Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

โลกคือความไม่แน่นอน แต่ที่แน่นอนคือโลกจะแก่ลงและมีความเป็นเมืองมากขึ้น

ในอีก 30 ปีข้างหน้าหรือในปี 2050 โลกจะมีประชากรที่อายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าประชากรที่อายุ 15 ปีคนรุ่นใหม่จะมีอายุยาวนานถึง 100 ปีขึ้นไปหรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ศตวรรษิกชน” มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอีก 10เท่าตัว อันเป็นผลมาจากวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่ก้าวไกลในปัจจุบัน สิ่งที่น่าตกใจมากกว่านั้นคือ 70% ของคนเหล่านี้จะอาศัยอยู่ในพื้นที่เมือง ทุกท่านลองจินตนาการดูว่าหลังจากนี้อีก 30 ปีข้างหน้าเมืองที่เราอาศัยอยู่จะกลายเป็นเมืองของคนแก่หรือเมืองที่มีแต่คนแก่เต็มไปหมด เรียกว่าเป็นความท้าทายอันใกล้ที่กำลังมาถึง ซึ่งสิ่งที่ผู้พัฒนาเมืองต้องคำนึงถึงคือ “อนาคต” “ความหลากหลาย” และ “โอกาส” สำหรับทุกคน

ในพื้นที่ของกรุงเทพมหานครนั้นเป็นที่ทราบดีว่าการซื้อที่ดินเพื่ออยู่อาศัยแทบเป็นสิ่งที่หลายคนเอื้อมไม่ถึงเพราะมีราคาสูงมาก หลายคนจึงตัดสินใจย้ายไปอยู่ในพื้นที่รอบเมืองแทนเพราะราคาที่ดินสามารถเข้าถึงได้ง่ายกว่า ประกอบกับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ที่นิยมการเช่าอยู่อาศัยมากกว่าการซื้อขาดเพราะประหยัดเงินสามารถนำเงินที่เหลือไปซื้อประสบการณ์ต่างๆ ในชีวิตแทนอย่างเช่นที่เราอาจจะเคยได้ยินคำพูดว่าคนรุ่นใหม่นิยม “เช่าเขาอยู่ เช่าเขาตาย” เพราะราคาของการเช่านั้นถูกกว่าการซื้อ ไม่ต้องกังวลเรื่องหนี้สินที่ผูกพันยาวนานและการอยู่ในสถานที่เดิมๆ ซึ่งอาจจะไม่เหมาะกับคนรุ่นใหม่ที่รักอิสระและต้องการหาประสบการณ์ใหม่ให้ชีวิต แต่แม้กระนั้นก็ยังพบว่าตลาดของการเช่าก็ยังไม่มีเพียงพอ นอกจากนี้แนวโน้มของแรงงานยุคใหม่ก็ต้องการความเป็นอิสระในการทำงานที่ไม่ผูกมัดและต้องการพื้นที่ที่เอื้อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น ส่วนรูปแบบการจับจ่ายใช้สอย ผู้คนมักจะนิยมซื้อของในห้างสรรพสินค้าและซุปเปอร์มาร์เก็ตแทนตลาดสด ยิ่งเมื่อโควิด-19 เข้ามากระตุ้นทำให้ตลาดในชุมชนที่เกิดขึ้นเริ่มหายไปแทนที่ด้วยการสั่งอาหารแบบออนไลน์ แม้คนรุ่นใหม่จะชื่นชอบการเดินห้างสรรพสินค้าแต่ก็ยังต้องการพื้นที่อื่นในการสร้างประสบการณ์เช่นกัน ส่วนด้านการเรียนรู้ ผู้คนต้องการเมืองที่ส่งเสริมการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

