Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

เป้าหมาย เส้นชัย จุดสูงสุดในสายอาชีพของคุณอยู่ตรงไหน?

ช่วงเวลาตลอดชีวิตของคน ๆ หนึ่ง จะมีโอกาสไปยืนบนจุดนั้นกันได้ทุกคนหรือไม่?

ตำแหน่ง ‘ศิลปินแห่งชาติ’ ที่ได้รับการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติจากคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เป็นการยืนยันถึงคุณสมบัติของศิลปินว่ามีความสามารถ มีผลงานสร้างสรรค์ เป็นที่ยอมรับของวงการ และเป็นทรัพยากรบุคคลสำคัญทางด้านศิลปะที่มีผลงานเป็นประโยชน์ต่อสังคม แท้จริงนั้นสำคัญอย่างไร?

วันนี้ workpointTODAY ชวนคุณไปรู้จักเรื่องราวและเส้นทางแห่งความหมายของศิลปิน 12 คน ที่ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2563 ณ โมงยามที่สภาพแวดล้อมและสังคมรอบตัว เปลี่ยนแปลงไปจากจุดเริ่มต้นของพวกเขามากเหลือเกิน

ศิลปะคือการเรียนรู้ตลอดไป

“ผมโตมากับดนตรีไทย ลืมตาขึ้นมาที่บ้านก็เป็นโรงเรียนสอนดนตรีแล้ว มากไปกว่านั้น ละแวกบ้านก็เป็นนักดนตรีกันหมด ไม่ว่าจะโขน ละคร ลิเก ดนตรี เราเติบโตมาโดยเห็นสิ่งนี้เป็นเรื่องปกติธรรมดา ก็เลยเรียนรู้และอยู่กับมันมาแบบอัตโนมัติ” นายปี๊บ คงลายทอง ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) กล่าว

เพราะเติบโตมาในครอบครัวศิลปินดนตรีไทย จบการศึกษาด้านดนตรี และทำงานในสำนักการสังคีต กรมศิลปากรมาจนกระทั่งเกษียณอายุ นายปี๊บจึงถือเป็นบุคคลที่เรียกได้ว่าคลุกคลีอยู่ในแวดวงของดนตรีไทยมาตลอดทั้งชีวิต

“จะว่าอย่างนั้นก็ได้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราไม่สนใจอย่างอื่นเลย ยุคนั้นก็เริ่มมีดนตรีสากล มีสุนทราภรณ์เข้ามาแล้ว เราก็มีฟัง มีแอบไปลองเล่นบ้าง แต่สุดท้ายเราก็มีสิ่งที่เรารัก นั่นคือดนตรีไทย”

นายปี๊บ เชี่ยวชาญด้านการเล่นเครื่องเป่า ทักษะชั้นสูงในการควบคุมลมของเขา ไม่ว่าจะเป็นปี่หรือขลุ่ย ล้วนถูกจัดอยู่ในขั้นเชี่ยวชาญ ถ่ายทอดเสียงออกมาได้อย่างไพเราะ มีชั้นเชิง นายปี๊บเล่าว่านั่นคือความงดงามที่ถูกขัดเกลาด้วยประสบการณ์มาตลอดหลายปี

“คนทั่วไปอาจจะไม่เข้าใจว่าทำไมดนตรีไทยเล่นแต่เพลงเดิม ๆ เพลงเก่า ๆ ที่จริงไม่ใช่ว่าเราไม่มีเพลงใหม่เลย แต่ด้วยบริบทที่เราต้องแสดงในงานสำคัญ งานรัฐพิธี งานพระราชพิธี งานสนองเบื้องพระยุคลบาท แสดงต่อหน้าเจ้านาย บทเพลง ท่ารำที่ละเอียด ประณีต งดงาม เป็นสิ่งที่เราต้องฝึกฝนและขัดเกลาให้สมบูรณ์ตามอย่างต้นฉบับ เพลงใหม่อาจจะไม่สามารถถ่ายทอดไปถึงจุดนั้น มันจึงเป็นเหตุให้เราเรียนรู้และฝึกซ้อมเพลงเดิม ๆ ให้มันแหลมคม สวยงาม เพื่อทำการแสดงในช่วงเวลาสำคัญ บางงานปีหนึ่งจัดเพียงครั้งเดียวเท่านั้น มันเป็นชั่วขณะที่เราจะพลาดไม่ได้เลย” นายปี๊บ อธิบายในฐานะอดีตหัวหน้ากลุ่มดุริยางค์ไทย

แต่ใครจะรู้ว่าการพยายามศึกษาเครื่องเป่าให้เชี่ยวชาญเพียงอย่างเดียว ก็ใช้แทบทั้งชีวิตแล้ว

“ในวงดนตรีเราจะมีดีดสีตีเป่าใช่ไหมครับ หน้าที่การเป่าปี่ ขลุ่ย ปี่ชวา หรือปี่ใน อันนี้จะเป็นตำแหน่งของผม ความสำคัญของเครื่องเป่าในวงดนตรี คือการเชื่อมต่อเสียงเครื่องดนตรีชนิดอื่น ๆ ให้ไปด้วยกัน จะเห็นว่าบางทีเราได้ยินเสียงปี่สูงขึ้นไป แล้วหวนกลับมารวมกับเพื่อน อันนี้คือสิ่งที่ช่วยเสริมให้เพลงมันมีขึ้นมีลง แต่ความยากของการเป่า คือ การระบายลม ลมหายใจที่เราหายใจกันทุกวันนี่ล่ะ เป่ายังไงให้ไม่เห็นรอยต่อของลม ไม่หมดลมก่อน แต่ละเพลงมีจังหวะการหายใจไม่เหมือนกัน แล้วรู้ไหมว่าเครื่องดนตรีอะไรที่คุมลมยากที่สุด ขลุ่ยครับ อันนี้ยากที่สุดเลย เพราะมันไม่มีจุดให้พักลม ซึ่งมันก็คือความท้าทายที่เราต้องฝึกให้เชี่ยวชาญ”

นายปี๊บ บอกว่า แม้จะใช้เวลาทั้งชีวิต แต่การเรียนรู้ในศาสตร์แห่งการเป่า ถึงอย่างไรก็ไม่มีวันสิ้นสุด และแม้จะได้รับตำแหน่งศิลปินแห่งชาติ ท่านก็ยังบอกว่าตนเป็นเพียงปลายน้ำของสายธารแห่งนาฏศิลป์ไทย และไม่มีวันยกตนเองให้ยิ่งใหญ่ไปกว่าครูดนตรีและคนเก่ง ๆ ในสมัยก่อนได้

“ก็ดีใจนะครับ เพราะเราก็ไม่นึกไม่ฝันว่าข้าราชการอย่างเราจะได้รับตำแหน่ง แต่ก็น่าเสียดายที่ตำแหน่งนี้ไม่สามารถเป็นของใครหลายคนในรุ่นก่อนหน้าเราได้ เทียบกันแล้วผมเป็นแค่นักดนตรีตัวน้อย ๆ เท่านั้น”

แต่เพราะดนตรีไทยเป็นสมบัติสำคัญของชาติ สิ่งที่ครูปี๊บปรารถนาที่จะทำในช่วงชีวิตที่เหลือ จึงเป็นการเรียนรู้และสืบทอดต่อไป เพื่อให้เด็กไทยได้รู้จักความงดงามของดนตรีของชาติ ที่ไม่มีใครทำได้เหมือนเรา

