Advertisement

SHARE

คัดลอกแล้ว

สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ วัย 42 ปี จาก จ.ศรีสะเกษ เขาเคยเป็น ส.ส.สมัยเดียวจากการเลือกตั้งปี 2550 แล้วถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี เพราะเป็นหนึ่งในกรรมการบริหารพรรคชาติไทยที่ถูกยุบ

วันนี้เขากลับมาลงสนามเลือกตั้งอีกครั้งกับบ้านใหม่ พรรคภูมิใจไทย พร้อมพ่วงท้ายด้วยอีกหลายตำแหน่ง นายกสมาคมกีฬาจังหวัดศรีสะเกษ ประธานหอการค้าจังหวัดศรีสะเกษ และผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ “ไทบ้าน เดอะซีรีส์” หนังที่บอกเล่าเรื่องราวของชาวอีสานชนบท ที่ภาคล่าสุดกลายเป็นหนังทำเงินระดับร้อยล้าน

เราตั้งโจทย์คุยกับเขาเรื่องคนอีสานต้องการอะไร และในฐานะนักการเมืองมีนโยบายอะไรเพื่อคนอีสาน

คุณไปเกี่ยวกับหนังไทบ้านเดอะซีรีส์ ได้อย่างไรครับ
ไทบ้านเดอะซีรีส์ เริ่มจากเด็กมัธยมที่เคยมาเข้าค่ายดูดาวกับผมแล้วผมก็สอนเขาดูดาว แล้วจากวันนั้นการถ่ายรูปมันเปลี่ยนชีวิตเขา โดยที่เขาเริ่มมาสนใจเกี่ยวกับกล้อง กับการถ่ายรูป วันนึงพอเขาเรียนจบเขาก็อยากจะเริ่มเดินตามความฝันของเขาก็คือการทำภาพยนตร์ ตอนแรกว่าจะทำเป็นซีรีส์ก่อน คนแรกที่เขาคิดถึงก็คือผม เขาก็เดินมาปรึกษา เราก็ช่วยเขาหาเงินหาทอง สุดท้ายไม่ได้เพราะไม่มีแรงดึงดูดอะไรเลย แต่เวลาที่เราเห็นเนื้อเรื่องของเขา เราเห็นความตั้งใจของเขา เราก็เห็นว่ามันน่าสนใจ ก็เลยเป็นนายทุนให้ โดยที่มีโจทย์อยู่อย่างเดียวครับว่า ขอให้ใช้โลเกชั่นในการถ่ายหนังเป็นจังหวัดศรีสะเกษ เพราะเราอยากจะเผยแพร่จังหวัดศรีสะเกษให้เป็นจังหวัดนึงที่คนอยากมาเที่ยว ประกอบกับมันเป็นหนังอีสานอยู่แล้ว มันก็ตรงกับจริตของเราก็เลยให้เขาลองดู ก็เลยได้เป็นผู้อำนวยการสร้างหนัง ไทบ้านเดอะซีรีส์ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาครับ

เนื้อหาในหนังไทบ้านฯ เป็นชีวิตจริงสักกี่เปอร์เซนต์ครับ
มันเป็นชีวิตจริงของคนในชุมชนถ้าไม่ร้อยก็สัก 80 คือทุกอย่างน้องๆ เขาดีเทลหมดจากความที่ว่าเขาอยู่ในชุมชน เขาเห็นชุมชนแบบไหน เติบโตขึ้นยังไง ของที่ชุมชนใช้ บางคนสังเกตถึงขนาดที่ว่าทำไมมอเตอร์ไซค์ต้องเป็นยี่ห้อนี้ ทำไมรถยนต์ต้องเป็นยี่ห้อนี้ ทั้งๆ ที่เราไม่ได้สปอนเซอร์จากบริษัทเหล่านั้นเลยนะครับ แต่นั่นคือชุมชนเขาใช้จริงๆ ค่านิยมของคนในชุมชนนั้นเขานิยมแบบนั้นจริงๆ ฉะนั้นในความเป็นไทบ้าน เดอะซีรีส์เนี่ย ค่อนข้างจะเป็นเรื่องจริงมากๆ คือคนเขาจะอยู่บ้านวัดโรงเรียน ชุมชนเขาก็จะมีความผูกพันกันอยู่แบบนี้ ในแต่ละชุมชนเราก็จะเห็นสามล้อ ที่คนจะขี่ไปแล้วก็จะกระเตงสามล้อไป คนบ้า สุนัข แมวก็เอาไปปล่อยวัด ไม่มีที่พึ่งก็เข้าวัด การบวชเป็นพระไม่ได้ต้องการจะบวชเพื่อนิพพาน แต่บวชเป็นพระเพื่อต้องการจะหนีปัญหาบางอย่าง สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในชุมชน สิ่งที่มันจะอาจจะเกินจริงบ้างก็คือ เส้นเรื่องแบบที่เป็นภารโรงแล้วไปชอบครู ไปชอบหมอ ซึ่งมันอาจจะดูเว่อร์วังบ้าง แต่นี่ก็คือเสน่ห์ของการสร้างเรื่อง แต่ในความเป็นจริงในชีวิตประจำวัน เราก็เคยเห็นนะ คุณครูไปชอบกับภารโรง ดังนั้นวิถีชีวิตของเขาที่แสดงออกมา ถ่ายทอดออกมาในหนังไทบ้านฯ คือวิถีชีวิตของคนอีสานชนบทจริงๆ

คนจำนวนไม่น้อยจะติดภาพลักษณ์ของอีสานว่า แห้งแล้ง ยากจน เป็นหนี้ จริงๆ เป็นอย่างไร
เป็นหนี้นี่เป็นกันทุกภาค อีสานเราประสบกับปัญหาความแห้งแล้งมานาน ฉะนั้นจังหวัดแบบศรีสะเกษ มันแน่นอนว่าระบบชลประทานเขาเราสู้จังหวัดภาคกลางไม่ได้ สู้ภาคอื่นไม่ได้ แต่เราก็มีวิธีการปรับตัว เช่น การปลูกพืชชนิดอื่นทดแทน ปัจจุบันศรีสะเกษไม่ได้ปลูกข้าวอย่างเดียว เรามีปลูกยางพารา ปลูกทุเรียนซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมาดังมาก ชื่อว่าทุเรียนภูเขาไฟ เรามีหอม กระเทียม ซึ่งก็หลุดจากวงจรการปลูกข้าวแล้ว หลุดจากวงจรของการที่ต้องรอฟ้าฝนแล้ว แต่ข้าวหอมมะลิเราก็ยังคงมีอยู่ คงทำอยู่ เราก็มีการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ขึ้น การรวมกลุ่มทำให้ product ของเราเป็นสินค้าที่พรีเมียมขึ้นสร้างรายได้ให้ประชาชนมากขึ้น
การท่องเที่ยวก็เป็นอย่างหนึ่งครับ ที่เราคิดว่ามันจะสามารถสร้างรายได้ และจะสร้างงานที่มีคุณภาพให้กับคนในจังหวัดได้ ฉะนั้นการท่องเที่ยวก็จะมีความร่วมมือหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็น ททท. จังหวัด ท้องถิ่น ในการสร้างสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมา เช่น เรามีอควาเรียม เรามีหอสูง เปิดสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ อย่างเช่น มออีแดง เขาพระวิหาร มีพระเกจิอาจารย์ ก็จะสามารถดึงคนเข้ามาได้อย่างต่อเนื่อง แต่อย่างหนึ่งที่เราคิดว่าเราจะทำได้ก็คือ การดึงคนเข้ามาในอีเวนต์ต่างๆ ตอนนี้จังหวัดอย่างศรีสะเกษก็เริ่มแปลงตัวเองไปเป็นสปอร์ต ซิตี้ ซึ่งภาคอีสานมี 3 จังหวัด คือ ศรีสะเกษ อุดรธานี บุรีรัมย์ ซึ่งพอเป็นสปอร์ตซิตี้ เราเชื่อว่ามันจะสามารถดึงคนเข้ามาจับจ่ายใช้สอยได้ คนเข้ามากขึ้นกินน้ำ 1 ขวด เราก็เชื่อว่ามันก็เป็นรายได้ของประชาชน
ฉะนั้นภาพในอดีตอาจจะเป็นอย่างที่ว่าครับ มันเป็นจังหวัดที่แร้นแค้น กันดาร คนเป็นหนี้ แต่วันนี้หลายจังหวัดในภาคอีสานถีบตัวขึ้น โดยเฉพาะอย่างศรีสะเกษ จากจังหวัดที่จนที่สุดในประเทศไทยวันนี้เราอยู่อันดับที่ 67 เราหลุดพ้นคำว่าจนที่สุดมาแล้ว ฉะนั้น ภาพวันนี้เราอยากจะนำเสนอภาพที่ว่า จังหวัดในภาคอีสานเป็นจังหวัดที่ได้อยู่ใกล้กับธรรมชาติ จังหวัดในภาคอีสานเป็นจังหวัดที่สงบแล้วเหมาะกับการไปเยี่ยม ไปเที่ยวครับ