กะดีจีน-คลองสาน พื้นที่แห่งความหวังที่มาพร้อมกับโอกาสและความท้าทาย

พื้นที่กะดีจีน-คลองสาน ถือเป็นพื้นที่ต้นแบบที่มีศักยภาพในการฟื้นฟู สามารถปรับเปลี่ยนให้เป็น “พื้นที่แห่งการอยู่อาศัยชั้นดี” เป็นแหล่งการเรียนรู้และเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจที่หลากหลาย พื้นที่กะดีจีน-คลองสานตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญของเมืองซึ่งถูกดึงกลับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯ ด้วยระบบราง มีแหล่งงานต่างๆ กระจายตัวอยู่โดยรอบ ถูกวางให้เป็นพื้นที่การอยู่อาศัยที่มีความหนาแน่นสูงชั้นดีจึงมีทั้งบ้านเดี่ยว อาคารพานิชย์ ตึกแถวต่างๆ พร้อมรองรับกับการพัฒนาในอนาคต มีสถานศึกษา ย่านการเรียนรู้ กระจายอยู่มากกว่า 30 แห่ง มีมรดกทางวัฒนธรรม  “3 ศาสนา 4 ความเชื่อ” ทั้ง วัด โบสถ์และมัสยิด

ภาพการลงพื้นที่ชุมชนของนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาฟื้นฟูเมือง

ภาพการลงพื้นที่ชุมชนของนิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาฟื้นฟูเมือง

แม้จะมีจุดแข็งอยู่มาก แต่ความท้าทายก็ไม่น้อยเช่นกัน ความท้าทายแรกของพื้นที่คือการเข้าถึง แม้จะมีศักยภาพพร้อมแต่ก็สามาถเข้าถึงได้ยาก ซอยตันก็มีอยู่เยอะ โดยผังเมืองรวมกำหนดให้พื้นที่นี้เป็นที่อยู่อาศัยความหนาแน่นสูงแต่ก็ยังมีปัญหาในหลายด้าน เช่น พื้นที่สีเขียวที่มีน้อยกว่ามาตรฐานและอยู่ไกลกัน นอกจากนี้ยังมีความท้าทายด้านเศรษฐกิจซึ่งหลับไหลมานาน ส่งผลให้เศรษฐกิจกระจุกตัวอยู่เพียงถนนเส้นหลักเท่านั้น หรือแม้แต่พื้นที่ท่องเที่ยวภายในย่านที่เป็นสถานที่ล้ำค่าแต่กลับเที่ยวไม่สนุกเพราะร้านค้าไม่ทั่วถึง ไม่เอื้อต่อการนั่งพักผ่อนหย่อนใจและความท้าทายสุดท้ายคือ พื้นที่มีความพร้อมมากที่จะเป็นแหล่งเรียนรู้แต่กลับไม่มีการฟื้นฟูให้พร้อมต่อการใช้งาน

วีรพร นิติประภา นักเขียนหญิงดับเบิ้ลซีไรต์ จากนิยาย ‘ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต’ ในปีพ.ศ. 2558 และเรื่อง ‘พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ’ ในปีพ.ศ. 2561 เล่าถึงการเลือกใช้ย่านกะดีจีน-คลองสานเป็นฉากหลังของนิยาย