มากกว่าการเรียนโขน คือ การเรียนคุณธรรม

“ถ้าถามผมว่าโขนคืออะไร ผมคงตอบได้ว่าโขนคือส่วนหนึ่งของชีวิต” นายประเมษฐ์ บุณยะชัย ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์ – โขน) กล่าว

ย้อนไปในสมัยก่อน นายประเมษฐ์ เล่าว่า เพราะครอบครัวมีความหัวโบราณและเป็นสังคมแบบเก่า ท่านจึงไม่ได้รับการสนับสนุนให้เรียนโขนเท่าไหร่นัก เหตุเพราะทางบ้านไม่มองว่าคนที่ทำอาชีพเกี่ยวกับนาฏศิลป์​หรือการละครเป็นสิ่งที่น่าเคารพ หรือจะประสบความสำเร็จไปกว่าคนที่ตั้งใจร่ำเรียนศึกษาเท่าใดนัก แต่อาจเป็นเพราะความดื้อดึง หรือจะเรียกได้ว่าความมุ่งมั่น เขาจึงได้มีโอกาสรู้จักสิ่งที่เขาจะรักไปตลอดชีวิต

“ในยุคผมเรามีโขนให้ชมมาตั้งแต่เด็ก เวลามีโขนแสดงผมก็มีโอกาสได้ไปดู ตอนนั้นยังเด็กอยู่เราก็รู้แค่ว่ามันสนุก อยากดูอีก อยากลองเล่นบ้าง จนมันเกิดเป็นความสนใจที่จะเรียนรู้ ฝึกฝน พอได้เรียนจนจบมาก็ได้เข้ารับเลือกให้เข้ารับราชการในวิทยาลัยนาฏศิลป จากนั้นก็เป็นครูต่อมาจนกระทั่งเกษียณ เรียกได้ว่าชีวิตผมอยู่กับโขนมากว่า 50 ปีแล้ว”

เมื่อถูกถามว่าความพิเศษของโขนคืออะไร นายประเมษฐ์ในฐานะผู้จัดทำบทโขน ละคร ฝึกซ้อม กำกับการแสดง ให้กับวิทยาลัยนาฏศิลป สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และสถาบันอื่น ๆ ใช้เวลาคิดพักใหญ่ ก่อนจะตอบว่ามันคือ ‘ความงาม’ ทั้งท่วงท่าการร่ายรำ บทละคร ดนตรีไทยที่ช่วยส่งให้เนื้อเรื่องดำเนินต่อไปจนจบ ทั้งหมดคือการร้อยเรียงอย่างประณีต ในฐานะที่เคยเป็นเพียงคนดู ท่านไม่เคยรู้มาก่อนว่าการแสดงหนึ่งครั้งต้องผ่านการฝึกฝนมากมายขนาดนี้ และนี่คือสเน่ห์ของโขนที่ทำให้หลงรัก และผันตัวจากคนดู มาเป็นคนเรียน จนกระทั่งกลายเป็นครูของนักเรียนอีกหลาย ๆ คนจนถึงปัจจุบัน

“มากกว่าการเรียนโขน คือผมได้เรียนรู้เกี่ยวกับคุณธรรม รู้จักความดีความชั่ว ความกตัญญู และกริยามารยาท เราได้เรียนรู้มาทั้งหมดผ่านบทละคร ถ้าใครไม่เคยสัมผัสอาจจะไม่รู้ แต่ในฐานะครูโขนคนหนึ่งมองว่าโขนเป็นศาสตร์ที่สวยงาม ผมหวังว่ามันจะมีชีวิตอยู่ต่อเพื่อเป็นทั้งความบันเทิงและบทเรียนให้คนอื่นต่อ นี่คือเป้าหมายหลักของผมเลย”

นายประเมษฐ์ บอกว่าก่อนจะได้รับตำแหน่งศิลปินแห่งชาติ ท่านไม่ได้มีความคาดหวังอะไรกับตำแหน่งนี้มากนัก เพราะการทำงานที่ผ่านมาถือเป็นรางวัลที่ได้รับมาก่อนแล้ว และให้น้ำหนักของความสำเร็จในการเป็น ‘ครู’ มากกว่าถ้วยรางวัลชื่ออื่น ๆ

“ส่วนมากผมถือคติว่าทำแล้วก็แล้วกัน ไม่ได้คาดหวังอะไร แต่พอได้มาแล้วก็ดีใจที่มีคนเห็นความสำคัญของเราและงานของเรามากขึ้น เราก็ทราบดีว่าตำแหน่งนี้ก็ไม่ใช่จะได้กันง่าย ๆ ผมก็ขอบคุณทางคณะกรรมการมากที่พิจารณาว่าผมมีความรู้ความสามารถมากพอ แต่สิ่งที่ผมยังยึดถือเสมอคือ การที่เราได้สอน แล้วลูกศิษย์ทำได้ นี่คือความภาคภูมิใจสูงสุด มันคือสิ่งที่ผมให้ความสำคัญ”

แน่นอนว่าสภาพแวดล้อมและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป อาจทำให้การแสดงโขนไม่ได้รับความนิยมอย่างเก่า แต่ท่านก็พร้อมจะเรียนรู้และปรับตัว เพื่อสืบต่อศิลปะการแสดงที่งดงามนี้ให้คงอยู่สืบไป

“สิ่งที่ผมอยากฝากให้คนที่จะทำงานสายนาฏศิลป์ หนึ่งคือคุณต้องมีองค์ความรู้ที่ค่อนข้างชัดเจนและถูกต้อง เราจะทำงานต้องแยกสองอย่าง คือเรื่องนาฏศิลป์แบบพัฒนา คุณจะปรับอย่างไรผมไม่ว่า แต่คุณก็ต้องยึดเอาเอกลักษณ์ ความงดงามของนาฏศิลป์ไทยเอาไว้ จะปรับส่วนอื่นอย่างไรก็ได้แต่ส่วนนี้ยังต้องอยู่ และหากคุณจะทำงานเชิงอนุรักษ์ คุณก็จะต้องรักษาสิ่งที่เป็นจารีตประเพณีเอาไว้ให้ได้มากที่สุด ผมว่าถ้าทำได้อย่างนี้ เราก็จะประสบความสำเร็จ ทั้งในแง่ของการสืบทอดและการทำงานนี้ไปตลอดเส้นทาง”

อดีตถ้าไม่ศึกษา ก็ไม่รู้ที่มาปัจจุบัน และไม่รู้วิธีสร้างสรรค์อนาคต

“เพลงพื้นบ้านมันคือเรื่องของชาวบ้าน มันคือเรื่องเรา” นายประทีป สุขโสภา ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงพื้นบ้าน) พูดถึงงานศิลปะที่ท่านอยู่ด้วยกันมาทั้งชีวิต

“เราก็ชอบร้องชอบแหล่มา เรียนมาแบบครูพักลักจำ ฟัง ๆ เขามาแล้วก็ร้องตาม มันเป็นเรื่องธรรมดามากเลยสมัยผมเด็ก ๆ”

นายประทีปบอกว่า การร้องเพลงพื้นบ้านเป็นความบันเทิงไม่กี่อย่างในช่วงวัยเด็กของท่านทีแรกไม่ได้คิดจะยึดเป็นอาชีพ แต่เพราะความหลงใหลใจรัก และคิดว่าตนสามารถทำได้ดี ด้วยความสนใจใฝ่รู้ทั้งในด้านเพลงพื้นบ้าน ศิลปะ ดนตรี และการขับร้องทำนองไทย นายประทีปศึกษาเรียนรู้ทั้งจากภิกษุ พ่อเพลงแม่เพลง และศิลปินชื่อดังจนแตกฉาน จนสามารถถ่ายทอดและพัฒนาความรู้ความสามารถ และสร้างอัตลักษณ์ที่โดดเด่นเป็นที่ยอมรับได้