ความต้องการของคนพื้นที่จริงๆ คืออะไร นอกจากนโยบายที่ส่วนกลางคิดไปให้
จริงๆ ผมคิดว่าเขาควรจะออกแบบ การดำเนินชีวิตของเขาได้ในหลายๆ ประเด็น เขาควรจะมีโอกาสกำหนดได้ว่า ชุมชนของเขาควรจะเป็นแบบไหน ควรจะเติบโตอย่างไร ที่ผ่านมาเราจะเห็นว่ารัฐพยายามอยากจะแก้ปัญหาของชนบทโดยการบอกว่า ต้องมีการกระจายอำนาจ แต่การกระจายอำนาจที่ส่วนกลางกำหนด มันเป็นการกระจายอำนาจแบบล็อกสเปค อย่างเช่น บอกว่าผมกระจายอำนาจไปนะ ผมมีงบประมาณไปให้คุณในการกระจายอำนาจ ท้องถิ่นคุณทำเอาว่าคุณอยากจะทำอะไร แต่ผมมีแคตตาล็อกแนบไปด้วยว่าการกระจายอำนาจคือ 1-10 ซึ่งมันไม่ตอบโจทย์ชาวบ้าน แล้วลองสังเกตดูนะครับว่าโครงการรัฐต่างๆ ที่รัฐบังคับให้ชาวบ้านทำ ล้มเหลวหมดเลย แต่โครงการที่รัฐมีส่วนในการสนับสนุน แนะนำให้คำปรึกษาโดยให้ความคิดจริงๆ มาจากคนในพื้นที่ มันจะยั่งยืนกว่า
ในส่วนของอีสานมีประเพณีต่างๆ ที่เขาคิดว่าเป็นประเพณีที่ดี แล้วมันควรจะสานต่อให้เป็นการท่องเที่ยวได้ ผมยกตัวอย่างบั้งไฟ ซึ่งเป็นประเพณีพื้นถิ่นของอีสานแต่ถูกไปตีความต่างๆ นานาว่ามันเป็นการพนันบ้าง มันไปรบกวนการบินบ้าง แต่จริงๆ มันขาดการบริหารและจัดการที่ดี มีหลายต่อหลายอย่าง ที่ดูเหมือนจะเป็นการพนันแต่มันเป็นกีฬา สำคัญคือเรามองปัญหานั้นที่มุมไหน ถ้าเราจะมองว่าจะทำให้มันเป็นอาชีพ จะทำให้เป็นการท่องเที่ยว ส่งเสริมรายได้ มันย่อมทำได้ ฉะนั้น ยังมีอีกหลายอย่างมากครับ ที่คนอีสานคิดว่า เขาควรจะได้มีโอกาสกำหนดให้คำเสนอแนะ และใช้ความคิดของเขาในการพัฒนาชุมชนของเขาเอง