ความท้าทายในระดับโลก จุดสำคัญที่ชุมชนต้องปรับตัวให้ทัน

สำหรับการพูดถึงแนวโน้มของ “โลกอนาคต” ซึ่งที่อยู่อาศัยที่จำเป็นต้องรองรับทุกคน ปัจจัยด้านต่างๆ ที่จะเป็นแนวโน้มของโลกเช่น “ด้านเมือง” การกลายเป็นเมืองจะเพิ่มมากขึ้นพร้อมกับสังคมผู้สูงวัย มนุษย์ในโลกอนาคตจะนิยมการอยู่คอนโดและการเช่าอยู่อาศัยระยะสั้น “ด้านการเงิน” สังคมไร้เงินสดที่ออกจากบ้านโดยไม่มีเงินติดตัวเป็นเรื่องปกติ การนำ “เทคโนโลยี” เข้ามามีบทบาทในการทำงาน การตระหนักถึง “สิ่งแวดล้อม” ที่ผู้บริโภคต้องการความยั่งยืนมากขึ้น “การศึกษา” ที่เน้นการเรียนรู้ตลอดชีวิต “การท่องเที่ยว” ที่เน้นประสบการณ์ซึ่งผู้บริโภคต้องการเพิ่มทักษะและการเรียนรู้ของตนเอง “ด้านการเดินทาง” ที่จะเน้นระบบรางที่ไม่ได้ขนส่งแค่ผู้คนแต่ยังขนส่งสิ่งของด้วย สิ่งต่างๆ เหล่านี้ถือเป็นความท้าทายในระดับโลกที่นับวันจะเห็นภาพชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ หากพื้นที่ยังไม่มีการพัฒนาย่านชุมชนเชื่อว่าในอนาคตอีกไม่กี่ปีข้างหน้า พื้นที่กะดีจีน-คลองสานจะกลายเป็น “ทวิภพ” กับพื้นที่เมืองชั้นใน โดยจะถูกแบ่งออกเป็นสองฝั่งชัดเจนคือ พื้นที่เก่าและพื้นที่ใหม่ ร้านขายของชำจะเริ่มอยู่ไม่ได้จากการเข้ามาแทนที่ของห้างร้านใหม่ๆ พื้นที่สาธารณะจะถูกจำกัดสิทธิการเข้าถึงเพื่อใช้ในเชิงพานิชย์เต็มตัว อาคารสูงใหม่ๆ จะเกิดขึ้นโดยไม่มีการคำนึงถึงบริบทโดยรอบ เอกลักษณ์วัฒนธรรมเดิมของชุมชนจะเลือนหายไปในที่สุด แต่สิ่งที่นิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาฟื้นฟูเมืองอยากจะเห็นมากกว่าคือ การทำให้พื้นที่กะดีจีน-คลองสานกลายเป็นหม้อหลอมศิลปะมรดกวัฒนธรรมฝั่งธนบุรี เพื่อคงไว้ซึ่งความสมดุลทั้งธุรกิจเดิมและธุรกิจใหม่ แหล่งงานและที่อยู่อาศัย รองรับผู้คนและการใช้งานได้หลายประเภท การเดินทางที่เชื่อมต่อภายในได้หลายรูปแบบ

ยุทธศาสตร์ 5 ด้านร่างผังยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูย่านกะดีจีน-คลองสาน

การจัดกิจกรรม “การนำเสนอสาธารณะร่างผังยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูย่านกะดีจีน-คลองสาน” ซึ่งจัดโดยศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) หนึ่งในศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง (CE.US) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคีสนับสนุนร่วมกันจัดกิจกรรมดังกล่าวขึ้นณ ห้องสุราลัยฮอลล์ ศูนย์การค้าไอคอนสยาม เพื่อนำเสนอผลลัพธ์จากการเรียนการสอนรายวิชาสตูดิโอวางผังชุมชนเมืองของนิสิตชั้นปีที่ 4 ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาคการศึกษาต้น ปีการศึกษา 2563 เสนอต่อจากผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ประธานชุมชน ชาวย่าน ผู้ประกอบการท้องถิ่น นักวิชาการหลากหลายศาสตร์ นิสิต-นักศึกษา และประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสเข้ารับฟัง กลุ่มนิสิตได้นำเสนอยุทธศาสตร์ทั้ง 5 ด้านเพื่อฟื้นฟูย่านให้ทันสมัยและสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของบริบทโดยรอบ ดังต่อไปนี้