“ตำแหน่งนี่ถ้าเป็นเมื่อ 30 กว่าปีก่อน ผมก็เคยอยากได้นะ เราเป็นศิลปินตัวเล็ก ๆ ร้องเพลงพื้นบ้าน ก็อยากมีชื่อมีตำแหน่งแบบคนอื่นเขา แต่ตอนนั้นยังไม่ค่อยมีประสบการณ์ ผลงานอะไรก็ไม่ค่อยโดดเด่นก็เลยเลิกสนใจ”

ความโดดเด่นของนายประทีป คือท่านสามารถฟื้นฟูการร้อง ‘เพลงขอทาน’ ประกอบการขยับกรับชนิดกลม (Claves) สองคู่ ขณะแสดงก็สามารถขับร้องทำนองต่าง ๆ เช่น ขับเสภา ร้องเพลงแหล่ และเพลงพื้นบ้านอื่น ๆ ได้อย่างชำนาญ มีไหวพริบ และมีอารมณ์ขัน

สิ่งที่ทำให้ท่านอยู่กับเพลงพื้นบ้านได้แบบไม่ไปไหนนั้น นายประทีปบอกว่ามันคือความสนุก “เพลงพื้นบ้านมันสนุก เพราะมันคือเรื่องชาวบ้าน เล่าง่าย ๆ เล่าสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวเรา ผมเลยเสียดายที่เพลงเก่า ๆ ไม่ค่อยได้รับความสนใจเท่าไหร่” นายประทีป บอกว่า ท่านเข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลงของโลก และเข้าใจว่าสิ่งเก่า ๆ นั้นมีวันที่จะต้องหายไป แต่ถึงอย่างไร ในฐานะศิลปินและครูอาจารย์ หน้าที่ของท่านก็คือการยื้อชีวิตของเพลงพื้นบ้านให้นานที่สุด และการได้รับตำแหน่งศิลปินแห่งชาติ ก็ถือเป็นตัวช่วยที่ทำให้ท่านสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ของตัวเองได้ง่ายมากขึ้น

“ตอนนี้ผมเองก็ยังสับสนอยู่เลยว่าผมได้ตำแหน่งได้อย่างไร แต่ก็รู้สึกดีใจ และขอบคุณมาก เพราะมันก็คงเป็นจุดสูงสุดในอาชีพของใครหลายคนแล้ว ตอนนี้ผมก็ไม่อยากได้อะไรนอกจากได้สอนเพลงพื้นบ้านต่อ แม้ว่าสุขภาพร่างกายอาจจะไม่ค่อยดีแล้ว เด็ก ๆ ที่สนใจเพลงพื้นบ้านหรือการขับเสภามันมีอยู่นะ แต่เสียดายที่เขาอาจจะไม่ได้เจอครูดี ๆ ก็มีร้องผิดร้องถูก คนฟังบางทีเขาก็ไม่รู้หรอก ผมเองก็อยากสอนการร้องแบบที่ถูก สอนเพลงเก่า ๆ ให้เขา จะได้เอาไปสอนเด็กต่อได้”

“ผมอยากให้คนรุ่นใหม่สนใจทำนองเก่า ๆ หรือเนื้อเพลงเก่า ๆ ไว้บ้าง เนื้อเพลงบางเพลงนั้นสอนอะไรเยอะแยะเลย บางเพลงสอนประวัติศาสตร์ด้วยซ้ำ และมันคือสิ่งที่เป็นอดีตของเรา การรู้จักเพลงพวกนี้ นอกจากจะรักษาเพลงพื้นบ้านไว้ ก็เป็นการรักษาอดีตของเราไว้ด้วย เพราะอดีตถ้าไม่ศึกษา ก็ไม่รู้ที่มาปัจจุบัน แล้วก็จะไม่รู้วิธีสร้างสรรค์อนาคต ก็อยากให้คนรุ่นใหม่ไม่ลืมอดีตครับ”

ประตูของวงการศิลปะเปิดรับทุกคนเสมอ ทั้งหมดอยู่ที่ความตั้งใจ

“ประเภทของศิลปะในปัจจุบันมีหลากหลาย คุณอาจจะไม่ต้องเขียนรูปเป็นเลยก็ได้ เพราะมีเทคโนโลยีช่วยคุณทำงานศิลปะ” นายอำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม-สื่อผสม) ผู้มีชื่อเสียงจากผลงานศิลปะนามธรรมเหมือนจริงชุด “เงาสะท้อน” และงานจิตรกรรมสร้างชื่ออย่างงานชุด จิตรกรรมสื่อผสมจากวัสดุสำเร็จรูปทับซ้อนในจิตรกรรม รวมถึงได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานแสดงศิลปะระดับโลกอีกหลายครั้ง กล่าวถึงความต่างของการเริ่มต้นเป็นศิลปินในปัจจุบันและในสมัยก่อน

“โดยปกติแล้วศิลปินทุกคนก็พยายามสื่อสารอะไรบางอย่างผ่านผลงานของตัวเอง เล่าเรื่องบางอย่างผ่านงานตัวเอง ไม่ว่าจะตอนไหนก็เป็นแบบนั้น เพียงแต่อาจจะใช้เครื่องมือต่างกันไปในแต่ละยุค”

แม้เทคโนโลยีมีส่วนทำให้คนรุ่นใหม่สามารถเป็นศิลปินได้ง่ายกว่า สามารถศึกษาหาข้อมูล ถ่ายทอดความคิดของตัวเอง พร้อมกับสร้างโอกาสให้คนเห็นผลงานของตัวเองได้ง่ายขึ้น หากเปรียบเทียบกับในอดีต หากไม่มีพื้นฐานการวาดภาพ หรือมีความรู้เรื่องสี ก็อาจเป็นศิลปินได้ยาก แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าคุณค่าของงานศิลปะในยุคใหม่ จะไม่เท่าเทียมกับการสร้างสรรค์แบบดั้งเดิม

“ที่พูดก็ไม่ได้มองว่ามันเป็นเรื่องผิดอะไรนะครับ เพราะการมีเครื่องมือที่ช่วยมันก็ทำให้เราได้เห็นผลงานศิลปะที่มันแปลกหมาย หลากหลาย และคิดนอกกรอบมากขึ้น ผมมองว่าอันนี้คือสิ่งสำคัญเลย เราได้เห็นศิลปินหลายคนถ่ายทอดความคิด ความสนใจของตัวเอง ไม่ว่าจะพูดถึงเหตุการณ์ปัจจุบัน การเมือง อะไรก็ตามที่ศิลปินคนนั้นสนใจ เขาก็สามารถสะท้อนเรื่องราวพวกนี้ผ่านงานของตัวเองได้ ส่งต่อให้คนอื่นเห็นได้ ผมมองว่ามันก็เป็นเรื่องดี”

ในฐานะศิลปินที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับในต่างประเทศและครูที่สอนศิลปะมานานหลายสิบปี นายอำมฤทธิ์มองว่า ที่จริงความสามารถของศิลปินในไทยไม่ได้ด้อยไปกว่าศิลปินประเทศอื่น ๆ เพียงแต่ขาดการผลักดันและชี้นำเท่านั้น ท่านจึงคิดว่าตำแหน่งศิลปินแห่งชาติที่ได้รับมาจะทำให้ท่านสามารถเดินหน้าส่งต่อความรู้ และผลักดันวงการศิลปะต่อไปได้

