดแย้งในอดีตของทั้งประเทศอินโดเซียและเมียนมาร์ (และตัวอย่างอื่นๆ) สามารถทำได้มาแล้ว

หากความกล้าหาญและเสียสละนี้เกิดขึ้นจริง การแบ่งสรรปันอำนาจใหม่อาจจะออกมาเป็นสมการระบอบประชาธิปไตยแบบร่วมมือที่เป็นการร่วมกันตั้งรัฐบาลของสองพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุดบวกกับเสียงจากพรรคเล็กๆ อีกจำนวนหนึ่ง โดยที่พรรคพลังประชารัฐจะคุมกระทรวงที่ดูแลด้านความมั่นคง ส่วนพรรคเพื่อไทยจะคุมกระทรวงด้านเศรษฐกิจ การตกลงจะมีข้อแม้ต่างๆ ที่ครอบคลุมสิ่งที่แต่ละฝ่าย “ยอมได้” และ “ยอมไม่ได้” เช่นการจำกัดอิทธิผลของคุณทักษิณตามความต้องการของพรรคพลังประชารัฐ หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญและปฏิรูปกองทัพตามความต้องการของพรรคเพื่อไทย ในส่วนของการเลือกตัวผู้นำนั้นควรจะเป็นตัวเลือกที่ถูกเสนอชื่อผ่านการเลือกตั้งมาแล้วของ 2 พรรคใหญ่ หรือถ้าจะตกลงกันได้แบบหลุดกรอบไปอีกก็อาจจะแบ่งช่วงเวลาการเป็นนายกฯ ของแต่ละฝ่ายออกเป็นกลุ่มละ 2 ปี หากทุกฝ่ายทำตามข้อแม้ที่ตกลงกันมาก่อนหน้านั้นก็ให้ทำการจัดการเลือกตั้งใหม่หลังจาก 4 ปี หรืออีกความเป็นไปได้หนึ่งของตำแหน่งนายกฯ คือแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคภูมิใจไทยที่ได้คะแนนเป็นลำดับที่ 5

ส่วนพรรคที่คะแนนมาเป็นลำดับ 3 และลำดับที่ 4 คือพรรคอนาคตใหม่และพรรคประชาธิปัตย์จะมีส่วนร่วมด้วยการเป็นฝ่ายค้านในสภาฯ การเลือกเป็นฝ่ายค้านของทั้งพรรคอนาคตใหม่และพรรคประชาธิปัตย์ในสถานการณ์เช่นนี้สำคัญมากต่อการรักษาระบอบประชาธิปไตยซึ่งมี “มาตรการคัดง้างเสียงข้างมาก” (Counter-majoritarian measures) เป็นหัวใจสำคัญ  ในมุมมองของผู้เขียนหากเหตุการณ์ที่กล่าวมาเกิดขึ้นจริงจะถือเป็น “พรที่แฝงมาในความซวย” หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า  “blessing in disguise”  ของทั้งพรรคอนาคตใหม่และพรรคประชาธิปัตย์ พรรคอนาคตใหม่ไม่ต้องการเสียเครดิตและผิดคำพูดที่ไม่สามารถผลักดันนโยบายอะไรเหมือนที่โฆษณาไว้ได้ เป้าหมายของพวกเขาน่าจะเป็นการเลือกตั้งครั้งหน้าเสียมากกว่า ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ต้องการเวลารื้อฟื้นและปฏิรูปพรรค

ดังนั้นสมการการเมืองที่กล่าวมาตามแนวทาง “ข้อตกลงการแบ่งสรรปันอำนาจ” และ “ประชาธิปไตยแบบร่วมมือ” จะแตกต่างจากข้อเสนอ “รัฐบาลแห่งชาติ” พอสมควรเนื่องจากจะมีฝ่ายค้านที่ทำหน้าที่ในสภาได้อย่างเป็นอิสระและนายกฯ ควรเป็นผู้ที่ถูกเสนอชื่อผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว

 

ท้ายที่สุดแล้วการพัฒนาศักยภาพมนุษย์ (human development) และการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (economic development) จะสร้างประชาธิปไตยที่ยั่งยืน

การเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมประชาธิปไตยนั้นเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ มีทฤษฎีที่พยายามพิสูจน์ว่าประชาธิปไตยจะนำประเทศไปสู่การพัฒนาคนและพัฒนาทางเศรษฐกิจ และในทางกลับกันก็มีทฤษฎีที่บอกว่าความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจจะนำพาไปสู่การพัฒนาการทางประชาธิปไตย เรื่องนี้ในวงการวิชาการเถียงกันไม่จบสิ้น เหมือนคำถามไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน แต่มีอยู่ทฤษฎีหนึ่งเกี่ยวกับประชาธิปไตยช่วงเปลี่ยนผ่านที่สามารถพิสูจน์และได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางกว่าทฤษฎีอื่นๆ นั่นคือ  ประเทศที่มีการพัฒนาศักยภาพมนุษย์และการพัฒนาทางเศรษฐกิจสูงที่เป็นประชาธิปไตยได้แล้วจะไม่กลับไปเป็น “เผด็จการ” อีก ซึ่งแตกต่างกับประเทศที่มีการพัฒนาต่ำที่การเปลี่ยนแปลงทางประชาธิปไตยจะไม่ยั่งยืนเท่าและจะกลับไปกลับมา หากเรารักประชาธิปไตยและอยากเห็นประเทศมีประชาธิปไตยอย่างยั่งยืน เราก็ไม่สามารถหยุดการพัฒนาศักยภาพมนุษย์และการพัฒนาทางเศรษฐกิจได้ การเรียกร้องและการหยั่งรากลึกของประชาธิปไตยกับการพัฒนาประเทศจึงเป็นสิ่งที่จะต้องทำควบคู่กันไป เราจะพยายามเรียกร้องแบบดับเครื่องชนจนประเทศหยุดเดินหน้าไม่ได้ และเราจะมุ่งพัฒนาโดยไม่คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพและข้อเรียกร้องของประชาชนจำนวนมากไม่ได้เช่นกัน

“ข้อตกลงการแบ่งสรรปันอำนาจ” (Power-sharing Agreement) ที่นำไปสู่ “ประชาธิปไตยแบบร่วมมือ” (Consociational Democracy) จึงเป็นคำตอบที่ดีที่สุดในสถานการณ์ปัจจุบัน และโจทย์ต่อไปหลังจากนั้นของเราทุกคนคือ จะทำอย่างไรไม่ให้การพัฒนาทางประชาธิปไตยหยุดอยู่แค่การแบ่งสรรปันอำนาจของชนชั้นปกครองทั้งหลาย

สุดท้ายนี้ผู้เขียนอยากยกคำพูดของอาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เพื่อหวังว่าชนชั้นนำของเราจะมีความเสียสละมากพอที่จะไม่นำพาประเทศของเรากลับไปสู่การสู้รบและสูญเสียเลือดเนื้อของประชาชนคนไทยด้วยกันเองอีกครั้ง “คนรักประชาธิปไตยก็มาก คนชอบรัฐประหารก็มี ตรงนี้เราต้องระวัง เพราะสังคมที่ปั่นป่วนที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษย์ คือสังคมที่มันมีกำลังก้ำกึ่งมาขัดแย้งกัน มันเคยเกิดขึ้นในหลายแห่ง เช่น ในแอฟริกา กัมพูชา เกาหลี เวียดนาม และก็กำลังเกิดมากขึ้นเรื่อยๆ ในตะวันออกกลาง เราควรจะดูสภาพเหล่านี้เป็นบทเรียน ปัญหายังแก้ได้ แต่ทุกฝ่ายจะต้องไม่เอาตัวเองเป็นตัวตั้ง เราจะต้องมองภาพรวมให้ออก คือ ถ้าเอาแพ้เอาชนะกันไม่ได้ ก็ต้องยอมรับการประนีประนอม”

.

บทความโดย ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ

Predoctoral Fellow สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนักศึกษาปริญญาเอก คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด

podcast

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า