  1. ยุทธศาสตร์ด้านการเดินทางเพื่อผสานย่านเข้ากับพื้นที่ภายนอก

การเดินทางเข้าสู่พื้นที่กะดีจีน-คลองสานถือว่าเป็นจุดสำคัญของการพัฒนาเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ สังคมและการเรียนรู้ของคนในย่าน แต่ก็ยังมีปัญหาอยู่มาก เช่น กิจกรรมราว 50% ในชุมชนอยู่ริมถนนหลัก ทำให้การเดินทางเข้าสู้พื้นที่ย่านเต็มไปด้วยความยากลำบาก กว่า 50% ของพื้นที่เป็นพื้นที่ที่ไม่เชื่อมต่อกับซอยอื่นทำให้ต้องอาศัยการสัญจรผ่านถนนหลักส่งผลทำให้การจราจรติดขัด พื้นที่ทางน้ำก็เข้าถึงยาก ส่วนการจราจรขนส่งก็ยังขาดระบบขนส่งมวลชนรองที่เชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนหลักเพื่อนำคนเข้าสู่พื้นที่ย่าน พื้นที่การเดินก็อยู่เพียงถนนหลักเท่านั้น แต่จากศักยภาพของพื้นที่กะดีจีน-คลองสาน ทำให้มีการเข้ามาของระบบราง เช่น รถไฟฟ้าสายสีสอง รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้และระบบเรือ สะท้อนว่าพื้นที่แห่งนี้มีศักยภาพสูงมาก นำมาสู่แนวคิดด้านการพัฒนายุทธศาสตร์ด้านการเดินทาง 5 ด้านคือ การพัฒนาเชื่อมย่านทางน้ำ (KK River Walk) โครงการเพื่อพัฒนาศักยภาพพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเชื่อมต่อฝั่งพระนครเข้ากับฝั่งธนบุรี  การพัฒนาเพื่อเป็นย่านเดินดี (Walkable KK) เพื่อรับผู้คนจากคนส่งมวลชนโดยรอบและการสัญจรทางน้ำเข้าสู่ตัวย่านแก้ปัญหาซอยตัน การพัฒนาด้านความปลอดภัย (Street Design) ตามแนวถนนหลักซึ่งปัจจุบันยังไม่มีความปลอดภัยต่อการเดิน การเชื่อมต่อแหล่งการท่องเที่ยว (Tourist Routes) เพื่อเชื่อมต่อมรดกทางวัฒนธรรมพร้อมกับพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยว และการแก้ปัญหาเรื่องที่จอดรถ (Parking Fix) ที่จะพัฒนาพื้นที่จอดรถไปในตำแหน่งต่างๆ ของพื้นที่แก้ปัญหาที่จอดรถไม่เพียงพอ

  1. ยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจ “โอกาสที่มาพร้อมระบบราง”

ปัจจุบันบริบทของย่านกะดีจีน-คลองสานเป็นพื้นที่เก่าแก่เหมือนกับย่านเก่าแก่ทั่วโลกที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและมีเอกลักษณ์ที่ชัดเจน แต่ก็ต้องปรับเปลี่ยนให้เข้ากับโลกาภิวัฒน์เช่นกัน การค้าขายในพื้นที่ปัจจุบันอยู่ที่ 25% และร้านค้าส่วนมากยังกระจุกตัวอยู่ในถนนสายหลักและกระจายตัวอยู่ในชุมชนต่างๆ ภายในยังมีพื้นที่ซึ่งเป็นจุดแข็งต่อการพัฒนาเช่น ตลาดคุณหญิงอายุยืน โรงเกลือแหลมทอง โกดังเซ่งกี่ และยังมีผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่พบได้เฉพาะในพื้นที่เท่านั้น เช่น หมูโสร่ง ขนมฝรั่งกุฎีจีน ผ้าย้อมคราม เป็นต้น แม้จะมีจุดแข็งเรื่องเอกลักษณ์ซึ่งนับเป็น 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจในพื้นที่ แต่ย่านกลับไม่สามารถแข่งขันได้ เนื่องจากพื้นที่ของย่านตั้งอยู่ท่ามกลางคู่แข่งสำคัญเช่น บริเวณวงเวียนใหญ่หรือเยาวราช ซึ่งมีแรงดึงดูดทางเศรษฐกิจสูงกว่า แต่การเข้ามาของระบบรางในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐฯ จะสามารถเชื่อมโยงศักยภาพโดยรอบเข้ากับย่านได้ ประกอบกับยกระดับความพร้อมด้านต่างๆ ของย่านไปพร้อมกัน

  1. ยุทธศาสตร์แห่งการเรียนรู้ ศูนย์กลางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม

พื้นที่คลองสานถือเป็นแหล่งการเรียนรู้ลำดับที่ 2 ของกรุงเทพมหานคร มีพื้นที่แหล่งการเรียนรู้มากกว่า 355 แห่งรองจากเจริญกรุง-บางรัก จุดเด่นของพื้นที่กะดีจีน-คลองสานคือ การมีมรดกทางวัฒนธรรมกว่า 121 แห่ง เป็นศูนย์รวมของความหลากหลายทางศาสนาและเชื้อชาติ แต่ขาดการผนวกเข้ากับการเรียนรู้ที่จบเพียงแค่ในพื้นที่โรงเรียนเท่านั้น สวนทางกับทิศทางของอนาคตที่ผู้คนจะเน้นเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิต ดังนั้นพื้นที่เมืองหรือย่านต้องปรับให้เป็นพื้นที่สำคัญที่จะเอื้อต่อการเรียนรู้สำหรับคนทุกวัย  ผสานเอาสาระด้านวัฒนธรรมและความรู้ด้านอาหารที่มีความโดดเด่น สร้างให้เกิดการจดจำและนำไปต่อยอดความรู้ให้กับคนในชุมชน เกิดเป็นแนวคิดเช่น โครงการพื้นที่สาธารณะในโรงเรียนหลังเลิกเรียนให้ผู้คนได้เข้ามาส่วนร่วมด้านการศึกษาภายในรั้วโรงเรียนซึ่งเป็นพื้นที่ปลอดภัย พื้นที่ท่าเรือเก่าเชิงสะพานพุทธเป็นพื้นที่ริมน้ำที่สามารถต่อยอดจากวัฒนธรรมอาหารเดิม ซึ่งพื้นที่กะดีจีนได้รับการถ่ายทอดอาหารโปรตุเกสจากชาวโปรตุเกสตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี งานหัตกรรมต่างๆ ที่มาจากงานฝีมือของคนในชุมชน โกดังเซ่งกี่ที่เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยรัชการที่เจ็ด ซึ่งรวบรวมประวัติศาสตร์ของพื้นที่เอาไว้ เรื่องราวเหล่านี้ผู้คนภายนอกอาจไม่เคยรู้มาก่อน จึงต้องมีการทำให้เกิดพื้นที่ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ความเป็นเอกลักษณ์ของย่านสื่อสารให้คนภายนอกได้เรียนรู้

  1. ยุทธศาสตร์ด้านการอยู่อาศัย เพิ่มพื้นที่สีเขียว ฟื้นฟูคลองและเพิ่มพื้นที่สันทนาการ

ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้ผู้คนต้องกักตัวอยู่บ้าน สภาพแวดล้อมจึงเป็นเรื่องสำคัญที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยอย่างมีความสุข หัวใจของการอยู่อาศัยอย่างมีความสุขมีหลายปัจจัย สำหรับในพื้นที่กะดีจีน-คลองสานนั้นมีทั้งสิ้น 3 ยุทธศาตร์ได้แก่ พื้นที่สีเขียว พื้นที่คลองและพื้นที่สำหรับกิจกรรมสันทนาการ ภายใต้การนำเสนอเสนอสาธารณะร่างยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูย่านกะดีจีน-คลองสานครั้งนี้เล็งเห็นว่า ต้องนำพื้นที่สาธารณะเช่น โรงเรียน สถานที่ราชการและสถานที่สำคัญทางศาสนามาเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อให้คนในชุมชนได้ใช้ประโยชน์และสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน นอกจากนี้การพัฒนาพื้นที่คลองก็เป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่จะควบรวมคลองทุกสายเข้าด้วยกัน ทั้งคลองสมเด็จเจ้าพระยา คลองชุมชนบุปผาราม คลองตลาดสมเด็จ คลองข้างวัดทองธรรมชาติ คลองชุมชนวัดกัลยา คลองข้างวัดทองนพคุณ เพื่อพัฒนาคลองและพัฒนาน้ำในคลองส่งผลต่อคุณภาพชีวิตและการอยู่อาศัย นอกจากนี้ยังมีโครงการออกแบบเพื่อนันทนาการส่งเสริมสุขภาพของคนในชุมชน โครงการเสริมสร้างชุมชนหลากหลายที่เปลี่ยนพื้นที่รกร้างให้เป็นพื้นที่อยู่อาศัยแบบถาวรให้กับคนในย่าน และโครงการพื้นฟูตึกแถวบริเวณสะพานยาว ปรับปรุงที่อยู่อาศัยซึ่งมีตึกแถวที่ถูกทิ้งร้างให้สามารถกลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง

  1. ยุทธศาสตร์ด้านการปรับปรุงภูมิทัศน์เพื่อรักษา DNA ของย่าน

การพัฒนาที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้พื้นที่กะดีจีน-คลองสานเปลี่ยนแปลงไป เอกลักษณ์ต่างๆ ก็กำลังเลือนหายไปตามกาลเวลา สถานที่สำคัญถูกลดทอนคุณค่าและขาดการรับรู้ แต่หากจะกล่าวถึงจุดที่เป็น DNA ของย่านพบว่า “พื้นที่ริมน้ำ” คือพื้นที่สำคัญที่บ่งบอกความเป็นย่านกะดีจีน-คลองสานได้เป็นอย่างดีที่สุด พื้นที่ริมน้ำของย่านกะดีจีน-คลองสานเป็นพื้นที่แห่งเดียวในกรุงเทพมหานครที่สามารถมองเห็นยอดวัด ยอดเจดีย์หรือศาสนสถานซึ่งสูงกว่าบ้านเรือน รวมทั้งตรอกซอยที่มีเอกลักษณ์และภูมิทัศน์ริมคลองบอกเล่าเรื่องราวในอดีต การนำเสนอสาธารณะร่างยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูย่านกะดีจีน-คลองสานจึงเสนอเรื่อง ข้อเสนอส่งเสริมความสูงของอาคารโดยเน้นที่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาและศาสนสถานสำคัญ ข้อเสนอเรื่องการส่งเสริมการใช้สีของอาคาร จากกรณีศึกษาเช่นที่เมืองเกียวโตหรือสิงคโปร์ ที่ส่งเสริมการใช้สีบริเวณพื้นที่ริมน้ำสำคัญๆ เพื่อคุมโทนสีของพื้นที่ และข้อเสนอส่งเสริมรายละเอียดของสถาปัตยกรรมและอุปกรณ์ประกอบถนน ยกตัวอย่างกรณีศึกษาจากใต้หวันที่มีการส่งเสริมเรื่องการตกแต่งอาคารย่านการค้า ทำให้เกิดแรงดึงดูดมีคนเข้ามาในพื้นที่มากขึ้น ส่วนพื้นที่กะดีจีนอาจปรับเป็นเรื่องระยะร่นของกันสาด ระยะแผงกันแดด หรือระยะป้ายร้าน แนวต้นไม้ริมทางเป็นต้นที่จะช่วยทำให้เอกลักษณ์เดิมของพื้นที่มีความเด่นชัดมากขึ้น

แนวคิด “OKAGESAMADE ขอบคุณที่เป็นร่มเงาให้แก่ฉัน” แนวคิดของการพัฒนาของผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS)