พรรคภูมิใจไทยเตรียมจะเสนอนโยบายอะไรบ้างเพื่อคนอีสาน
หลายนโยบายเลย โดยเฉพาะลดอำนาจรัฐเพิ่มอำนาจประชาชน นโยบายนึงที่เราคิดว่าคนอีสานได้ประโยชน์แน่นอน คือเรื่องการแบ่งปันกำไรของข้าว หรือ profit sharing นโยบายนี้เราได้ตัวอย่างมาจาก พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาล ที่เกษตรกรชาวไร่อ้อยขายอ้อยให้โรงงานน้ำตาล หลังจากโรงงานน้ำตาลจำหน่ายไปสิ้นฤดูมีกำไรเท่าไร แบ่งกลับมาให้ชาวไร่อ้อยกับโรงงานในสัดส่วน 70-30 ซึ่ง พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาล หลังจากประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2527 มาถึงปัจจุบันประมาณสัก 30-40 ปี ก็ยังไม่เคยมีปัญหา เราก็คิดว่านโยบายแบบนี้ควรเอามาใช้กับชาวนา คือที่ผ่านมาชาวนาก็เป็นแค่คนปลูกข้าวขาย ยังไม่ได้ถูกนับให้เป็นหนึ่งในห่วงโซ่การผลิตด้วยซ้ำ เราอยากจะเปลี่ยนชาวนาจากผู้ปลูกข้าวขายมาเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบ หมายความว่า ชาวนาขายข้าวในโรงสีได้เท่าไร โรงสีสีข้าวเสร็จขายข้าว ให้ผู้ส่งออกกับผู้บรรจุข้าวถุงเท่าไร จบปีมาทั้งระบบได้กำไรเท่าไร กลับมาแบ่งสรรปันส่วนกัน ให้ชาวนาได้ 70 โรงสีได้ 15 ผู้ส่งออกหรือผู้บรรจุข้าวถุงได้อีก 15 เราเรียกว่า 70-15-15 ถ้าเป็นแบบนี้สามารถจะทำให้ชาวนาลืมตาอ้าปากได้มากขึ้น เพราะชาวนาเป็นคนที่รับความเสี่ยงสูงที่สุด เพราะเขาเริ่มตั้งแต่ปลูก ต้องพึ่งดินฟ้าอากาศ ปัจจัยการผลิตที่มีราคาสูงขึ้นทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นค่าปุ๋ย ค่าแรง ค่าเช่าเครื่องจักร เหล่านี้เป็นต้นทุนที่ชาวนาจะต้องได้รับ
แต่ต้นทุนสูงขึ้นไม่ได้หมายความว่าราคาสูงขึ้นนะครับ เพราะชาวนาไม่เคยได้มีการกำหนดราคาข้าวเอง ไม่เหมือนอย่างอื่น เช่น งานฝีมือ เราใช้เวลานานความพยายามสูง เราเป็นคนกำหนดราคาขาย ตลาดจะซื้อหรือไม่เป็นอีกเรื่อง แต่ชาวนาไม่ใช่ ต้นทุนจะสูงเท่าไร ราคาโรงสีเป็นคนให้ โรงสีเป็นคนซื้อข้าวได้เท่าไร ผู้ส่งออกเป็นคนให้ ดังนั้นโยบายกำไรแบ่งปัน มันจะตัดกำแพงนี้ออก มันจะหมดความสงสัยที่ถามว่าทำไม ข้าวเปลือกถูกแล้วข้าวสารแพง ถ้าใช้นโยบายนี้หมายความว่าข้าวสารจะราคาสูงเท่าไรก็ตาม หมายความว่าสเงินที่จะทอนกลับให้ชาวนาก็จะมากขึ้นด้วย

ในทางปฏิบัติเท่ากับบอกโรงสีและผู้ส่งออกให้เอากำไรที่ได้เยอะกลับมาให้ชาวนาจะทำได้จริงเหรอครับ
หลักคิดของเราไม่ได้ทำให้โรงสีขาดทุน เราไม่ได้ทำให้ผู้ส่งออกขาดทุน แต่กำไรน้อยลง ซึ่งมันต้องมีกฎหมายทุกคนต้องค้าขายอย่างเป็นธรรม จริงอยู่ว่าโรงสีกำไรอาจจะลดลงบ้าง แต่ถ้าโรงสีส่งข้าวให้ผู้ผลิตข้าวถุง โรงสีกำไรเยอะขึ้น สูตรที่เราคิดออกมาคือชาวนาดี โรงสีดี ผู้ส่งออกกับผู้ทำข้าวถุงได้รับผลกระทบ แต่ที่เราดูข่าวอยู่ เราเห็นต้นทุนที่เขาชี้แจง มันไม่ได้สะท้อนกับความเป็นจริง ซึ่งในต้นทุนที่เขาทำคือเขามีกำไรอยู่แล้ว แต่กำไรส่วนต่าง ข้าวเปลือกขาย 14 บาท แต่วันนี้เดินเข้าไปในห้างซื้อข้าวสารถุง 1 กก. 50 บาท มันต่างขึ้นมาอีก 30 กว่าบาท มันไปตกที่ตรงไหน เฉพาะค่าถุง 10 บาทมันเป็นไปไม่ได้ ค่าจัดส่งอีก10 บาทก็คงเป็นไปไม่ได้ คือกำไรมากเกินไป มันต้องมาจัดสรรให้เป็นธรรม