“ตำแหน่งแบบนี้ ไม่ใช่เราจะไปขอได้เอง แต่ต้องมีคนเห็นคนรู้จัก ดังนั้นก็เลยไม่เคยคาดหวังเลย แต่พอได้มาแล้วก็แน่นอนว่าเราดีใจ แล้วก็จะใช้มันเพื่อถ่ายทอดความรู้ให้คนรุ่นใหม่ ๆ โลกปัจจุบันมีเครื่องทุ่นแรงเยอะก็จริง แต่ผมว่าสำคัญที่สุด คุณต้องมีใจรัก มีความปรารถนาที่จะเป็นศิลปินจริงๆ มันถึงจะเป็นได้ ประตูของวงการนี้เปิดรับทุกคนเสมอ ทั้งหมดอยู่ที่ความตั้งใจว่าอยากไปทางนี้จริงหรือเปล่า หลังจากนั้นค่อยมาดูว่าเราถนัดอะไร จะใช้เครื่องมืออะไร และจะใช้ความสามารถที่เรามีอย่างไรถึงจะไปถึงฝันได้”

ถ้ารักอาชีพนี้ ก็ต้องขยัน และทำให้ดีที่สุด

ตลอดระยะเวลากว่า 90 ปี หรือชั่วชีวิตของ นายปง อัศวินิกุล ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ผู้กำกับระบบเสียง สร้างสรรค์ และบันทึกเสียงภาพยนตร์) ท่านทำงานคลุกคลีอยู่ในวงการบันทึกเสียงภาพยนตร์ ตั้งแต่ยุคที่เสียงดนตรี เสียงพากย์ เสียงพูด หรือทุกอย่างที่เกี่ยวกับการได้ยินในหนังเรื่องหนึ่งถูกปรุงแต่งขึ้นมาในห้องอัดเสียงห้องเดียว

นายปง เริ่มต้นทำงานในแวดวงนี้ตั้งแต่อายุประมาณ 20 ปี โดยทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยของรัตน์ เปสตันยี ผู้ก่อตั้งหนุมานภาพยนตร์ ซึ่งเป็นครูผู้ถ่ายทอดวิชาการผลิตภาพยนตร์ให้แก่นายปงเป็นคนแรก เขาทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยกล้อง ผู้บันทึกเสียง และผู้กำกับระบบเสียงภาพยนตร์ที่ได้มีโอกาสบันทึกเสียงผลงานภาพยนตร์หลายเรื่อง รวมถึงได้รู้จักกับศาสตร์แห่งการพากย์ การผสมเสียง ทั้งเสียงพูด เสียงดนตรี และเสียงประกอบภาพยนตร์

ประสบการณ์คือสิ่งที่หล่อหลอมให้ความเชี่ยวชาญของนายปง อัศวินิกุล แหลมคมจนท่านตัดสินใจออกมาสร้างห้องบันทึกเสียงที่สามารถสร้างสรรค์ทำเสียงเอฟเฟค และผสมเสียงได้เป็นแห่งแรกในประเทศไทย โดยใช้ชื่อว่า “ห้องบันทึกเสียงรามอินทรา” หรือ “ห้องปง” เพื่อสร้างสรรค์งานเสียงให้กับภาพยนตร์ไทยมาตลอดหลายสิบปี

“จากที่เคยมีคนช่วย พอออกมาก็ต้องทำเองทั้งหมด แต่เราคิดกับตัวเองไว้แล้วว่าจะไม่ยอมมีนายคนที่สอง ก็เลยต้องทำให้เต็มที่ เรารับงานใครมาเราก็ต้องทำให้ดี จะได้ไม่เสียชื่อ ถ้าเรารักอาชีพนี้ ก็ต้องขยัน และทำให้ดีที่สุด”

ผลงานภาพยนตร์ที่โดดเด่นของห้องบันทึกเสียงรามอินทรา ได้แก่ ชั่วฟ้าดินสลาย, รักริษยา, บางระจัน, ต้มยำกุ้ง 2 ฯลฯ ซึ่งก็เป็นตัวการันตีคุณภาพของบันทึกเสียงรามอินทรา ที่ไม่เคยหยุดค้นคว้าหาความรู้มาพัฒนาคุณภาพของระบบเสียงภาพยนตร์ ซึ่งได้ช่วยยกระดับวงการภาพยนตร์ไทยให้ก้าวหน้ามาตลอดหลายปี

ความงาม เป็นสิ่งเนรมิตได้ตามใจปรารถนา

ย้อนกลับไป 50 กว่าปีก่อน คือช่วงเวลาที่แวดวงศิลปะไทยได้รู้จักกับผลงานศิลปะเชิงนามธรรม (Abstact Art) ศาสตราจารย์กิตติคุณกำจร สุนพงษ์ศรี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) เป็นหนึ่งในนักศึกษาที่สนใจศึกษาการวาดภาพและถ่ายทอดงานศิลปะชนิดนี้ ในยุคที่อาชีพศิลปินยังเป็นที่ยอมรับกันในแวดวงที่จำกัด

“ผมคิดว่าจุดมุ่งหมายในการทำงานศิลปะ เราจะต้องกำหนดคอนเทนต์หรือเนื้อหา เรื่องราวที่เราอยากสื่อสาร โดยปกติคนมีแนวคิดในการค้นหาความรู้ที่มันค่อนข้างหลากหลาย บางคนก็สนใจที่จะถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับความจริง ขณะที่บางคนสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับความงาม คือจะทำยังไงก็ได้ให้งาม แล้วก็มีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ค้นหาเกี่ยวกับความดี และเชื่อว่างานศิลปะต้องสั่งสอนคนให้เป็นคนดี ทั้งหมดนี้ไม่มีถูกมีผิด แล้วแต่ความชอบของศิลปินคนนั้น”

เมื่อถามหาคำตอบของศาสตราจารย์กิตติคุณกำจร ท่านบอกว่าตัวเองคือศิลปินที่มุ่งเน้นไปสื่อสารผลงานด้านความงามและการจินตนาการ เพราะเชื่อว่าความงามเป็นสิ่งเนรมิตได้ ตามใจปรารถนา ความดีอาจถูกสอนสั่งจากกลุ่มคนที่ทำหน้าที่นี้โดยตรง และความจริงอาจมีศิลปะชนิดอื่นอย่างภาพถ่ายและงานภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดออกมาได้ชัดเจนกว่า

แต่งานศิลปะที่ส่งต่อความงาม จะสร้างความจรรโลงใจ และแผ่ขยายออกไปได้มาก นั่นคือเป้าหมายในการเป็นศิลปินของศาสตราจารย์กิตติคุณกำจร ท่านจึงมุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลงานด้านทัศนศิลป์ จิตรกรรม และประติมากรรม ซึ่งก็เป็นที่ชื่นชอบและได้รับความนิยมในหมู่นักสะสมทั้งไทยและต่างประเทศ

ศาสตราจารย์กิตติคุณกำจรเคยได้ดำรงตำแหน่งประธานชมรมแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย นายกสมาคมศิลปกรรมไทย อีกทั้งได้รับการยกย่องให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์กิตติคุณของคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และตำแหน่งทางวิชาการอื่น ๆ อีกมากมาย

“ตอนที่ผมเป็นครู สิ่งเดียวที่ผมอยากถ่ายทอดคือความรู้ที่หวังว่ามันจะสร้างประโยชน์ให้กับลูกศิษย์ ผมคิดแค่ว่าจะสอนให้เขารู้ว่างานศิลปะมันสำคัญกับชีวิตยังไง” ส่วนลูกศิษย์จะนำความรู้ที่ได้ไปกำหนดจุดมุ่งหมาย หรือค้นหาว่าตัวเองต้องการอะไรต่อ นั่นเป็นเรื่องของพวกเขาเอง