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ในฐานะผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมืองคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และหัวหน้าสตูดิโอวางผังชุมชนเมืองกล่าวว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 หรือ 12 ปีที่หลายหน่วยงานได้ร่วมดำเนินโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูย่านกะดีจีน-คลองสานอย่างต่อเนื่อง โอกาสการพัฒนาในย่านกะดีจีน-คลองสาน จึงเป็นที่มาของความ ร่วมมือระหว่าง UddC-CEUS และ ภาคผังเมืองจุฬาฯ จัดการเรียนการสอนรายวิชาสตูดิโอวางผังชุมชน โดยเลือกพื้นที่ยุทธศาสตร์ย่านกะดีจีน-คลองสาน เป็นพื้นที่เรียนรู้ด้วยกระบวนวิธีแบบใหม่ คือ การใช้เทคนิคการมองภาพอนาคต (foresight technique) และ เทคนิคการวางแผนกลยุทธ์ (stretegic planing) บนฐานข้อมูลเมืองและกระบวนการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ดังนั้นโจทย์สำคัญของการออกแบบวางผังยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูย่านกะดีจีน-คลองสานคือ ผังยุทธศาสตร์จำเป็นต้องตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน ท่ามกลางความไม่แน่นอนและการเปลี่ยนแปลงแห่งอนาคต จึงนับเป็นก้าวสำคัญอีกขั้นของโครงการฟื้นฟูย่านกะดีจีน-คลองสาน ที่ภาคีพัฒนาเมืองหลายฝ่ายร่วมกับชาวย่านกะดีจีน-คลองสาน ได้ริเริ่มไว้อย่างเป็นรูปธรรมด้วยเครื่องมือที่หลากหลาย เมื่อปี 2551 หรือกว่า 12 ปีก่อน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS)

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ “กระบวนการของการมีส่วนรวม” ซึ่งเป็นแนวคิดสำคัญที่ได้จากเมื่อครั้งที่เธอเดินทางไปเรียนต่อที่ประเทศญี่ปุ่นและต้องการนำแนวคิดนี้กลับมาพิสูจน์ว่ามันได้ผลจริงหรือไม่และมันจะทำให้คุณภาพของการทำงานดีขึ้นอย่างไร ในมุมของนักผังเมืองเธอกกล่าวว่า “กระบวนการของการมีส่วนร่วมนั้นสำคัญมาก เราต้องฟังให้มากและพยายามออกแบบกระบวนการของการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ทั้งจากชุมชน ภาครัฐ ส่วนกลาง ท้องถิ่นและเอกชน สำหรับแนวคิด ‘OKAGESAMADE’ ขอขอบคุณที่เป็นร่มเงาให้แก่ฉัน คือสิ่งที่อาจารย์ที่ญี่ปุ่นได้สอนตอนเรียน งานเมืองมีความสลับซ้บซ้อนเกี่ยวข้องกับผู้คนและหน่วยงานมากมายงานจะสำเร็จได้ ไม่ได้แค่เราแต่ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของหน่วยงานมากมายที่เกี่ยวข้อง บ้านหลังหนึ่ง อาจจะใช้สถาปนิก 1 คน ภูมิสถาปนิกอีก 1 คน วิศวกรอีกหลายสาขา รวมทั้งผู้รับเหมา โครงการพัฒนาเมืองขนาดใหญ่ต้องอาศัยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมากมาย เราในฐานะ Urban design หรือ Urban planner เราต้องทำงานเต็มความสามารถ แต่หากงานจะสำเร็จลงได้ไม่ได้เป็นเพราะคนเดียวแต่เป็นเพราะความร่วมมือร่วมไม้ของหน่วยงานต่างๆ The cloud of stakeholders ที่แสดงให้เห็นตอนต้น ดังที่เห็นในกรณีการชุบชีวิตจากสะพานด้วนๆ เป็นสวนลอยฟ้า ดังนั้น ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะเคลมว่าเป็นผลงานของ HERO ใครคนใดคนหนึ่งเพราะเป็นการไปด้อยค่า และเป็นการสร้างความเข้าใจผิด (Misconception) ให้แก่สังคมว่างานแบบนี้มันง่ายๆ แค่จ้าง HERO มาคนเดียว ความสง่างามของความสำเร็จของโครงการแบบนี้ สิ่งที่ควรให้คุณค่าให้ความสำคัญ (Celebrate) คือความร่วมมือร่วมใจ ‘OKAGESAMADE’ ขอบคุณที่เป็นร่มเงา สนับสนุนซึ่งกันและกัน  เห็นเป้าหมายร่วมกัน นั่นคือประโยชน์ของสาธารณะ” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นิรมล เสรีสกุลกล่าว

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า