Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

หากถามถึงชื่อของ “ไทยพาร์ค” สำหรับคนไทยเองอาจจะไม่คุ้นหูเท่าไรนัก แต่ถ้าถามชาวกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ก็คงรู้จักสถานที่แห่งนี้เป็นอย่างดี

“ไทยพาร์ค” หรือชื่อจริงก็คือ “พร็อยเซ็นพาร์ค (Preußenpark)” คือ ตลาดนัดอาหารวันหยุดโดยคนไทยในต่างแดนที่รวมตัวกันขายอาหารในสวนสาธารณะซึ่งอยู่มายาวนานกว่ายี่สิบปีอย่างไม่เป็นทางการในสวนสาธารณะขนาด 7,000 ตร.ม. ตั้งอยู่ทางตะวันตกของกรุงเบอร์ลินด้วยจำนวนผู้ค้ากว่า 80 ราย จุดเริ่มต้นจริงๆนั้นไม่แน่นอน จากการบอกเล่าของ ‘แม่แอ๊ว’ ผู้ซึ่งอาศัยอยู่ที่กรุงเบอร์ลินกับสามีชาวเยอรมันมาตั้งแต่ปี 1984 ว่ากลุ่มชุมชนชาวไทยที่อยู่อาศัยในละแวกใกล้เคียงได้มารวมตัวกันมาพักผ่อนกันที่สวนสาธารณะแห่งนี้ และได้ทำอาหารมาแลกเปลี่ยนแบ่งปันกัน จนคนที่ผ่านไปผ่านมาให้ความสนใจขอซื้อต่อ เกิดเป็นธุรกิจที่ดำเนินมาจนมีผู้ค้ามากหน้าหลายตามาขายของที่นี่เป็นสถานที่ประจำ

“ไทยพาร์ค” เป็นที่นิยมอย่างมากและมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะหลังการเข้ามาของโซเชียลมีเดีย เมื่อสวนไทยแห่งนี้เป็นที่รู้จักมากขึ้นทั้งกลุ่มคนไทยในเบอร์ลินและนักท่องเที่ยวจากเมืองอื่นๆ นำมาซึ่งข้อพิพาทต่อกฎของสวนสาธารณะและความคับข้องใจของผู้อาศัยโดยรอบบริเวณนั้น รวมถึงผู้ที่ตั้งคำถามต่อการเสียภาษีซึ่งผู้ค้าไม่เสียภาษีรายได้ตามกฎหมายและไม่มีการจดทะเบียนทำธุรกิจ ทางการจึงไม่มีหลักฐานข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานหรือรายได้ของผู้ค้ากลุ่มนี้เลย

“There Is No Thai Park” นิทรรศการโดย 7 ศิลปิน ได้แก่ ธีรวัฒน์ คลังเจริญชัย/ บุษราพร ทองชัย/ โรสาลียา น้ำใสเอ่งฉ้วน/ วิษณุ ภูอาจดั้น/ ษาณฑ์ อุตมโชติ/ สุชาติ วรรณเศษณ์/ อิทธิฤทธิ์ หทัยรัตนา ที่หยิบเอามุมมองทางประวัติศาสตร์ของ “ไทยพาร์ค” ในกรุงเบอร์ลินมาใช้ ผ่านนิทรรศการที่นำไปสู่คำถามที่ว่าด้วยตัวตนแห่งไทยในหลายๆ มุมจากโลกที่อภิวัฒน์ไปแล้วสู่ประเด็นของความเป็นรัฐผ่านโครงสร้างที่บิดเบือน ชาวไทยผู้จากถิ่นฐานบ้านเกิด และยังชี้ให้เกิดการตั้งคำถามต่อรูปแบบของความเป็นไทยและความเป็นอื่นที่เกี่ยวพันกับภาพสะท้อนของการเป็นคนไทยอีกด้วย แนวคิดนี้ถูกโต้แย้งได้ว่าความเป็นไทยนั้นเองเป็นผลผลิตของความซับซ้อน ความเป็นคู่ตรงข้ามและการประนีประนอมต่อสิ่งโดยรอบ ไม่ว่าจะเป็น บริบทประวัติศาสตร์ของอาณานิคมในพื้นที่ ความกดดันจากภาวะสงครามเย็น และผลกระทบจากการแทรกแซงทางการเมืองของแนวคิดจักรวรรดินิยมใหม่ เหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญต่อความเปลี่ยนแปลงไปสู่ตัวตนร่วมสมัยของไทยที่มีให้เห็นในปัจจุบัน