ตลอดชีวิตการสร้างสรรค์ผลงานและการรับราชการของศาสตราจารย์กิตติคุณกำจร แสดงให้เห็นถึงความรัก ความผูกพัน และความปรารถนาดีต่อวงการศิลปะ รวมถึงลูกศิษย์รุ่นหลัง ทำให้ท่านได้รับตำแหน่งศิลปินแห่งชาติที่เป็นดั่งรางวัลของการทำงานหนักตลอดช่วงชีวิตที่ผ่านมา

“ขอบคุณที่ยังมีโอกาสให้ผมได้รับตำแหน่งนี้ ทั้งที่ผมทำทุกอย่างมาตั้งแต่ในอดีต ผมไม่เคยคาดหวังว่าจะได้รับ และคิดว่ามันน่าสนใจที่สังคมได้มีโอกาสยกย่องให้คนทำงานตลอดชีวิตได้รับเกียรตินี้”

จงเป็นศิลปินที่เสมอต้นเสมอปลาย

นางรุ่งฤดี เพ็งเจริญ หรือชื่อในวงการคือ รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล – ขับร้อง) อาจเรียกได้ว่าเป็นศิลปินแห่งชาติที่คนไทยได้ยินชื่อของท่านบ่อยครั้ง หรือต่อให้ไม่เคยได้ยินชื่อ ใครที่เคยฟังเพลงลูกกรุงก็น่าจะเคยฟังผลงานอมตะของท่าน ที่ยังคงถูกขับร้องให้ได้ยินอยู่เนือง ๆ กันมาบ้าง ไม่ว่าจะเป็นบทเพลง เอาความขมขื่นไปทิ้งแม่โขง หลานย่าโม พัทยาลาก่อน แม่สอดสะอื้น คนหน้าเดิม สตรีที่โลกลืม และโจโจ้ซัง ฯลฯ เป็นต้น

“เราสนใจการร้องเพลงมาตั้งแต่เด็ก แล้วก็โชคดีที่ตอนเรียนมัธยมมีผู้ใหญ่สนับสนุนให้ไปสมัครเป็นนักร้องสุนทราภรณ์ ที่กรมประชาสัมพันธ์ พอเข้าได้เราก็เลยตัดสินใจลาออก มาบรรจุเป็นข้าราชการ แล้วก็เริ่มต้นชีวิตการทำงานในฐานะนักร้องตั้งแต่นั้น”

นางรุ่งฤดี ทำงานเป็นนักร้องที่กรมประชาสัมพันธ์อยู่ประมาณ 3 ปีก่อนจะออกมาเริ่มต้นชีวิตในฐานะนักร้องอิสระ โดยสมัครเข้าไปทำงานในไนท์คลับ

“สมัยที่ยังมีไนท์คลับก็สนุกมากค่ะ เราร้องเพลงที่นี่ตอนกลางคืน แล้วกลางวันก็ได้มีโอกาสได้ไปอัดแผ่นเสียง ตอนเย็นร้องเพลงที่สวนอาหาร แล้วก็วนมาที่ไนท์คลับอีก เมื่อก่อนชีวิตการทำงานยุ่งมาก แต่ก็สนุก เราเป็นแบบนี้อยู่เกือบ 30 ปี มีบ้างที่ได้ไปโชว์ตัวต่างจังหวัดเพราะเพลงเริ่มดัง ได้เจอแฟนคลับ เจอคนที่ชอบเรา เป็นช่วงชีวิตที่ดีมาก”

นางรุ่งฤดีทำงานวนเวียนอยู่ในวงการบันเทิงและแผ่นเสียง เส้นทางสายศิลปินกว่าครึ่งศตววรษในวงการดนตรีไทยสากล การันตีถึงความรักในอาชีพ และความปรารถนาดีต่อสังคมที่เห็นได้จากการร่วมขับร้องเพลงตามงานการกุศลทั้งในและ ต่างประเทศ เพื่อหารายได้มอบให้มูลนิธิต่าง ๆ ทั้งยังทำหน้าที่เป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ด้านการขับร้องเพลงลูกกรุงเพื่อสืบสานมรดกเพลง ลูกกรุงให้คนรุ่นใหม่ได้รู้จักตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

“ที่จริงเด็ก ๆ รุ่นใหม่เองก็เก่งมาก ๆ เสียงดี และมีมารยาทน่ารัก อยากให้น้อง ๆ เป็นศิลปินที่เสมอต้นเสมอปลายแบบนี้ต่อไป ทางนี้ก็คอยชมผลงานอยู่ค่ะ ส่วนตำแหน่งศิลปินแห่งชาติที่ได้ ถือเป็นความฝันสูงสุดเลย ก่อนหน้านี้เคยได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทานมาแล้ว 2 ครั้ง ก็เลยมีความหวังว่าอยากจะได้รับตำแหน่งนี้บ้าง ขอขอบคุณทางกระทรวงวัฒนธรรมมาก ๆ ที่มอบให้ มันคือความสำเร็จสูงสุดของการเป็นนักร้องเลยค่ะ”

ทำให้ดีที่สุด

แม้จะเป็นคติอันเรียบง่าย แต่ก็สื่อสารได้ถึงความทุ่มเทและตั้งใจตลอดระยะเวลาหลายสิบปีของ นายสําเริง แดงแนวน้อย ในฐานะช่างประณีตศิลป์ ชั้น 3 แห่งกองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร และ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์-แกะสลักไม้)

นายสําเริง แดงแนวน้อย หรือ ปู่จิ๋ว หลงใหลในงานแกะสลักไม้มาตั้งแต่วัยเยาว์ ท่านได้รับแรงบันดาลใจจากคนรอบข้าง รวมถึงครอบครัว ซึ่งประกอบอาชีพช่างไม้อยู่แล้ว จึงได้มีโอกาสเรียนรู้ ฝึกฝน และพัฒนาทักษะด้านช่างไม้และช่างศิลป์ตลอดมา

“ทีแรกมันก็เป็นแค่สิ่งที่เราชอบ ชอบแกะ มีที่ว่างตรงไหนก็แกะ ไม้ท่อนเดียวก็นั่งแกะ แต่ตอนนั้นก็ยังไม่ได้คิดจะเอาเป็นอาชีพอะไร เรียนไปทีแรกมีสิ่วให้แค่ 7 เล่มเอง ทำอะไรยังไม่ค่อยได้เลย ก็ฝึกไปจนเริ่มเชี่ยวชาญ กระทั่งอายุประมาณ 20 ปี เราไม่รู้จะทำงานอะไรดี สุดท้ายก็เลยนำดอกไม้ธูปเทียนไปไว้ครู ขอฝากตัวเป็นลูกศิษย์ แล้วก็เรียนเป็นช่างจริงจังตั้งแต่นั้นมา”

ปู่จิ๋วเริ่มเข้ารับราชการที่กองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร ในปี พ.ศ. 2528 จนกระทั่งเกษียณอายุ ท่านมีความเชี่ยวชาญทั้งงานเขียนแบบ งานไม้ งานช่างเขียน และงานแกะสลักไม้ด้วยเทคนิคชั้นสูง และได้มีโอกาสทำงานบูรณะซ่อมแซมงานโบราณชิ้นสําคัญมากมาย ด้วยความรู้ ความชํานาญในการศึกษาลวดลายไทยดั้งเดิม และลายอื่น ๆ ซึ่งนิยมใช้บนเครื่องราชูปโภค หรือเครื่องประกอบราชพิธีที่ต้องใช้ทักษะฝีมือแกะสลักชั้นสูง ท่านจึงถือเป็นหนึ่งในปรมาจารย์ด้านการแกะสลักไม้ที่กลายเป็นอาจารย์ที่เคารพของศิษย์หลายคน