แต่นายทุนคือกลุ่มที่เสียงดังที่สุด
มันจำเป็นต้องทำครับ เพราะว่าประโยชน์ มันตกกับประชาชนมากกว่า แล้วเราก็โชคดีที่นโยบายนี้หัวหน้าอนุทิน (ชาญวีรกูล – หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย) เอา หัวหน้าอนุทินพูดเสมอครับว่านโยบายนี้ใครไม่ทำผมทำ ไฟเขียว ผมคิดว่าจะเป็นนโยบายนึงที่สามารถจะทำให้เกษตรกร โรงสี ผู้ส่งออกกับผู้บรรจุข้าวถุงขายอยู่ได้อย่างยั่งยืน เพราะไม่อย่างนั้น ชาวนาปลูกข้าวขาดทุนทุกปี แต่ที่ต้องปลูกเพราะมันเป็นวิถีชีวิต 2.มันเป็นเงินหมุนที่เขาสามารถจะหยิบยืมเงิน เอามาหมุนต่อรอบต่อชีวิตเขาได้ ถ้าปล่อยให้ระบบเป็นแบบนี้ ซ้ำๆๆๆ ไป ไม่นานครับจะไม่มีคนผลิตข้าว ฉะนั้นต้องให้ระบบมันสมดุล ต้นน้ำอยู่ได้ กลางน้ำไปได้ ปลายน้ำโตได้ มันก็จะโตกันทั้งระบบ

การประกันราคาข้าวและการจำนำข้าวยังต้องทำอีกไหม
ไม่จำเป็นเลยครับ ด้วยยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มันค่อนข้างจะชัดว่ารัฐบาลต่อไปนี้ ไม่สามารถทำนโยบายในลักษณะประชานิยมได้ นั่นหมายความว่า จำนำอาจทำไม่ได้ ประกันอาจทำไม่ได้ในการมาประกันสินค้าทางการเกษตร อีกทั้งมันยังไปปติดเพดานของ WTO (องค์การการค้าโลก) ที่บอกว่าคุณจะสามารถประกันหรือจำนำได้ไม่เกินวงเงินเท่าใด แต่ส่วนที่รัฐบาลอาจจะสามารถทำได้คือการประกันรายได้ต่อครัวเรือน แต่นั่นก็คงยังไม่เพียงพอ และผมคิดว่ามันเป็นนโยบายชั่วคราวเฉพาะกิจ แต่นโยบายที่ปล่อยให้กลไกของการค้า มันเกิดขึ้นได้อย่างสมดุลต่างหาก คือ ถ้าข้าวสารถูก ข้าวเปลือกถูก ผมเชื่อว่าเขารับได้ แต่ถ้าข้าวเปลือกถูกข้าวสารแพง อันนี้คือไม่เป็นธรรม ต้องสร้างบรรทัดฐานใหม่ของเกษตรกรครับ

ถ้ามีคนบอกนโยบายดีมาก แต่ถ้าเลือกภูมิใจไทยอาจจะไม่ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแล้วจะคาดหวังอย่างไรว่าจะนำไปปฏิบัติได้จริง
ทำแน่นอนเพราะว่าในการเสนอ พ.ร.บ.ข้าว ใช้ ส.ส. 20 คน ซึ่งผมคิดว่าเราพอ แล้วเราก็มาดูกันครับว่าหากภูมิใจไทยยื่น จะมี ส.ส.คนไหนที่ออกมาคัดค้าน เรื่องของปากท้องชาวบ้าน ฉะนั้นเราคิดว่านโยบายนี้เราทำได้แน่นอน