อิทธิฤทธิ์ หทัยรัตนา หนึ่งในศิลปินที่ไปศึกษาด้านสถาปัตยกรรมและเมืองที่กรุงเบอร์ลิน ได้นำประเด็นเรื่อง “ไทยพาร์ค” มาทำเป็นวิทยานิพนธ์จบการศึกษา

“สำหรับไทยพาร์ค เรารู้อยู่แล้วว่าพื้นที่ตรงนี้มีปัญหาแต่เราอยากรู้เพิ่มเติมว่าปัญหาคืออะไร และเราจะเข้าไปแก้มันอย่างไร ก่อนหน้านี้มีโปรเจคของมหาวิทยาลัย TU Berlin ที่ได้ความร่วมมือจากรัฐ เพื่อให้นักศึกษา redesign ไทยปาร์คและได้นำเสนอต่อสาธารณะ แต่ในวันนั้นที่ผมสังเกตได้คือไม่มีนักศึกษาไทยเลยและระยะเวลาการทำ research นั้นสั้นมาก เมื่อได้สอบถามจึงได้รู้ว่า ไม่มีใครได้คุยกับคนไทยเลย ก็เป็นโอกาสของเราที่จะโฟกัสไปที่คนไทยซึ่งเป็นจุดสำคัญหลักของพื้นที่ที่โดนลืม แต่คุยกับคนไทยอย่างเดียวก็ไม่พอจึงต้องไปคุยกับทางภาครัฐด้วย จนเป็นโอกาสให้เราได้ไปจัดงานนี้ที่ District Museum ที่นั่นเพื่อช่วยส่งเสียงให้กับคนไทยกลุ่มนี้ในเบอร์ลิน”

ธีรวัฒน์ คลังเจริญชัย และ อิทธิฤทธิ์ หทัยรัตนา ศิลปิน

“สถานที่แห่งนี้เริ่มต้นจากกลุ่มหญิงไทยที่แต่งงานแล้วย้ายถิ่นฐานตามสามีไปอยู่เยอรมัน แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะเจอสามีที่ดี จริงๆ การต้องย้ายจากประเทศบ้านเกิดกำลังพัฒนาไปอยู่ประเทศซึ่งเจริญแล้ว การใช้ชีวิตก็ไม่ง่ายหรือสบายอย่างที่คนทั่วไปคิด ลองนึกภาพง่ายๆ เช่นคนต่างจังหวัดแค่ต้องย้ายมาอยู่ในกรุงเทพฯ ก็อยู่ยากแล้ว แต่นี่คือเขาต้องย้ายประเทศ ไปอยู่ที่นั่นก็เหมือนเป็นคนต่างด้าว จากการไปสัมภาษณ์ บางคนพอแต่งงานมาแล้วสามีไม่ให้เงินเลยก็มี บางคนเมื่อถูกสถานการณ์บีบคั้นมากๆ ก็ตัดสินใจไปขายบริการก็มี ทั้งที่เขาไม่ได้ตั้งใจ แต่ชีวิตก็ไม่ได้มีทางเลือกมากนัก มันก็เป็นวิธีเอาตัวรอดแบบหนึ่งที่เขาทำได้ จนเมื่อมี “ไทยพาร์ค” สถานที่แห่งนี้ทำให้พวกเขาลืมตาอ้าปากได้ นอกจากเลี้ยงดูตัวเองได้แล้วก็ยังส่งเงินให้คนที่บ้านได้อีก และอีกมุมหนึ่งก็ทำให้ปัญหาหญิงไทยที่ไปขายบริการที่เยอรมันในเบอร์ลินลดลงด้วย ซึ่งทางรัฐจะไม่สามารถเห็นมุมมองนี้ได้เลย”

ส่วนหนึ่งของงานศิลปินเลือกเก็บวัตถุที่อยู่ในสถานที่จริงเพื่อสื่อสารถึงทั้งมุมมืดและมุมสว่างของสถานที่แห่งนี้

ศิลปินเลือกจำลองการใช้โต๊ะพับและเสื่อเหมือนกับที่แม่ค้าใช้ที่ไทยพาร์คเพื่อเล่าเรื่อง

หากพูดถึง “เยอรมัน” ตามความเข้าใจทั่วไป เป็นที่รู้ดีว่าเยอรมันเป็นประเทศที่เคร่งครัดในเรื่องของระบบและกฎระเบียบ แต่เบอร์ลินต่างออกไป เมืองแห่งนี้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีความยืดหยุ่นมากกว่าเมืองอื่นๆ ด้วยประวัติศาสตร์ทำให้ไทยพาร์คอยู่มานานนับสิบปี สาเหตุเพราะรัฐเองยอมปิดตาข้างหนึ่ง ทำให้ไทยพาร์คก็เริ่มขยายตัวตามธรรมชาติหนำซ้ำข้อพิพาทที่ยาวนานยังกลายเป็นแคมเปญหาเสียงในช่วงเลือกตั้งของนักการเมืองท้องถิ่นที่นั่นเสียอีก