“ตำแหน่งศิลปินผมก็ไม่ได้นึกไม่ได้ฝันนะ ตอนนี้ก็ยังกลัวว่ามันจะจริงหรือเปล่า แต่เราก็ยึดคติของเราต่อไป ทำให้ดีที่สุด ผมก็สอนทุกคนแบบนี้นะ เด็กใหม่ ๆ ที่อยากเข้ามาเรียนที่กรมศิลปากรเขาก็มีความตั้งใจ ผมก็ให้กำลังใจเขาไป ก็บอกตั้งใจนะ ทำให้ดีที่สุด เท่านั้นเลย”

เป็นศิลปินต้องรู้จักตัวเอง

เมื่อถูกถามว่าอาชีพนักร้องสำหรับท่านคืออะไร คำตอบน่าแปลกใจที่ได้จาก นางสุดา ชื่นบาน ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล – ขับร้อง) ทำเอาทีมงาน workpointTODAY ไปต่อไม่เป็นกันพักใหญ่

“ก็คืองานค่ะ สิ่งที่ทำให้เราเลี้ยงตัวเองมาได้ทั้งชีวิต”

นางสุดา ชื่นบาน หรือ แม่เม้า บอกเราว่าหลายคนอาจจะคาดหวังคำตอบที่สวยหรูจากเธอ แต่นี่คือสิ่งที่เธอคิดในฐานะที่เป็นนักร้องมาตลอดชีวิต

“ตั้งแต่ 7 ขวบเลยที่เริ่มต้นเป็นนักร้องสายประกวด ถามว่าประกวดเพราะอะไร เพราะชนะแล้วมันได้เงิน บ้านเราไม่ได้ร่ำรวย และนี่คือวิธีช่วยแบ่งเบาพ่อแม่ในตอนนั้น”

แม่เม้าเล่าว่า สมัยที่เริ่มต้นหัดร้องเพลง ยังไม่มีโรงเรียนสอนดนตรีหรือสอนร้องเพลงที่ไหนเปิด ท่านอาศัยเพลงที่เปิดตามคลื่นวิทยุของกรมประชาสัมพันธ์เป็นครูให้ตัวเองมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นเพลงไทยหรือเพลงสากลก็พยายามหัดร้อง ต่อให้ไม่เข้าใจภาษาอังกฤษก็พยายามเลียนแบบการออกเสียง กระทั่งการแข่งขันครั้งหนึ่งที่เธอได้รางวัลชนะเลิศรางวัลแหวนเพชร ซึ่งถือเป็นรางวัลใหญ่ที่สุดสำหรับนักร้องสมัครเล่น ทำให้ได้มีโอกาสเริ่มต้นอาชีพนักร้องในเวลาต่อมา

“ตอนนั้นที่จริงเรายังเรียนอยู่ แล้วก็ต้องแบ่งเวลามาร้องเพลงที่ไนท์คลับด้วย ต่อให้มีพ่อแม่ค่อยไปรับไปส่งก็ยังเหนื่อยมาก ตอนนั้นเราเลยต้องเลือกว่าจะเดินทางไหน ก็ชั่งน้ำหนักดูแล้วว่าทางนี้มันน่าจะได้เงินเยอะกว่า เลยออกจากการเรียนมาเป็นนักร้องเต็มตัว”

แม่เม้าบอกว่า ช่วงชีวิตของการเป็นนักร้องกลางคืนถือเป็นช่วงที่มีสีสันมาก ท่านเป็นนักร้องที่โดดเด่นด้วยเสียงแหบต่ำ และการเลือกร้องเพลงเพลงสากลเป็นหลัก เพราะในสมัยนั้นยังไม่ค่อยมีผู้ขับร้องจึงเป็นที่สนใจของวงการเพลง และด้วยความมุ่งมั่นในการฝึกฝนภาษา บวกกับความพยายามในการร้องให้ถูกต้องตามแบบ ในที่สุดชื่อของนางสุดา ชื่นบาน เป็นที่รู้จักวงการนักร้องเพลงสากล

“อันนี้ก็เป็นความตั้งใจของเรา คือตอนนั้นมันไม่ค่อยมีหรอกคนร้องเพลงฝรั่ง ถ้าเราร้องได้ เขาก็จะเลือกจ้างเราก่อน ประเทศนี้มีนักร้องเก่ง ๆ มากมาย แต่ศิลปินที่จะอยู่ได้ต้องรู้จักตัวเอง เรารู้ว่าเสียงเราเป็นแบบนี้ เราคงไปร้องเพลงโน้ตสูง ๆ ไม่ได้ ก็ต้องหาสิ่งที่คนทำได้มีแค่เรา เราฝึกร้องเพลงมาตลอด ดูแลเสียงตัวเองอย่างดีเสมอ เพราะรู้ว่ามันคือสิ่งที่เราต้องใช้ จะปล่อยให้พังไม่ได้ นี่คือวิถีของเรา”

ผลงาน ‘เพลงสุดท้าย’ เรียกได้ว่าเป็นบทเพลงอมตะสร้างชื่อของนางสุดา ชื่นบาน แม้เด็กรุ่นใหม่หลายคนอาจรู้จักเพลงนี้จากกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศที่หยิบยกไปร้องบ่อย ๆ แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เธอรู้สึกขัดเคือง

“เรารู้สึกยินดีที่เพลงนี้มันถูกนำไปใช้เป็นสัญลักษณ์ของใครหลายคน หรือต่อให้ถูกนำไปร้องหาเงิน เรารู้สึกดีที่มันเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อคนอื่น”

นางสุดา ชื่นบาน บอกว่า ตำแหน่งศิลปินแห่งชาติ เหมือนเป็นรางวัลของการทำงานหนัก เป็นรางวัลของการที่ตลอดมาเธอเดินบนเส้นทางนี้ด้วยความตั้งใจ รู้สึกขอบคุณที่มีคนมองเห็นความตั้งใจตลอดชีวิต และแม้ตลอดการสนทนา เราจะไม่ได้ยินคำตอบว่าเธอรู้สึกหลงใหลหรือรักการร้องเพลงเลยสักครั้ง แต่เรื่องราวทั้งหมดนั้นก็ช่วยตอกย้ำอย่างดีแล้วว่าเธอรักมันไม่น้อยเลย

จงทำงานด้วยความรัก แล้วเราจะอยู่กับมันได้จนวันสุดท้าย

“เราทำงานเพราะเราชอบ ถ้าไม่ชอบ ไม่มีความสุข แล้วจะทำไปทำไม” นายประภากร วทานยกุล ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรมร่วมสมัย) กล่าว

นายประภากร สนใจเกี่ยวกับการช่างและการก่อสร้างทั่วไปตั้งแต่ยังเด็ก ยุคนั้นคำว่าสถาปนิกยังไม่ค่อยมีคนรู้จักเท่าไหร่ สมัยก่อนเวลาคนจะออกแบบบ้านก็เพียงติดต่อผู้รับเหมา ชี้ให้ดูว่าต้องการอะไร พวกเขาก็จะได้ตามนั้น ต่างกับตอนนี้ที่เริ่มมีแขนงการออกแบบบ้าน ออกแบบภายใน งานภูมิสถาปัตยกรรม สาขาของการออกแบบถูกขยายออกไป แต่หัวใจหลักของงานสถาปัตยกรรมก็ยังเป็นการออกแบบอาคารอยู่