นโยบายอื่นที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับคนอีสาน
คือผมเติบโตมาจากภาคธุรกิจ สิ่งหนึ่งที่ได้ยินนักธุรกิจที่เป็น SME พูดถึงมากในเชิงแซวภาครัฐว่า ภาคธุรกิจเขาสามารถอยู่ได้ ขอแค่รัฐอย่ามายุ่งกับเขาก็พอ แสดงให้เห็นว่ารัฐใช้อำนาจมากเกินไปในปัจจุบัน เราเห็นว่าอำนาจที่รัฐใช้อยู่มันไม่ทันโลกไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง นโยบายหนึ่งที่เราชูชัดเจนคือ sharing economy คือการที่ให้ประชาชนสามารถทำมาหากินอย่างสุจริตด้วยสินทรัพย์ที่เขามี ปัจจุบันนี้ที่เราถามว่า ใครที่มีบ้านอยากจะทำเป็นโฮสต์เทล เป็นที่พัก โฮมสเตย์ ทำเล็กๆ ไม่เป็นไรแต่พอเริ่มมีเครือข่ายมากขึ้น มีกลุ่มมากขึ้นเขาก็จะไปโดน เข้าข่าย พ.ร.บ.โรงแรม เข้าข่ายไม่ได้ขออนุญาตเป็นโรงแรม แต่ในขณะเดียวกันรัฐก็ไม่เคยคิดจะปรับปรุงทำให้กฎหมายที่มันเกิดขึ้นมา 40-50 ปีมันทันสมัย เหมือนกับประเทศอื่นๆ เขา สมัยก่อน กฎหมายเกี่ยวกับอาคาร เกี่ยวกับที่พักอาศัย มันยังไม่ได้มีเทคโนโลยีมาช่วย ปัจจุบันมันมีเทคโนโลยีมาช่วยหมด ไม่ว่าจะเป็นกล้องวงจรปิด จีพีเอส เฟซไทม์ระบบประตูใส่รหัส ระบบโอนเงิน ทุกอย่างเทคโนโลยีมันช่วยได้หมด สิ่งนี้คือสิ่งที่รัฐต้องปรับตัว เราจึงคิดว่าการลดอำนาจรับเพิ่มอำนาจให้ประชาชนทำมาหากินได้เป็นสิ่งสำคัญ

นโยบาย sharing economy คือการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่จะเป็นอุปสรรคต่อเขา ยกตัวอย่างบางจังหวัดที่ไม่ได้เป็นแม้แต่เมืองหลัก ไม่ได้เป็นแม้แต่เมืองรอง แต่เป็นจังหวัดที่อยากจะให้คนมาเที่ยว มาจับจ่ายใช้สอย แล้วรัฐไม่เคยมารองรับโครงสร้างพื้นฐานใดๆ เลย ไม่มีถนน 4 เลน รถไฟไปไม่ถึง ไม่มีสนามบิน จังหวัดเหล่านี้เขาจะอยู่อย่างไร ฉะนั้น มันจำเป็นที่ต้องให้คนในชุมชนของเขา จังหวัดของเขา สามารถจะอำนวยความสะดวกได้