ธีรวัฒน์ คลังเจริญชัย อีกหนึ่งศิลปินที่เล่าเรื่องผ่านการใช้สื่อมีเดียเพื่อเล่าถึงประสบการณ์ที่เกิดขึ้นที่ไทยพาร์คผสานกับเรื่องราวของครอบครัวของตนเองที่บรรพบุรุษอพยพมาจากเมืองจีน

“สมัยเด็กตอนเรารู้ว่าครอบครัวเดินทางมาจากเมืองจีนที่เรียกกันว่ามาจากเสื้อผืนหมอนใบ และอากงอาม่าเข้ามาเริ่มสร้างเนื้อสร้างตัวในเยาวราช ในตอนเด็กเราเองก็ไม่เคยเข้าใจความรู้สึกของการพลัดถิ่น สิ่งเหล่านั้น จนกระทั่งเราได้มีโอกาสมาเรียนต่อและเริ่มเข้าใจความรู้สึกของคนต่างถิ่นที่เข้ามาเริ่มต้นชีวิตใหม่ เราถึงเพิ่งเข้าใจความรู้สึกคนยุครุ่นพ่อแม่มากขึ้น การมีโอกาสได้ทำงานที่ไทยพาร์คทำให้เราเชื่อมต่อภาพทรงจำวัยเด็กที่ครอบครัวเริ่มมาจากการค้าขายแผงลอยเหมือนกัน”

ธีรวัฒน์ คลังเจริญชัย ศิลปิน

จึงถ่ายทอดความรู้สึกและสิ่งที่ไม่เข้าใจในวัยเด็กออกมาผ่านงานศิลปะชิ้นนี้  ลูกแก้วกลมๆ ด้านบนเปรียบเสมือนดวงจันทร์ที่เรามักมองและคิดถึงดินแดนและครอบครัวที่จากมา

“แม้ว่าเราจะอยู่ห่างกันคนละซีกโลก แต่เรายังคงมองพระจันทร์ดวงเดียวกันอยู่ จึงตีความเป็นผลงานชิ้นนี้ออกมา ลูกกลมๆ ด้านบนหมายถึง ‘พระจันทร์’ ตอนเราอยู่ต่างประเทศและนึกถึงบ้าน เราก็จะมองไปที่พระจันทร์และรู้ว่าแม้เรากับครอบครัวจะอยู่คนละซีกโลก แต่เราก็ยังมองพระจันทร์ดวงเดียวกันอยู่ ส่วนภาพที่นำมาฉายก็เป็นภาพที่เห็นไม่ชัดมากนักเพราะเป็นภาพแทนของความทรงจำ เวลาที่เราคิดถึงเรื่องในความทรงจำมันจะจำได้ไม่ค่อยชัดเหมือนจะนึกไม่ออกแต่จะเห็นเพียงภาพลางๆ”

ภายในงานเป็นนิทรรศการที่ได้รวบรวมเอาคำถามหลักเกี่ยวกับตัวตนที่อยู่เหนือความเป็นชาติที่นับวันจะถ่วงน้ำหนักและทวีความเร่งด่วนขึ้นในโลกที่แนวคิดชาตินิยมกำลังเพิ่มมากขึ้นที่ยิ่งทำให้ชายเขตมีเส้นที่ชัดหนาขึ้น ในขณะที่โรคกลัวชาวต่างชาติก็มากขึ้นเช่นเดียวกัน และด้วยเหตุการณ์การระบาดที่เกิดขึ้นยิ่งเน้นให้เห็นถึงตำแหน่งที่หมิ่นเหม่ของผู้อพยพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้อพยพที่มีรูปพรรณตามแบบของชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ของแต่ละประเทศและประเด็นของความเปราะบางของมนุษยชาติ สิ่งเหล่านี้เองจึงเป็นที่มาของการจัดแสดงผลงานเหล่านี้ด้วยกันด้วยเรื่องราวของไทยพาร์คภายในนิทรรศการ

นิทรรศการนี้เคยจัดที่กรุงเบอร์ลินมาแล้วเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ครั้งนี้เป็นการนำมาจัดแสดงในไทย สำหรับผู้สนใจนิทรรศการ There Is No Thai Park จัดแสดงระหว่างวันที่ 24 ตุลาคม – 29 พฤศจิกายน 2563 ณ ห้องแสดงนิทรรศการ ชั้น 3 อาคารหอศิลป์ศุภโชค ดิ อาร์ต เซ็นเตอร์ กรุงเทพฯ

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า