“ผมก็ออกแบบมาทั้งชีวิต เรียนจบก็มาวาด ๆ เขียน ๆ จินตนาการงานตั้งแต่สเกลเล็ก ๆ อย่างบ้าน ไปจนโครงการใหญ่ ๆ ถ้าให้เลือกผลงานที่ภูมิใจ อันที่จริงงานที่เราออกแบบมาเราภูมิใจกับมันทุกอันนั่นล่ะ เพราะมันคือไอเดียของเรา แต่ถ้าถามว่าชอบอันไหนที่สุด ก็คงเป็นบ้านผมเอง ตอนนั้นมันเป็นยุคแรก ๆ เลยที่เราเริ่มสร้างบ้านด้วยโครงเหล็กทั้งหมด จริง ๆ งานนั้นได้รางวัลด้วย แต่อาจจะเพราะมันเป็นบ้านเรา เราเลยลำเอียงเพราะโจทย์การออกแบบคือเรารู้อยู่แล้วว่าเราต้องการอะไรบ้าง ไม่เหมือนงานที่เราทำตามความต้องการคนอื่น แต่ที่จริงผมก็ชอบทุกงานครับ”

ผลงานที่สร้างชื่อเสียงของนายประภากร คือโครงการมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล อำเภอศาลายา จังหวัดนครปฐม และโครงการโรงอบเมล็ดพันธุ์ข้าวพระราชทาน “เพื่อนช่วยเพื่อน” ที่ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จังหวัดเชียงราย นอกจากนี้ยังมีผลงานออกแบบในต่างประเทศอีกมากมายที่เขามีส่วนร่วมในการออกแบบ

เขาประกอบอาชีพสถาปนิกด้วยใจรักมาตลอด 40 ปี แน่นอนว่าคติ “จงทำงานที่เรารัก” นี้ ได้ถูกส่งต่อไปยังลูกศิษย์ รวมถึงรุ่นในสายอาชีพของเขาเช่นกัน

“เวลามีคนขอให้ผมไปบอกอะไรน้อง ๆ รุ่นใหม่ ผมก็ไม่รู้จะพูดอะไรนอกจากบอกให้เขารักในสิ่งที่เขาเลือก บางทีการเดินตามรอยเท้าผมก็อาจจะไม่ถูกก็ได้ หรืออาจะไม่ได้พาเขาไปไกลอย่างที่เขาอยากจะเป็น ดังนั้นคำแนะนำของผมก็คือ เดินด้วยตัวเอง และทำในสิ่งที่ตัวเองรัก การทำสิ่งที่รักมันจะทำให้เรามีไฟ มีพลังเยอะ งานจะออกมาดีหรือไม่ดีในสายตาคนอื่น แต่สายตาเรามันต้องดี ก็อยากให้ทุกคนรักในงานตรงนี้ แล้วก็ทำต่อไป”

เราสงสัยเพราะเราไม่รู้ เมื่อไม่รู้ก็ต้องไปหาคำตอบ นี่คือหลักการของสารคดี

หากคุณเป็นคนที่ชื่นชอบงานเขียนสายประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน หรือสนใจอ่านงานสารคดี หลายคนอาจเคยผ่านตาผลงานของนายเอนก นาวิกมูล ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ กันมาบ้าง

ด้วยลีลาการใช้ภาษาสละสลวย แต่เข้าใจง่าย และทักษะถ่ายทอดเรื่องราววิถีชีวิตของผู้คนออกมาได้อย่างมีชีวิตชีวา เห็นภาพ แต่ยังคงไว้ซึ่งรายละเอียด และข้อเท็จจริงที่สามารถอ้างอิงได้ นี่คือลวดลายการถ่ายทอดผลงานของ “คนปะชุนประวัติศาสตร์” ที่พยายามตั้งประเด็น ระบุข้อสงสัย และแสวงหาคำตอบ จากงานเอกสารเก่า การสัมภาษณ์ รวมทั้งประสบการณ์

“ผมเริ่มต้นจากการเป็นคนชอบอ่านชอบเขียน ด้วยความที่เราเกิดในบ้านที่เป็นร้านขายหนังสือแบบเรียน ขายเครื่องเขียน เราก็เลยซึมซับความชอบในการอ่านเขียนมาตั้งแต่เด็ก ก็เริ่มเขียนจากเขียนไดอารี่ว่าวันนี้ไปไหนมา เขียนกลอนลงสมุด หรือเขียนเรื่องเพื่อน ผมเขียนมาตั้งแต่ประถมแล้ว”

หลังจากจบการศึกษาที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายเอนกตัดสินใจเริ่มทำงานเป็นนักเขียนคอลัมน์ศิลปวัฒนธรรม หนังสือพิมพ์เจ้าพระยา และนิตยสารอีกหลายเล่ม จากนั้นเข้าทำงานที่ศูนย์สังคีตศิลป์ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด รวมระยะเวลาเกือบ 23 ปี ก่อนจะลาออกมาเป็นนักเขียนสารคดีอาชีพ

ผลงานที่น่าสนใจของท่าน ได้แก่ ชีวิตวัยเรียนของหลวงสุขุมนัยประดิษฐ (ประดิษฐ สุขุม) ยอดนักกีฬาไทยในอเมริกา, การเผชิญโชคของนายทองคำ และเพลงนอกศตวรรษ ที่ได้รับรางวัล หนังสือสารคดีดีเด่นในปี พ.ศ. 2522 เมื่อรวมเข้ากับผลงานที่ได้รับการตีพิมพ์อื่น ๆ ท่านมีผลงานที่ผ่านการตีพิมพ์มาแล้วกว่า 200 เล่ม

“จริง ๆ แล้วจุดเริ่มต้นของทุกอย่างมันมาจากความสงสัย เราสงสัยเพราะเราไม่รู้ เมื่อไม่รู้ก็ต้องไปหาคำตอบ หาจากอะไรล่ะ จากเอกสารเก่า การจากการสัมภาษณ์ การเดินทางไปเห็นด้วยตัวเอง ทั้งหมดนี้มันคือหลักการของสารคดี ค้นคว้าเพื่อหาคำตอบ และถ่ายทอดมันออกมาให้เห็นภาพ ชำระเรื่องเก่าที่ไม่ใช่ความจริงอีกแล้ว ร้อยเรียงเรื่องใหม่เข้าไป อ้างอิงให้ชัดเจนว่ารู้มาได้ยังไง คนรุ่นหลังเขาจะได้ไปค้นหาต่อ”

ด้วยธรรมชาติของการชอบอ่านชอบค้นคว้า สิ่งที่ตามมาคือการชอบสะสม และเป็นจุดเริ่มต้นของการเปิด ‘บ้านพิพิธภัณฑ์’ ซึ่งนายเอนกได้ใช้เป็นที่จัดแสดงของสะสมเก่าที่เขาใช้เวลาเก็บมาตลอดชีวิต และหลังจากเปิดทำการมาได้ 20 ปี วันนี้บ้านพิพิธภัณฑ์กลายเป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญเกี่ยวกับวิถีชีวิต และวัฒนธรรมในอดีตของชุมชนชาวไทย เป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าที่หาที่ไหนแทบไม่ได้อีกในปัจจุบัน