ยกตัวอย่างถ้าคุณจะไปศรีสะเกษเรารู้ว่า เราจะต้องไปลงเครื่องที่อุบลฯ นั่งรถมาศรีสะเกษ 60 กม. แล้วยังไงต่อ เพราะจังหวัดศรีสะเกษเรามีแท็กซี่อยู่แค่ 10-15 คัน รถประจำทาง 5 โมงเย็นหยุดวิ่ง ถ้าคนเขามีกิจกรรมตอนกลางคืนเขาจะทำอย่างไรต่อ ไม่ต้องคิดไกลครับ เอาแค่จะจัดคอนเสิร์ตใหญ่ๆ สักคอนเสิร์ตนึง ซึ่งให้คนต่างจังหวัดมาเที่ยวก็ไปลำบากแล้ว แล้วผมเจอกับประสบการณ์ตรงคือหลายกิจกรรมที่เราจัดกีฬาใหญ่ๆ คนต่างจังหวัดมา ปรากฏว่างานเลิก 2-3 ทุ่ม ไม่มีรถกลับบ้านแต่พอจะมาทำ Grab กลายเป็นว่าผิดกฎหมายอย่างนี้เป็นต้น
ตอนนี้เริ่มมีชุมชน เริ่มมีระดับตำบล ที่เขาเริ่มให้ชาวบ้านมาทำโฮมสเตย์ มีบ้านอยู่หัวไร่ปลายนา ชาวบ้านไม่กล้าทำเพราะเกรงว่าจะผิดกฎหมาย สิ่งเหล่านี้มันบอกเราแล้วว่า กฎหมายที่ใช้อยู่ปัจจุบันล้าสมัยไปแล้ว มันสมควรจะต้องมีการปรับปรุง
ความคิดของนโยบาย sharing economy คือเรามองหาโอกาสให้กับประชาชน เรามองดูว่าโอกาสเหล่านั้น มันถูกกำแพงอะไรมาครอบอยู่ ซึ่งกำแพงนั้นก็คือกฎหมายแล้วเรามีหน้าที่ทุบกำแพงให้ประชาชนเขาได้มีโอกาสทำมาหากิน

คำว่าผู้แทนศรีสะเกษ ผู้แทนคนอีสาน ผู้แทนประชาชน 3 คำนี้ไปด้วยกันได้ไหม

บทบาทหน้าที่ต่างกันครับ คำว่าเป็นผู้แทน สิ่งที่ผมปฏิเสธไม่ได้เลยคือผมเป็นผู้แทนของคนศรีสะเกษ หน้าที่ของผมคือการนำปัญหาของคนศรีสะเกษ ไปบอกกล่าวให้กับผู้มีอำนาจเขาได้รู้ แต่ในขณะเดียวกันผู้แทนของปวงชนชาวไทยผมก็ยังมีหน้าที่นั้น กฎหมายหลายต่อหลายตัว ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับจังหวัดศรีสะเกษโดยตรง เช่น มีปัญหาเรื่องปาล์ม คนศรีสะเกษไม่ได้ปลูกปาล์มผมจะต้องไม่ทำหน้าที่ไหม ก็ไม่ใช่ เพราะผมยังมีหน้าที่เป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทย กฎหมายบางอย่างที่มีผลกระทบกับคนส่วนมากในประเทศ มันยังเป็นหน้าที่ของเรา แต่แน่นอนครับหลักของเรา เราเป็นผู้แทนของประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวศรีสะเกษ

มีการวิเคราะห์ว่าถ้าไม่ชนะใจคนอีสาน จะไม่มีทางเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้เลย

ผมมองว่าคนอีสานเป็นคนจำนวนมาก แล้วก็มีกระจัดกระจาย เราพูดถึงจำนวนประชากรก็อาจจะจริงที่ว่าถ้าไม่ชนะใจคนอีสาน ก็ไม่สามารถเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่นี่คือประชาธิปไตย ที่ไม่ว่าคุณจะเป็นคนภาคไหนทุกคนมีหนึ่งเสียงเท่ากัน แล้วการจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลจำเป็นจะต้องได้รับเสียงส่วนมาก แต่ไม่ได้หมายความว่าทฤษฎีนี้จะถูกต้อง 100% อาจจะมีบางพรรคที่ได้ภาคอื่นหมดก็มีโอกาสเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลได้เช่นเดียวกัน

podcast

LATEST
OUR PICKS
HOT
กำลังโหลดบทความถัดไป...

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

  • คุกกี้เพื่อปรับเนื้อหาให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมาย

    คุกกี้ประเภทนี้จะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับตัวคุณเพื่อเราสามารถนำมาวิเคราะห์ และนำเสนอเนื้อหา ให้ตรงกับความเหมาะสมกับความสนใจของคุณ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมเราจะไม่สามารถนำเสนอเนื้อหาและโฆษณาได้ไม่ตรงกับความสนใจของคุณ
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า