“ผมในฐานะนักเขียนสารคดี รู้สึกภูมิใจและเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ได้รับตำแหน่งศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2563 ขอบคุณพ่อแม่ ครูบาอาจารย์และผู้ให้ความรู้ผมทุกคน ตัวผมเองก็จะทำงานเขียนต่อไป และตั้งใจถ่ายทอดความรู้ของตัวเองไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะหมดลมหายใจครับ”

ทุกชีวิตมีปัญหาต้องฝ่าฟัน ความมุ่งมั่น จริงจัง ไม่ยอมแพ้ จะทำให้พบกับความสำเร็จ

นางสาวอรสม สุทธิสาคร ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ทำงานเป็นนักเขียนสารคดีมาทั้งชีวิต ตลอดระยะเวลาการสร้างสรรค์ผลงานกว่า 30 ปี เธอมีงานเขียนสารคดีเนื้อหาหนักแน่น ที่พูดถึงประเด็นทางสังคมมาแล้วถึง 54 เล่ม 

ด้วยความทุ่มเทลงพื้นที่ ค้นคว้าข้อมูล สัมภาษณ์ทั้งผู้ประสบเหตุการณ์และผู้เชี่ยวชาญในประเด็นที่หลากหลาย เธอได้พิสูจน์ให้สังคมเห็นได้ในท้ายที่สุดว่างานสารคดีที่เธอทุ่มเทถ่ายทอดมาตลอดนั้นมีคุณค่า และสมควรแก่การพิจารณารับตำแหน่งศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2563

“ตำแหน่งที่ได้รับมา พอรู้ทีแรกเราก็รู้สึกดีใจ แต่มันไม่ใช่ดีใจแค่ตัวเรา เรารู้สึกว่าที่ผ่านชีวิตเราต่อสู้ ต่อสู้เพื่อให้งานสารคดีได้รับการยอมรับในแวดวงวรรณกรรม เพราะฉะนั้นเราจึงรู้สึกว่าเราไม่ได้ดีใจกับตัวเอง มากเท่ากับการดีใจที่สิ่งที่เราทำมาทั้งหมดมันถูกมองเห็น เห็นคุณค่า เห็นความหมายของงานนี้ เรามองว่ามันเป็นรางวัลของคนเขียนสารคดี ไม่ใช่รางวัลของเราคนเดียว”

ความยากของงานสารคดี คือ การถ่ายทอดความจริงออกมาอย่างมีวรรณศิลป์ การเป็นปากเป็นเสียงให้แก่คนชายขอบ คนในมุมมืด หรือการตีแผ่ปัญหาสังคมที่ซับซ้อน ต้องทำบนพื้นฐานของการรักษาศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการพยายามเชื่อมโยงความเข้าใจของผู้คนในสังคม

ที่ผ่านมานางสาวอรสมมีผลงานน่าสนใจ อาทิ สารคดีสะท้อนปัญหาผู้หญิง อย่าง สนิมดอกไม้ ชีวิตจริงในมุมมืดของหญิงไทย, ดอกไม้ราตรี สินค้ามีชีวิต สารคดีเกี่ยวกับปัญหาเด็ก ยังมีดอกไม้ในอรุณ, อาชญากรเด็ก? เบ้าหลอมและเบื้องหลังมือสีขาวที่เปื้อนบาป หรือแม้แต่สารคดีนำเสนอเรื่องราวของอาชญากรและชีวิตผู้ต้องขัง คุก ชีวิตในพันธนาการ, มือปืน ชีวิตจริงของคนรับจ้างฆ่า และ นักโทษประหารหญิง ที่บอกเล่าเรื่องราวและความรู้สึกนึกคิดของนักโทษหลังกำแพง ฯลฯ เธออุทิศทั้งชีวิตเพื่อทำงาน และช่วยเหลือกลุ่มคนที่ไม่มีใครเหลียวแล ถ่ายทอดความเจ็บปวดของพวกเขาออกมาเป็นหนังสือเล่ม เพื่อหวังว่าสังคมไทยจะเข้าอกเข้าใจคนเหล่านี้มากขึ้นผ่านงานเขียนของเธอ

“รางวัลศิลปินแห่งชาติคงไม่ใช่ตัวชี้วัดความสำเร็จสำหรับเรา เพราะเราไม่ได้คาดหวังอะไรเกี่ยวกับความสำเร็จมากไปกว่าการได้ทำสิ่งที่เรารักอย่างเต็มที่ ที่ผ่านมาเรามีความรู้สึกว่าเราต้องพิสูจน์ตัวเอง พิสูจน์คุณค่าของงานสารคดี เราจึงบอกตัวเองว่าเรามีหน้าที่ก้มหน้าก้มตาทำไป แล้วก็ทำให้มันดีที่สุด ดังนั้นรางวัลต่อให้ได้หรือไม่ได้รางวัล ที่จริงก็ไม่เป็นไร เพราะเรารู้สึกว่าการทำงานที่เรารัก มันเป็นรางวัลชีวิตของเราแล้ว แต่ทั้งนี้ การได้ตำแหน่งมันก็ดีสำหรับนักเขียนสารคดีอิสระคนหนึ่ง ซึ่งไม่มีความมั่นคงในชีวิตเท่าไหร่ (หัวเราะ) ญาติมิตรก็เป็นห่วงเราน้อยลงค่ะ”

นางสาวอรสมบอกว่า ตอนนี้เธอมองความสำเร็จเป็นการที่เธอสามารถสร้างคนรุ่นหลังที่สนใจงานสารคดี ให้สามารถผลิตงานที่มีคุณภาพออกมาได้ ตอนนี้เธอได้มีส่วนในการผลักดันเรื่องของการสอน การเปิดค่ายสารคดีมาแล้วหลายรุ่น 

“ในฐานะครู เราจะรู้สึกว่ามันสำเร็จก็ต่อเมื่อมีนักเขียนรุ่นหลังสนใจหันมาทำงานสารคดี เป็นทอด ๆ กันต่อไป เราอยากให้คนรุ่นใหม่ ที่ไม่ว่าจะกำลังพยายามเรื่องอะไร ให้เขามุ่งมั่น จริงจัง อย่ายอมแพ้ต่ออุปสรรคง่าย ๆ ทุกชีวิตมีปัญหา มีสิ่งที่ต้องฝ่าฝันทั้งนั้น แต่คุณจะไม่ประสบความสำเร็จเลย ถ้าคุณยอมแพ้จากมันไปก่อน อะไรที่คุณคิดว่ามันดี มันคือทางของเรา เราต้องพิสูจน์ตัวเอง ซึ่งมันไม่มีอะไรง่ายแน่นอน”

 

หวังว่าทั้ง 12 มุมมองและแนวคิดจะเป็นบทเรียนและแรงบันดาลใจให้ใครหลายคนเห็นเส้นทางที่ตัวเองอยากจะก้าวต่อ จะเห็นว่ามุมมองของศิลปินหลายท่าน มองตำแหน่งศิลปินแห่งชาติเป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิต ขณะที่อีกหลายท่านมองมันเป็นเพียงรางวัลระหว่างทาง เพราะนี่ไม่ใช่จุดจบ ทั้งหมดนี้ไม่มีคำตอบที่ถูกต้องตายตัว อยู่ที่ใครจะเลือกหยิบจับอะไรไปปรับใช้กับตัวเอง

workpointTODAY ขอแสดงความยินดีกับศิลปินทั้ง 12 ท่านที่ได้รับตำแหน่งศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2563 ประสบการณ์และผลงานศิลปะของทุกท่าน จะกลายเป็นมรดกอันทรงคุณค่าของสังคมไทยไปอีกช้านาน

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า